ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (4)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บ้านแพร่งสรรพศาสตร์

พ.ศ.2475 ใกล้วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง บ้านเช่าที่แพร่งสรรพศาสตร์ของ นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมอันเป็นที่ทำงานมากนัก ยิ่งทวีความคึกคักขึ้นไปอีก

จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม “ป้าจีร์” บุตรสาวได้เล่าไว้ใน “อยากลืมกลับจํา” ซึ่งยิ่งทำให้เห็นภาพความรักระหว่างแปลกกับอดุลชัดเจนขึ้นไปอีก

“หลังเดินทางกลับประเทศ จอมพล ป.มีความก้าวหน้าทางอาชีพอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจในฐานะผู้ก่อการและแอบชักชวนนายทหารบกรุ่นเดียวกัน อย่าง หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร์ พึ่งพระคุณ) หลวงอํานวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (ค้วน จินตะคุณ) และหลวงพรหมโยธี (มังกร ผลชีวิน) ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหาที่โรงเรียนทหารปืนใหญ่ให้เข้าร่วมกับคณะราษฎร”

“บ้านแพร่งสรรพศาสตร์นอกจากจะเป็นที่พักอาศัยของครอบครัวพิบูลสงครามแล้ว ที่นั่นยังเป็นศูนย์กลางอีกแห่งของพวกคณะราษฎร ด้วยทำเลที่ตั้งใจกลางพระนคร บ้านแพร่งสรรพศาสตร์จึงมักถูกใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุยระหว่างผู้ก่อการทำนองเดียวกับ คณะ ร.ศ.130 ที่ใช้ตึกแถวบริเวณแพร่งนราซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแพร่งสรรพศาสตร์เป็นที่ประชุมวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 6”

“ช่วงประมาณไม่ถึงปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้คนมากหน้าหลายตาเริ่มแวะเวียนมาที่บ้านแพร่งสรรพศาสตร์บ่อยขึ้นจนป้าจีร์เริ่มสังเกต โดยบุคคลแรกที่ป้าจีร์นึกถึงก็คือ ประยูร ภมรมนตรี เพราะ ‘อายูร’ ชอบพาเด็กๆ ที่บ้านแพร่งสรรพศาสตร์ออกไปเที่ยว”

“นอกจากอายูรที่ทุกคนชื่นชอบแล้ว แขกขาประจำอีกคนของบ้านแพร่งสรรพศาสตร์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของป้าจีร์คือหลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารยศร้อยโทประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่นครราชสีมา จำได้แม่นถึงความสนิทสนมระหว่างหลวงอดุลฯ กับครอบครัวพิบูลสงคราม ป้าจีร์จำได้แม่น คุณป้าเล่าว่า ทุกครั้งที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาพระนคร หลวงอดุลฯ ต้องแวะเยี่ยมจอมพล ป. แถมบางทียังนอนที่บ้านด้วย ป้าจีร์เล่าว่า หลวงอดุลฯ เคยถึงขั้นลางานแล้วมาค้างบ้านแพร่งสรรพศาตร์นานเป็นเดือน กิจวัตรประจำวันของหลวงอดุลฯ คือ ตอนกลางวันเมื่อไม่มีธุระนอกบ้าน ท่านจะนอนฟังท่านผู้หญิงละเอียดกล่อมรัชนีบูลอยู่บนชั้น 2 ครั้นตกเย็น เมื่อหลวงพิบูลกลับจากกระทรวงกลาโหม หลวงอดุลฯ จึงค่อยลงมากินอาหารเย็นร่วมกัน”

จนกระทั่งถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

หน้าที่หลักของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าผู้ก่อการสายพลเรือนในเช้า 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คือการจัดทำคำแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของคณะเปลี่ยนแปลงการปกกครอง ซึ่งจะปรากฏคำว่า “คณะราษฎร” ต่อสาธารณชน เป็นครั้งแรก

แถลงการณ์นี้มีเนื้อความกล่าวหากษัตริย์อย่างรุนแรงเพื่อสร้างความชอบธรรมของคณะผู้ก่อการ ซึ่งจะกลายเป็นต้นเหตุของความไม่พึงพอใจอย่างมากจากฝ่ายนิยมกษัตริย์และนำไปสู่การต่อสู้อันยาวนานซึ่งมีผลทั้งต่อนายปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร และอนาคตของการเมืองไทยอย่างยาวนานในที่สุด

“บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475” ของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ ปรากฏข้อความ

“ถ้าเปรียบเทียบหนังสือกราบบังคมทูลของสามพันเอก กับประกาศคณะราษฎรที่แจกจ่ายในเขตพระนครแล้วพิจารณาทั้งสองฉบับ ทุกคนก็คงรู้ได้ทันทีว่า หนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย แต่ประกาศคณะราษฎรได้แสดงความคิดว่า หากมีความจำเป็น ประเทศสยามอาจปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และยังให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ระบอบสาธารณรัฐดีกว่าระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย”

“ในความคิดของผู้เขียน ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น คำประกาศทำนองนี้จึงถูกร่างขึ้นมา แต่ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่มและมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในประเด็นที่ว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ตอบตกลงแล้ว วิธีการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเมื่อมีการลงมือจริงๆ ข้อเสนอของฝ่ายทหารนั้นได้รับการปฏิบัติจึงมีแต่การเรียกร้องระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยเพียงประการเดียว หนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงปรากฏเป็นเนื้อหาดังกล่าว ส่วนที่เป็นประกาศของคณะราษฎรนั้นไม่มีเวลาจะปรับปรุงเนื้อหาใหม่ตามที่ฝ่ายทหารคิดเห็น ในทัศนะของผู้เขียนนั้น การแจกจ่ายประกาศของคณะราษฎรน่าจะเกิดจากการขาดความรอบคอบ”

“อย่างไรก็ตาม คำประกาศนี้ได้สร้างช่องว่างที่ประสานได้ยากในโอกาสต่อไประหว่างผู้นำคณะราษฎรกับฝ่ายพระมหากษัตริย์และเจ้านายส่วนหนึ่ง และประกาศนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่า คณะราษฎรมีพวกคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย ในประกาศดังกล่าวข้างต้นได้กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของเจ้านาย เรื่องนี้ฝ่ายตรงข้ามสามารถยกขึ้นเป็นประเด็นซึ่งเป็นที่เข้าใจได้”

“แต่การโจมตีว่ามีฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ในคณะราษฎรนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ประการใด”

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพียง 4 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก พระยาพหลพลพยุหเสนาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่งตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว 70 นาย เป็นฝ่ายคณะราษฎร 32 นาย เป็นขุนนางในระบอบเก่า 38 นาย ระดับเจ้าพระยา 3 นาย พระยา 21 ท่าน รวมแล้วเป็นเจ้าพระยาและพระยาถึง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

น่าสังเกตว่าการยึดอำนาจ 24 มิถุนายนนั้น ข้าราชการที่กระทำการส่วนใหญ่มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง แต่เมื่อมีการตั้งสถาบันทางนิติบัญญัติ อำนาจนั้นก็โอนกลับไปที่ขุนนางระดับพระยาขึ้นไป

เมื่อมีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้มอบอำนาจการปกครองแผ่นดินที่คณะราษฎรยึดไว้เมื่อ 4 วันก่อนหน้านั้นให้กับสภาผู้แทนราษฎร และสภาก็เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรที่สำคัญลำดับแรกคือการเลือกและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” (นายกรัฐมนตรี) และคณะกรรมการราษฎร 14 นาย (รัฐมนตรี) จากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร กับแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 7 นายและเพิ่มเป็น 9 นายภายหลัง โดยกรรมการจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ในการเลือกประธานคณะกรรมการราษฎร ปรากฏว่าได้แก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) อายุ 48 ปี ตามคำแนะนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อประนีประนอมกับระบอบเก่า เนื่องจากเป็นประธานศาลฎีกาซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้วยังใกล้ชิดราชสำนักอีกด้วย

ในขณะเดียวกันผู้นำทางฝ่ายทหารของคณะราษฎรก็เข้าควบคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงใหม่ครั้งนี้

 

เค้าโครงเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง”

มีนาคม พ.ศ.2476 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้แจกจ่ายเค้าโครงเศรษฐกิจในหมู่คณะราษฎรเพื่อพิจารณาซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมาพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้แจ้งแก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่า สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย ขณะที่ผลการพิจารณาในคณะผู้ก่อการก็แยกเป็น 2 ฝ่าย พระยาทรงสุรเดชและพรรคพวกอยู่ฝ่ายไม่เห็นด้วยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่จะทำลายสถาบันต่างๆ หากนำมาใช้กับประเทศสยาม พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็แสดงความไม่เห็นด้วยโดยกล่าวว่า “เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นโซเชียลลิสต์” และได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งหมดยกเว้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

“นายหนหวย” บันทึกบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ไว้ใน “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันย์ผู้นิราศ” ดังนี้

“รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิอาจรับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดโกลาหลอลหม่านขึ้นในกลุ่มพลเรือนเพราะในการประชุมคราวนี้ถ้ามีการลงมติกันจริงๆ แล้วจะเห็นว่ากรรมการส่วนใหญ่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แต่ที่ประชุมไม่ยอมขอมติ กลับใช้วิธีรวบรัด ความแตกแยกระหว่างคนสองวัยจึงเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น”

กรณีความขัดแย้งในปัญหาเค้าโครงการเศรษฐกิจในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงหาทางออกด้วยประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2476 และวันต่อมา 1 เมษายน 2476 ก็ได้มีประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทันที ทำให้อำนาจในทางการเมืองตกไปอยู่ในมือของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร

และไม่เพียงแต่เท่านั้น ในวันที่ 2 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ใช้อำนาจฝ่ายบริหารประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2476 ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพราะอยู่ระหว่างการปิดสภา โดยอ้างถึงความมั่นคงประเทศ แต่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือการมุ่งจัดการกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งเป็นมันสมองสำคัญของคณะผู้ก่อการ

นี่จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองซึ่งจะกลายเป็นวิธีการทางการเมืองที่นำมาใช้ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องอีกนานนับทศวรรษ

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2476 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ถูกกดดันให้เดินทางอย่างรีบเร่งไปต่างประเทศ