ประดิษฐ์ไฉนในอำนาจ? ตอน สมเด็จบุน รานี

อภิญญา ตะวันออก

นี่คือเรื่องราวอันน้อยนิดของสมเด็จบุน รานี ภรรยาสมเด็จฮุน เซน ที่อัญเจียน้อยมากจะกล่าวถึง เกียรติประวัติของเธอบางด้าน ที่ผู้คนจดจำคือ ทั้งรักทั้งเกลียด

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เธอคือนางแก้วสุดของผู้นำเขมร รักแรกของฮุน เซน ที่ก่อเป็นเรื่องราวเหมือนตำนาน แม้ว่าครั้งหนึ่งเขาจะเคยนอกใจเธอก็ตาม!

แต่ความรักต้นแบบของรานีและเสน (ฮุน เซน) นั้น เหมือนต้นร้ายปลายดีในหนังสงครามอย่างไรอย่างนั้น กล่าวคือ มีกำเนิดจากยุคเขมรแดงที่ทั้งสองต่างร่วมอุดมการณ์ และต่อมาก็พลัดพรากจากกันในขณะที่เฮง บุน เฮียง (ชื่อเดิมบุน รานี) ตั้งครรภ์ และฮุน เซน จากเธอไปเวียดนาม/2 มิถุนายน 1977

ก่อนหน้านั้น ทั้งสองยังสูญเสียทารก ลูกชายคนแรก (ฮุน กำสรด)

ฉากคุ้นๆ ยุคบ้านเมืองกลางสงครามที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์พระนางฮุน เซน-ที่บุน เฮียง แสดงนำมาร่วมสี่ทศวรรษนั่น และนี่คือเรื่องราวของสังคมยุคใหม่ “เสด็จกรัน” กัมปูเจีย

 

การบอกเล่าถึงวิบากกรรมของฮุน เซน กับเมียรักที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในบ้านเมืองเขมรวันนี้ เริ่มจากราวปลายกุมภาพันธ์ 1979 ฮุน เซน วัย 27 ปี หลังจากเยือนสหภาพโซเวียด เขาก็ได้รับข่าวดีว่า พบภรรยาของตนแล้ว

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 45 ปีก่อน และตอนนั้น ยังไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่า เด็กหนุ่มคนนี้คือคนที่ฮานอยวางตัวให้เป็นตัวแทนระบอบของตนที่กัมพูชา!

บุนเฮียง-บุน รานี จึงเป็นสองภาคของนายหญิงแห่งชุดนิยายย้อนยุคที่ผุดในยุคสังคมนิยมจนสู่ยุคฐานันดรเขมรใหม่ที่ตอนจบของนิยาย เธอกลับถูกร่ำลือว่านอนหลับใหลในโรงพยาบาล ปล่อยให้สามีสมเด็จเฝ้าเยี่ยมเยียนอย่างลับๆ เพื่อมิให้ตกเป็นข่าว

ระหว่างเผชิญความเจ็บช้ำ ฮุน เซน เดินทางเยี่ยมพี่ชายบุญธรรมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ณ กรุงเทพฯ (21 กุมภาพันธ์) ตลอด 3 ชั่วโมง สองอดีตนายกฯ ต่างตกที่นั่งใต้ฤกษ์มฤตยูแห่งความเปราะบางทางการเมือง

กระนั้น ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เช่นใด ฮุน เซน และนายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังคงเหนือเมฆในบทผู้นำการเมืองลายครามอย่างมืออาชีพ

ซึ่งเรื่องแบบนี้ สมาชิกครอบครัว ต่างฝึกตนจนเข้าฝัก เรียกว่า เป็นธรรมเนียมในทุกกระเบียด โดยเฉพาะ “3” สมเด็จแห่งตระกูลฮุน

สมเด็จบุน รานี ก็เช่นกัน เธอเป็นนางแก้วเมียขวัญในการบำรุงสามีและลูกๆ การที่เธอตกเป็นข่าวร่ำลือหมดสติล้มป่วยกะทันหัน ทำให้ฮุน เซน ชะงักงันไประยะหนึ่งก่อนผลักดันลูกชายคนที่สองมาเป็นรองนายกฯ ทันที

และตนเองที่ใช้เวลาร่วมสองสัปดาห์ในการหายไปจากภารกิจการเมือง ปล่อยไอโอรีรันคลิปภารกิจรักของบุน รานี เสมือนว่าเธอยังอยู่…ในรูปภาพยนตร์

