ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ถ้ามีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ “วิจิตร คุณาวุฒิ” จะมีอายุครบ 101 ปี
แต่สำหรับคนรุ่นหลังที่ไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามหรือผลงานใดๆ ของเขา คำถามเบื้องต้นที่ย่อมบังเกิดขึ้นในใจ ก็คือ “วิจิตร คุณาวุฒิ” คือใคร?
ชุดคำตอบสั้นๆ ที่เต็มไปด้วย “ถ้อยคำใหญ่ๆ” อาจมีอยู่ว่า
วิจิตร ผู้ใช้นามแฝงว่า “คุณาวุฒิ” คือเจ้าของฉายา “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” ซึ่งมีผลงานภาพยนตร์ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองหรือพระสุรัสวดีรวมกันแล้วเกิน 20 ตัว
เขาคือผู้ได้รับปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์คนแรกสุด จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2526
และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนแรกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2530
เหนือสิ่งอื่นใด “คุณาวุฒิ” เป็นหนึ่งใน “คนทำหนังไทย” ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง
“วิจิตร คุณาวุฒิ” เกิดเมื่อปี 2465 ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เดิมมีชื่อจีนว่า “ซุ่นจือ เค้งหุน” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “วิจิตร คุณาวุฒิ” ในปี 2483 ตามนโยบายรัฐนิยมยุคนั้น
แม้จะชื่นชอบภาพยนตร์มาแต่เยาว์วัย ทว่า เขาเริ่มต้นทำมาหาเลี้ยงชีพผ่านการเป็นนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย และกำลังกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
วิจิตรทำงานขีดเขียนในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเขียนเรื่องสั้นจำนวนมากโดยใช้นามปากกาว่า “คุณาวุฒิ” และ “สัตตบุษป์”
กระทั่งใน พ.ศ.2493 เขาจึงได้รับการเชิญชวนจาก “สด กูรมะโรหิต” ให้ไปรับบทตัวร้ายในละครเวทีเรื่อง “สิ้นเวร” ก่อนจะได้แสดงบทตัวร้ายอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้ากำหนด” ที่ออกฉายในปีเดียวกัน
ต้นทศวรรษ 2490 วงการหนังไทยหลังสงครามโลกได้กลับมาคึกคัก นักประพันธ์หลายคน รวมทั้งวิจิตรจึงตบเท้าเข้ามาทำงานแขนงนี้ เพราะมองว่ามีโอกาสสร้างรายได้สูงกว่างานหนังสือ
ครูสอนวิชาภาพยนตร์ของวิจิตร คือ “ทวี ณ บางช้าง” หรือ “ครูมารุต” ซึ่งชักชวนให้เขามาร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” เมื่อ พ.ศ.2497 ก่อนที่เขาจะร่วมเขียนบทภาพยนตร์กับครูมารุตอีกสองเรื่อง ได้แก่ “ธนูทอง” (2497) และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2498)
นอกจากนี้ วิจิตรยังได้เรียนรู้เรื่องการทำหนังเพิ่มเติมจาก “รัตน์ เปสตันยี” ซึ่งเขายกย่องให้เป็นครูแห่งโรงถ่ายหนุมาน
ครูเหล่านี้สอนให้อดีตนักเขียนหนุ่มตระหนักว่า การเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ มิได้เกี่ยวข้องกับแค่การเขียนฉากและบทพูดของตัวละครเพียงเท่านั้น หากยังต้องเข้าใจเรื่องระยะและทิศทางของกล้องอย่างลึกซึ้งด้วย
ดังที่วิจิตรเคยให้สัมภาษณ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2531 ถึงความแตกต่าง-ความเชื่อมโยงของทั้งสองศาสตร์เอาไว้ว่า
“หากคนเขียนหนังสือจะพัฒนาตัวเองมาเป็นคนเขียนบทหนังให้ได้ละก็ ต้องสามารถเปลี่ยนความต่อเนื่องในแบบของการเขียนหนังสือมาเป็นในแบบของหนัง
“มีการวางโครงสร้างของหนังใหม่ เดินเรื่องใหม่ ฟอร์แมตใหม่ ฉากใหม่ มีการรวบหลายๆ สิ่งเข้าไปอยู่ในฉากเดียว ความเพ้อเจ้อทั้งหลายต้องตัดทิ้ง ที่สำคัญก็คือต้องเข้าใจกล้อง ว่ามันจะเก็บภาพออกมาได้มากน้อยแค่ไหน
“หมายความว่าต้องมองออกว่าการใช้เลนส์แต่ละประเภท การเคลื่อนกล้องนี้จะนำเสนอภาพออกมาอย่างไร คนเขียนบทหนังจะต้องเข้าใจให้กระจ่าง”
นี่คือเส้นทางที่ทำให้นักเขียนเจ้าของนามปากกา “คุณาวุฒิ” ก้าวข้ามพรมแดนมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของไทย
