จะทดลองอีกกี่ครั้ง จึงจะได้สมาชิกวุฒิสภาในอุดมคติ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ปี่กลองการเลือกสมาชิกวุฒิสภากำลังจะดังขึ้น สืบเนื่องจากการดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปีของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2567

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งมีที่มาจากบทเฉพาะกาลจากการคัดเลือกของ คสช.เป็นหลัก มีบทบาทในการสนับสนุนรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.และมีภารกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านในเรื่องการปฏิรูปประเทศและการกำกับการทำงานของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำลังหมดจากหน้าที่และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไปอีก 2 ปี

สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญกำลังจะมาแทนที่ ด้วยกระบวนการคัดเลือกกันเอง และ สลับไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพ จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี โดยมีหน้าที่เหมือนกับสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกทุกประการ ยกเว้นหน้าที่ในการร่วมลงมติกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกของการมีสมาชิกรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

การออกแบบให้มีกระบวนการได้มาด้วยวิธีการคัดเลือกกันเอง ถือเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งในทางการเมืองไทย หลังจากที่มีกระบวนการได้มาซึ่งวุฒิสภาที่แตกต่างกันหลากหลายแบบในอดีตเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาราวกับว่ายังไม่สามารถหาวิธีการที่ลงตัวเพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ตามอุดมคติได้

หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในกลางปีนี้ จะเป็นอีกหนึ่งการทดลองของการเมืองไทย

 

บทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา
อุดมคติที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

การมีวุฒิสภาในยุคเริ่มแรก เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยงแก่สภาผู้แทนราษฎรก็ดี เป็นสภากลั่นกรองหลังจากการผ่านกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือการทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินแก่รัฐบาลในฐานะผู้มีวุฒิก็ดี

การกำหนดให้วุฒิสภาต้องเป็นกลาง ปลอดจากการเมือง ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ภายใต้อาณัติทางการเมืองใดๆ ก็ดี

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุดมคติ เพราะในความเป็นจริง พฤติกรรมการแสดงออกของวุฒิสภาที่ผ่านมาทุกคยุคทุกสมัยแทบจะไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองให้เห็น แต่เป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อค้ำจุนอำนาจให้แก่ฝ่ายที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง สรรหา คัดเลือกเข้ามาเท่านั้น

คุณสมบัติ ความรู้ความสามารถที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้มีวุฒิจากประสบการณ์ในการทำงานที่จะให้คำปรึกษาแนะนำในการบริหารราชการแผ่นดินกลับเป็นคุณสมบัติรอง โดยความใกล้ชิด การเป็นที่ไว้วางใจของผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งกลับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญกว่า

การทำหน้าที่วุฒิสภา จึงเป็นไปเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ การยกมือลงมติในเรื่องต่างๆ ก็ตามแต่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นวิปวุฒิจะคอยบอกมา เนื้อหาสาระของกฎหมายหรือสิ่งที่จะลงมติแทบจะไม่ต้องพิจารณากัน

 

เลือกตั้ง หรือ สรรหาดีกว่ากัน

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับเดียวที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยก่อนหน้านั้นแทบทุกฉบับมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์จากการเสนอแนะของผู้เป็นรัฐบาล

รัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนให้มีสมาชิกวุฒิสภา 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน รวม 76 คน และจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาอีก 74 คน

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนวิธีการให้มาจากการเลือกตั้งจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพต่างๆ 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง และคัดเลือกสลับไขว้กลุ่ม และมีการลงคะแนนคัดเลือกกัน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในแนวคิดการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไปมาในรอบ 20 ปี จากเลือกตั้งทั้งหมด เป็นเลือกตั้งผสมกับสรรหา และเป็นการเลือกตั้งจากผู้สมัครด้วยกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ

เป็นความไม่นิ่งและไม่พอใจกับผลที่ได้ จึงต้องออกแบบใหม่ทุกครั้ง

 

การเลือกกันเองจากผู้สมัคร
ได้สมาชิกวุฒิสภา ที่หลากหลาย?

การกำหนดให้การสมัครเข้าสู่การคัดเลือกกันเองของผู้ประสงค์เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อนำไปสู่วุฒิสภาที่ประกอบด้วยบุคคลที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ในสังคม อาทิ กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มอาชีพการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กลุ่มอาชีพทำนา กลุ่มอาชีพทำสวน ฯลฯ จะเป็นหลักประกันให้เกิดความหลากหลายทางอาชีพจริงหรือไม่

คำตอบคือ ไม่จริง

เพราะการจะสมัครในกลุ่มอาชีพใด แม้จะต้องระบุว่ามีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพนั้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่กระบวนการในการรับรองตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศออกมา ซึ่งเรียกว่าแบบ ส.ว.4 นั้นเป็นเพียงให้บุคคลทั่วไป สามารถลงนามรับรองได้ว่าบุคคลผู้สมัคร เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในกลุ่ม ทำงานหรือเคยทำงานในกลุ่มไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีพยานร่วมลงนามอีก 1 คนเท่านั้น

ส่วนในใบสมัครตามแบบฟอร์ม ส.ว.3 ก็ให้ผู้สมัครเขียนประวัติการทำงานหรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มที่สมัคร ไม่เกิน 5 บรรทัด

ดังนั้น ผู้สมัครแต่ละรายอาจสามารถเลือกไปอยู่ในกลุ่มอาชีพ โดยพิจารณาจากความรุนแรงในการแข่งขันมากกว่าจะเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญจริงที่ตนเองมี กลุ่มอาชีพบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ที่คาดว่าจะมีผู้สมัครจำนวนมาก ก็อาจหลีกไปสมัครในกลุ่มทำนา กลุ่มทำสวน กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอื่นๆ ได้

ในขณะที่กลุ่มอาชีพที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กลุ่มอาชีพทำนา ทำสวน อาจถูกเบียดบังสัดส่วนที่ตัวเองควรจะได้ไปให้แก่กลุ่มอื่นที่ต้องการหลีกเลี่ยงการแข่งขันในกลุ่มอาชีพเดิมดังกล่าว

 

การออกแบบให้เลือกกันเองและเลือกไขว้
จะป้องกันการทุจริตได้หรือไม่

คําตอบคือ ไม่

เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกกันเองในแต่ละละกลุ่มอาชีพในรอบแรกที่กระทำในระดับอำเภอ มีกติกาให้หนึ่งคนสามารถเลือกได้ 2 เสียง คืออาจเลือกตัวเองหนึ่งเสียง และเลือกบุคคลอื่นอีก 1 เสียง

ในกรณีที่มีการกะเกณฑ์หรือนัดแนะเพื่อการทุ่มลงคะแนนให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นเรื่องไม่ยาก ง่ายกว่าการทุจริตโดยการซื้อเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมากมาย

ยิ่งกรณีกำหนดค่าสมัครคนละ 2,500 บาท หากต้องการคะแนนพื้นฐานเพียง 10 คะแนนเพื่อผ่านการคัดเลือกในรอบแรกที่เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย

ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็ไม่สามารถออกระเบียบปฏิบัติเพื่อป้องกันการฮั้วในการลงคะแนนในลักษณะดังกล่าวนี้ได้และไม่มีการออกมาชี้แจง ป้องปราม และกล่าวถึงบทลงโทษหากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน

เงินงบประมาณ 1,800 ล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอขอใช้งบประมาณในการจัดการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็จะถูกใช้เป็นค่าตอบแทนบุคลากรและค่าดำเนินการทางธุรการต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จ คือ มีผู้ผ่านการคัดเลือกครบจำนวนที่ต้องการเท่านั้น แต่ไม่ได้ใส่ใจถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

คุณภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้จากระบวนการคัดเลือกกันเอง 3 ขั้น จะเป็นตัวบ่งชี้ของการออกแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยอีกครั้ง

หากไม่ดีก็เปลี่ยนวิธีการได้มา วิธีการสรรหา ไปเรื่อยๆ

แต่ไม่เคยคิดว่า ถึงวันนี้เรายังจำเป็นต้องมีวุฒิสภากันอีกหรือไม่