รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สแกนจุดเด่น-จุดด้อย ‘พท-ภท.-ปชป.-ก.ก.’

มีโอกาสสนทนากับ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่ลงพื้นที่วัดพระพุทธบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กรณีวัดขอออกโฉนดที่ดินวัดกว่า 2 พันไร่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน เนื่องจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ คัดค้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นวัดร้างในสมัยทวารวดี กระทั่งมีการบูรณะสร้างใหม่ในปี 2460

ทั้งนี้ หลังจาก รศ.ดร.สังศิตประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายยอมถอยเพื่อให้วัดสามารถออกโฉนดได้ โดยทางวัดต้องให้ทางกรมศิลปากรใช้พื้นที่บางส่วน ด้านกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ยกเลิกการคัดค้าน

ซึ่งการออกโฉนดให้วัดนั้น ไม่ได้เป็นปัญหากับการยื่นเรื่องขอเป็นมรดกโลก

อาจารย์สังศิตเล่าว่า งานที่ทำมาตลอด 5 ปี คือการตั้ง กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ ที่เป็น กมธ.ชุดแรกไม่เคยมีในรัฐสภาของไทยมาก่อน ด้วยหลักคิดที่ว่าปัญหาความยากจน ไม่สามารถจะแก้ได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำเป็นต้องทำงานโดยการบูรณาการหลายหน่วยงาน ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน ที่มีมากถึง 78%

คนเหล่านี้เจอปัญหาเรื่องของแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ไม่มีน้ำในการทำการเกษตรในหน้าแล้ง จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ฝายชนิดนี้ สร้างเร็ว และต้นทุนถูก

ที่สำคัญที่สุดคือ กักเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปีจริง หากไปทำที่ไหนเกษตรกรจะหายจนได้ทันที เพราะพอมีน้ำก็สามารถทำการเกษตรได้

สิ่งที่แนะนำเกษตรกรคือ ให้ทำเกษตรที่มีมูลค่าสูง หรือทำเป็นเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนให้ไปส่งขายเข้าห้าง ซึ่งราคาจะสูงขึ้นกว่าราคาในท้องถิ่น 3-4 เท่า ก็จะพ้นจนได้ นี่เป็นงานที่ทำร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและจังหวัดต่างๆ กว่า 10 จังหวัด จนถึงวันนี้ทำได้ไปเกือบ 1 พันฝายแล้ว

ภายในกลางปีนี้คงจะเพิ่มขึ้นอีก 3-4 พันฝาย รวมประมาณ 5-6 พันฝาย โดยใช้งบฯ ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ว่างบฯ ส่วนใหญ่ที่ทำไปแล้วเกือบ 1 พันฝายมาจากการที่ชาวบ้านทอดผ้าป่า อีกส่วนหนึ่งคืองบฯ CSR ที่ให้คนช่วยกันบริจาคเงินไปซื้อปูน และชาวบ้านออกแรงทำกันเอง ถึงได้เกิดฝายชนิดนี้ขึ้น ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนหมดเลย

รศ.ดร.สังศิตบอกว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันจะครบวาระ 5 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่ผ่านมาจึงตั้งมูลนิธิแก้จนขึ้นมา เพื่อทำงานต่อ โดยตนเป็นประธานมูลนิธิ มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นรองประธานคนที่ 1 คุณจเด็จ อินสว่าง เป็นรองประธานคนที่ 2 และคุณประพันธ์ คูณมี เป็นรองประธานคนที่ 3

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานานและผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 73 ปี นักวิชาการผู้นี้ ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิดให้มีการตั้งบ่อนการพนันอย่างถูกกฎหมาย ให้ความเห็นสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่า

“ผมคิดว่าคนไทยไม่พยายามคิดค้นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศของตัวเอง ไปเอาระบบของประเทศนั้นบ้าง ประเทศนี้บ้างมาผสมผสานกัน เยอะแยะไปหมดในรัฐธรรมนูญ มีองค์การตรวจสอบเยอะแยะไปหมดเลย ทั้ง ป.ป.ช. ทั้ง สตง. ทั้ง กกต. แต่ก็ควบคุมการคอร์รัปชั่นไม่ได้ เรามีพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถจะสร้างความหวังให้แก่คนได้จริงๆ ใครเป็นรัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้”

ระบบราชการที่ไม่ได้คิดแก้ปัญหาให้กับประชาชน แต่กลับคิดแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานตัวเองตลอดเวลา

ระบบราชการไทยไม่อยู่บนความรับผิดรับชอบกับความทุกข์ยากของประชาชน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากจะเห็นคือ การศึกษาที่สอนให้คนไทยรู้จักคิด รู้จักเป็นตัวของตัวเอง เน้นเรื่องของศีลธรรมคุณธรรม ความกตัญญูรู้คุณ

ซึ่งอันนี้ กมธ.ก็ทำงานเรื่องโรงเรียนแก้จน พยายามที่จะมีส่วนในการให้ข้อเสนอแนะนโยบายที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมและรัฐบาลไทย

อย่างเช่น นโนยบายแก้จน จนถึงวันนี้ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนให้ความสนใจแม้แต่พรรคเดียว กมธ.จึงทำให้รัฐบาลดูเป็นต้นอย่าง ถ้าหากรัฐบาลเห็นอาจนำไปเป็นนโยบายของตัวเอง

และกำลังจะเดินทางไปขอดูงานเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชั่นของประเทศจีน เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้คนไทยได้เห็นว่า องค์กรสถาบันเครื่องมือต่างๆ ในการปรามคอร์รัปชั่นที่ผ่านมาทำไม่ได้จริง อาจจะต้องการหลักคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศหรือเปล่า

สิ่งที่ กมธ.ชุดนี้ที่ทำ รัฐบาลจีนก็ตื่นเต้น เพราะในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด ไม่มีหน่วยงานไหนที่ทำ

 

อาจารย์สังศิตพูดถึงพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่า “พรรคนี้เป็นความหวังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะว่าไปก็ไม่ใช่แต่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นอาวุโสก็ลงคะแนนแก่พรรคการเมืองนี้มาก เพราะฉะนั้น จึงเป็นความหวังของคนไทยจำนวนมากที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อดี แต่จุดอ่อนของพวกเขาคือ หนึ่ง ยังรู้จักประเทศไทยไม่เพียงพอ ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ไทยวัฒนธรรมไทยดีพอ ยังมีวุฒิภาวะทางการเมืองไม่มากพอ และยังมีความเอนเอียงที่จะสนับสนุนประเทศมหาอำนาจบางประเทศ ซึ่งอาจจะนำภัยพิบัติอย่างร้ายแรงมายังประเทศไทยได้ เขามีข้อดีอยู่ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในแง่ที่ยังมีความรู้และประสบการณ์บางด้านไม่เพียงพอ”

สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ประธาน กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนฯ มองว่า เป็นอีกพรรคหนึ่งที่เป็นความหวังของประชาชนค่อนข้างมาก จะเห็นว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับความนิยมในการเลือกตั้งมาตลอด แต่จุดอ่อนของพรรคนี้คือ อาศัยระบบรราชการมากเกินไป ไม่กล้าคิดเรื่องการบริหารประเทศที่แตกต่างจากราชการ มีความเอนเอียงที่จะกลายเป็นพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้นกว่าเมื่อตอนที่ก่อตั้งพรรคเมื่อ 10 ปีแรก

“ผมว่าช่วงหลังเขามีความเป็นอนุรักษนิยมสูงขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ นโยบายแก้หนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี แต่วิธีคิดก็เหมือนกับทุกรัฐบาล คือ เชิญเจ้าหนี้ลูกหนี้มาพบกัน และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนไกล่เกลี่ย ซึ่งผมได้ให้ข้อเสนอแนะไปแล้วว่า ถ้าคิดแบบนี้จะจบเหมือนกับทุกรัฐบาล คือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะความคิดยังอาศัยแต่ภาครัฐเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ฉะนั้น ก็เป็นจุดอ่อนของเขาที่ยังต้องการความคิดใหม่ๆ ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้เขามีน้อยไปหน่อย พอขึ้นมาบริหารเลยทำให้คนรู้สึกผิดหวังว่าบริหารงานมา 5-6 เดือน ก็ไม่เห็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะว่าเขาไปห่วงแต่นโยบายประชานิยมมากเกินไป”

ในส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รศ.ดร.สังศิตวิจารณ์ว่าพรรค ภท.ก็เหมือนเป็นพรรคที่ 3 ที่เป็นความหวังของประชาชน แต่ส่วนใหญ่คะแนนนิยมมาจากทางภาคอีสาน กับภาคเหนือตอนล่างมากหน่อย พรรคนี้ถ้าเน้นนโยบายการแก้ปัญหาเกษตรกร ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น อาจจะกลายเป็นพรรคที่เติบโตได้