ซึ่งผู้สวมบท “เสน-รานี” ที่ต่อสู้กับชีวิตการเมืองอันรันทดยุคสงคราม ไม่ต่างจากนิทานพื้นบ้านของถิ่นประเทศนี้ ที่ผู้มีบุญหนักศักดิ์โต เทียบเท่า “เสด็จกรัน” ปกครองประเทศล่วงมาเฉียด “กึ่งศตวรรษ” อย่างน่าเทิดทูนความเป็นนางแก้วของสมเด็จบุน รานี ที่สมเด็จเตโชเทิดทูนบูชา

หลายฝ่ายไม่รู้ว่า เธอค้ำบัลลังก์สามี โดยเฉพาะโครงการถาวรวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นอย่างมากมายในนามสมเด็จเตโช จนทำให้ฐานะนายกสภากาชาดกัมพูชาของเธอเป็นแค่เงาไหวทางสังคม

ในปี ค.ศ.2010 บุน รานี ถูกสำนักข่าวและองค์การต่างประเทศเปิดเผยว่า เธอคือ 1 ในผู้ถือครองธุรกิจสัมปทานของตระกูลแถวหน้า และมักถ่ายโอนธุรกิจกึ่งนอมินีอันมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ไปยังทายาทฝ่ายตน โดยเฉพาะฝ่ายสะใภ้!

บุน รานี ถือเป็น “นายหญิงแห่งทำเนียบ” ผู้ทรงอิทธิพล สามารถออกคำสั่งระงับทรัพย์สินต่อลูกค้าธนาคารที่เธอถือหุ้น อาทิ ธ.คานาเดีย ในปี 1999 ที่เคยระงับบัญชีพิสิต พิลิกา อดีตภรรยาน้อยของสามีตนเอง

พลัน เรื่องราวตลอดชีวิตของสมเด็จหญิงคนแรกกัมพูชา ก็ถูกกล่าวขานอีกครั้ง!

ร่ำลือกันว่า บุน รานี นั้น ทำให้ฮุน เซน มีภาคอันอ่อนโยนและเขาน่าเอ็นดูขึ้น กระทั่งเกิดเหตุสุดสะเทือนใจ โลกเสมือนจริงของเตโชได้หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับผู้คลำเมิร/เฝ้ามอง ถึงไทม์ไลน์ต่อไปในการเมืองเขมร

นอกจากความเงียบงันที่ฮุน เซน พยายามบดบังตัวเองจากโลกโซเชียล

ความเจ็บปวดยังไม่ทันจะตกผลึก พลัน สมเด็จพระสังฆราชเทพ วงศ์ ก็สิ้นพระชนม์ตามมา

เดิมที บุคคลชั้นสมเด็จ โดยเฉพาะที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งโดยสมเด็จฮุน เซน นั้น ได้กลายเป็นความเชื่อเฉพาะตนของตระกูลในการพิทักษ์รักษา โดยเฉพาะพระเถระชั้นสมเด็จที่เป็นเหมือนพระเถระประจำตระกูลด้วยแล้ว

สมัยที่สมเด็จบุน รานี ยังอยู่ เธอมักจะเข้าเฝ้าการอาพาธของพระองค์ที่โรงพยาบาลคาลแม็ต แต่เมื่อท่านละสังขาร บทบาทในพิธีกรรมที่ครอบครัวตระกูลฮุนดำเนินการ ก็ถึงครา “สมกสมาน” หรือยุ่งเหยิงไปด้วย

นับว่าเป็นลางร้าย ภายใน 3 สัปดาห์แห่งการมาเยือนของครัวซาร์ผู้นำในระดับชั้นสมเด็จ และ 1 ในนั้น จะยังไม่ประกาศการถึงแก่อนิจกรรม แต่สำหรับสมเด็จฮุน เซน แล้ว ช่างเป็นความหมางจิตใจว่า 2 ปีที่ผ่านมา เขาได้สูญเสียพระสังฆราชผู้นำจิตวิญญาณสูงสุด สมเด็จพี่ชายฮุน เนง

โลกภายนอกอาจมองว่า เขายังคงอำนาจสูงสุด ได้ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภา และลูกชายซ้ายขวาเป็นประมุขบริหารและรองนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งหมดนี้ ลองประเมินดูเถิดว่า ไม่มีใครทราบว่า ความรู้สึกรู้สาสั่นคลอนของผู้นำคนนี้ ได้ถึงขั้น ตรีทูต!

โดยเฉพาะ นางแก้วบุน รานี “หลังบ้าน” การเมือง ฝ่ายสตรีที่เรียกว่าอำนาจอ่อนอย่างเข้มแข็ง เทียบเท่ากับยุคกษัตริย์พระบาทองค์ด้วงผู้รื้อฟื้นธรรมเนียมจารีตให้แก่ราชสำนักหลังจากบ้านเมืองผ่านสงครามยาวนานเลยกระนั้น

บุน รานี ทำการครอบครองกิจการนารีและยึดพื้นที่ฝ่ายปรปักษ์อย่างสำเร็จทั้งหมด เธอลงมือกับฝ่ายตรงข้ามอย่างสกรรม

จากนั้น เมื่อหมดสิ้นฝ่ายตรงข้ามทั้งทางตรงและทางอ้อมไปแล้ว นายหญิงแห่งทำเนียบตาเขมาก็หันมาทำนุบำรุงครัวซาร์และอาณาจักรตาของตนจนแผ่อำไพไปทั่วประเทศ ในรูปอนุสรณ์สถานนานา สถานศึกษา โรงพยาบาล หรือแม้แต่พิธีบูชา สถูป เจดีย์แนวลัทธิพราหมณ์

ตั้งแต่การสร้างอนุสาวรีย์สมัยใหม่เพื่ออวยชัยสวามีในรูปแบบศิลปะยุคกลางผสมผสานยุคใหม่ อาทิ อนุสาวรีย์พิชิตสันติภาพ อนุสาวรีย์พระทอง-นางนาค พิธีกรรมปักหมุดชัยชนะเหนือเขมรแดงที่เมืองเสียม อัลลองแวง-ไพลิน

และก่อนหน้านั้นคือที่ปราสาทพระวิหาร ในการปักหมุดพิธีกรรม ชัยชนะเหนือบางประเทศ

บุน รานีฮุนเซน ยังสืบสานพิธีกรรมใหม่เพื่อส่งเสริมแก่ฝ่ายสมเด็จออกญาข้าราชสำนักอันขึ้นกับระบอบของตน โดยมีทั้งการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ อย่างครบถ้วนพิธีกรรม ตั้งแต่เกิด-แต่งงาน-ไปจนถึงความตาย ซึ่งอันหลังสุดนี้ เธอยังได้จัดเตรียมไว้ล่วงหน้าแก่สามีในอนาคต

ซึ่งล้วนแต่เป็นศาสตร์ในการเสริมความสำเร็จแก่สวามีผู้ยิ่งใหญ่ น่าเสียดายที่พิธีกรรมนั้น เธอกลับไม่ได้มีโอกาสกำกับการแสดงด้วยตนเองอีกต่อไป

สารภาพ ข่าวร่ำลือการล้มป่วยของสมเด็จบุน รานี ทำให้อัญเจียฯ เริ่มมองเห็นถึงพัฒนาการ ยุคการสร้างเมืองด้วยวัฒนธรรม (อำนาจอ่อน) ของสมเด็จบุน รานี ผู้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งไม่เคยมีใครสังเกตเห็นมันมาก่อน กระทั่งเธอล้มป่วยลง

เราจึงพบว่า การกระชับ “อำนาจอ่อน” ของระบอบฮุนเซนได้ดำเนินมาตลอด 3 ทศวรรษอย่างสกรรม ไม่ว่าจะเป็นการยืมพิธีกรรมและดัดแปลงจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเพณีการแต่งกายในพิธีแต่งงานที่กลายเป็นรูปแบบของนักการเมืองข้าราชการชั้นสูงกัมพูชาเวลานี้

ที่สำคัญ มันยังทำให้เหล่าสมเด็จ ออกญา นาหมื่น ข้าราชการ และเศรษฐีมหาชนต่างมีโอกาสอวดศักดาฐานานุฐานะของตน อย่างไม่เคยถูกยกย่องมาก่อนเมื่อย้อนกลับไปในสมัยกษัตริย์กัมพูชายุคใหม่

ซึ่งทั้งหมดนี้ ด้านหนึ่งมันคือวิวัฒนาการของ “นวัตกรรมการเมืองร่วมสมัย” โดยสถาปนิกร่วมผู้ “ประดิษฐ์ไฉน” ในการปกครองประเทศในแต่ละยุค

และบุน รานี คือหนึ่งในนั้น