การศึกษาเชิงพื้นที่ สุราษฎร์ธานีโมเดล (2) พุทธทาสศึกษา-เด็กแอลดีต้องมีที่ยืน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

การศึกษาเชิงพื้นที่

สุราษฎร์ธานีโมเดล (2)

พุทธทาสศึกษา-เด็กแอลดีต้องมีที่ยืน

 

“โรงเรียนวัดบางคราม อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนขยายโอกาสระดับกลาง สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 423 คน เป็นนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) 28 คน ออทิสติก 2 คน คิดเป็น 3% ของนักเรียนทั้งหมด มีครู 27 คน เป็นครูอัตราจ้าง 3 คน” น.ส.สุภาภรณ์ ผู้อำนวยการแนะนำความเป็นมาและภารกิจของโรงเรียน กับคณะผู้มาเยือน

“นอกจากจัดการเรียนการสอนเด็กปกติแล้ว จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) เพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตและเรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไปได้”

“โรงเรียน ครู ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กเกิดพัฒนาการทางการคิด จนมีผลงานจัดสวนถาดทั้งแบบชื้นและแบบแห้งส่งเข้าประกวดในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 71 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ปี 2565 ครั้งที่ 70 ชนะรางวัลระดับชาติที่จังหวัดสตูล เด็กรวมกลุ่มช่วยกันจัดถาดละ 3 คน ต้นไม้ที่เหลือจากการแข่งขันนำมาดัดแปลงทำอย่างอื่นได้อีก”

“การดูแลเด็กกลุ่มนี้มีครูรับผิดชอบโดยเฉพาะ โรงเรียนใช้ทั้ง 2 แนวทางในการจัดการคือ จ้างครูการศึกษาพิเศษกับพัฒนาครูทั่วไปให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถดูแลเด็กแอลดีได้”

“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อุดหนุน 1 คน องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดหนุนอีก 1 คน คือ ครูศิริลักษณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) โรงเรียนมีโอกาสร่วมเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประโยชน์มากในการพัฒนานักเรียนต่อไป”

“ปกติเด็กแอลดีจะไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น แต่พอมีกิจกรรมอะไรทำ ทำให้เขานิ่งขึ้น บางครั้งครูผู้ดูแลใช้วิธีการให้ฟังบทสวดมนต์”

ผอ.สะท้อนผลสำเร็จของครู ที่เห็นผลอย่างน่าทึ่งและประทับใจยิ่ง

ผลงานการจัดสวนถาดของนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน

 

เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะที่โรงเรียนวัดบางครามเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ทั้งจังหวัด ที่เครือข่ายการศึกษาเชิงพื้นที่สุราษฎร์ธานียกขึ้นมาแก้ไข 3 ประเด็นใหญ่

ได้แก่ นักเรียนออกกลางคัน จากข้อมูลของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 25 มิถุนายน 2564 พบว่ามีทุกระดับการศึกษา 1,040 คน สาเหตุมาจากฐานะยากจน 46 คน ปัญหาครอบครัว 45 คน สมรส 11 คน ปัญหาการปรับตัว 30 คน ต้องคดี/ถูกจับ 3 คน เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ 9 คน อพยพตามครอบครัว 34 คน หาเลี้ยงครอบครัว 156 คน และกรณีอื่นๆ 698 คน

นักเรียนพิการ 8,333 คน แบ่งเป็น บกพร่องทางการมองเห็น 116 คน บกพร่องทางการได้ยิน 32 คน บกพร่องทางสติปัญญา 374 คน บกพร่องทางร่างกาย/สุขภาพ 280 คน บกพร่องทางการเรียนรู้/พฤติกรรม 6,846 คน บกพร่องทางการพูด/ภาษา 51 คน พิการทางพฤติกรรมและอารมณ์ (สมาธิสั้น) 105 คน ออทิสติก 195 คน พิการซ้ำซ้อน 295 คน

และอื่น ๆ 39 คน

 

ประเด็นต่อมา ปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของหน่วยงานด้านการศึกษาเนื่องจากมีอยู่หลายหน่วยงานต่างคนต่างทำ

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ความร่วมมือในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มีมาตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ต่อมายกระดับจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ขึ้นเป็น “สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี” มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นประธาน

กำหนดเนื้องานด้านการศึกษาที่ทำ 5 เรื่อง ได้แก่ พัฒนาข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาและการมีงานทำ พัฒนาเด็กด้อยโอกาสโดยเฉพาะเด็กบกพร่องด้านการเรียนรู้ (LD) สร้างหลักสูตรพุทธทาสศึกษา สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน และจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ

ปี 2562 ช่วยเหลือเด็กปฐมวัยยากจน 1,264 คน เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบการศึกษา ฝึกทักษะชีวิตหรืออาชีพ 295 คน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย 15 แห่ง

ปี 2563 เด็กปฐมวัยยากจนได้รับความช่วยเหลือ 2,885 คน เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบการศึกษา ฝึกทักษะชีวิตหรืออาชีพ 714 คน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 15 แห่ง

