จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 8-14 มีนาคม 2567

 

• เสียงจาก “ผู้อาวุโส”

ในฐานะที่มีวัยวุฒิผ่านประสบการณ์ชีวิตมานานพอควร

ขอตั้งข้อสังเกตและข้อแนะนำแบบชาวบ้านดังนี้

1) Digital wallet

1.1 ในสายตากลุ่มอนุรักษ์มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต

ซึ่งก็น่าจะถูกตามนิยามสากล

แต่ในสายตาชาวบ้าน มันวิกฤตแล้ว หรือใกล้วิกฤตเต็มที

ขนาดผู้เขียนมีรายได้เสีย ภงด.อยู่ในเลข 6 หลัก ยังรู้สึกถึงผลกระทบ

เช่น ตลาดสดที่เงียบเหงา ก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคา จาก 60 บาท เป็น 80 บาท ฯลฯ (แต่คนรวยยังซื้อรถหรูได้)

ทำไม (ดูเหมือน) ไม่เข้าใจ จะรอให้เกิดวิกฤตก่อนถึงจะแก้ไข?

กันไว้ดีกว่าแก้มิใช่หรือ

1.2 ในฐานะที่เคยพิจารณาโครงการต่างๆ โจทย์มีวัตถุประสงค์หลักคือ “ทุ่ม” เงินก้อนให้น้ำกระจาย ไม่ใช่ “โปรยทาน”

แกล้งไม่เข้าใจหรืออ่านหนังสือไม่แตก

1.3 องค์กรอิสระที่เสนอหน้าออกมาทักท้วง ลองส่องกระจกดูหน่อยได้ไหมว่า ตอบปัญหาที่สังคมยังสงสัย เรื่องนาฬิกาเพื่อน หรือเอกสารเสียหายจากน้ำท่วมได้ไหม (คนเราถ้าจะโกงมันก็โกงได้ทั้งนั้น แม้จะซื้อก๋วยเตี๋ยว ใช้สามัญสำนึกบ้าง)

1.4 ประชาชนซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มอบฉันทานุมัติให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการในเรื่องนี้

เห็นหัวประชาชนบ้าง ถ้าเกิดผิดพลาด ความรับผิดชอบเป็นของรัฐบาลและประชาชน (คนไทยโตแล้วคิดเป็นเหมือนคนอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ)

1.5 ขอตำหนิพรรคเพื่อไทย ทำไมไม่ศึกษานิยามของคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” ก่อน ทำให้เปิดช่องผู้รู้โจมตีได้

1.6 ฝ่ายค้านถ้าจะตกผลึกความคิดด้วยการเล่นบทโหด ขอให้ทำอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่บท “ฝ่ายแค้น”

2) ถ้า (จะ) แก้ไข = ล้มล้าง เราคงต้องอ้าง “พจนานุกรมฉบับบ่อนเซาะประชาธิปไตย” ไหม (พูดภาษาไทยเดียวกันไหม)

3) ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ “ตะวัน” ที่ละเมิดกฎหมาย ทำให้นึกถึงโอกาสจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

3.1 ชาดา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะ รมช.มหาดไทย ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะใช้การอภิปรายที่ส่อว่าเลือกข้าง เหมือนพยายามดับไฟด้วยน้ำมัน

อายุปูนนี้ควรมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ คุณมีหน้าที่ให้เกิดความสงบ ไม่ใช่ก่อศึก

4) หลังจากถูกให้กินหญ้ามาเกือบทศวรรษ นึกว่าจะเลิกได้

ปรากฏว่าตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 มาถึงวันนี้เห็นว่าป่วยไม่เนียนเลย

ลงจากเครื่องบินดูสดใส เหตุไฉนจึงวิกฤตในคืนเดียว แม้ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่คุณต้องติดคุก (คนที่เอาคุณเข้าคุกน่าจะต้องติดคุกมากกว่า)

แต่เมื่อเป็นคดีการเมืองก็ให้นึกถึง คานธี เนลสัน แมนเดลา หรือแม้แต่เด็กๆ ที่ติดคุกอยู่ในเวลานี้

5) คนแก่ทั้งหลายที่พยายามขวางการแก้ไขต่างๆ ในเวลานี้ อย่าลืมว่าอีกไม่กี่ปีก็จะตายแล้ว

คนรุ่นใหม่ก็แก้ได้อยู่ดี (ถ้าเขาอยากแก้ไข) คนแก่จะลุกจากโลงมาห้ามเขาอีกไหม

6) คงไม่ผิดที่ไม่คิดห้าม ถ้าคนรุ่นใหม่จะไปอยู่ประเทศอื่น เป็นพลเมืองชั้น 2 ในประเทศอื่น ดีกว่าเป็นพลเมืองชั้น 2 ในประเทศตัวเอง

ขอแสดงความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

ในฐานะผู้อาวุโส

ปูพรม วิพากษ์และวิจารณ์ “ทุกฝ่าย”

พยายามไม่เลือกข้าง

ซึ่งก็สมควร “รับฟัง”

รับฟังแล้ว จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

เชื่อว่า ผู้ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว อย่าง ศ.เกษียณ

ก็ยินดีรับฟัง “ความเห็นต่าง” เช่นกัน

• เสียงจาก “อีสาน”

ISAN INSIGHT โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ซึ่งจัดทำและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ได้จัดทำแบบสำรวจมุมมองความคิดเห็นของคนอีสาน ต่อ Soft power อีสาน

เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16-21 กุมภาพันธ์ 2567

โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจชาวอีสานจำนวน 1,236 คน

เพื่อสะท้อนภาพความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพ Soft power ของชาวอีสาน

ทั้งด้านความเข้าใจ สินค้า/บริการที่นึกถึง รวมถึงหน่วยงานและมาตรการช่วยเหลือที่ควรมีเพื่อผลักดันให้ Soft power อีสานเข้าสู่ Global scale

ผลสำรวจ ปรากฏผลลัพธ์สำคัญดังนี้

ภาพรวมชาวอีสานประเมินว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft power

แต่อีสานอินไซต์มองเห็นความกังวลในกลุ่มผู้สูงอายุที่มองว่าตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจใน Soft power

ซ้ำร้ายกลุ่มผู้ที่ไม่มีความเข้าใจใน Soft power มองว่า Soft power เป็นเรื่องไกลตัว

ซึ่งกำลังสะท้อนปัญหาในการผลักดันของรัฐบาล โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากประชาชนกลุ่มนี้

อาหารอีสาน ทั้ง ส้มตำ ปลาร้า เป็นสิ่งที่ชาวอีสานคิดถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึง Soft power อีสาน

ตามด้วยประเพณีและวิถีชีวิตของชาวอีสาน

ในขณะที่เมื่อนึกถึงกลุ่มความบันเทิง โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง และหมอลำ มาจากกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นหลัก

จุดแข็งของ Soft power อีสานคือความศรัทธา โดยเฉพาะในเชิงความเชื่อ และสายมู

ตามด้วยความเรียบง่ายของวิถีชีวิตชาวอีสาน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดแข็งของ Soft power อีสานคือความเข้าถึงง่าย ทั้งในเชิงความบันเทิง รวมถึงภาษา

ชาวอีสานมองว่า Soft power อีสานที่สามารถผลักดันให้เข้าสู่ Global Scale ได้แบบ Quick win คืออาหารและเครื่องดื่ม

ซึ่งอันดับแรกคือ ส้มตำ และปลาร้า และอยากให้พัฒนาในรูปแบบอนุรักษ์ความดั้งเดิมของอีสานไว้

ในขณะที่กลุ่มผู้อายุที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft power อยู่แล้วมองว่าไม่น่ามีสินค้าหรือบริการใดที่สามารถผลักดันได้

ชาวอีสานมองว่าข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนา Soft power อีสานยังมาจากข้อจำกัดของภาครัฐเป็นหลัก ทั้งด้านนโยบาย รวมถึงงบประมาณสนับสนุน ซึ่งตรงกับความต้องการหลักที่ชาวอีสานต้องการจากรัฐบาลในกรณีที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม Soft power อย่างจริงจัง

อีสานอินไซต์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

นายกฯ เศรษฐา เพิ่งไปอีสานมา

คงได้ข้อมูลมาเสริมการทำงานตามสมควร

เช่นเดียวกับข้อมูลการสำรวจจาก “อีสานอินไซต์”

ก็คงทำให้ช่วยเสริม “ข้อมูล”

ที่จะแก้ปัญหาและเปิดทางให้คนอีสานมีโอกาสได้ประโยชน์ร่วมสมัย อย่าง Soft power

ซึ่งหากทำได้ เชื่อว่า ป้าย “ฮัก นายกฯ นิด”

คงจะโดดเด่นตีคู่กับป้าย “ฮัก ทักษิณ”

ที่เริ่มโผล่ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ •