จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (11)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (11)

 

หลังยุคกุบไลข่าน

จนถึงการล่มสลาย (ต่อ)

แล้วข่านทั้งสององค์ก็ทำศึกเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่ง ประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ศึกสองนัครา

ศึกสองนัคราจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายที่ตั้งมั่นอยู่ที่ต้าตู ผู้ชนะมิได้ตั้งตนเป็นข่าน หากเปิดทางให้ผู้เป็นเชษฐาขึ้นมาเป็นแทน แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นข่านผู้เป็นเชษฐาของถูกวางยาพิษปลงพระชนม์โดยอนุชา (ผู้ชนะในศึกสองนัครา)

แล้วอนุชาก็ตั้งตนเป็นข่านสืบแทน ครั้นเป็นข่านแล้วก็ไม่สบายพระทัยกับสิ่งที่ได้กระทำไป พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้โอรสองค์โตของเชษฐาให้เป็นรัชทายาทก่อนที่จะสิ้นพระชนม์

แต่ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว สิ่งที่พระองค์ต้องการล้างผิดให้พระองค์เองกลับมิได้เป็นดังที่ทรงตั้งใจ เพราะรัชทายาทที่ทรงตั้งขึ้นถูกขัดขวางจากเหล่าขุนนางที่ทรงอิทธิพล ขุนนางกลุ่มนี้เลือกเอาโอรสองค์ที่สองของผู้เป็นเชษฐาขึ้นมาเป็นข่านแทน ขณะมีพระชนมพรรษาเพียงเจ็ดพรรษาใน ค.ศ.1332

แต่ข่านองค์น้อยนี้ครองราชย์ได้เพียง 43 วันก็สิ้นพระชนม์

 

เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้นมาเช่นนี้ ผู้ที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองในช่วงนี้ก็คืออดีตมเหสีของเชษฐาองค์นั้น พระนางสนับสนุนโตกอน เตมูร์ (Toghon Tem?r, ครองราชย์ ค.ศ.1333-1368) ให้ขึ้นครองราชย์

โตกอน เตมูร์ เป็นสายสกุลรุ่นที่หกของกุบไลข่าน มีราชบิดาที่เป็นจีนและเป็นเครือญาติกับจักรพรรดิราชวงศ์ซ่ง มีราชมารดาเป็นมุสลิม แต่อยู่ในการดูแลของชนชั้นสูงมองโกลผู้หนึ่ง

เมื่อวัยเยาว์เคยลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่เกาหลี ครั้นอายุ 12 ได้พำนักอยู่ที่เมืองกุ้ยหลินของมณฑลกว่างซี ที่เมืองนี้ทรงได้ศึกษาลัทธิขงจื่อกับภิกษุรูปหนึ่ง และได้ผูกมิตรกับฝูงลิงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงปีวอกอันเป็นปีประสูติของพระองค์

ตอนที่ก้าวขึ้นเป็นข่านทรงมีพระชนมพรรษา 17 พรรษา โดยพระองค์ทรงถูกนำพามายังซั่งตูเพื่อการเข้าพิธีราชาภิเษกใน ค.ศ.1333 และทรงใช้พระนามเยี่ยงจักรพรรดิจีนว่า ซุ่นตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.1333-1368)

ด้วยเหตุที่เป็นข่านหรือจักรพรรดิองค์สุดท้ายของหยวน การปกครองของในยุคสมัยพระองค์จึงได้รับการบอกเล่าจนเห็นภาพของการล่มสลาย

 

โตกอน เตมูร์ข่าน ทรงใช้จ่ายเงินในท้องพระคลังอย่างสุรุ่ยสุร่ายไร้ขีดจำกัด พระองค์ทรงปล่อยให้มีการปล้นสะดมและปฏิบัติต่อผู้คนเหมือนดังเป็นทาส และบังคับเรียกเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม

ส่วนเหล่าเสนามาตย์ก็ทำการปล้นและยึดทรัพย์ประชาชนอย่างอำมหิต ทั้งยังบังคับเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนอย่างหนัก อัตราภาษีขยับสูงขึ้นลิบลิ่ว ราชสำนักออกพันธบัตรอย่างไร้การจัดสรรและควบคุม รายรับของท้องพระคลังจึงน้อยกว่ารายจ่ายที่ถูกใช้ออกไป

การยึดที่ดินของราษฎรโดยชนชั้นผู้ปกครองเป็นไปอย่างบ้าคลั่ง ซ้ำยังเปลี่ยนทุ่งนาอันกว้างใหญ่ไพศาลให้เป็นทุ่งปศุสัตว์ ชาวนาต้องสูญเสียที่ดินทำกินและถูกบังคับให้เป็นทาส

นอกจากนี้ ยังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำเหลืองไหลบ่าท่วมท้นล้นตลิ่งอยู่บ่อยครั้ง ราษฎรทุกข์ยากสุดแสนลำเข็ญไร้ที่พึ่งพิงจนเอาชีวิตไม่รอด

ความล้มเหลวของโตกอน เตมูร์ข่าน จึงนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ

 

ในเบื้องต้นสุดเห็นได้ชัดว่า โตกอน เตมูร์ข่าน ทรงทอดทิ้งหน้าที่ พระองค์ไม่ใส่พระทัยในการแก้ปัญหาความเห็นแก่ตัว และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเหล่าเสนามาตย์ ที่แผ่กว้างขวางและรุนแรงตลอดช่วงทศวรรษ 1350 และ 1360 จนราชสำนักต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลอย่างสุดที่จะเยียวยา

อุทกภัยจากแม่น้ำเหลืองและภัยแล้งในศตวรรษที่ 14 เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะในทศวรรษ 1340 และ 1350 ที่นำไปสู่ทุพภิกขภัยที่ถูกบันทึกว่าเกิดทุกปีตลอดรัชสมัยของโตกอน เตมูร์ข่าน

เช่น ใน ค.ศ.1344 น้ำที่ไหลเชี่ยวนานกว่า 20 วันได้ทำให้พื้นที่กว้างใหญ่จมอยู่ใต้น้ำสูงถึงเจ็ดเมตร เป็นต้น

เภทภัยดังกล่าวได้ทำให้อัตราการตายของราษฎรและค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาสูงอย่างมาก แต่ก็ยากที่จะหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหาไปได้ และในระหว่างที่ราษฎรนับแสนคนถูกเกณฑ์ให้มาขุดลอกแม่น้ำเพื่อแก้ปัญหานั้นเอง ก็มีข่าวลือไปว่า ใต้ท้องน้ำของแม่น้ำเหลืองมีหินสลักมนุษย์ตาเดียวกำลังร่ำร้องให้ลุกขึ้นสู้

หลังจากนั้นข่าวลือนี้ก็เป็นไปตามคาด เมื่อมีผู้พบหินสลักมนุษย์ตาเดียวอยู่ใต้ท้องน้ำจริง ข่าวนี้จึงปลุกเร้าให้ราษฎรลุกฮือขึ้นต่อต้านหยวนขึ้นในทศวรรษ 1350 จากนั้นก็เกิดขบวนการกบฏขึ้นในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนถึงทศวรรษ 1360

 

นานากบฏและการล่มสลายของหยวน

ขบวนการโพกผ้าแดง (หงจินจวิน, The Red Scarves) ถือเป็นขบวนการแรกๆ ที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านหยวน ผู้ก่อตั้งขบวนการนี้คือ หันซันถง (มรณะ ค.ศ.1351) และหลิวฝูทง

ทั้งสองเริ่มด้วยการใช้ความเชื่อทางศาสนาพุทธมาเคลื่อนไหวต่อต้านหยวนผ่านนิกายบัวขาว (ไป๋เหลียนเจี้ยว, White Lotus Sect) การใช้ศาสนาเป็นแรงจูงใจทำให้ทั้งสองได้สมาชิกเข้าขบวนการพอควร แต่ไม่นานหลังจากนั้น หันซันถงก็สิ้นชีพในการต่อสู้ใน ค.ศ.1351 หลิวฝูทงจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน

อนึ่ง นิกายบัวขาวนี้ถือกำเนิดในวัดตงหลิน (วัดบูรพาวัน) ที่ตั้งอยู่ในเมืองจิ่วเจียงของมณฑลเจียงซี ผู้ก่อตั้งคือ ภิกษุฮุ่ยหย่วน (ค.ศ.334-416)

นิกายนี้เป็นอนุนิกายของมหายานในสายที่เรียกว่า พุทธสุขาวดี (Pure Land Buddhism) และได้รับการสืบทอดเรื่อยมาจนถึงสมัยซ่งเหนือ โดยได้เผยแผ่หลักคำสอนไปทางตอนใต้ด้วยการตั้งโรงเรียนชื่อ สุขาวดีสิกขาลัย (Pure Land School) และตั้งสำนักบัวขาว (ไป๋เหลียนเส้อ, White Lotus Society)

อย่างไรก็ตาม หลิวฝูทงเริ่มปฏิบัติการต่อต้านหยวนที่มณฑลอันฮุย และเพื่อแยกขบวนการของตนให้ต่างจากขบวนการอื่น หลิวฝูทงจึงใช้ผ้าสีแดงโพกหัวกองกำลังของตน ขบวนการนี้จึงถูกเรียกกันต่อมาว่า กบฏโพกผ้าแดง (หงจินฉี่อี้, Red Turban Rebellions)

ไม่นานหลังจากนั้น ขบวนการนี้ก็มีกำลังพลนับแสนนาย และสามารถยึดเมืองในมณฑลเหอหนันได้หลายเมือง และได้รับการตอบรับจากราษฎรในพื้นที่แม่น้ำฮว๋ายและแม่น้ำฉังเป็นอย่างดี