ปี 2565 ถึง 2566 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5,792,800 บาท โดย กสศ.สนับสนุน 3,500,000 บาท และงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีสมทบ 2,292,800 บาท

 

อบจ.สุราษฎร์ธานีและสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงเป็นแกนนำหลัก ขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานระดับปฏิบัติการ 7 คณะ ได้แก่

1. คณะกรรมการโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

2. คณะอนุกรรมการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศ

3. คณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์

4. คณะอนุกรรมการพัฒนาและยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

5. คณะอนุกรรมการพัฒนาครูสำหรับสร้างพื้นที่แห่งฝัน

6. คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

7. คณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)

ภายใต้ยุทธศาสตร์ “สร้างเครือข่าย พัฒนาครู ให้ทุน ให้อาชีพ” โดยมีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หอการค้าจังหวัด ภาคประชาสังคม หน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่ สถาบันอุดมศึกษา สภาอุตสาหกรรม และสภาเกษตร เป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุน

“งานด้านการเรียนรู้ช่วยเด็กแอลดี จังหวัดสุราษฎร์ กับพระนครศรีอยุธยา แลกเปลี่ยนกันทุกปี เชิญเราไปช่วยพัฒนาเรื่องการผลิตสื่อ บริษัทอุตสาหกรรมไฮเทคบางหว้า เชิญไปช่วยเป็นวิทยากรพัฒนาครู” ดร.สมพร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เล่าเพิ่มเติม

 

นายรักศักดิ์ นิจจันทร์พันธ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษ ยกมือขอไมค์ต่อ

“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเยี่ยมโรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเด็กแอลดี ที่สุราษฎร์ธานี ทรงตรัสชมเชย ทรงถามว่า จังหวัดอื่นเขาทำกันไหม จัดการศึกษาเพื่อเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นจุดเด่นของเราจังหวัดสุราษฎร์ฯ รวมถึงโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 4 โรง”

“เด็กแอลดี จริงๆ แล้วเป็นเด็กปกตินั่นเอง ไอคิวสูง มีจุดอ่อนแค่ 2 วิชา ภาษา และคณิตศาสตร์ อบจ.จึงร่วมกับ กสศ. ผลิตสื่อเพื่อพัฒนาเด็กให้มีที่ยืน”

“เด็กพิการ 8,500 คน อบจ.ช่วยแต่ละอำเภอ 4 โรง เราช่วยหนุนเสริม สร้างตัวอย่างการเรียนรู้ การพัฒนาที่ดี เป็นต้นแบบ เรียนรวมกับเด็กปกติได้ไม่ได้แค่ไหน ไม่ว่า แต่เขามีสิทธิที่จะเรียนรู้ ได้รับโอกาสและไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา เท่ากับตัดโอกาสทางอาชีพของเขา โรงเรียนจึงพยายามต่อยอด ให้โอกาส หนุนไปในทางการอาชีพ ทักษะอาชีพ” นักการศึกษาพิเศษแห่งเมืองคนดี กล่าวจบ

อิษฏ์ ปักกันต์ธร หัวหน้าฝ่ายพัฒนากลไกและเครือข่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. ผู้ประสานงาน ส่งไมค์ต่อให้ครูศิริลักษณ์ เล่าถึงผลงานการผลิตสื่อเพื่อฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กแอลดี ได้อย่างน่าสนใจ

 

เริ่มจาก สื่อติดกระดุมเสื้อ สื่อซิปแสนสนุก สื่อกังหันลม ศิลปบำบัด ฝึกสมาธิ สื่อเลขไหน ตัวอะไร สื่อไม้คณิตคิดสนุก ฯลฯ

ผลงานของเธอเป็นตัวอย่างการพัฒนาศักยภาพนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ เห็นผลความเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างชัดเจน มีพัฒนาการที่ดีเมื่อครูมีใจและศักยภาพในการดูแล แม้จบการศึกษาวิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มาเป็นครูอัตราจ้างปีต่อปี ไม่ใช่ครูการศึกษาพิเศษโดยตรงก็ตาม

“การให้เงินอุดเหนุนจ้างครูอัตราจ้างเพื่อช่วยโรงเรียนจัดการศึกษาดูแลเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ อบจ.ให้มา 9 ปีต่อเนื่องกัน ทั้งหมด 21 คน 19 โรงเรียนกับศูนย์การศึกษาพิเศษอีก 3 คน งบประมาณปีละ 5 ล้าน โรงเรียนขาดแคลนครูการศึกษาพิเศษโดยเฉพาะก็ต้องใช้วิธีการพัฒนาจากครูปกติ” ประยูรศักดิ์ รัตนะ ผอ.การกองการศึกษา อบจ.สุราษฎร์ฯ เล่าก่อนทิ้งท้าย

การช่วยเหลือจัดการศึกษาด้านอื่นๆ ยังมีอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาทักษะอาชีพ ที่คณะจะไปเยี่ยมในบ่ายวันนี้