ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต : เครื่องยืนยันว่าเรายังคงเป็นมนุษย์

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

หากเราพูดถึงมิติทางสังคมในการนิยามว่า อะไรคือความหมายของ “มนุษย์” ที่มากไปกว่าลักษณะทางชีววิทยา ก็คือการปฏิสัมพันธ์กันสังคม หรือการรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับความเจ็บปวด ความสุข ความทุกข์ของผู้อื่น คือรูปธรรมสำคัญของการเป็นมนุษย์ในสังคม

หากเราใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวชี้วัดในสภาพสังคมปัจจุบันของเรา มีกิจกรรมอะไรที่ยืนยันลักษณะความสัมพันธ์ความเป็นมนุษย์ของเรา

ผมขอสรุปสั้นๆ ว่าสิ่งที่คงความสัมพันธ์ความเป็นมนุษย์เราปฏิสัมพันธ์ผ่านสามเงื่อนไข คือ ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต

ทั้งสามเงื่อนไขที่สมดุลนี้ จะเป็นการยืนยันความมีอารยะของสังคมมนุษย์

Ernst Wigforss

Ernst Wigforss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของประเทศสวีเดนเมื่อประมาณเกือบ 100 ปีที่แล้ว เป็นคนที่วางรากฐานการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศสวีเดน ได้ให้ความเห็นหนึ่งไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเป้าหมายของการพัฒนาสังคม คือการทำให้มนุษย์ทำงานมากขึ้น มันคือเป้าหมายของความวิปริตผิดพลาดอย่างแน่แท้

เพราะเป้าหมายของการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาการผลิต โดยพัฒนาระบบการบริโภคต่างๆ คือการทำให้มนุษย์ว่าง

อาจจะมีคำถามว่าเมื่อมนุษย์มีเวลาว่าง มนุษย์เอาเวลาไปทำอะไร

เขาอธิบายว่า ก็ง่ายมาก เอาไปร้องเพลง เอาเวลาไปมีความสุข เอาเวลาไปเล่นกัน เอาเวลาไปใช้กับความสนุกต่างๆ

ใช่ มันคือการใช้เวลาเพื่อให้เรากลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์

 

ดังนั้น ในสังคมเราจำเป็นต้องออกแบบ “งาน” เพื่อตอบสนองความเป็นมนุษย์ หรือที่เราเรียกว่า “งานที่มีคุณค่า” งานที่ตรงกับความถนัด งานที่มีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม งานที่มีอนาคต หรืองานในฝัน มีอำนาจต่อรอง ไม่เป็นงานที่ทำร้ายชีวิตของผู้อื่น งานที่เอาเปรียบตัวเองและผู้อื่น

เพราะข้อเท็จจริงการที่มนุษย์ในสังคมเราต้องทำงาน คือเราไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้ เราจำเป็นต้องอาศัยไม่ทักษะ ก็ความสนใจ

หรือเวลาของผู้อื่น ในการเติมเต็มส่วนที่ไม่สมบูรณ์ของเรา

ก่อนที่มนุษย์จะคิดระบบเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนชีวิตของผู้คนกับระบบค่าจ้าง การทำงานเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์การเกื้อกูลสังคมข้างต้น

ดังนั้น ในยุคปัจจุบัน การสร้างเงื่อนไขงานที่มีคุณค่าจึงประกอบด้วยคุณลักษณะสี่ประการคือ

1. การจ้างงาน มีโอกาสในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและให้รายได้ที่ยุติธรรม

2. การคุ้มครองสังคม ความคุ้มครองด้านสังคมและมาตรการคุ้มครองสังคมอื่นๆ เพื่อให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับแรงงานและครอบครัวของพวกเขา

3. สิทธิในการทำงาน การยึดถือสิทธิพื้นฐานของแรงงาน เช่น สิทธิในการประชุม การเจรจา และxราศจากแรงงานที่ถูกบังคับและแรงงานเด็ก

4. การสนทนาทางสังคม การส่งเสริมการสื่อสารเปิดเผยและร่วมมือระหว่างแรงงาน นายจ้าง และรัฐเพื่อแก้ไขและจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงาน

 

เมื่อพิจารณถึงเงื่อนไขการทำงานแล้ว ลักษณะที่สองคือ “การพักผ่อน”

การพักผ่อน หรือเวลาว่าง-Leisure Time เวลาที่พ้นจากการทำงาน การเดินทาง หรือการคิดกังวลเกี่ยวกับการงานที่ได้ทำไปตลอดทั้งวัน

เวลาว่างที่เหมาะสมจะถูกใช้เพื่อผลิตซ้ำชีวิตและร่างกายตัวเองกลับมา ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ชั่วโมงการนอนที่เหมาะสม ที่พักอาศัยที่สะอาด กิจกรรมนันทนาการเพื่อผ่อนคลาย กีฬา ดนตรี ภาพยนตร์ หรือการสนทนากับเพื่อนฝูง

เวลาการพักผ่อนนี้ เป็นเงื่อนไขบังคับที่มนุษย์จะได้รับตัวตนของตัวเองกลับมามีเวลาใคร่ครวญต่อสิ่งที่สำคัญกับตัวเอง การพักผ่อนยังสามารถลดความเครียดและซึมเศร้า เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการป่วย ช่วยผ่อนคลายระบบประสาทและลดความตึงเครียด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองและครอบครัว

การพักผ่อนไม่เพียงแค่หมายรวมถึงหยุดงาน แต่ยังครอบคลุมการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายและสร้างความสุขสบายใจ

 

เสาที่สาม คือการใช้ชีวิต

ซึ่งเป็นคำที่ฟังดูง่ายมาก เพราะเราก็ “ใช้ชีวิต” กันอยู่ทุกวัน

แต่เราลองพิจารณาดู หากเราต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย “งานที่ไร้คุณค่า” และเวลาพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เหมือนทำงานเพื่อเพียงแค่ทำให้กลับไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น ไม่สามารถตั้งคำถามใดๆ กับชีวิตได้ เช่นนั้นมีชีวิตร้อยปีก็เหมือนไม่ได้เกิดมาสักวันเดียว

การใช้ชีวิตจึงมากกว่าการพักผ่อนโดยมีหลักสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เรื่องตนเอง การทราบถึงความต้องการ ค่านิยม และความฝันของตนเอง การสำรวจความรู้สึกและความต้องการที่ลึกซึ้งช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้น การกำหนดและยึดถือค่านิยมที่มีความหมายสำหรับตนเอง สิ่งเหล่านี้นำสู่ความรู้สึกขอบคุณและสำนึกในชีวิต ความสำนึกในความสวยงามของสิ่งรอบตัว

ทั้งหมดจะทำให้เรามีการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับผู้คนที่อยู่ในชีวิตทุกวัน

และทำให้มนุษย์สามารถมีประสบการณ์ที่หลากหลายกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม

ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต จึงเป็นหัวใจสำคัญในโลกสมัยใหม่ที่ไม่อาจตัดขาดออกจากกันได้

ในสัปดาห์หน้า ผู้เขียนจะพาพิจารณาการแก้ไขกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้หลักการข้างต้นสามารถเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยได้