รัฐบาลดันตลาดหุ้นไทย สู่ ‘Wall Street อาเซียน’ ตลท.รับลูกปั้นฮับการเงินภูมิภาค

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

รัฐบาลดันตลาดหุ้นไทย

สู่ ‘Wall Street อาเซียน’

ตลท.รับลูกปั้นฮับการเงินภูมิภาค

 

ปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเรียกได้ว่า “อาการหนัก” เข้าขั้น “โคม่า” โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี 2566 ปรับตัวลดลงจาก 6.03 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เหลือแค่กว่า 5.11 ล้านล้านบาท หรือลดลง 15.3% ใกล้เคียงกับ SET Index ที่ลดลง 15.2%

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อขายหุ้นรวมกว่า 13.13 ล้านล้านบาท หรือสูงถึง 2.5 เท่าของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งตลอดทั้งปี 2566 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิไปถึง 192,083 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หลังปีใหม่ ปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยก็ยังอาการไม่กระเตื้องขึ้น โดยในเดือนมกราคมยังเกิดการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอย่างหนัก

แต่ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์บรรยากาศเริ่มกระเตื้องขึ้น เริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) กลับเข้ามาลงทุน

ขณะที่รัฐบาลเองก็พยายามปลุกความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างเต็มที่

 

โดยที่ผ่านมา มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงการคลัง เข้าหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนประธานกรรมการและกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยส่งนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้าไปนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ ตลท. คนที่ 18 ต่อจากนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ครบวาระ

รวมถึงตั้งกรรมการใหม่อีก 2 ราย คือ นายคมกฤช เกียรติดุริยกุล และนายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ เข้าไปแทนนางกุลภัทรา สิโรดม และนายอนุชิต อนุชิตานุกูล

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ชุดใหม่ ก็ได้เห็นชอบ “มาตรการยกระดับความเชื่อมั่นเรื่อง Short Selling และ Program Trading” มีการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้น และวางไทม์ไลน์ในการนำมาใช้อย่างชัดเจน

เพราะต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ ประเด็นเรื่อง Short Selling และ Program Trading ถูกนักลงทุนตั้งคำถามค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องร้อนๆ ที่เรียกได้ว่า “สั่นคลอน” เก้าอี้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยทีเดียว

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ ในการแถลง “Thailand vision วิสัยทัศน์ประเทศไทย” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” ของภูมิภาค

 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศว่าจะผลักดันตลาดหุ้นไทย ให้ก้าวไปเป็น “Wall Street” ของอาเซียน โดยได้หารือกับประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายคมกฤช เกียรติดุริยกุล กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อ

1. ติดตามความคืบหน้าของมาตรการกำกับดูแลเรื่อง Short Selling และ Program Trading ให้โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

2. เร่งรัดประเด็น Financial และ Digital Asset Hub และการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เกิดโดยเร็ว

และ 3. มอบนโยบายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานหนัก (Hard Working) และมีความมุ่งมั่น ปรารถนา (Ambition) ให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น Regional Hub ของตลาดทุนในภูมิภาคนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

“ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม และศักยภาพไปสู่จุดมุ่งหมาย เพียงแต่เราต้องพัฒนาให้ประเทศหลุดจากข้อจำกัด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น ‘ตัวเลือกที่ดีที่สุด’ และเป็น Wall Street ของอาเซียน”

นายกรัฐมนตรีระบุ

 

ต่อเรื่องนี้ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงมีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วน คือ

1. จะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยมีผลิตภัณฑ์ต่างประเทศมากขึ้น

2. จะทำอย่างไรให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยเจริญเติบโต

3. เป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยเร็ว

และ 4. ผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเป็น Regional Financial Center ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในแผนงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งใจจะทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว

โดยสิ่งที่อาจจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้นมีอยู่ 2-3 เรื่อง คือ 1. ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานร่วมกับเบเคอร์ แมคเคนซี (Baker McKenzie) ในการออก Carbon Credit Contract ที่สามารถใช้ได้ทั้งโลก และในขั้นต่อไปจะพิจารณาเกี่ยวกับการเซ็ตอัพ Ecosystem ซึ่งน่าสนใจ เพราะการมี Digital Asset และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง จะทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้รวดเร็ว

2. ผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามหาบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยมากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ต่างประเทศที่ให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนเป็นเงินบาทได้

และ 3. Regional Financial Center ส่วนนี้จะมีหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมกันทำงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงทำเองได้ไม่หมด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ดูแลกฎหมายมหาชน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กฎหมายมหาชนแข่งขันได้กับกฎหมายต่างๆ ในสิงคโปร์และฮ่องกง หรือการถือเงินตราต่างประเทศ การโอนเงินต่างประเทศต่างๆ หากจะเป็น Regional Financial Center เรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การจะเอาบุคลากรเข้ามาทำงานได้ในประเทศ มี Long Term Stay หรือวีซ่าที่จะให้คนพวกนี้เข้ามาเหมือนมาอยู่ในสิงคโปร์และฮ่องกง”

นายภากรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังต้องแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างคล่องตัว โดยต้องมีมาตรฐานที่เปรียบเทียบได้ มีการใช้ข้อมูลบัญชีการรายงานต่างๆ สำหรับเป็นมาตรฐานการบัญชี (Accounting Standard) ที่เป็นระดับโลก โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ลงบัญชีเป็นคนไทยเพียงอย่างเดียว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันพิจารณาทั้งหมดว่าจะเดินหน้าแก้ไขอย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็น Regional Financial Center ได้จริง

“เราต้องช่วยกันทำให้เร็วที่สุดและดีที่สุด เพื่อจะได้แข่งกับประเทศอื่นที่เป็น Regional Financial Center อยู่ในปัจจุบันได้ ดังนั้น กฎระเบียบต่างๆ ต้องใช้งานได้ง่าย และต้องเป็น Paperless ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ แต่มีองค์ประกอบอีกหลายส่วนที่จะต้องมาช่วยกันตัดสินใจ เพื่อให้เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการไปสู่ผลสำเร็จ” นายภากรกล่าว

 

ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้มุมมองว่า คำว่า Wall Street อาเซียน ก็เป็นเหมือน Hub ที่นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้โดยผ่านเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะตลาดหุ้นไทยก็มีศักยภาพสูงหลายอย่าง มีความก้าวหน้า ทั้งกระบวนการกำกับดูแล กฎหมาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะรองรับ

“เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่น่าจะมีศักยภาพพร้อมที่สุดในอาเซียนแล้ว เห็นด้วยกับที่นายกฯ กล่าว เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น สิ่งที่เป็นการกำกับ หรือมาตรฐานต่างๆ ที่ยังดูไม่ค่อยดีนัก ก็น่าจะได้เห็นการแก้ไขอย่างรวดเร็วนับจากนี้ และหลังจากนี้น่าจะมีแผนยุทธศาสตร์ออกมา โดยบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่คงจะเดินหน้าเต็มที่ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้และในปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะดีกว่าที่ผ่านมา” นายประกิตกล่าว

สุดท้ายแล้ว แผนขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยสู่การเป็น “Wall Street อาเซียน” จะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป