นักวิชาการล้านนา เตรียมจัดงานเชิดชูเกียรติ ‘พระมหาสิริมังคลาจารย์’ ในวาระ ‘500 ปี มังคลัตถทีปนี’

เพ็ญสุภา สุขคตะ
ภาพเก่าวัดตำหนักสวนขวัญ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ลิขสิทธิ์ภาพจากเฟซบุ๊ก บ้านตำหนัก วัดตำหนักสวนขวัญ-สิริมังคลาจารย์)

งานประชุมสัมมนาทางวิชาการ “ไทศึกษา ครั้งที่ 13” ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพเมื่อราว 7-8 ปีก่อนนั้น หลายท่านคงจำได้ดีว่าหนึ่งในหัวข้อบรรยายชื่อ “ยุคทองวรรณกรรมล้านนา” ดิฉันได้โปรยหยอดลูกทิ้งท้ายไว้ประเด็นหนึ่งว่า

โปรดรออีก 7 ปีข้างหน้า จนกว่าจะถึงปีพุทธศักราช 2567 จะครบรอบ 500 ปีของวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาชิ้นเยี่ยมยอด นั่นคือ “มังคลัตถทีปนี” ซึ่งนิพนธ์โดยมหาปราชญ์ของล้านนานาม “พระมหาสิริมังคลาจารย์” แล้วเมื่อถึงวันนั้นพวกเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง

นั่นคือพันธสัญญาครั้งยิ่งใหญ่ที่ดิฉันและคณะนักวิชาการได้ให้ไว้แก่กันและกัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนามากกว่า 200 คนเป็นสักขีพยาน และแล้ววันนั้นก็มาถึง

ภารกิจสำคัญร่วมเชิดชูบุคคลสำคัญ

ทันทีที่เข้าสู่พุทธศักราช 2567 สัญญาที่ดิฉันเคยให้ไว้แก่มหาชนก็ทำหน้าที่สั่งการกระตุ้นเตือนปฏิทิน ผลักดันให้เมื่อราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้โทรศัพท์ปรึกษาหารือถึงแนวทางจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติพระมหาสิริมังคลาจารย์ กับนักวิชาการคนสำคัญที่จะต้องก้าวเข้ามาเป็นพ่องานหลักเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันกับดิฉันหลายต่อหลายครั้ง นั่นคือ

ดร.บาลี พุทธรักษา หนึ่งในทีมงานตรวจชำระคัมภีร์บาลีฎีกา สำนักตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเมื่อ 7 ปีก่อน ในงานไทศึกษาครั้งที่ 13 ท่านอาจารย์บาลีก็ได้เป็นวิทยากรนำเสนอหัวข้อ “500 ปี เวสสันตรทีปนี” ผลงานของพระมหาสิริมังคลาจารย์เช่นเดียวกัน

“งานวรรณนิพนธ์เรื่อง มังคลัตถทีปนี ของพระมหาสิริมังคลาจารย์ เล่มนี้ถือเป็น ‘บาลีปกรณ์’ ชิ้นเอกอุของท่านพระมหาสิริมังคลาจารย์เลยทีเดียว คิดดูว่าพระภิกษุชาวล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน สามารถรจนา ‘คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา’ ด้วยภาษาบาลีหรือภาษามคธ ได้อย่างสละสลวย ผูกอักขระคล้องจองแบบภาษากวีนิพนธ์ ยิ่งใหญ่ทั้งเนื้อหา งดงามทั้งคำศัพท์สำนวน การสาธกยกตัวอย่าง จวบจนปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรที่เรียนหลักสูตรเปรียญ 4 เปรียญ 5 และเปรียญ 7 ทุกรูปยังต้องยึดถือ ‘มังคลัตถทีปนี’ เล่มนี้ในการเรียนการสอน เสมือนเป็นคัมภีร์เหล็กชั่วนิรันดร์กาล”

เมื่อได้ฟังคำกล่าวสรรเสริญถึงกิตติคุณของคัมภีร์บาลีปกรณ์ “มังคลัตถทีปนี” จากผู้เชี่ยวชาญสายตรงคือ ดร.บาลี พุทธรักษา ยิ่งตอกย้ำให้ดิฉันยินดีรีบกระโจนเข้ามาเป็นแม่งานหลัก ช่วยประสานทุกภาคส่วนเพื่อให้ฝันนี้เป็นจริงแบบเต็มตัวเต็มแรงอย่างไม่มีข้อแม้

“ตัวกระผม พร้อมคณะกรรมการอีก 2-3 ท่านจากสำนักตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยินดีร่วมเดินทางขึ้นไปเป็นวิทยากรให้ที่เชียงใหม่ โดยขอให้ ดร.เพ็ญช่วยประสานงานด้านสถานที่จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการ การวางตัววิทยากรฝ่ายเชียงใหม่ทั้งพระสังฆาธิการสาย มจร. และนักวิชาการฝ่ายฆราวาส ปราชญ์ล้านนาท่านต่างๆ รวมทั้งกำหนดรูปแบบกิจกรรมต่างๆ สำหรับวันเวลาที่จะจัดนั้นขอเป็นราวหลังปลายเดือนพฤษภาคม หรือในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนเข้าพรรษาก็ได้”

ดิฉันโน้ตปฏิทินกิจกรรมดังกล่าวไว้ด้วยความใจจดใจจ่อเฝ้ารอให้ถึงวันงานวันนี้วันพรุ่ง และทราบมาว่าท่าน รศ. สุเชาวน์ พลอยชุม ผู้เป็นประธานคณะกรรมการสำนักตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เองท่านนี้ก็เคยทำวิจัยเขียนบทความเรื่อง “การศึกษาเชิงวิเคราะห์มังคลัตถทีปนี” ไว้ถึง 73 หน้าอีกด้วย

รูปปั้นพระมหาสิริมังคลาจารย์ ณ วิหารเปื๋อยวัดสวนดอก ในฐานะอดีตเจ้าอาวาสวัดสำคัญนี้ลำดับที่ 15 ทำให้บริเวณแถววัดสวนดอกมีถนนเส้นหนึ่งชื่อ “สิริมังคลาจารย์”

ทีมเชียงใหม่นัดหารือเตรียมงาน

วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ศกนี้ (เมื่อท่านได้อ่านบทความก็คงเลยวันเวลามาแล้ว) ดิฉันจึงได้นิมนต์พระเถรานุเถระบางรูป และนักวิชาการบางท่านร่วมหารือ เตรียมจัดกิจกรรมดังกล่าว ณ ห้องประชุมของหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ (ข้างโรงเรียนวัฒโนพายัพ)

กอปรด้วย พระครูอดุลสีลกิตติ์ ปราชญ์ใหญ่แห่งวัดธาตุคำ พระปลัดจรินทร์ ธมฺมวโร พระนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งวัดศรีดอนไชย ช้างคลาน (น่าเสียดายที่ พระครูธีรสุตพจน์, ดร. หรือพระมหาสง่า แห่งวัดผาลาดติดภารกิจ) กับเจ้าอาวาสวัดตำหนักสวนขวัญ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดที่อดีตเป็นที่จำพรรษาของพระมหาสิริมังคลาจารย์

ฝ่ายฆราวาสมี อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ อาจารย์แสวง มาละแซม ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ เชียงใหม่ และมีอาคันตุกะจากแดนไกลคือ ดร.อุ่น หทัยรัตน์ (รศ. Ruiying Rao) จากมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน 12 ปันนา จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมหารือด้วย

เท่าที่ดิฉันวางตุ๊กตาไว้ ตั้งใจจะแบ่งกิจกรรมออกเป็นสามภาค

ภาคแรกช่วงเช้า เป็นการเปิดประเด็นชีวิตและผลงานของพระมหาสิริมังคลาจารย์ โดยวิทยากรฝ่ายเชียงใหม่ทั้งบรรพชิตและฆราวาส

ภาคบ่าย (ตอนต้น) เจาะลึกเรื่องวรรณกรรมทางพุทธศาสนาชิ้นสำคัญ “มังคลัตถทีปนี” โดยทีมคณาจารย์จาก สำนักตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

และภาคสุดท้าย บ่ายแก่ๆ เปลี่ยนบรรยากาศพานั่งรถรางทัศนศึกษาลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับพระมหาสิริมังคลาจารย์ อาทิ กราบรูปปั้นของท่านที่วัดสวนดอก กราบอนุสาวรีย์ที่พุทธสถานเชียงใหม่

แน่นอนไฮไลต์สุดท้ายคือการเยี่ยมชม “วัดตำหนักสวนขวัญ” วัดนอกสายตา ซึ่งไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของเชียงใหม่ แต่ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยล้านนา

ซ้ำยังเป็นวัดที่พระมหาสิริมังคลาจารย์ประทับจำพรรษา ใช้รจนาคัมภีร์บาลีปกรณ์ชิ้นสำคัญหลายชิ้น

อนุสาวรีย์ พระมหสิริมังคลาจารย์ ณ พุทธสถานเชียงใหม่ ถือเป็นพระภิกษุล้านนาที่ชาวเชียงใหม่เคารพอย่างสูงสุดรูปหนึ่ง

จากเวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี ถึงมังคลัตถทีปนี

ขอนำเสนอเรื่องราวชีวิตและผลงานของ “พระมหาสิริมังคลาจารย์” ไว้พอสังเขป (เอาไว้รอวันประชุมสัมมนาจริงจักได้ลงรายละเอียดแบบเจาะลึกกันต่อไป)

ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์ล้านนาสามพระองค์หลักๆ คือ พระญายอดเชียงราย พระเมืองแก้ว และพระเมืองเกษเกล้า (ราว พ.ศ.2030-2080) หรืออาจจะชาตะในสมัยพระเจ้าติโลกราชมาก่อนด้วยซ้ำ

ท่านเป็นพระภิกษุชาวล้านนาที่มีความเชี่ยวชาญงานเขียนแนว “ทีปนีระดับอรรถกถาจารย์” งานชิ้นแรกที่พวกเราจัดสดุดีเชิดชูเกียรติไปแล้วเมื่อ 7 ปีก่อนในงานประชุมสัมมนาทางวิชาการ “ไทศึกษาครั้งที่ 13” คือ “เวสสันตรทีปนี” เรื่องนี้แต่งในปีฉลู จุลศักราช 879 (พ.ศ.2060) ตรงกับรัชสมัยของพระเมืองแก้ว

ถือเป็นงานทีปนีล้านนาเล่มแรกของท่าน ลักษณะงานเหมือนทีปนีลังกาทุกประการ เพราะท่านเคยไปศึกษาที่ลังกา ท้ายเรื่องมีการระบุแหล่งนิคามที่ท่านอาศัยในลังกาว่า “กุรุคาเม” พร้อมชื่อพระอาจารย์ของท่านว่า “พุทธวีระ”

หลังจากรจนาเวสสันตรทีปนีได้ 3 ปี พระมหาสิริมังคลาจารย์ได้แต่ง “จักกวาฬทีปนี” ขึ้นใน พ.ศ.2063 พบว่าท่านเริ่มมีความเชี่ยวชาญหรืออาวุโสแก่กล้าขึ้น สามารถสร้างโครงเรื่องเอง เพราะไม่มีต้นแบบของพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาชิ้นไหนที่ชื่อว่า จักวาฬสุต (สูตร) สำหรับเป็นแนวทาง

ส่วน “มังคลัตถทีปนี” ที่เรากำลังจะจัดเชิดชูเกียรติในวาระ 500 ปีนั้น ดร.บาลี พุทธรักษา กล่าวว่า พระมหาสิริมังคลาจารย์แต่งเรื่องนี้ พ.ศ.2067 เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย ถือเป็นคัมภีร์คู่มือสำหรับนักเทศน์ นักเผยแผ่ศาสนา ใช้กลวิธีในการแต่งหลายชั้นเชิง ลูกเล่นแพรวพราว

มังคลสุตของเดิมไม่มีการสาธกยกตัวอย่าง จุดเด่นของมังคลัตถทีปนีจึงอยู่ที่ พระมหาสิริมังคลาจารย์ได้นำนิทานเรื่องต่างๆ ที่ดึงมาจากอรรถกถา และปกรณ์วิเสสหลายแหล่งมาใช้ประกอบ จึงเกิดอรรถรสอ่านสนุก งานชิ้นนี้กลายเป็น “หลักสูตรพระปริยัติธรรมบาลีแห่งสยามประเทศ” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จวบปัจจุบัน

ภาพเก่าวัดตำหนักสวนขวัญ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ลิขสิทธิ์ภาพจากเฟซบุ๊ก บ้านตำหนัก วัดตำหนักสวนขวัญ-สิริมังคลาจารย์)

พระมหาสิริมังคลาจารย์ 1 ใน 14 บูรพาจารย์ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย

สําหรับดิฉันแล้ว ยังมีอีกมิติหนึ่งที่แตกต่างไปจากนักวิชาการท่านอื่น ยามได้ยินนาม “พระสิริมังคลาจารย์” หรือ “พระมหาสิริมังคลาจารย์” คราใด คนอื่นอาจชื่นชมท่านในฐานะ “กูรูแห่งบาลีปกรณ์” ทว่า ตัวดิฉันกลับประหวัดนึกถึง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ด้วย

เนื่องจากในบันทึกถึง 14 บูรพาจารย์ ผู้เป็นต้นแบบผู้ให้แรงบันดาลใจต่อแนวทางสมณเพศของครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งครูบาอภิชัยขาวปี ศิษย์เอกได้บันทึกไว้นั้น มีนามของพระมหาสิริมังคลาจารย์รวมอยู่ด้วย!

“ที่นี้ อภิชัยขาวปี๋ จักกล่าวสืบวงศา ครูบาเจ้าต๋นเป็นครูล่วงแล้วต่อจากพระญาณคัมภีร์ (1) ภิกษุต่อไป ต่อนั้นมา พระญาณรังษี (2) วัดป่าแดง เชียงใหม่สืบมาบัดนั้น ครูบามหามังคลาจารย์ (3) วัดตำหนักสืบมา…”

น่าสนใจทีเดียวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ความเคารพต่อ “พระมหาสิริมังคลาจารย์” แห่งวัดตำหนักสวนขวัญ อย่างยิ่งยวด (ทั้งๆ ที่มีอายุสมัยต่างกันกว่า 400 ปี) จนถึงกับให้ครูบาอภิชัยขาวปีบันทึกไว้ในทำเนียบพระสุปฏิปันโน (พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ) ผู้ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างสูง

อาจเป็นไปได้ว่าช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดสวนดอกปี 2474-2475 นั้น ท่านได้รับทราบถึงประวัติความอัจฉริยภาพของพระมหาสิริมังคลาจารย์ในฐานะอดีตเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ลำดับที่ 15 ด้วยความชื่นชมบูชา

ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งซึ่งแปลกใหม่ ที่ดิฉันจักได้ค้นคว้าอย่างเจาะลึก พร้อมนำเสนอในเวทีสัมมนาช่วงทัศนศึกษาวัดสวนดอก ผู้สนใจโปรดติดตามรอกำหนดการประชุมสัมมนาทางวิชาการภายใต้ชื่องาน

“500 ปี มังคลัตถทีปนี (2067-2567) วรรณนิพนธ์ชิ้นเอกของพระมหาสิริมังคลาจารย์ ในยุคทองแห่งวรรณคดีบาลีในประเทศไทย” •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