ครบรอบ 2 ปีศึกยูเครน ฝันร้ายยังไม่สิ้นสุด

Photo by Dimitar DILKOFF / AFP

24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 2 ปีเต็มที่ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียออกคำสั่งให้กองทัพบุกเข้าสู่ยูเครนเพื่อยึดครอง ขบวนรถถังรัสเซียตะลุยข้ามพรมแดนเข้ามาจากทางเหนือ มุ่งหน้าสู่เป้าหมายหลักสำคัญคือ กรุงเคียฟ ก่อให้เกิดสงครามที่ดุเดือด อำมหิตที่สุดครั้งหนึ่งในภาคพื้นยุโรป

ช่วงระยะเวลา 2 ปี อาจไม่นานนักสำหรับการใช้ชีวิตทั่วไปในยามสันติ แต่ในท่ามกลางศึกสงครามรายล้อมรอบตัว กาลเวลาสองปียาวนานราวกับตกอยู่ในขุมนรก หรือไม่ก็หยุดนิ่ง แช่แข็งอยู่ในวินาทีที่กระสุนปืนนัดแรกระเบิด ปราศจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

หมู่บ้านฮลิบีฟกา ห่างจากเคียฟไปทางตอนเหนือ 40 กิโลเมตร ติดอยู่ในวงล้อมของรัสเซียทันทีที่กรีธาทัพมาถึง เพราะสะพานที่เคยเชื่อมต่อกับทางใต้ถูกระเบิดทำลายทิ้ง เป็นการป้องกันเมืองหลวง

โอลฮา มานูคินา ชาวบ้านที่ปักหลักอยู่ที่นั่นในเวลานั้นระบุว่า นั่นคือวันเวลาที่ฝันร้ายของเธอเริ่มต้น สามีกับลูกชายถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ที่บุกเข้ามาในบ้านแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวจับตัวไป

เธอไม่เคยได้ข่าวคราว ได้พบ ได้เห็นพวกเขาอีกเลยนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

ขณะที่สงครามย่างกรายเข้าสู่ปีที่ 3 ชาวยูเครนยังคงเล็งเห็น “ชัยชนะ” เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของสงครามครั้งนี้อยู่ต่อไป โพลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ ชิ้นหนึ่งระบุว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยูเครน ยังคงเชื่อว่าประเทศจะได้ชัยชนะเหนือกองทัพรัสเซียผู้รุกรานในที่สุด

แต่ที่แตกต่างออกไปจากปีก่อนๆ นี้ ก็คือทัศนะต่อคำถามที่ว่า จะชนะด้วยวิธีการใด และจะชนะได้เมื่อใดกันแน่

ชาวยูเครนในเวลานี้เต็มไปด้วยความลังเล กังวล ไม่แน่ใจ ทั้งต่อกองทัพของตนเอง ต่อการสนับสนุนของชาติตะวันตก และต่อพลานุภาพของข้าศึก

พวกเขาทั้งเจ็บปวด อ่อนล้า เศร้าสลดและซึมเซาเศร้าใจกับสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยรอบตัวเอง

ไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่า วันนี้ในอีกหนึ่งเดือน หนึ่งปีข้างหน้า ตัวเองจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่

ที่แน่ๆ ก็คือ ชาวยูเครนส่วนใหญ่เห็นว่า สงครามครั้งนี้จะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกนานหลายปี

โอเลก มาร์ติเนนโก ผู้สื่อข่าวชาวยูเครนตั้งข้อสังเกตุว่า ปีนี้นับเป็นปีแรกนับตั้งแต่เกิดสงคราม ที่ชาวนูเครนส่วนใหญ่เห็นว่า ประเทศชาติกำลังก้าวไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง

ความต้องการหลักที่เคยปรากฏชัดในการทำโพลเมื่อปีสองปีก่อนหน้า ที่ระบุว่า ต้องการให้กองทัพยูเครนผลักดันรัสเซียกลับเข้าไปอยู่ภายในเส้นเขตแดนของรัสเซียเองมากที่สุด

ถูกแทนที่ด้วยความต้องการที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ยูเครนได้อยู่รอดปลอดภัยแทน

“เรายืนหยัดรับมือกับรัสเซียมาได้ตลอดหลายปีมานี้ ความกังขาที่สุดของคนยูเครนในเวลานี้ก็คือ เราจะทำได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่” มาร์ติเนนโกระบุ

 

ความตึงเครียด กังวล ไม่แน่ใจ เป็นทัศนะและความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในยามสงคราม ปัญหาของยูเครนในยามนี้ก็คือ สภาวะทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนในการให้การสนับสนุนจากชาติตะวันตก ทำให้ทุกๆ อย่างยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก งบประมาณ 37,000 ล้านดอลลาร์ของยูเครนในปีนี้ น่าจะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้านในยุโรปในที่สุด

