ผังเมืองรวม ปารีสมหานคร

ปริญญา ตรีน้อยใส

ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีคนพูดถึง ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กันมากมาย มีทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และชาวบ้าน มีทั้งวิพากษ์ และวิจารณ์ ผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนปรับปรุงแก้ไขตามกฎหมาย

บังเอิญว่า ได้อ่านหนังสือ ปารีส 6 ทศวรรษการฟื้นฟูเมือง ที่ ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย ใช้ความรู้ ความสามารถ และเวลา รวบรวมสาระเกี่ยวกับผังเมืองรวม และแผนพัฒนาเมืองไว้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ ปารีสมหานคร เป็นที่ชื่นชอบและชื่นชม และเป็นแบบอย่างหรืออ้างอิง ถึงความงดงามตระการตาของบ้านเมือง

พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นมาของกรุงเทพมหานคร ก็ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น

 

สาระในหนังสือ ชี้ให้เห็นว่า กว่าจะมาเป็นปารีสมหานครในปัจจุบันนั้น มาจากผังเมืองรวม และแผนพัฒนาต่างๆ มากมาย ที่ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปี

มีการวางแผนวางผัง ตั้งแต่ ระดับภูมิภาค เพื่อให้ปารีสสัมพันธ์กับพื้นที่อื่นที่ไกลออกไป ระดับปริมณฑล ครอบคลุมทั้งเมือง ชานเมือง และเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในปริมณฑล นอกจากการพัฒนาพื้นที่แล้ว ยังคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ระบบคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

นอกจากแผนผัง ระดับเมือง ที่มีรายละเอียดมากมายแล้ว ยังลงไปถึง ระดับพื้นที่หรือย่าน ที่เกี่ยวกับโครงการของรัฐ โครงการร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน โครงการร่วมระหว่างเมืองปารีส กับรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ และเอกชน

และสุดท้าย ระดับโครงการสำคัญ อาทิตย์พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ หอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น

หนังสือ “ปารีส 6 ทศวรรษการฟื้นฟูเมือง” โดย ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย

สําหรับปัญหาที่กำลังถูกเถียงกัน คือประเด็นของการใช้ประโยชน์พื้นที่ หรือการกำหนดสี ในผังเมืองรวมนั้น ดูเหมือนว่าเนื้อหาจะแตกต่างไปจากของเรามาก แต่ก็น่าจะทันกับยุคสมัยและความเป็นจริง

การใช้ประโยชน์ที่ดินของปารีส แบ่งออกเป็นพื้นที่เมืองเก่า แหล่งงานอุตสาหกรรมและสีเขียว

มีการรวมประเภทของการอยู่อาศัยและพาณิชยกรรมไว้ด้วยกัน เนื่องจากเป็นแบบแผนดั้งเดิมของเมืองในฝรั่งเศส ที่เราจะพบร้านค้าร้านกาแฟ รวมอยู่กับบ้านพักหรืออยู่ข้างล่างของอพาร์ตเมนต์ สำนักงาน หรือสถานประกอบการ

สำหรับการใช้ที่ดินประเภทแหล่งงาน ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จึงมีทั้งการคงสภาพ ควบคุม และฟื้นฟู แหล่งงานเดิม และการพัฒนาพื้นที่แหล่งงานใหม่ อีกทั้งการแยกแหล่งงานทางการเงิน ออกเฉพาะชัดเจน

ที่น่าสนใจคือ การใช้ประโยชน์ที่ดินหลายหลายอย่างรวมกัน โดยการกำหนดการใช้ที่ดินหลากหลาย ซึ่งบางพื้นที่มีการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย บางพื้นที่มีการคงความหลากหลาย รวมทั้งการใช้ที่ดินแบบผสมผสาน

ที่ชัดเจนคือการกำหนดทิศทางของการพัฒนาปารีส ประกอบด้วย การรักษาที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ เพื่อให้มีคนยังอยู่อาศัยในปารีสต่อไป การควบคุมแหล่งงาน การลดความขัดแย้งระหว่างการใช้ที่ดินแต่ละประเภท การยกระดับการสัญจรขนส่งมวลชน การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และที่สำคัญคือการคงอัตลักษณ์ปารีส ที่ไม่เหมือนมหานครอื่นใดในโลกนี้

เอาเป็นว่า อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ร่วมวิพากษ์ หรือผู้อยากเสนอแนะเกี่ยวกับ ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ไปหาหนังสือ ปารีส หกทศวรรษการฟื้นฟูเมือง มาอ่าน เพื่อจะได้ความคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์ เอาไปเสนอต่อ หรือเลือกที่จะอยู่นิ่งนิ่ง เพื่อจะได้ตำลึงทอง •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส