ศึกชิงราชาทุเรียน ใครจะครองตลาดจีน?

จําได้ว่าเมื่อปีกลายเคยเขียนถึงตลาดทุเรียนในจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นจุดโฟกัสสำคัญอยู่ที่กระบวนการเพื่อผลิตทุเรียนขึ้นมาในประเทศจีนเอง ที่จนแล้วจนรอด ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เป็นมรรคเป็นผลใดๆ

เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ ราล์ฟ เจนนิงส์ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจของเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ หยิบเอาเรื่องทุเรียนในประเทศจีนมาเขียนถึงอีกครั้ง คราวนี้เขาโฟกัสไปที่ความคาดหวังว่าจะเกิดการแข่งขันกันขึ้นในตลาด เพราะให้บังเอิญเกิดคู่แข่งสำคัญของไทยขึ้นมา แถมยังตั้งเป้าโค่นแชมป์เพื่อเป็นราชาทุเรียน ในตลาดจีนแทนไทยเสียด้วย

ทุเรียนเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย ส่งออกกันไปในหลายประเทศทั่วโลกก็จริง แต่ตลาดใหญ่ที่สุดก็คือจีน เพราะคนจีนบริโภคทุเรียนมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของทุเรียนที่ส่งออกทั้งหมดเลยทีเดียว ตามข้อมูลของโครงการอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)

ปริมาณการนำเข้าทุเรียนของจีนในแต่ละปีสูงมาก ราล์ฟ เจนนิงส์ ระบุว่า เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนมากถึง 1.4 ล้านตัน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เจนนิงส์บอกว่า บริษัทวิจัยตลาดพากันคาดการณ์ว่า ตลาดทุเรียนโลกจะขยายตัวต่อเนื่องในอีกราว 5-7 ปีข้างหน้า

ยูเอสดี อนาลิติกส์ คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2023-2030 ตลาดทุเรียนโลกจะขยายตัวราว 7.51 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

 

ในขณะที่ รีเสิร์ช แอนด์ มาร์เก็ตส์ เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ทำนายว่า ในห้วงเวลาเดียวกัน ตลาดทุเรียนโลกจะขยายตัวสูงถึงปีละ 9.77 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ จ้าว ซือจุน ศาสตราจารย์ด้านการเงินของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง บอกกับเจนนิงส์ว่า ตลาดทุเรียนในจีนยังมีช่องว่างให้ขยายตัวได้อีกมาก การที่มีแหล่งผลิตมากขึ้น จะช่วยให้ราคาของทุเรียนในจีนลดลง ซึ่งจะทำให้เป็นที่นิยมกันมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภค

“สถานการณ์ในเวลานี้ก็คือ ราคาทุเรียนยังแพงมาก ดังนั้น ตลาดจึงยังไม่อิ่มตัว ยิ่งจีนนำเข้ามากขึ้น ราคาย่อมลดลงอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์จ้าวระบุ

ถามว่าราคาทุเรียนในจีนตอนนี้แพงขนาดไหน เจนนิงส์ระบุเอาไว้ว่า ในจีนราคาทุเรียนต่อลูก อยู่ระหว่าง 100-200 หยวน หรือราว 500-1,000 บาท

แต่โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคชาวจีนต้องจ่ายถึงกิโลกรัมละ 56 หยวน (280 บาท) โดยถ้าเลือกซื้อแบบเหมาเป็นกล่อง ก็ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 400 หยวน (ราว 2,000 บาท) ต่อหนึ่งกล่อง

เจนนิงส์คุยกับผู้บริโภคมาหลายคน ทั้งหมดเชื่อว่า การนำเข้าจากแหล่งผลิตที่หลากหลายขึ้นเป็นผลดี เพราะนอกจากราคาจะถูกลงแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเลือกลิ้มรสได้หลากหลายพันธุ์มากขึ้นอีกด้วย

หวัง ฮุ่ย ผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่า ทุเรียนในตลาดเวลานี้ นอกจากจะแพงแล้ว คุณภาพยังไม่สม่ำเสมออีกต่างหาก เธอคาดหวังว่า จะมีทุเรียนจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์มาให้เลือกบริโภคได้มากขึ้น

 

แน่นอนว่า ตลาดจีนในเวลานี้มีทุเรียนไทยเป็นเจ้าตลาดอยู่ ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 68 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่จีน ทุเรียนเป็นผลไม้ “โปรด” สำหรับชนชั้นกลางที่นั่นไปแล้ว แถมยังกลายเป็นของฝากของขวัญที่ทรงคุณค่า ถึงขนาดนิยมนำไปคารวะ “ว่าที่แม่ยาย” กันเลยทีเดียว

มาเลเซีย ในปัจจุบันนี้อนุญาตให้ส่งออกเพียงแค่ทุเรียนแช่แข็ง แต่ว่ากันว่าในปีนี้ ทางมาเลเซียกำลังหาทางทำความตกลงเพื่อส่งทุเรียนสดสู่ตลาดจีนเพิ่มเติม

โดยเฉพาะสายพันธุ์ “มูซัง คิง” ที่ว่ากันว่าเป็นสุดยอดทุเรียนที่คนจีนโปรดปรานมากที่สุด

กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของมาเลเซีย ตั้งเป้าเอาไว้ว่า เมื่อถึงปี 2030 มาเลเซียจะส่งทุเรียนออกสู่ตลาดจีนได้ถึง 22,000 ตัน จากเดิมที่เคยส่งอยู่แค่ 236 ตันเท่านั้น

แต่ชาติที่ครองส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนในจีนรองจากไทย ไม่ใช่มาเลเซีย แต่เป็นเวียดนาม เวียดนามเป็นคู่ต่อกรที่สำคัญของไทย เพิ่งได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนสดไปขายที่นั่นเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมานี่เอง

แต่พอถึงปี 2023 ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 31.5 เปอร์เซ็นต์

ที่ฟิลิปปินส์ เฟย์ อากิโอ ผู้เชี่ยวชาญทุเรียนตากาล็อก บอกกับเจนนิงส์ว่า รัฐบาลเตรียมพัฒนาการปลูกทุเรียนขนานใหญ่ โดยอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่เพาะปลูกบนเกาะมินดาเนา ตอนใต้ของประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิมกว่าเท่าตัว มีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเพาะปลูก และให้การศึกษาอบรมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการเพาะปลูก

นอกเหนือจากนั้นยังให้ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการเพื่อการส่งออก อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม จนสามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ จ้าว จือหมิน ให้เหตุผลไว้ว่า บรรดาหัวเมืองทางเหนือของจีนยังสามารถรองรับทุเรียนได้อีกมาก การที่ผู้บริโภคแต่ละรายมีรสนิยมแตกต่างกันออกไป ก็ช่วยให้ทุเรียนพันธุ์ใหม่ๆ สามารถเกิดได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น จีนยังสามารถขยับขยายตลาดออกไปสู่ ตลาดสแน็ก และเครื่องดื่มรสทุเรียนได้อีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ อีคอมเมิร์ซ ในจีนเวลานี้ก้าวหน้าอย่างยิ่ง สามารถขยายการบริโภคทุเรียนออกไปทั่วประเทศได้สบายๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือทิศทางที่น่าเป็นห่วงของชาวสวนทุเรียนในไทยครับ