แต่ปีหน้าเล่า? ไม่มีการการันตีใดๆ ในขณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น บางเรื่องบางอย่าง ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องความเต็มใจในการให้การสนับสนุนหรือไม่ แต่เป็นปัญหาว่า ให้การสนับสนุนไม่ได้อีกต่างหาก

ตัวอย่างเช่น การขาดแคลนกระสุนที่เป็นปัญหามานานไม่น้อยแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยุโรปไม่ให้การสนับสนุน แต่เป็นเพราะยุโรปไม่ได้ผลิตกระสุนและยุทโธปกรณ์มานานแล้ว ชนิดต้องเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในยูเครนได้ เป็นต้น

แน่นอนฝ่ายรัสเซียเองก็เผชิญปัญหาในทำนองเดียวกัน ทรัพยากรสงครามร่อยหรอลง กำลังคนลดน้อยลง แต่ผลกระทบที่ได้กลับแตกต่างกันไม่น้อย

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของยูเครนรายหนึ่ง อุปมาอุปไมยไว้คมคายว่า เหมือนกับคนหนึ่งอ้วน คนหนึ่งผอมโกรก ต้องเผชิญกับความอดอยากขาดแคลนเหมือนกัน คนอ้วนผอมลงก็แค่ผอม แต่คนที่ผอมอยู่แล้วจะหลงเหลือแค่โครงกระดูก

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม มิเคลโล เฟโดรอฟ รองนายกรัฐมนตรียูเครน ที่ชำนาญด้านเทคโนโลยีทางทหารมากที่สุด ถึงได้ยืนกรานว่า ทางรอดทางเดียวในวันข้างหน้าก็คือ ยูเครนต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ในแง่นี้

“เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องอวดความแข็งแกร่งของเราออกมาให้เห็น ผมคาดหวังในทางที่ดี เพราะว่าเรามีความได้เปรียบชัดเจนมากในเรื่องของประสิทธิภาพและความรวดเร็ว” เขาย้ำ

 

ที่ผ่านมา กองทัพยูเครนใช้แนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เอาชนะกองทหารรัสเซียได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในทะเลดำ ตลอดปีที่ผ่านมา ยูเครนจมเรือรบรัสเซียในทะเลดำไปมากถึง 1 ใน 5 ของกองเรือทั้งหมดจนสามารถเปิดเส้นทางเดินเรือปลอดภัยได้สำเร็จ

ทำนองเดียวกับการใช้นวัตกรรมพัฒนาโดรนขึ้นมาใหม่ จนสามารถผลิตได้เร็ว ผลิตได้มาก และยังมีประสิทธิภาพในการรบสูงด้วยอีกต่างหาก

โดรนชนิดบินไกลของยูเครน มีมากกว่า 10 รุ่น ที่สามารถโจมตีเป้าหมายไกลเกินกว่า 600 กิโลเมตร ถึงขนาดผู้ผลิตรายหนึ่งเชื่อว่า ปี 2024 โดรนของพวกเขาจะนำสงครามไปสู่รัสเซียตอนกลางได้ด้วยซ้ำไป

ปัญหาใหญ่หลวงของยูเครนเมื่อสงครามดำเนินมาครบ 2 ปีเต็มก็คือ ปัญหาการเมืองภายใน สองปีที่ผ่านมา ยูเครนสมัครสมานสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียวเพราะสงคราม แต่พอย่างเข้าปีที่สาม เป็นสงครามอีกนั่นแหละที่ก่อให้เกิดอุปสรรคสำคัญที่สุด

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยังคงได้รับความนิยมสูงอยู่ไม่น้อย ในการสำรวจหลังสุด เซเลนสกียังได้รับความนิยมอยู่ในระดับ 70 เปอร์เซ็นต์

แต่กระนั้นก็เป็นความนิยมที่ลดลงและลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

ปัญหาเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเซเลนสกีสั่งปลดผู้บัญชาการทหารอย่าง วาเลอรี ซาลูซนี พ้นตำแหน่ง เพราะไม่อยู่ในสภาพ “มองตาแล้วรู้ใจ” กับตนเองอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ชาวยูเครน 94 เปอร์เซ็นต์ไว้วางใจในตัวแม่ทัพผู้นี้

ปัญหานี้จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเมื่อกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของเซเลนสกีมาถึงในเดือนพฤษภาคม แน่นอน กฎอัยการศึกอาจทำให้เขาดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้นำในยามสงครามต้องการเอกภาพทางการเมืองแบบไร้ข้อกังขามากที่สุด

แต่เขามีจุดอ่อนมากมายเหลือเกินให้หยิบยกขึ้นมาโจมตีทางการเมือง ปลุกกระแสต่อต้านหรือแม้แต่กระทั่งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

ซึ่งไม่เพียงไม่เป็นผลดีต่อเซเลนสกี แต่ยังส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อยูเครนทั้งประเทศแน่นอน