พ.ศ.2498 “คุณาวุฒิ” ได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตคือ “ผารีซอ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวเขา แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้
พ.ศ.2504 นักทำหนังผู้นี้ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ด้วยทุนของตนเองเป็นเรื่องแรก นั่นคือ “มือโจร” ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของเจ้าตัวด้วย แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้มากนัก แต่ผลงานชิ้นนี้กลับคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาถึง 3 ตัว รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
บริษัทผลิตภาพยนตร์ของวิจิตรและครอบครัว มีชื่อว่า “แหลมทองภาพยนตร์” โดยมี “ทองปอนด์ คุณาวุฒิ” ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างและดูแลทางด้านธุรกิจ และต่อมา มีลูกชาย “คณิต คุณาวุฒิ” ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยงานด้านเทคนิคการสร้าง
แม้ผลงานของแหลมทองภาพยนตร์จะคว้ารางวัลอย่างสม่ำเสมอนำมาสู่สมญานาม “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” แต่หนังบางเรื่องก็ขาดทุนย่อยยับ เช่น ภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งที่มาก่อนกาลอย่าง “เสน่ห์บางกอก” (2509) นี่เป็นปัจจัยที่บีบให้คุณาวุฒิต้องสลับไปรับจ้างกำกับหนังให้ผู้สร้างรายอื่นอยู่เป็นระยะ
จุดที่น่าสนใจอีกประการ คือ วิจิตรจะรับหน้าที่เป็นผู้ลำดับภาพ (ตัดต่อ) และผู้เขียนบทในภาพยนตร์ทุกเรื่องของตนเอง โดยเขาถือว่าบทภาพยนตร์คือหัวใจสำคัญที่สุดในการทำงาน
ในฐานะอดีตนักเขียน คุณาวุฒิสามารถดัดแปลงบทประพันธ์ของตนเองและนักเขียนชื่อดัง (ทั้งหญิงและชาย) รายอื่นๆ ให้กลายเป็นบทหนังที่โดดเด่นด้วยบทสนทนาคมคาย และสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี
หลายคนนิยามว่า คุณาวุฒิมีความเป็น “นักมนุษยนิยม” ดังจะเห็นได้จากการที่เขามักทีท่าทีเห็นอกเห็นใจผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือคนตัวเล็กตัวน้อย ผ่านงานเขียนและภาพยนตร์ของตนเองอยู่เสมอ
อีกด้านหนึ่ง คนยุคหลังที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ของผู้กำกับฯ อาวุโสรายนี้ อาจรู้สึกว่าหนังบางเรื่องของเขามีมุมมองในแบบ “นักมานุษยวิทยา” คือ ใส่ใจรายละเอียดในวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้คนในสังคมชนบทห่างไกล อย่างลึกซึ้งละเอียดลออ
ดังที่คุณาวุฒิเองก็เคยเผยความในใจผ่านสูจิบัตรของภาพยนตร์เรื่อง “นางสาวโพระดก” เมื่อ พ.ศ.2508 ว่า “ผมต้องการสร้างหนังสามสิบห้ามิลลิเมตร แล้วก็เป็นขาวดำด้วย เป็นหนังที่สะท้อนถึงชีวิตไทยๆ หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็คือ เวย์ ออฟ ไลฟ์ นั่นแหละ”
ความมุ่งมาดปรารถนาดังกล่าวกลายมาเป็นความจริงในช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งระบบนิเวศของธุรกิจหนังไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ส่งผลให้วิจิตรต้องหันไปทำงานเป็นผู้กำกับฯ ในสังกัด “ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น”
แม้ผลงานเปิดตัวกับไฟว์สตาร์ของคุณาวุฒิจะเป็นหนังแนวรักๆ ใคร่ๆ อย่าง “เมียหลวง” (2521) ที่ตอบโจทย์ทางการตลาดได้เป็นอย่างดี (และหลายคนยกย่องให้เป็น “เมียหลวง” ที่คลาสสิคกว่า “เมียหลวง” เวอร์ชั่นถัดๆ มา)
แต่ในปี 2522 คุณาวุฒิก็ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่อง “คนภูเขา” ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของชาวเขา (เสมือนเป็นการรีเมกหนังเรื่อง “ผารีซอ”) และใช้นักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมด (เป็นงานแจ้งเกิดของ “มนตรี เจนอักษร”) ผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างจริงจัง โดยผู้สร้างได้เข้าไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวเขาในสถานที่ถ่ายทำจริงนานนับเดือน
หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รางวัลสิงโตทองจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียที่สิงคโปร์
พ.ศ.2525 คุณาวุฒิมีโอกาสสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน” ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ “คำพูน บุญทวี” ผ่านการศึกษาข้อมูลอย่างเข้มข้นจริงจังเช่นเดิม และมีกระบวนการคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมกับบท
เช่น นักแสดงนำชายอย่าง “องอาจ มณีวรรณ์” ชาวนา-ผู้ใช้แรงงานจากโพนทอง นครราชสีมา ที่ก่อนหน้านั้น เคยเป็นนักแสดงนำในหนังเรื่อง “ทองปาน” ที่กลุ่มปัญญาชนคนเดือนตุลาส่วนหนึ่ง ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี 2519
“ลูกอีสาน” ฉบับภาพยนตร์พยายามรักษาหัวใจของความเป็น “เรื่องเล่ากึ่งสารคดี” จากนิยายต้นฉบับเอาไว้ แม้หนังจะมีกราฟอารมณ์ที่ขึ้นลงหลากหลายแบบ “เรื่องเล่าชั้นดี” แต่เรื่องราวโดยรวมก็เปรียบเสมือนสายน้ำอันไหลล่องไปตามช่วงชีวิต ณ ห้วงเวลาหนึ่งของเหล่าตัวละคร โดยไม่มีเส้นเรื่องหรือจุดไคลแมกซ์ชัดเจน จนมีลักษณะประหนึ่ง “สารคดีชั้นยอด”
นี่คือภาพยนตร์ที่ลุ่มลึก มีชีวิตมีชีวา มีความทะเยอทะยาน มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นมาสเตอร์พีซของ “คุณาวุฒิ”
ดังที่ผู้กำกับฯ อาวุโส เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ก่อนเสียชีวิต และฟุตเทจดังกล่าวเพิ่งถูกนำมาถ่ายทอดใหม่ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “คุณาวุฒิ : วันหนึ่งเราจะหัวเราะให้แก่วันนี้” โดยหอภาพยนตร์ ว่า เขาพอใจในผลงานเรื่อง “ลูกอีสาน” มากที่สุด และพอใจกับงานชิ้นนี้มากกว่า “คนภูเขา” (ซึ่งทำรายได้สูงกว่า) เสียอีก
“ลูกอีสาน” ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ (ภาพยนตร์แห่งชาติ) สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม
ตลอดจนรางวัลรองชนะเลิศ ในฐานะภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์
ถัดจากนั้น “คุณาวุฒิ” มีผลงานภาพยนตร์อีกสองเรื่อง คือ “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” (2528) และ “เรือนแพ” (2532) ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2540 ขณะมีอายุ 75 ปี
ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 14 กรกฎาคม 2567 หอภาพยนตร์ได้จัดนิทรรศการ “คุณาวุฒิ 101” ขึ้นที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 2 หอภาพยนตร์ ศาลายา
โดยนิทรรศการดังกล่าวจะพาผู้ชมย้อนไปสำรวจชีวิต ผลงาน และแนวคิดในการทำงานของ “วิจิตร คุณาวุฒิ” ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักประพันธ์ ไปจนถึงเป็นผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์
ผ่านสิ่งของและเอกสารจำนวนมากที่ได้รับมอบจากครอบครัวคุณาวุฒิ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลตุ๊กตาทองกว่า 20 ตัว, ต้นฉบับงานเขียนและบทภาพยนตร์ รวมทั้งอุปกรณ์การทำงาน เช่น เครื่องพิมพ์ดีด, กล้องถ่ายหนัง และเครื่องมือตัดต่อ เป็นต้น •
ข้อมูลจาก
101 ปี เศรษฐีตุ๊กตาทอง วิจิตร คุณาวุฒิ โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู https://www.fapot.or.th/main/information/article2/view/88
แลไปข้างหลัง หนัง “คุณาวุฒิ” โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู ใน จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2556
ชีวิตหลังภาพยนตร์ของนักแสดงสามัญชนใน ทองปาน โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู https://www.fapot.or.th/main/news/274
นิทรรศการ คุณาวุฒิ ๑๐๑ https://www.fapot.or.th/main/news/993
ภาพประกอบจาก https://www.fapot.or.th/
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022