สัมพันธ์ทหารไทย-ทหารเมียนมา : ทหารกับการต่างประเทศไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ความอยู่รอดของคณะรัฐประหารขึ้นอยู่กับความภักดีและเอกภาพของกลไกในการใช้กำลังของรัฐ ซึ่งก็คือตะมะดอ [กองทัพเมียนมา] หากหน่วยกำลังรบหลักย้ายข้างไปอยู่กับฝ่ายค้าน หรือทหารเกิดแตกแถว หรือเกิดการแตกแยกอย่างหนัก ระหว่างตะมะดอกับตำรวจแล้ว สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นปัญหาอย่างแท้จริงของผู้นำทหาร”

Andrew Selth (17 มกราคม 2024)
ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาชาวออสเตรเลีย

 

ในเรื่องของการต่างประเทศไทยยุคปลายสงครามเย็นนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพประเทศเพื่อนบ้าน หรืออาจเรียกว่าเป็น “military-to-military relationship” เป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งที่นักเรียนในสาขานโยบายต่างประเทศไทยต้องศึกษา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทหารไทยและผู้นำทหารเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ดำเนินสืบเนื่องต่อมาถึงยุคปัจจุบันด้วย

ว่าที่จริงแล้วความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องเก่าที่เป็นมรดกของยุคสงครามเย็นแต่อย่างใด เพราะในยุคสงครามเย็นนั้น ความสัมพันธ์ปรากฏในระดับผู้นำประเทศ ไม่ใช่ระดับผู้นำกองทัพ เช่น ความใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับผู้นำทหารฝ่ายขวาในลาว ซึ่งทับซ้อนด้วยความสัมพันธ์ของความเป็นญาติด้วย และการดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ร่วมกัน

หากแต่ความสัมพันธ์ในช่วงปลายยุคสงครามเย็นและดำเนินสืบเนื่องถึงยุคหลังสงครามเย็นนั้น ประเด็นนี้มีมิติทั้งในแบบส่วนตัวที่มีความสนิทสนมกัน และในแบบของกองทัพกับกองทัพ อันเป็นความใกล้ชิดของสถาบันทหาร ผลที่เกิดทำให้เกิดการเชื่อมต่อของผู้นำทหารไทยกับผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่างแนบแน่น จนทำให้เกิดข้อสังเกตในเบื้องต้น 2 ประการ คือ

1) การเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดเช่นนี้ทำให้เกิดพัฒนาการของความสัมพันธ์อย่าง “ลึกลับ-ลึกล้ำ-ลึกซึ้ง” อย่างไม่น่าเชื่อ

และ 2) ในหลายส่วนของความสัมพันธ์เช่นนี้ ไม่ชัดเจนว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศ อะไรคือผลประโยชน์ส่วนตนของผู้นำทหารเอง และหลายครั้ง เราอาจพบว่าเกิดผลประโยชน์ส่วนตนร่วมของผู้นำทหารทั้งสองฝ่าย

 

ความสัมพันธ์ทหาร-ทหาร

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้นำทหารที่เกิดและมีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย ที่สัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันนั้น ความสัมพันธ์ “ทหารไทย-ทหารเมียนมา” เป็นหัวข้อที่สำคัญ และภาพที่ชัดเจนดังที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

ด้วยการมีความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองโดยเฉพาะปัญหาการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ ที่มีผลต่อการเมืองในภูมิภาคครั้งใด ก็มักจะมี “ความเชื่อ” ที่ถูกนำเสนอทั้งในเวทีเปิดและเวทีปิดว่า ผู้นำทหารไทยอาจจะเป็น “ตัวเชื่อมที่ดี” ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ หรืออย่างน้อยอาจจะเป็นช่องทางในการพูดคุยเพื่อลดทอนความรุนแรงของปัญหาได้บ้าง

หลายฝ่ายดูจะมีทัศนะเช่นนั้น จนเสมือนหนึ่งมีความเชื่อว่า ผู้นำทหารไทยจะไปพูดคุยเพื่อให้เกิด “แรงจูงใจ” ในหมู่ผู้นำทหารเมียนมา ที่จะหันไปแก้ปัญหาด้วยมาตรการทางการเมือง มากกว่าการยึดติดอยู่กับมาตรการทางทหาร

 

แต่ในอีกด้านก็มีเสียงเตือนให้ตระหนักว่า การเอานโยบายต่างประเทศไทยไปแขวนไว้กับบทบาทของผู้นำทหารเป็นหลักนั้น อาจนำไปสู่ภาวะ “การทหารนำการทูต” ในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้ และบางทีความหวังที่จะใช้ผู้นำทหารไทยไปสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เกิดสันติภาพในเมียนมานั้น อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะบริบทของความสัมพันธ์ของผู้นำกองทัพสองฝ่าย แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก กล่าวคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันอยู่คนละเงื่องไขและบริบทของสถานการณ์

สำหรับกระแสความเชื่อมั่นต่อบทบาทของกองทัพกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น อาจจะวางอยู่บน “ภาพลักษณ์” ของผู้นำไทยในช่วงหลังสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว บทบาทในความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน เกิดในช่วงปลายสงครามเย็น ดังเช่นบทบาทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นนายทหารที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาความมั่นคงไทยกับสถานการณ์สงครามในประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะในกรณีกัมพูชาและลาว และความสัมพันธ์ของ พล.อ.ชวลิตในเรื่องนี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยที่ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะบทบาทของเขาในสงครามกลางเมืองกัมพูชา ที่ส่งผลให้เกิดความแนบแน่นระหว่าง พล.อ.ชวลิตกับผู้นำทหารกัมพูชา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาในยุคหลังสงครามกลางเมือง และยังมีนัยกับผู้นำทหารจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งยังมีความแนบแน่นกับผู้นำลาวในยุคหลังสงครามบ้านร่มเกล้า

จนต้องยอมรับว่าในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารในภูมิภาคนั้น พล.อ.ชวลิตเป็น “กุญแจ” สำคัญดอกหนึ่ง และหากจะมีผู้นำไทยอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องนี้ ก็คงเป็น พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร แต่ก็มีบทบาทในความสัมพันธ์กับทางผู้นำทหารพม่าเป็นด้านหลัก การมีบทบาทเช่นนี้เปิดโอกาสให้นายทหารฝ่ายอำนวยการที่เป็นทีมงานคอยได้รับอานิสงส์ได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ตามไป

 

สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

แต่ในช่วงหลัง นายทหารระดับสูงของไทยที่จะมีประสบการณ์ในงานด้านการต่างประเทศของทหาร ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการต้อนรับผู้นำทหารประเทศเพื่อนบ้านที่มาเยือนไทยนั้น ดูจะหาได้ยาก และนายทหารฝ่ายอำนวยการที่เคยเป็นทีมของ พล.อ.ชวลิต หรือ พล.อ.เชษฐา ก็เกษียณอายุราชการแล้ว

เราอาจต้องยอมรับความจริงในยุคปัจจุบันว่า ผู้นำทหารไทยในระดับสูงและฝ่ายอำนวยการรอบตัวไม่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเช่นนี้แล้ว ต่างอย่างมากกับผู้นำทหารเมียนมาที่เล่นอยู่ในเวทีสากลมาอย่างยาวนาน จนต้องยอมรับว่าผู้นำทหารเมียนมาเป็น “นักการเมือง-นักการทูต” ของภูมิภาค ส่วนผู้นำทหารไทยเป็นได้แค่ “นักการเมืองท้องถิ่น” ที่มีบทบาทอยู่กับการต่อสู้ภายในเท่านั้น อีกทั้งไม่มีทักษะทางการทูตในเวทีภูมิภาคเช่นในแบบผู้นำกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด

ตัวอย่างของความล้มเหลวที่สำคัญของการต่างประเทศไทยในยุคหลังรัฐประหาร 2557 คือ ความเชื่อว่าผู้นำทหารสามารถเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศได้ (และเป็นได้แบบ “สบายๆ”) เหมือนที่ตนเคยเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพมาก่อน

การเอาผู้นำทหารมาคุมทิศทางการต่างประเทศในยุคนั้น ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิพากษ์อย่างมากถึง “ความอ่อนหัด-ไร้เดียงสา” ของผู้นำทหารท่านนี้ เมื่อเขากล่าว “บอกรัก” นายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กลางเวทีประชุมอาเซียนที่มาเลเซียในปี 2558

การกล่าวเช่นนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความอ่อนหัด-ไร้เดียงสาทางการทูตเท่านั้น หากยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ของไทยในยุครัฐประหารว่า เป็นเสมือน “รัฐบรรณาการ” ของจีน และกลัวว่าผู้นำจีนจะ “ไม่รัก” ผู้นำทหารไทย ที่เพิ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยการยึดอำนาจ จนต้องเอ่ยคำ “ออดอ้อนบอกรักจีน” อย่างน่าสมเพชทางการทูตในเวทีประชุมอาเซียน มิไยต้องกล่าวถึงข่าวลือการบริหารในกระทรวงการต่างประเทศ

 

ว่าที่จริงแล้วในอีกด้านหนึ่ง การไม่มีผู้นำทหารที่มีบทบาทเด่นในงานด้านต่างประเทศนั้น คือภาพสะท้อนถึงพัฒนาการของ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะหลังจากการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540” ซึ่งทำให้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทในกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดภาวะของการต้องพึ่งพาผู้นำทหารในการดำเนินนโยบายในส่วนนี้ลงไปอย่างมากด้วย

นอกจากนี้ อาจต้องยอมรับว่าผู้นำทหารในยุคหลังที่มีความสามารถในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความ “ลึกซึ้ง” เช่นในแบบของ พล.อ.ชวลิต หรือ พล.อ.เชษฐานั้น หาได้ยากมาก ทั้งยังไม่มีทักษะเพียงพอ และไม่มีโอกาสที่เอื้อให้กระทำเช่นนั้นได้อีกด้วย ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียง “เรื่องฉาบฉวย” ที่เกิดในงานเลี้ยง งานประชุม หรือในสนามกอล์ฟ แต่ก็ไม่มีความลึกซึ้งเช่นในอดีต

ดังเช่นบทบาทของผู้นำทหารในยุคหลังรัฐประหาร 2557 ที่เห็นชัดถึงความเป็นทหารที่อยู่กับ “โลกภายใน” ของสังคมไทย ทั้งมีอาการ “หมกมุ่น” อยู่กับปัญหาการเมืองภายใน ที่พวกเขาจะต้องต่อสู้และเอาชนะฝ่ายต่อต้านรัฐประหารให้ได้ ในอีกด้านหนึ่งนายทหารระดับสูงเหล่านี้ไม่มีองค์ประกอบหลักของการทำงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศคือ ขาด “ความรู้-ความเข้าใจ-วิสัยทัศน์” ในการมองสถานการณ์ระหว่างประเทศ และเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างผิวเผิน ทั้งไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนของปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ แต่ผู้นำทหารก็มักคิดง่ายๆ ว่า ประสบการณ์จากการประชุมชายแดนไม่กี่ครั้งเพียงพอแล้วที่จะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือพอที่จะเล่นบทนักการทูตได้

ความเชื่ออย่างง่ายๆ เช่นนี้ทำให้เกิดจินตนาการในกองทัพ หรือกับ “ฝ่ายอำนวยการ” บางคนที่เชื่อว่าผู้นำทหารไทยจะเป็น “คนกลาง” ในการเจรจายุติศึกในเมียนมา ทั้งที่ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ มีปมที่ทับซ้อนกันในเรื่องของปัญหาการสร้างประชาธิปไตย การควบคุมบทบาททางการเมืองของทหาร และการจัดความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสร้างสมาพันธ์รัฐ เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้ทางทหารที่พวกเขามีอยู่ในกองทัพอาจไม่ช่วยตอบปัญหาเหล่านี้ได้จริง… ข้อมูลสนามแถวชายแดนไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่ตอบทุกอย่างได้

ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทหารไทยในส่วนของกองทัพ และสายสัมพันธ์ระหว่างผู้นำรัฐประหารทั้ง 2 ฝ่ายนั้น ทำให้ผู้นำรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย หรือรัฐบาล NUG และบรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อยไม่มีความไว้วางใจต่อทหารไทย ยิ่งปรากฏภาพการเยือนเมียนมาของผู้บัญชาการทหารอากาศ ภาพความสัมพันธ์ของนายทหารระดับสูง ตลอดรวมถึงข่าวการเยือนของผู้บัญชาการเหล่าทัพบางคน ภาพเหล่านี้เกิดโดยปราศจากความชัดเจนว่า การเดินทางเยือนของนายทหารระดับสูงนั้น ได้ “ไฟเขียว” จากรัฐบาล หรือเป็นการตัดสินใจอย่างเป็นเอกเทศภายใต้ชุดความคิดแบบ “การทหารนำการทูต” ที่บรรดาผู้นำทหารและฝ่ายอำนวยการบางส่วนในกองทัพคิดเอาเอง

โดยปราศจากความละเอียดอ่อนทางการทูต และขาดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางการเมืองต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล

 

การเมืองนำการทหาร

แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าการติดต่อระหว่างผู้นำทหารระดับสูงเป็นสิ่งที่ต้องดำรงไว้ แต่การเดินทางเยือนของผู้นำทหารระดับสูงในภาวะเช่นนี้ น่าจะต้องถือว่าเป็น “ความอ่อนหัด” ทางการทูตของฝ่ายไทย เพราะผู้นำทหารเมียนมาสามารถนำภาพการเยือนมาขยายผล ซึ่งจะทำให้เกิดการตีความว่าเป็นการสนับสนุนที่ใกล้ชิดของรัฐบาลและกองทัพไทย ภาพเช่นนี้อาจเห็นได้จากสื่อของรัฐบาลทหารเมียนมาคือ “The Global New Light of Myanmar” ซึ่งภาพเช่นนี้ไม่น่าเป็น “ผลบวก” ต่อการต่างประเทศไทยในขณะนี้แต่อย่างใด

วันนี้ รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้กำหนด” นโยบายต่อปัญหาเมียนมา แม้กองทัพจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการทำนโยบาย แต่กองทัพไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย และไม่มีอำนาจในการดำเนินนโยบายอย่างเป็นเอกเทศ

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในนโยบายต่างประเทศ หากเป็นการใช้ภายใต้การกำหนดทิศทางของรัฐบาลบนหลักการ “การเมืองนำการทหาร” ในนโยบายต่างประเทศ

ซึ่งผลของการไม่ยึดกุมหลักการนี้ จะนำไปสู่ภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ในการต่างประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

หมดเวลา “จัดทัวร์ทหาร” ให้ระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปเที่ยวเล่น และถ่ายภาพร่วมกับผู้นำทหารเมียนมาในสถานการณ์เช่นนี้ เพียงเพื่อให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของความหวาดระแวงทั้งของรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายชนกลุ่มน้อยอย่างไม่จบสิ้น!