สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (3) | พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ (ฉบับประจำวันที่ 8-14 มีนาคม 2567 ฉบับที่ 2273)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ

ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (3)

 

องค์ประกอบของพระปรางค์ส่วนถัดมาคือ “มณฑปทิศ” โดยในปัจจุบัน ภายในมณฑปทิศทั้ง 4 องค์ ประดิษฐานพระพุทธรูปที่แสดงพุทธประวัติตอนประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน

แต่จากหลักฐานการบูรณะใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุเอาไว้ว่า ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่าภายในประดิษฐานรูปเคารพอะไร เพราะหลงเหลือเพียงแท่นฐานเท่านั้น

ส่วนพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นการนำมาประดิษฐานใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งสิ้น มิใช่ของเดิมตั้งแต่เมื่อแรกสร้างแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อมิใช่มณฑปที่ตั้งใจแสดงพุทธประวัติ ปัญหาสำคัญคือ มณฑปเหล่านี้แสดงความหมายอะไรในโครงสร้างแผนผังจักรวาล

นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า มณฑปทิศทั้ง 4 แสดงความหมายของวิมานท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งหากพิจารณารูปแบบสถาปัตยกรรม, ประติมากรรม และข้อความในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยประกอบ

ผมคิดว่าสมมุติฐานนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด

มณฑปทั้ง 4 ทิศของพระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์วิมานของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศ
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

ตัวมณฑปทิศออกแบบเป็นอาคารจตุรมุขทรงปราสาทยอดมณฑป ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมลักษณะดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง “ปราสาท” หรือ “วิมาน” ฉะนั้น การตีความว่าเป็น “วิมาน” ของท้าวจตุโลกบาลจึงมีความเป็นไปได้

ยิ่งพิจารณาร่วมกับประติมากรรมประดับบริเวณชั้นเชิงบาตรที่ฐานของมณฑปทั้ง 4 ทิศจะพบว่า มณฑปทิศเหนือและทิศใต้ทำเป็นรูปยักษ์หรือกุมภัณฑ์แบก ส่วนมณฑปทิศตะวันออกและตะวันตก ทำเป็นรูปคล้ายเทวดาหรือคนธรรพ์แบก ซึ่งหากนำไปเทียบเคียงกับเนื้อความในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 ก็จะพบนัยสำคัญบางประการที่เชื่อมโยงกัน

ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 อธิบายท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ไว้ว่า “ท้าวธตรฐ” ประจำทิศตะวันออก เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์, “ท้าววิรุฬหก” ประจำทิศใต้ เป็นใหญ่ในหมู่กุมภัณฑ์, “ท้าววิรูปักข์” ประจำทิศตะวันตก เป็นใหญ่ในหมู่นาค และ “ท้าวเวสสุวัณ” ประจำทิศเหนือ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์

ที่น่าสนใจคือ ประติมากรรมประดับชั้นเชิงบาตรทั้ง 4 ด้านของมณฑปทิศมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับบริวารของท้าวจตุโลกบาลแต่ละองค์อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มณฑปทิศเหนือ (ท้าวเวสสุวัณ) ที่เป็นใหญ่เหนือหมู่ยักษ์ ประติมากรรมที่ชั้นเชิงบาตรก็ทำเป็นรูปยักษ์แบก ส่วนมณฑปทิศใต้ (ท้าววิรุฬหก) ที่เป็นใหญ่เหนือกุมภัณฑ์ ประติมากรรมที่ชั้นเชิงบาตรก็ทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ เช่นกัน

ประติมากรรมรูปเทวดาหรือคนธรรพ์บนชั้นเชิงบาตรมณฑปทิศ
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า คำอธิบายทั่วไปเมื่อพูดถึงประติมากรรมที่ชั้นเชิงบาตรของมณฑปทิศเหนือและทิศใต้ มักจะกล่าวกันว่าเป็นรูปกุมภัณฑ์แบกทั้งหมด

แต่หากพิจารณาในเชิงประติมานวิทยาก็จะพบว่า การวาดรูปยักษ์และกุมภัณฑ์ตามจินตนาการของช่างในอดีตนั้นมีลักษณะแทบไม่แตกต่างกันเลย

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ประติมากรรมที่ชั้นเชิงบาตรมณฑปทิศเหนือและทิศใต้ที่แสดงประติมานวิทยาที่เหมือนกัน อาจแสดงความหมายที่แตกต่างกันได้ คือ ทิศเหนือเป็นยักษ์ ส่วนทิศใต้เป็นกุมภัณฑ์

เมื่อพิจารณามณฑปทิศตะวันออกและทิศตะวันตกก็จะพบลักษณะแบบเดียวกัน กล่าวคือ มณฑปทิศตะวันออก (ท้าวธตรฐ) ที่เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์ ประติมากรรมที่ชั้นเชิงบาตรก็ทำเป็นรูปคนธรรพ์อย่างสอดคล้องกันพอดี

ส่วนมณฑปทิศตะวันตก (ท้าววิรูปักษ์) ที่เป็นใหญ่ในหมู่นาค ประติมากรรมที่ชั้นเชิงบาตรก็ทำเป็นรูปมนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาถูกอธิบายว่าเป็นคนธรรพ์เช่นเดียวกับมณฑปทิศตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ อาจจะมิได้หมายถึงคนธรรพ์ก็เป็นได้ เนื่องจากนาคในความเชื่อของสังคมไทยก็มักที่จะปรากฏกายในรูปลักษณะมนุษย์อยู่เสมอ และการเขียนภาพนาคในภาพจิตรกรรมหรือประติมากรรมในอดีตก็มีหลายชิ้นที่แสดงออกในรูปของมนุษย์

ที่สำคัญในคัมภีร์ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 เมื่ออธิบายถึงกองทัพนาคก็จะอธิบายโดยสื่อถึงรูปกายของนาคในลักษณะที่เป็นมนุษย์เช่นกัน

ดังนั้น ประติมากรรมรูปมนุษย์ที่ชั้นเชิงบาตรของมณฑปทิศตะวันตกก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่จะแสดงความหมายของนาค

นอกจากนี้ ประติมากรรมรูปยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ และนาค บริเวณชั้นเชิงบาตรที่ฐานมณฑปทิศทั้ง 4 ยังเชื่อมโยงกับเนื้อความในคัมภีร์ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 ที่อธิบายถึงการวางตำแหน่งกองรักษาพิภพดาวดึงส์บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุได้อย่างลงตัว ดังนี้

“…ท้าวจตุโลกบาลจึงตั้งพวกพลทหารเป็น 4 กอง พิทักษ์รักษาอยู่ในทิศทั้ง 4 ท้าวธตรัฏฐมหาราชนั้นตั้งคนธรรพเสนาแสนหนึ่ง…พิทักษ์รักษาอยู่ด้านฝ่าข้างบุรพทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกมหาราชนั้นตั้งกองกุมภัณฑ์เสนาแสนหนึ่ง…พิทักษ์รักษาอยู่ด้านข้างทักษิณทิศใต้ ในด้านข้างปัจฉิมทิศตะวันตกนั้นท้าววิรูปักขมหาราชตั้งนาคเสนาแสนหนึ่ง…ในด้านข้างอุดรทิศฝ่ายเหนือนั้นท้าวเวสสุวรรณมหาราชตั้งยักขเสนาแสนหนึ่ง…”

จะเห็นว่า การตั้งกองรักษาพิภพดาวดึงส์ดังกล่าวสัมพันธ์กับรูปประติมากรรมยักษ์แบก กระบี่แบก และเทวดาแบกที่บริเวณชั้นฐานประทักษิณขององค์พระปรางค์ประธานที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

และทำให้ข้อสันนิษฐานว่า มณฑปทิศทั้ง 4 สื่อสัญลักษณ์ของวิมานท้าวจตุโลกบาลบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาที่โอบล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 น่าเชื่อถือมากขึ้น

ประติมากรรมรูปยักษ์หรือกุมภัณฑ์บนชั้นเชิงบาตรมณฑปทิศ
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

ถัดออกไปจากฐานพระปรางค์ ถูกออกแบบให้เป็นลานขนาดใหญ่ปูด้วยศิลา ในเชิงสัญลักษณ์ของการจำลองจักรวาล ย่อมตีความพื้นที่ลานโดยรอบนี้เป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเป็นสัญลักษณ์ของมหาสมุทรที่อยู่ถัดออกมาจาก “เขาสัตตบริภัณฑ์” และเป็นที่ตั้งของ “ทวีปทั้ง 4”

ในกรณีนี้ ทวีปทั้ง 4 จะถูกแทนค่าความหมายผ่าน “แท่นศิลา” ที่ตั้งอยู่บนลานรอบพระปรางค์ทั้ง 4 มุม หลักฐานที่ช่วยยืนยันการตีความดังกล่าวคือ เอกสารการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่จดเอาไว้ว่า แต่เดิมแท่นศิลาทั้ง 4 มุมเคยมีต้นไม้ประกอบอยู่ด้วยแท่นละ 1 ต้น โดยไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นต้นอะไร

กล่าวในเชิงสัญลักษณ์ การปลูกต้นไม้ประกอบตัวแท่นศิลาดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการอธิบายลักษณะของทวีปทั้ง 4 ตามขนบจารีตที่ปรากฏในคัมภีร์ไตรภูมิรัชกาลที่ 1 และสมุดภาพไตรภูมิหลายฉบับ

การอธิบายทวีปทั้ง 4 ตามคัมภีร์เรื่องโลกศาสตร์ต่างๆ นั้นนอกจากจะอธิบายถึงขนาดความกว้างความยาวของแต่ละทวีปแล้ว การอธิบายลักษณะสำคัญของแต่ละทวีปจะถูกนำเสนอผ่านสิ่งสำคัญ 2 ประการคือ หนึ่งรูปพรรณสัณฐานของทวีป และสอง ต้นไม้ประจำทวีป ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“อุตตรกุรุทวีป” มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำทวีป, “ปุฟพวิเทหทวีป” มีสัณฐานเป็นรูปวงกลม มีต้นซึกเป็นต้นไม้ประจำทวีป, “ชมพูทวีป” มีสัณฐานดั่งเรือนเกวียน มีต้นหว้าเป็นต้นไม้ประจำทวีป และ “อมรโคยานทวีป” มีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว มีต้นกระทุ่มเป็นต้นไม้ประจำทวีป

ในสมุดภาพไตรภูมิก็เช่นกัน เมื่อช่างเขียนต้องการจะแสดงลักษณะของทวีปต่างๆ ช่างจะเขียนให้ทวีปแต่ละทวีปมีรูปร่างแตกต่างกันตามลักษณะที่ปรากฏในคัมภีร์ และจะทำการเขียนต้นไม้ประจำทวีปประกอบอยู่ภายในเสมอ พร้อมตัวอักษรอธิบาย

ภาพถ่ายเก่าแท่นศิลาทั้ง 4 มุมบนลานรอบพระปรางค์ พร้อมต้นไม้ประจำฐานศิลา สัญลักษณ์ของทวีปทั้ง 4
ที่มาภาพ : หนังสือ ประวัติวัดอรุณราชวราราม

วิธีการนำเสนอลักษณะทางกายภาพของทวีปทั้ง 4 ตามหลักฐานข้างต้น เมื่อย้อนพิจารณาแท่นศิลาทั้ง 4 มุมของพระปรางค์วัดอรุณฯ ผมจึงเห็นว่ามีความเป็นไปได้มากที่แท่นศิลาทั้ง 4 มุมนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนค่าความหมายของทวีปทั้ง 4 ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ตั้งของแท่นศิลาที่ตั้งอยู่กลางลานรอบพระปรางค์ที่หมายถึงมหาสมุทร รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ประกอบแท่นศิลาแห่งละ 1 ต้น ซึ่งสอดรับกับการแสดงออกทางศิลปะแบบจารีตของช่างไทยที่นิยมแสดงลักษณะของทวีปต่างๆ ผ่านสัญลักษณ์ต้นไม้

อย่างไรก็ตาม ทวีปทั้ง 4 อาจถูกแทนด้วยสัญลักษณ์อื่นซึ่งมิใช่แท่นศิลา 4 มุมก็เป็นได้ โดยหากพิจารณาแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (พ.ศ.2430) ก่อนการบูรณะใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็จะเห็นว่าบริเวณที่เป็นแนวรั้วพระปรางค์ปัจจุบัน จะเป็นตำแหน่งของ “วิหารคด” 4 หลัง ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 และอาคารเก๋งจีนอีก 3 หลังตั้งอยู่โดยรอบ ซึ่งหากแท่นศิลาทั้ง 4 มุมมิใช่สัญลักษณ์ของทวีปทั้ง 4 ก็มีความเป็นไปได้ที่วิหารคด ตั้ง 4 มุมของพระปรางค์จะแสดงความหมายของการเป็นทวีปทั้ง 4 แทน

แต่กระนั้น หลักฐานที่หลงเหลืออยู่เกี่ยวกับวิหารคดทั้ง 4 ไม่มีเหลืออยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ภายใน หรือศิลปกรรมประกอบอื่นๆ ฉะนั้น การตีความหมายของวิหารคดจึงไม่สามารถทำได้ชัดเจนนัก

และทำให้ผมเลือกที่จะสันนิษฐานว่า ทวีปทั้ง 4 คือ แท่นศิลาประจำมุม 4 มุมที่ตั้งอยู่บนลานพระปรางค์วัดอรุณฯ