ยิ่ง ‘ใหญ่’ ยิ่ง ‘หนัก’

การสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด ชวนให้รู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ในหัวข้อที่ใช้ตั้งคำถาม

“ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง กับผู้น่าเห็นใจทางการเมือง” คือหัวเรื่องสำรวจที่ว่า

ที่ก่อความคิดน่าประหลาดใจขึ้นมา เป็นเพราะนึกได้ยากทีเดียวว่าคำตอบจาก 2 คำถามคือ ใครคือผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง และใครคือผู้น่าเห็นใจทางการเมือง จะใช้ชี้ให้เห็นอะไรได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะคาดเดาเจตนาของผู้ตั้งหัวข้อสำรวจได้ยาก แต่เมื่อเห็นคำตอบกลับรู้สึกว่าน่าสนใจไม่น้อย

 

ในคำถาม “คิดว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง” (สามารถเลือกตอบได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ) ร้อยละ 42.90 ตอบว่า นายทักษิณ ชินวัตร, ร้อยละ 21.91 ตอบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน, ร้อยละ 17.40 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 15.11 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 10.15 เห็นว่าไม่มีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองไทย, ร้อยละ 9.01 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, ร้อยละ 6.11 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ร้อยละ 4.27 นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ร้อยละ 3.28 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ขณะที่คนอื่นๆ รวมกันได้ ร้อยละ 3.21 มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นายภูมิธรรม เวชยชัย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายชัยธวัช ตุลาธน นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายเนวิน ชิดชอบ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

ขณะร้อยละ 5.50 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

สําหรับบุคคลที่คิดว่าเป็นผู้ที่น่าเห็นใจทางการเมือง (สามารถเลือกตอบได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ) พบว่า ร้อยละ 46.79 เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 17.86 ไม่มีใครที่น่าเห็นใจ, ร้อยละ 11.45 เป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ร้อยละ 10.46 นายเศรษฐา ทวีสิน, ร้อยละ 8.55 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 8.09 นายทักษิณ ชินวัตร, ร้อยละ 1.91 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, ร้อยละ 1.37 นายชัยธวัช ตุลาธน, ร้อยละ 1.22 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ขณะร้อยละ 2.98 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.พรรณิการ์ วานิช นายชวน หลีกภัย นายภูมิธรรม เวชยชัย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกัณวีร์ สืบแสง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

โดยร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

เมื่อก้าวข้ามความพยายามหาคำตอบว่า “นิด้าโพล” สำรวจเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นอะไร มาจับที่เกิดกับความรู้สึกในคำตอบ

นักการเมืองที่ทรงอิทธิพบที่สุดเป็น “นายทักษิณ ชินวัตร” ตามด้วย “นายเศรษฐา ทวีสิน” แต่ที่ผู้คนให้ความเห็นใจที่สุดเป็น “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ตามด้วย “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

เหมือนกับว่าคนกำหนดหัวข้อก็ตั้งคำถามไปยังงั้นๆ แค่อยากรู้ว่าในทางการเมืองประชาชนเห็นว่าใครมีอิทธิพล และใครน่าเห็นใจ ไม่ได้คาดหวังว่าคำตอบจะให้คำตอบอะไรซ้อนขึ้นมาอีกมิติ

แต่หากถามต่อไปว่า ระหว่าง “ผู้ทรงอิทธิพล” กับ “ผู้น่าเห็นใจ” ใครต้องแบกรับความคาดหวังมากกว่า ย่อมชัดเจนว่าจะต้องเป็น “ผู้ทรงอิทธิพล” เพราะจะไปคาดหวังอะไรจาก “ผู้ที่น่าเห็นใจ”

เมื่อคิดเลยไปถึงการสร้างความนิยม อันหมายถึงฐานคะเนนในวันข้างหน้า “ผู้ที่อยู่ความคาดหวังมากกว่า” จะต้องสร้างผลงานให้ประชาชนเกิดความสมหวัง ขณะที่ “ผู้น่าเห็นใจ” ได้คะแนนสงสารมาตุนไว้แล้ว หากทั้งที่ “น่าเห็นใจ” แต่สามารถสร้างผลงานที่ชวนให้ประทับใจได้ ยิ่งเติมคะแนนได้ไม่ยาก

ด้วยเหตุนี้เอง คำถามที่ชวนให้แปลกใจว่าผู้กำหนดหัวข้อต้องการให้คำตอบบอกอะไรกับสังคม หากคิดต่อไปอีกนิด จะพบว่าคำตอบที่ออกมาน่าสนใจทีเดียว

หาก “มีอิทธิพล” แล้วสร้างผลงานได้ ก็เสมอตัว แต่หากสร้างไม่ได้ ย่อมถูกส่ายหัวได้ง่ายๆ

สำหรับ “ผู้น่าเห็นใจ” หากสร้างผลงานอะไรไม่ได้ก็เสมอตัว แต่หากขยันขันแข็งในการสานฝัน สร้างความหวังให้ประชาชน ย่อมเรียกเสียงปรบมือได้ไม่ยาก