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในทางการเมืองมีโอกาสฟื้นตัวได้ แต่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี เร็วที่สุด 8 ปี เพราะแม้เป็นพรรคที่มีบุคลากรดี แต่การนำของพรรคขาดภาวะความเป็นผู้นำมาก ขัดแย้งกันมากเกินไป ไม่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งได้ดี

 

กรณีประเด็นการกลับมาเมืองไทยของนายทักษิณ ชินวัตร รศ.ดร.สังศิตคิดในมุมบวกว่า “คุณทักษิณเป็นผู้นำที่มีบารมีสูงทางการเมือง เพราะฉะนั้น ความคิด การเคลื่อนไหวของเขามีผู้ให้การสนับสนุนค่อนข้างสูง จะมีอิทธิพลมาก น่าจะเป็นคู่ต่อสู้ที่สำคัญของพรรค ก.ก. ซึ่งในบรรดาผู้นำทางการเมือง ผมว่ามีแต่คุณทักษิณที่จะสู้กับพรรค ก.ก.ได้ดี”

ในส่วนการทำงานของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า บทบาทที่แสดงส่วนใหญ่ เป็นบทตามรัฐธรรมนูญ ทำงานทางด้านตรวจสอบเป็นหลัก ซึ่งการตรวจสอบก็ไม่ค่อยได้ดีเท่าไร เพราะไปผูกพันโยงใยกับอำนาจรัฐบาลชุดที่แล้ว ทำให้ระบบการตรวจสอบไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

พอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ก็มีเวลาสั้นเกินไป ถ้ามีเวลาอาจจะตรวจสอบได้มากกว่า แต่เนื่องจากวาระมีแค่ 5 ปี ที่จริง ส.ว.ชุดนี้มีดาราที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบได้ดีหลายคน แต่ว่าช่วงเวลาไม่ให้

กรณีขัดแย้งในสังคมที่ว่าสว.ไม่ควรมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ประธาน กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนฯ มองว่า ถ้า ส.ว.จะเป็นอีกสภาหนึ่ง ควรเป็นสภาที่เป็นของผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเป็นกลางทางการเมือง เพื่อที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ มากกว่ารักษาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

แต่คำถามคือ จะออกแบบการได้มาซึ่งวุฒิสภาแบบนี้ทำอย่างไร ที่จะไม่ให้มีลักษณะโยงใยกับอำนาจดั้งเดิม จนกระทั่งไม่สามารถทำหน้าที่ได้

“ผมคิดว่าการมีวุฒิสภาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากอาชีพต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิ จะโยงกับอำนาจทางการเมือง พรรคทางการเมืองเป็นหลัก จะไม่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิจริง เพราะฉะนั้น อาจไม่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ถ้าหากว่าเขามีความเป็นอิสระ และทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ ยิ่งกว่าผลผระโยชน์ของพรรค เขาก็จะช่วยตักเตือนรัฐบาลได้”

อย่างไรก็ตาม “ผมคิดว่าการเลือกนายกฯ ควรให้เป็นอำนาจของ ส.ส.ไปโดยอิสระ ส.ว.เองควรเป็นสภาที่ตักเตือน ให้คำแนะนำ ให้บทเรียนที่สำคัญแก่ ส.ส. ซึ่งถือว่าเป็นนักการเมืองรุ่นเยาว์กว่า”

ในคำถามที่ว่ามีความหวังกับการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน อาจารย์สังศิตตอบว่า “ชะตาชีวิตของประเทศก็เหมือนกับชะตาชีวิตของคน มีขึ้นมีลง มีผู้นำดีชีวิตก็เดินหน้า ได้ผู้นำไม่ดีประเทศก็ตกต่ำ ในการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบนี้ ตอบชัดไม่ค่อยได้ แต่ถ้าระบบการศึกษาของเรายังเป็นแบบนี้ มันไม่เป็นหลักประกันเลยว่าประเทศไทยจะเดินหน้าได้ โดยเฉพาะการศึกษาที่ไม่เน้นให้คนมีคุณธรรม ศีลธรรม มีความรักชาติ รักครอบครัว จะทำให้สังคมมีความแตกแยกกัน และทำให้ประเทศอ่อนแอ”

ความคิดเห็นตรงไปตรงมาดังกล่าว คงทำให้เห็นภาพการเมืองไทยชัดเจนขึ้น และหลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่าบทบาทใหม่ของ รศ.ดร.สังศิต ในฐานะประธานมูลนิธิแก้จน จะช่วยผู้คนในสังคมให้หายจนได้มากน้อยแค่ไหน