ยุทธการ 22 สิงหา : พันธมิตร รุกคืบ ‘ชินวัตร’ ล้อมรอบ ทำเนียบรัฐบาล

(Photo by TENGKU BAHAR / AFP)

เหมือนกับผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จะเป็นชัยชนะ เหมือนกับการเดินทางกลับมากราบแผ่นดินในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จะเป็นบำเหน็จรางวัล

แต่การมาก็มีแรงเสียดทานตลอดสองรายทาง

เป็นแรงเสียดทานจากกลไกแห่งอำนาจอันเป็นผลผลิตแห่งรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ การเดินหน้าต่อของ “คตส.”

นั่นก็คือ การแสดงออกในเชิงเป็น “ปฏิปักษ์” อย่างเด่นชัดจากกลไกในทางรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น “วุฒิสภา” ไม่ว่าจะเป็นใน “สภาผู้แทนราษฎร”

นั่นก็คือ การก่อหวอดขึ้นอีกครั้งของ “ภาคประชาชน”

การรุกไล่แต่ละองคาพยพแห่งกลไกอำนาจอันมีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งจึงได้ปรากฏและเผยแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นไปตามกลยุทธ์ กินทีละคำ เด็ดทีละหัว

ไม่ว่าจะเป็น นายยงยุทธ ติยะไพรัช เพื่อให้หลุดไปจากประธานสภาผู้แทนราษฎรอันถือเป็นประมุขแห่ง “อำนาจนิติบัญญัติ”

ไม่ว่าจะเป็นการรุกคืบเข้าไปเพื่อจัดการ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี

 

การจัดการกับ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อาจสามารถเลือก นายชัย ชิดชอบ เข้าไปแทนที่

เพราะยังกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่

การจัดการกับ นายสมัคร สุนทรเวช ต่างหากน่าสนใจ น่าศึกษา

น่าสนใจที่ในเบื้องต้นอาจเสมอเพียงกลยุทธสกัดขัดขวางแสดงให้เห็นว่าแต่ละก้าวย่างจะเต็มไปด้วยอุปสรรค

ไม่อาจเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น

เพียงขยับเข้าไปเพื่อจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันถือว่าเป็นมรดกจากการรัฐประหารก็ต้องเผชิญกับปราการที่จัดขึ้นโดยพรรคฝ่ายค้าน นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่า

จากนั้นก็ตามด้วยเสียงคำรามจาก “วุฒิสภา”

จากนั้น บรรดาพันธมิตรที่เคยปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ซึ่งก็คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกโรง

เตือนให้ นายสมัคร สุนทรเวช รับรู้ว่าไม่ง่าย

แม้ นายสมัคร สุนทรเวช จะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีขุนพลระดับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

กระนั้น ก็ไม่ก่อให้เกิดความพรั่นพรึงแม้แต่น้อย

ขณะเดียวกัน ทางด้านกองทัพอันมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหอกใหญ่ก็เลือกแต่ละจังหวะได้อย่างเหมาะสมด้วยการออกมาสำแดงพลัง

ทุกอย่างยังผนึกพลังกันอย่างเหนียวแน่นไม่ว่าทางด้านการเมือง ไม่ว่าทางด้านภาคประชาชน ไม่ว่าทางด้านความมั่นคง

ขณะที่พลานุภาพแห่ง “ตุลาการภิวัฒน์” ก็ยังเป็น “ฝันร้าย” คอยหลอกหลอน

 

การเคลื่อนไหวของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ดำเนินไปอย่างมีจังหวะ อาศัย “ทัศนคติอันตราย” ของ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นตัวจุดเชื้อ

เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช แตะ “รัฐธรรมนูญ” ก็เป็นเงื่อนไขอันงาม

ต่อเมื่อ นายนพดล ปัทมะ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจากับกัมพูชาในเรื่องอันเกี่ยวกับ “เขาพระวิหาร” เท่ากับเป็นการสาดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิง

ในเบื้องต้น เดือนพฤษภาคมเริ่มชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก

จากนั้นเดือนมิถุนายน ค่อยๆ ใช้ยุทธวิธี “ดาวกระจาย” โดยเดินทางไปชุมนุมย่อยตามสถานที่ต่างๆ วันที่ 5 มิถุนายน ไปสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการสั่งฟ้องที่ คตส.สรุปสำนวนชี้มูลความคิด นายทักษิณ ชินวัตร กับพวก

จากนั้นเดินทางไปกระทรวงมหาดไทยเพื่อประท้วง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง โดยนำเป็ดเทศ 2 ตัวไปปล่อยที่หน้ากระทรวง เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นการปล่อย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ทำงานเหมือนเป็ด

วันที่ 3 มิถุนายน 2551 เดินทางไปชุมนุมหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สอบถามความคืบหน้าในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอส.ซี.แอสเส็ท จำกัด (มหาชน)

อีกกลุ่มหนึ่งไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กดดันให้รีบดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ ตามหลักยุติธรรมอย่างเคร่งครัดในคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร

กลุ่มที่สามไปยัง ป.ป.ช. และทำเช่นนี้ติดต่อกันหลายวัน หลายกลุ่ม

การเคลื่อนไหวยิ่งเข้มข้น คึกคัก บรรยากาศแทบไม่แตกต่างไปจากที่เคยปรากฏในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ท่ามกลางการตกเป็น “เป้านิ่ง” ของรัฐบาล

 

ความคึกคักเห็นได้จากปริมาณการเข้าร่วมของประชาชนทะยานไปสู่หลักหมื่นและยืนระยะนี้อย่างมั่นคง

จากที่เปิดกลยุทธ์ “ดาวกระจาย” กลายเป็น “ยุทธการสงคราม 9 ทัพ”

แยกกลุ่มกันเดินขบวนตีฝ่าแนวกั้นของตำรวจจากสะพานมัฆวานรังสรรค์เข้าไปปักหลักตั้งเวทีปราศรัยบริเวณถนนพิษณุโลกประชิดกับทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิถุนายน

โดยมีการปะทะกับกำลังตำรวจที่พยายามสกัดขัดขวาง

จุดตัดอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ครูโรงเรียนราชวินิตมัธยมร่วมกันยื่นฟ้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งรื้อถอนเวทีเนื่องจากปิดเส้นทางครูและนักเรียน และส่งเสียงรบกวนการเรียนการสอน

ทั้งยังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกจากพื้นที่

ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เปิดเส้นทางการสัญจรถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลกเพื่อให้รถโดยสารประจำทางเดินได้ตามปกติ ทั้งให้งดใช้เครื่องกระจายเสียงตั้งแต่เวลา 07.30-16.30 น. ในวันจันทร์ถึงวันจันทร์-วันศุกร์ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและนักเรียนโรงเรียนราชวินิตมัธยม

วันที่ 1 มิถุนายน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

เมื่อศาลยกคำร้องพันธมิตรฯ ก็ย้อนกลับไปชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ดังเดิม

 

จากนี้จึงเห็นได้ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวางเป้าหมายอย่างแท้จริงอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่สามารถเข้ายึดครองได้ก็ยินยอมถอย

เด่นชัดว่าเป็นการถอยเพื่อที่จะรุกเมื่อมีความพร้อม

กล่าวสำหรับการรุกในด้านตุลาการภิวัฒน์ยิ่งดำเนินไปด้วยความเข้มข้นเป้าหมายอยู่ที่ครอบครัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่แปรเปลี่ยน

เห็นได้จาก คตส.ทำหนังสือแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยให้อายัดทรัพย์สิน

เนื่องจากคดีกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่เตรียมจะขออำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการสั่งริบทรัพย์จำนวน 6.5 หมื่นล้านบาทของครอบครัว นายทักษิณ ชินวัตร

ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เป็นยุทธการกระหน่ำ “รัฐมนตรี” โดยโยงไปยัง “ตระกูลชินวัตร”