จากฝรั่งเตะแพทย์หญิงภูเก็ต ถึงกะเทยไทย ปะทะ กะเทย’ปินส์ มุม ‘สีเทา’ แดนสวรรค์ ‘ท่องเที่ยว’

บทความในประเทศ

 

จากฝรั่งเตะแพทย์หญิงภูเก็ต

ถึงกะเทยไทย ปะทะ กะเทย’ปินส์

มุม ‘สีเทา’ แดนสวรรค์ ‘ท่องเที่ยว’

 

28 ล้านคน คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2566 สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท

แต่เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของอุตสาหรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่ถูกละเลยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต พญ.ธารดาว จันทร์ดำ แพทย์ประจำโรงพยาบาลดีบุก จังหวัดภูเก็ต ถูกชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย ขณะนั่งบนบันไดริมชายหาดบริเวณแหลมยามู หน้าวิลล่าแห่งหนึ่ง

เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแค้นร่วมกันให้คนไทยจำนวนมาก และนำไปสู่ประเด็นอื่นๆ ทั้งการขุดคุ้ยพฤติกรรมในอดีตของชาวต่างชาติผู้ก่อเหตุ ความสัมพันธ์ของผู้ก่อเหตุกับนายตำรวจยศใหญ่ การรุกล้ำพื้นที่หาดสาธารณะ ไปจนถึงเรื่องราวผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ใน จ.ภูเก็ต

เกิดการแสดงพลังของคนในพื้นที่ จนแหลมยามูกลายเป็นจุดเช็กอินใหม่ของ จ.ภูเก็ต

 

พิเชษฐ์ ปานดำ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ “การท่องเที่ยวเรือยอชท์กับการแย่งชิงทรัพยากรส่วนอ่าวพังงา” ให้ทัศนะต่อกรณีนี้ ผ่านเฟซบุ๊ก Pichet Pandam ในที่นี้จะขออนุญาตตัดตอนเนื้อความมาเพียงบางส่วนว่า

การเริ่มต้นการท่องเที่ยวในภูเก็ต เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2522 ที่เริ่มจากกลุ่มคนหนุ่มสาว และกลุ่มฮิปปี้ (hippy) คล้ายเป็นนักแสวงหาและนักผจญภัย มาเที่ยวและหาที่พัก ซึ่งเป็นเพียงบังกะโลขนาดเล็กของคนท้องถิ่น…

หลักหมายของการเริ่มต้นการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 มีปฏิบัติการปฏิเสธโรงงานแทนทาลั่มของคนท้องถิ่นภูเก็ตและปริมณฑลด้วยวิธีการแบบเปิดเผย เป็นการตัดสินใจร่วมกัน อาจนับได้ว่าเป็นฉันทามติภูเก็ต ที่คนภูเก็ตยินยอมพร้อมใจ และคาดหวังร่วมกันว่า การท่องเที่ยวคือความหวังใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจภูเก็ต…

…การท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนจากนักลงทุนต่างถิ่นทั้งในประเทศและทุนข้ามชาติ ด้านหนึ่งการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ในภาพรวมให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้สร้างปัญหาที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการรุกล้ำหรือแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ ที่ชุมชนและคนภูเก็ตเคยใช้ประโยชน์ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่หรือกิจกรรมการท่องเที่ยว…

พื้นที่ชายหาดบางแห่งถูกกันกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว การย้ายโรงเรียนเพื่อสร้างเป็นที่พัก ถนนสาธารณะต้องลอดผ่านโรงแรม…

การท่องเที่ยวเริ่มเข้าไปรุกล้ำวิถีชีวิตและประเพณี มองคนไม่เท่ากัน เป็นวัตถุท่องเที่ยว เช่น การที่นักท่องเที่ยวโยนเหรียญให้เด็กชาวเล ดำน้ำเพื่อเก็บเหรียญหรือเศษเงินเป็นรายได้

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะระบบการท่องเที่ยว ที่ออกแบบเน้นการขายทุกอย่างในนามคำว่า การบริการ (service) มากกว่าการเคารพ (respect) หรือคุ้มครอง (protect) คน

ทรัพยากร วัฒนธรรม ระบบการท่องเที่ยวแบบนี้ยังคงดำรงอยู่และเป็นกรอบคิดหลักในการขยายการท่องเที่ยวออกไป โดยมีรัฐเป็นคนขับเคลื่อนหลัก…

แน่นอนว่ากระบวนการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ มีความแนบเนียนและถูกต้องตามกฎหมายในที่สุด ทั้งการออกเอกสารสิทธิ หรือการให้เช่าในราคาถูก… คนท้องถิ่นยิ่งถูกผลักไสและไม่ให้คุณค่าที่สมคุณค่า กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นคนอื่นในบ้านเกิดตนเอง

การออกแบบการท่องเที่ยวในฐานะงานบริการทุกระดับ ประทับใจ โดยรัฐที่เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์กลาง และต้องออกแบบการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเกิดความพอใจ ประทับใจ และความรู้สึกนี้จะได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวจ่ายเพื่อซื้อบริการดังกล่าว สิ่งนี้จึงเกิดความรู้สึกเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ ที่ระบบการท่องเที่ยวบ้านเราได้สร้างขึ้น

การไล่นักเตะและภรรยา ออกไปจากประเทศ และการพิพากษาถึงพฤติกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของทั้งสองคน จำเป็นต้องทำหรือดำเนินการตามกระบวนการ

แต่ไม่ใช่การแก้ไขที่รากปัญหาที่เกิดขึ้น

เราเข้าใจว่า มีคนต้องการให้นักเตะและภรรยา เป็นเหยื่อและเป็นคำตอบสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อต้องการหลบซ่อนระบบหรือโครงสร้างการท่องเที่ยวที่เห็นคนไม่เท่ากัน และการหากินกับระบบนี้ในฐานะผู้ได้เปรียบ ให้ดำรงอยู่ต่อไป

 

อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นกลางกรุงเทพมหานคร คือกรณีการทะเลาะวิวาทระหว่างสาวประเภทสองชาวไทยกับสาวประเภทสองชาวฟิลิปปินส์ บริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 11 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ต่อเนื่องวันที่ 5 มีนาคม 2567

แม้กระแสสังคมจะพูดถึงเหตุการณ์นี้ในมุมของความขัดแย้งระหว่างสาวประเภทสองทั้งสองชาติ แต่หากมองอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วจะพบว่า นี่คือมุมสีเทาที่ถูกประดับประดาด้วยแสงไฟหลากสีของเมืองหลวง

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้มีการกล่าวถึงชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในการตอบโต้กันของทั้งสองฝั่ง แต่ต้องให้ความเป็นธรรมด้วยว่า กลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ไม่ได้เป็นตัวแทนภาพรวมของกะเทยฟิลิปปินส์ทั้งหมด ซึ่งเราไม่ได้ว่ากะเทยฟิลิปปินส์ แต่เราต้องว่าบุคคลที่มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ซึ่งเมื่อกะเทยชาวไทยถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามคำกล่าวอ้างของกะเทยฟิลิปปินส์ จึงเกิดการรวมตัวกันของกะเทยไทยขึ้น

ซึ่งสาเหตุมาจาก

1. ความเป็นกะเทยนั้นถูกกดทับในสังคมอยู่แล้ว

2. ด้วยอาชีพที่ทำอยู่ (Sex Worker) นั้นก็ไม่ถูกกฎหมาย ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมจากด้านใดได้เลย ไม่ว่าจะถูกเอาเปรียบจากผู้ใช้บริการ นายจ้าง

เมื่อมีการปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกว่ารัฐไม่เห็นเขาอยู่ในสายตา

ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นความโกรธเกรี้ยวที่เกิดขึ้นจากการซุกเรื่องไว้ใต้ดิน และไม่ยอมแก้ปัญหา ตนอยากให้รัฐแก้ไขเรื่องนี้

ธัญวัจน์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีร่างกฎหมายเรื่องนี้พร้อมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่น เนื่องจากในช่วงที่เรายื่นร่างกฎหมายคำนำหน้าตามความสมัครใจเข้าสภา แต่ถูกปัดตก จึงพิจารณาว่าจะรอยื่นร่างกฎหมายประกบพร้อมกับร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคยระบุว่า จะสนับสนุนสมรสเท่าเทียม อัตลักษณ์ทางเพศของชาว LGBTQ+ รวมทั้งการยกเลิกการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

ก็ขอเรียกร้องให้นายเศรษฐา ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที ซึ่งพรรคก้าวไกลก็พร้อมเข้าไปร่วมทำงานด้วย

 

อีกสิ่งสำคัญคือเราอยากทราบความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายเศรษฐา รวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอย่าง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ปรึกษาหารือในเรื่องกฎหมายรับรองอาชีพเหล่านี้ถึงไหนแล้ว

เราไม่อยากเห็นนักการเมืองให้สัญญากับประชาชน แต่สุดท้ายกลับยังไม่ขับเคลื่อนอะไรเท่าที่ควร เราก็อยากให้การพิจารณากระเตื้องขึ้น

ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะหากยื่นร่างกฎหมาย ก่อนร่างของ ครม.จะเข้าสภา ก็ถูกปัดตก ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐพร้อมจริงๆ หรือพร้อมเล่นๆ หรือกำลังดำเนินการแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ตนขอเรียกร้องให้รัฐออกมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายธัญวัจน์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทางกลุ่มกะเทยไทยก็ได้ปักหมุดหมาย ให้วันนี้เป็นวันกะเทยไทยผ่านศึก ซึ่งเรื่องนี้เป็นหมุดสำคัญของการต่อสู้ที่กลุ่มกะเทยได้ออกมาเรียกร้องความไม่เป็นธรรม เราต้องเข้าไปดูให้ทุกครบทุกมิติ และผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นจริง

การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เต็มไปด้วยผลประโยชน์และเม็ดเงินมหาศาล

ขณะที่การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวสร้างผลกระทบภายนอกทั้งทางบวกและลบต่อผู้คนหลายล้านชีวิต หลายเรื่องเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องถูกกวดขันกำกับดูแลโดยภาครัฐ

เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ การแบ่งสรรผลประโยชน์และการใช้ทรัพยากรที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นมุมที่ถูกละเลย หรือละเว้นไว้ให้ผู้มีอิทธิพลเข้าและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา