‘บทเรียน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐ ฝ่ายหนึ่ง ปักหมุด เพื่อแสดงเขตว่าเป็นพื้นที่ทำกินได้ อีกฝ่าย ตั้งกำแพงปกป้อง เพราะหมุดที่จะกันพื้นที่ออกเพื่อเป็นที่ทำกินนั่น อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า

เราต่างรู้ดีว่า เริ่มต้นจากพื้นที่ทำกิน ต่อไปจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร และจะเป็นเหมือนเช่นพื้นที่ป่าแห่งอื่นๆ ผู้ครอบครองพื้นที่จะไม่ใช่ “ชาวบ้าน” ไม่ใช่เกษตรกร

และเราก็รู้ดีว่า เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ถึงวันนี้ ต้นเดือนมีนาคม การถกเถียงยังคงดำเนินต่อ ต่างฝ่ายต่างอ้างความถูกต้อง ราวกับยึดแผนที่คนละฉบับ

ประชาชนจำนวนมากร่วมคัดค้าน แสดงความคิดเห็น

คล้ายจะเป็นเรื่อง “แปลกแต่จริง” ที่ประชาชนต้องลุกขึ้นปกป้องแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จากการรุกล้ำโดยหน่วยงานของรัฐ

เรื่องราวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มันเกิดขึ้นมาตลอด

แต่มีเรื่องหนึ่งที่คล้ายเป็นบทเรียนที่ดี

เป็นเรื่องที่ “ประชาชน” ลุกขึ้นยืนหยัด ปกป้องแหล่งอาศัยสัตว์ป่าสำเร็จ

เรื่องที่ผู้ชายคนหนึ่งทุ่มเทอย่างสุดชีวิต จนกระทั่งเดินออกมาจากห้องประชุม และพูดอย่างยินดี ด้วยท่าทีอ่อนล้าว่า “เราชนะแล้ว”

 

ปี พ.ศ.2530

มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประชาชน กับหน่วยงานของรัฐ ความขัดแย้งขยายเป็นวงกว้าง

ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้สร้างเขื่อนน้ำโจนในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อีกฝ่ายคัดค้าน

ในช่วงแรก ภาพรวมประชาสัมพันธ์โครงการถึงผลดีที่จะได้รับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้สร้าง

ภาพพจน์ของผู้คัดค้าน ที่ส่วนใหญ่คือ นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่ปกป้องถูกบิดเบือน เจ้าหน้าที่ในป่าทุ่งใหญ่ ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกร่วมมือกับคนตัดไม้ และแร่เถื่อน สืบ นาคะเสถียร บันทึกช่วงเวลานี้ไว้ว่า

“การกล่าวหา ทำให้พวกเราหันหน้าเข้าหาและร่วมมือกัน”

องค์กรอนุรักษ์ต่างๆ ทำหน้าที่ของตน ทางกลุ่ม “พี่สืบ” รับหน้าที่ในงานวิชาการ

พวกเขาทำงานอย่างหนัก และหนักยิ่งขึ้นเมื่อใกล้วันพิจารณาตัดสินโครงการ

ถึงที่สุด พี่สืบตัดสินใจนำข้อมูลการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน มาสรุป วิเคราะห์เพื่อใช้เป็นบทเรียนสำคัญว่าเขื่อนสร้างผลกระทบกับสัตว์ป่า รวมทั้งแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างไร

 

พ.ศ.2529 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานในท้องที่ ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เสร็จสิ้น

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีพื้นที่ราวๆ 165 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 103,000 ไร่

อ่างเก็บน้ำไม่เพียงทำให้สภาพที่ลุ่มต่ำอันสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยที่ดีของเหล่าสัตว์ป่า จมใต้ผืนน้ำ

ป่า ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ หมดไป

สัตว์ป่านานาชนิดที่มีถิ่นกำเนิดและอาศัยที่นี่ ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม

พี่สืบและทีม ใช้เวลา 2 ปี 4 เดือน ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ “บ้าน” พวกมันจมอยู่ใต้น้ำ

ทุกวันขณะทำงาน ภาพที่พวกเขาพบคือ น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ เหลือเพียงเกาะเล็กๆ บริเวณที่ไม่สูงนัก จะถูกน้ำท่วมไปก่อน เกาะอื่นค่อยๆ จมหาย

สัตว์ป่าที่เคยอยู่บริเวณนั้นหนีน้ำออกไปทุกทิศทุกทาง หนีไปโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ใด

สัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยติดค้างตามเกาะ จำนวนไม่น้อยติดอยู่ตามต้นไม้ที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พวกมันอดอาหาร แย่งที่อยู่ที่มีจำกัด ส่วนใหญ่จึงผอมโซ หลายตัวตายเป็นซากห้อยอยู่ตามกิ่งไม้

ทีมทำงานเหน็ดเหนื่อย อดหลับอดนอน หยดเหงื่อไหลปะปนกับหยดน้ำตา

หมีควาย – สัตว์ป่าหลายชนิด แม้ว่าในวิถีชีวิตปกติจะไม่มีชีวิตที่อยู่กับสายน้ำ แต่เมื่อพื้นที่ถูกเปลี่ยนแปลง เส้นทางเดินไปแหล่งอาหารเปลี่ยนไป พวกมันจำเป็นต้องดิ้นรน และปรับตัวเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย

สืบ นาคะเสถียร นำข้อมูลเหล่านี้เข้าไปนำเสนอกับคณะกรรมการ

ภาพความจริงปรากฏให้คณะกรรมการเห็น

และภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอีก หากการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนเสร็จสิ้น

พวกเขาตัดสินใจให้ชะลอ และระงับการก่อสร้างไว้ก่อน

 

เวลาผ่านมาแล้วร่วม 40 ปี แต่ดูเหมือนว่า คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ หรือยอมรับความจริงว่า ผลจากการทำลายล้างธรรมชาติ นั้นคือความหายนะของเหล่าสัตว์ป่า และเรา มนุษย์ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะพบชะตากรรมเดียวกัน

การถกเถียงเกิดขึ้นอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า เรามีหลักฐานยืนยันว่า สิ่งที่สูญเสียไปแล้วไม่มีวันสร้างขึ้นมาใหม่ได้

ความเจริญ การก่อสร้าง รวมทั้งการจะแก้ไขปัญหาให้คน ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ และยอมรับว่า โลกไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเพียงของมนุษย์

บทเรียนความหายนะ มีมากมาย

แต่ดูเหมือนว่า เราจะไม่พยายาม “เรียน” กับ “บท” เหล่านั้น •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