จาก ‘ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์’ สู่ ‘การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จาก ‘ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์’

สู่ ‘การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์’

 

สัปดาห์ก่อนเขียนถึง creative tension (ความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์) ระหว่างผู้ว่าการแบงก์ชาติกับนายกรัฐมนตรี

ทำให้คิดถึง creative destruction หรือ “การทำลายล้างที่สร้างสรรค์”

สองคำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ก็มีคำว่า “สร้างสรรค์” ที่ตามมาด้วยคำที่มีความหมายทางลบ

เพื่อให้เห็นว่าแม้แต่อะไรที่ดูร้ายๆ ถ้าทำเพื่อการ “สร้างสรรค์” ก็อาจจะมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติบ้าง

แต่ใครที่อยู่ในแวดวงการเงินการบัญชีจะบอกว่า creative accounting ไม่ใช่สิ่งที่น่าเลียนแบบ

เพราะมันหมายถึงการทำบัญชีแบบ “สร้างสรรค์” ที่เกินจินตนาการ

มันคือการตกแต่งบัญชีแบบมีเป้าหมายเพื่อการ “เสกสรรค์ปั้นแต่ง” ที่ผิดไปจากของจริงโดยสิ้นเชิง

ผู้รู้ในวงการนิยาม “การบัญชีเชิงสร้างสรรค์” ว่าเป็นวิธีทำบัญชีที่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่จำเป็น แต่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในมาตรฐานการบัญชีเพื่อนำเสนอ “สถานะทางการเงินที่ของธุรกิจที่ดีกว่าความเป็นจริง”

นั่นหมายถึงการทำบัญชีแบบศรีธนญชัย

เป็นการเตือนเราว่าวลีอะไรที่ฟังดูน่ากลัวบางทีอาจจะเป็นเรื่องควรพิจารณา

แต่หากเป็นถ้อยประโยคที่เหมือนลื่นไหล ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีวาระซ่อนเร้นแน่นอน

“ทําลายล้างอย่างสร้างสรรค์” หรือ creative destruction จึงเข้าข่ายน่าสนใจพอๆ กับความสัมพันธ์ในลักษณะ “ตึงเครียดอย่างสร้างสรรค์”

เป็นทฤษฎีที่บอกว่าบางครั้งการ “ทำลาย” ของเก่าที่คร่ำครึก็มีความจำเป็นหากจะ “สร้างสรรค์” สิ่งใหม่ๆ

เป็นแนวคิดที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย Joseph Schumpeter (โจเซฟ ชุมปีเตอร์) บัญญัติไว้ในต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อบอกว่านวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

และมันจะมาทดแทนอุตสาหกรรมและโครงสร้างเก่า…บางครั้งก็แบบถอนรากถอนโคนกันเลยทีเดียว

เป็นแนวคิดพื้นฐานของระบอบทุนนิยม

มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิถีของอุตสาหกรรม สังคม และเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเปลี่ยน

บางทีเรียกสิ่งนี้ว่า “การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์”

นั่นย่อมเกี่ยวกับวงจร “สร้าง” และ “ทำลาย”

ที่ต่อเนื่องภายในระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ และแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น

ตลาดเสรีในระบบทุนนิยมย่อมเหมือนธรรมชาติตรงที่ว่าบ่อยครั้งมัน “โหดร้าย” และไร้ความปราณีต่อผู้ที่อ่อนแอหรือไม่พร้อมจะปรับตัว

บางครั้ง แม้แต่คนเก่งและมีความสามารถก็อาจล้มเหลวได้

ความคิดบางอย่างที่ดูเหมือนจะเจ๋งจริงๆ ในขณะหนึ่ง หากใช้ผิดจังหวะก็อาจจะเจ๊งได้ต่อหน้าต่อตา

และถ้าคุณไม่ลุกขึ้นเองก็จะไม่มีใครประคองคุณขึ้นมาอีก

 

แต่หากว่าตามหลักของ creative destruction แล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ไม่จำเป็นต้องเลวร้ายเสมอไป

เพราะความล้มเหลวเช่นว่านี้อาจจะทำให้คุณหรือธุรกิจของคุณแข็งแกร่งขึ้นในที่สุด

นั่นรวมถึงความแข็งแกร่งของสังคมเป็นส่วนรวมด้วย

เพราะวิธีการ “ทำลายอย่างสร้างสรรค์” นี่แหละที่จะกวาดล้างเอาอะไรที่ล้าสมัย, ที่ไร้ประสิทธิภาพและที่ไม่สามารถแข่งขันได้ออกไปจากระบบ

เพื่อเปิดทางให้ของใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ที่ทนทานกว่าเก่า และที่ปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลงนั้นมาทดแทนได้

เป็นการปูทางให้โอกาส อุตสาหกรรม และรูปแบบการจ้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ขับเคลื่อนความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนจึงไม่ลังเลที่จะบอกว่าบางครั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือย่ำแย่อาจจะก่อให้เกิดผลดีก็ได้

เพราะมันจะทำให้ความไร้ประสิทธิภาพและสภาวะ “ฟองสบู่” ถูกกวาดออกไปโดยธรรมชาติ

ในที่สุด เฉพาะคนและองค์กรที่ปรับตัวเองได้เท่านั้นที่จะอยู่รอด

 

สอดคล้องกับทฤษฎี Survival of the Fittest ของอดัม สมิธ

อันหมายถึงการที่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ส่วนอื่นๆ ที่อ่อนแอ, ไม่ปรับตัว และติดยึดอยู่กับอดีตก็มีแต่จะล้มหายตายจากไปเท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอยก็ย่อมนำไปสู่การตกงาน การล้มละลาย และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ถ้าเป็นหลักคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอีกคนหนึ่งคือ Maynard Keynes รัฐบาลจะต้องพยายามอย่างสุดฤทธิ์ที่จะต้องหลบหลีกชะตากรรมเช่นนั้น

รัฐบาลจึงต้องเข้าไปโอบอุ้ม ฉีดเงินเข้าไปช่วย ลดดอกเบี้ย ลดค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติ

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ยึดหลัก supply-demand เพื่อหาทางออกจากวิกฤต

แต่สำหรับ Schumpeter แล้ววิธีคิดอย่างนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกที่โหดร้ายกว่าที่มนุษย์อยากจะยอมรับ

นั่นก็คือพฤติกรรมมนุษย์นั้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ “ความโลภและความกลัว”

เมื่อโลภถึงจุดหนึ่ง วิกฤตก็เกิด

พอเกิดวิกฤต กลไกธรรมชาติจะทำให้ฟองสบู่หายไป และจะกวาดเอาขยะ, ของล้นเกินและความไร้ประสิทธิภาพทิ้งไป

ใครอ่อนแอ, ใครทำงานไม่เป็น, ใครไม่ปรับตัวก็มีอันต้องล้มหายไป

ที่แข็งแรงกว่า, ที่มีความสามารถมากกว่า, ก็จะเข้ามาแทนที่

ในระดับชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการ “ทำลายล้าง” ก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ

นั่นหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และตลาดแรงงาน

เป็นการจัดสรรทรัพยากรจากภาคส่วนที่กำลังถดถอยไปสู่ส่วนที่กำลังขยายตัว

โดยจัดสรรทุน แรงงาน และความเชี่ยวชาญไปยังจุดที่สามารถสร้างผลตอบแทนสูงสุดได้

 

ตัวอย่างคือการถือกำเนิดของอินเตอร์เน็ตได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์ การค้าปลีก และความบันเทิง

โดยมาแทนที่โมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ

ตลาดจึง “ป่วน” หรือถูก disrupt เพราะเกิดนวัตกรรมที่มุ่งเป้าไปที่ความไร้ประสิทธิภาพหรือช่องว่างในตลาดที่มีอยู่

ด้วยการเสนอทางเลือกทีตอบโจทย์ดีกว่าผู้ครอบครองตลาดเจ้าเดิม

ไม่ต้องดูอื่นไกล Uber และ Airbnb ได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการขนส่งและการบริการอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

บริการแบบ peer-to-peer ใหม่ก็เข้ามาท้าทายผู้ครอบครองตลาดแบบดั้งเดิม

 

การเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงไม่ใช่เพิ่งเริ่มเกิด

ย้อนกลับไปคือช่วงเวลาที่มนุษย์เปลี่ยนจากรถม้าสู่รถยนต์

หรือจากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมไปเป็นพลังงานหมุนเวียน

มาถึงวันนี้ “การทำลายล้างที่สร้างสรรค์” กำลังเกิดต่อหน้าต่อตาเราอย่างชัดแจ้ง

เป็นสัจธรรมของระบบทุนนิยมว่าเศรษฐกิจมีทั้งช่วง “ขาขึ้น” และ “ขาลง” หรือ Boom กับ Bust

ตอนทุกอย่างเฟื่องฟู ผู้คนก็ใช้จ่ายกันมากกว่าปกติ ซึ่งก็นำไปสู่การกู้เงินเพิ่มขึ้น

ในบรรยากาศอย่างนั้น ธุรกิจทำกำไรได้ไม่ยาก

ในแนวคิดแบบ “ทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์” นั้นเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่โหมดขาขึ้นอย่างนี้มักจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารลดลง ธุรกิจพากันเกิดใหม่เหมือนดอกเห็ด

แต่เป็น “ฟองสบู่” ที่เต็มไปด้วยบริษัทที่ล้นเกินความต้องการ

แต่เพราะผู้คนอยู่ในอารมณ์ใช้จ่าย ทุกอย่างกำลังร้อนแรง ความไร้ประสิทธิภาพก็ถูกซ่อนไว้อย่างมิดชิด

ตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจพลิกข้าง กลายเป็นขาลง คนทั่วไปก็จะใช้จ่ายน้อยลง

ธุรกิจที่แข่งขันไม่ได้ก็มีอันต้องล้มระเนระนาด

นั่นย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวดอย่างน้อยก็ในระยะสั้น

แต่ขณะเดียวกันก็บังคับให้คนลงทุนในธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีการบริหารอย่างระมัดระวังมากขึ้น

และนั่นก็จะกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจรอบใหม่

ตามแนวคิดนี้ คนที่ลงทุนในกิจกรรมที่เป็น “ฟองสบู่” ในช่วง “ขาขึ้น” อย่างคึกคะนอง ไม่สนใจว่าคุ้มค่าหรือไม่

เพียงต้องการจับจังหวะทำกำไรระยะสั้น ไม่ยอมประเมินความเสี่ยงใดๆ

คนเหล่านี้ก็ควรจะต้องถูก “ลงโทษ” และต้องปล่อยให้รับโทษานุโทษตามสัดส่วนเมื่อต้องเจอกับการขาดทุนในช่วง “ขาลง”

หาไม่แล้ว คนในสังคมก็จะทำอะไรผิดซ้ำๆ เหมือนที่ผ่านมา

นั่นคือไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาดทั้งๆ ที่รู้ว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา”

ในเมื่อเรายอมรับที่จะอยู่ในระบบทุนนิยม ก็ต้องตระหนักว่าการ “ทำลายล้าง…อย่างสร้างสรรค์” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงๆ!