Love wins? | คำ ผกา

คำ ผกา

มีโควตหนึ่งที่ฉันไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนกล่าวเอาไว้ โควตนั้นบอกว่า

“Any man who is not a socialist at age twenty has no heart. Any man who is still a socialist at age forty has no head”

แปลว่า “ใครก็ตามที่ไม่เป็นนักสังคมนิยมตอนอายุยี่สิบ แสดงว่าเป็นคนที่ไม่มีหัวใจ และใครก็ตามที่ยังเป็นนักสังคมนิยมอยู่ในตอนที่อายุสี่สิบ แสดงว่าเขาคนนั้นเป็นคนที่ไม่มีหัว (สมอง)”

อาจจะเป็นการพูดแบบกึ่งประชดประชันเสียดสี แต่นั่นเป็นสิ่งที่หลายๆ คนพูดว่าคนเรายิ่งแก่ตัวลงจะยิ่งเป็นอนุรักษนิยม

และนั่นเป็นสิ่งที่ฉันนำมาสะท้อนกับความเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่า

“หรือเราจะเป็นแบบนั้น?”

 

เหตุการณ์ที่ทำให้ฉันคิดว่าตัวเองต้องเป็นคนหัวโบราณแน่ๆ คือ ดราม่าว่าด้วยชื่อที่ปรากฏในสลิปเงินโอนของธนาคารว่า คำนำหน้านามของคนหนึ่งเป็น “คุณ” ทำไมคำนำหน้านามของอีกคนเป็น “นาย” โดยที่ในการถกเถียงนั้นมีคนใช้คำว่า “เหลื่อมล้ำ” และ “เลือกปฏิบัติ”

เรื่องนี้ทำให้ฉันขมวดคิ้ว เพราะแรกสุดเข้าใจว่าเป็น “มีม” หยอกล้อ และเย้ยหยันคนจำพวกที่ในปัจจุบันเราเรียกว่า woke หรือผู้ตื่นรู้ (อย่างเกินกว่าเหตุ) ทั้งหลาย

แต่ปรากฏว่าไม่ใช่มีม เป็นเรื่องที่คนเอาตีความกันเป็นตุเป็นตะว่านี่คือการเลือกปฏิบัติจริงๆ

ในขณะที่ฉันคิดว่าคำนำหน้าชื่อของเราในหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ควรตอบสนองเรื่องความปลอดภัยในเรื่องข้อมูลมากกว่าสะท้อนอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็น choices หรือทางเลือกของเรา

และถึงที่สุด การเปิดบัญชีธนาคารใดๆ ต้องใช้บัตรประชาชน หรือพาสปอร์ตเป็นตัวแบ๊กอัพสำหรับการยืนยันตัวตน

ดังนั้น ในเมื่อกฎหมายประเทศไทยยังมีการใช้คำนำหน้านามตามเพศกำเนิด ไม่ว่าในหน้าสมุดบัญชีธนาคาร เราจะใช้คำนำหน้านามว่า คุณ, ดร., ศาสตราจารย์, ทันตแพทย์, นายแพทย์, แพทย์หญิง มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตของเราระบุคำนำหน้าเราตามเพศกำเนิดอยู่ดี

เพราะฉะนั้น การแห่กันไปที่ธนาคารเพื่อจะบอกว่า “ชั้นก็กะเทยเหมือนกัน ทำไมฉันจะใช้คำนำหน้านามว่า ‘คุณ’ ให้เหมือน ‘ปอย ตรีชฎา’ ไม่ได้”

อาจเป็นคำถามที่ถามได้ เท่าๆ กับที่ธนาคารมีสิทธิจะให้ทำหรือไม่ให้ทำตามกฎของธนาคาร

และหากเราคิดว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติ ปอย ตรีชฎา ได้สิ่งนี้เพราะสวย เพราะรวย หรืออะไรก็แล้วแต่ หากไม่พอใจ เราก็สามารถตอบโต้ด้วยการปิดบัญชี แล้วไปเปิดบัญชีที่ธนาคารที่ยอมให้ใช้คำนำหน้านามที่เป็น “กลาง” และไม่ระบุเพศ เช่น ใช้คำว่า “คุณ”

และสำหรับฉันการนิยมคำว่า “เลือกปฏิบัติ” ไม่ได้ดูที่คำนำหน้านาม แต่ดูว่า เมื่อสองคนนี้ขอรับการบริการจากธนาคาร คนที่เป็น “นาย” ถูกปฏิเสธการให้บริการหรือไม่? หรือปฏิเสธให้บริการแก่คนที่เป็นกะเทยหรือไม่?

ถ้าคำตอบคือ ไม่ว่าจะเป็นนาย, นาง, นางสาว, นาย ที่เป็นกะเทยแปลงเพศ ไปธนาคารแล้วได้รับการบริการอย่างดี หรือไม่ดี เท่าๆ กับคนอื่น

ฉันไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นการ “เลือกปฏิบัติ”

 

อย่างกับความพยายามจะผลักดันกฎหมายอัตลักษณ์ ที่หมายความว่าแต่นี้ต่อไปคนข้ามเพศที่ได้รับการแปลงเพศเรียบร้อยแล้วควรสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศใหม่ที่ตนเองไป “แปลง” มาแล้ว

ฟังดูเผินๆ ไม่มีอะไรเสียหาย และควรจะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญนี้ไปเกี่ยวข้องกับฐานรากที่มาของการมีอยู่ของกฎหมายที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ฐานหลัก” ของสังคม

นั่นคือนิยามของคำว่า “ครอบครัว” ตามที่กฎหมายรับรอง และเราต้องไม่ลืมว่า รูปแบบของครอบครัวและความสัมพันธ์ของความเป็นครอบครัว ผัว-เมีย ลูก หลาน ผู้สืบสกุล ผู้ปกครองตามกฎหมาย

การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การรับมรดก ความผิดฐานมีชู้ สวัสดิการตามกฎหมาย สิทธิประโยชน์ของคู่สมรสและบุตร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการวางความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีอยู่ตามกฎหมายอันแยกไม่ออกจากความหมายของคำว่า “ครอบครัว” ที่กฎหมายกำหนดนิยามเอาไว้

ซับซ้อนไปกว่านั้น การก่อรูปของรัฐชาติสมัยใหม่ ยังประกอบด้วย ประชากร (population) ดินแดน (Territory) รัฐบาล (Government) และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty)

มาดูที่องค์ประกอบของประชากรในบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่ (ที่เราเคยชินจนไม่รู้สึกว่ามันแปลกหรือสำคัญ) คือการระบุเชื้อชาติ และสัญชาติ และสิ่งที่กำหนดว่าใครเป็นประชากรของประเทศไทย ไม่ใช่ “เชื้อชาติ” แต่เป็น “สัญชาติ”

เชื้อชาติ ต่างจาก สัญชาติ อย่างไร?

เชื้อชาติได้มาโดยกำเนิด สายเลือด ดีเอ็นเอ หรือถิ่นกำเนิด เช่น เกิดที่ประเทศไทย มีพ่อ-แม่เป็นคนไทย (?) ต่อมาย้ายไปอยู่อเมริกา ได้กรีนการ์ด โอนสัญชาติเป็นสัญชาติอเมริกัน หรือสมัยนี้ที่หากเรามีเงินลงทุนในประเทศหนึ่งๆ สมมุติประเทศอังกฤษ หนึ่งพันล้านบาท (สมมุติ) เราก็สามารถขอสัญชาติอังกฤษได้

เพราะฉะนั้น “สัญชาติ” จึงสามารถเป็นสิ่งที่ได้มาภายหลังโดยกระบวนการของราชการ ไม่ใช่ได้มาโดยกำเนิด

 

เมื่อมีการระบุเชื้อชาติ สัญชาติ มีการทำพาสปอร์ต หนังสือเดินทาง (อันเนื่องมาจากองค์ประกอบว่าด้วยอำนาจอธิปไตยและดินแดน ทำให้ผู้คนต้องมีหนังสืออนุญาตเดินทางข้ามแดน ข้ามประเทศ) มีการเสียภาษีก็ต้องทำบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี มีทะเบียนบ้าน

เมื่อมีทะเบียนบ้านก็ต้องมีการระบุว่าในบ้านนั้นๆ มีใครอยู่กับใคร และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

การลงทะเบียน “ตัวบุคคล” เหล่านี้สัมพันธ์กับการทำสำมะโนประชากร รายได้ และรายจ่ายของรัฐ สิทธิ และหน้าที่ของประชากรที่มีต่อรัฐนั้น

ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐชาติสมัยใหม่ต้องเข้ามา “จัดระเบียบ” ประชากรของตัวเอง

เช่น การระบุว่า คนคนนี้มีสัญชาติไทยเพราะพ่อและแม่เป็นคนไทย จึงได้สัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ เลขบัตรประชาชนจะขึ้นต้นด้วยเลข 8 หมายถึงคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการก่อรูปของรัฐชาติสมัยใหม่ด้วยหลายปัจจัย ทำให้การก่อรูปนั้นเลือกรูปแบบของครอบครัวที่เป็น Heterosexual และเป็นผัวเดียวเมียเดียว เหตุผลของการเป็น Heterosexual ก็เพราะว่า รัฐชาติในยุคนั้นมองว่าหน้าที่ของครอบครัวคือการผลิตพลเมืองให้กับประเทศชาติ ประเทศที่มีประชากรน้อย ย่อมอ่อนแอและแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ (เหมือนที่เรามีปัญหาอัตราการเกิดต่ำอยู่ตอนนี้)

ส่วนความเป็นผัวเดียวเมียเดียว นั้นคาบเกี่ยวกับทั้งเรื่องที่ยกเอาความเป็นสมัยใหม่ที่เหนือกว่าความ “ป่าเถื่อน” อันแสดงผ่านฮาเร็มของเจ้าครองนครรัฐ หรือชนเผ่าพื้นเมืองที่ล้าหลัง ทั้งสัมพันธ์กับแนวคิดทุนนิยม การครอบครองสินทรัพย์ส่วนบุคคล การกำหนดให้ครอบครัวเป็นภาพจำลองหรือเป็นหน่วยย่อยของประเทศ อย่างที่พูดกันว่า สถาบันครอบครัวคือฐานรากที่สำคัญที่สุดและกำหนดอนาคตของประเทศชาติได้

 

ฉันบรรยายมายาวเหยียดเพื่อให้เข้าใจว่า เพราะเหตุดังนั้นกฎหมายที่ก่อร่างกันขึ้นมาเป็นประเทศในโลกสมัยใหม่เกือบทุกประเทศตั้งอยู่บนฐานคิดของการมองมนุษย์เป็นสองเพศตามชีววิทยา (sex) และมีการสร้างเพศทางสังคม (gender) ขึ้นมา

นั่นคือการกำหนดว่า ผู้หญิงควรเป็นอย่างไร ผู้ชายควรเป็นอย่างไร

เช่น ผู้หญิงอ่อนโยน ผู้ชายเข้มแข็ง ไม่เพียงเท่านั้น กลไกการบริหารรัฐกิจที่เรียกร้องให้มีการลงทะเบียนประชากรและพิสูจน์ “ตัวตน” ของประชากรผ่าน บัตรประชาชน พาสปอร์ต ทะเบียนบ้าน เพื่อพิสูจน์สิทธิต่างๆ เช่น ทรัพย์สิน มรดก หนี้สิน ผู้สืบสันดาน สัญชาติ เชื้อชาติ ฯลฯ ล้วนอิงอยู่กับสิ่งที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายครอบครัวที่ตั้งค่าเอาไว้เป็นหญิง-ชาย และผัวเดียวเมียเดียว กับสถาบันครอบครัวในอุดมคติตามที่รัฐกำหนด

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีการจดทะเบียนสมรส มีการจดทะเบียนหย่า มีการกำหนดอายุผู้เยาว์ การกำหนดลักษณะผู้สืบสันดาน การพิสูจน์สัญชาติ และการกำหนดคำนำหน้านาม และท้ายที่สุดสิ่งนี้ถูกสถาปนากลายเป็นความจริงและเป็นความถูกต้อง และนั่นทำให้เพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายและหญิง อีกทั้งรูปแบบครอบครัวที่ไม่ใช่ผัวเดียวเมียเดียวกลายเป็นความผิดปกติ เกย์ กะเทย กลายเป็นความวิปริตผิดเพศ

เพราะฉะนั้น การที่เรามีขบวนการเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ สมรสเท่าเทียม ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงยกเลิกคำนำหน้านาม มันไม่ใช่แค่เรื่อง woke เก๋ๆ

ไม่ใช่เรื่องเมโลดราม่า “ชีวิตฉันฉันกำหนด” หรือพูดเรื่องการกดทับกันอย่างพร่ำเพรื่อ

อีกทั้งไม่ใช่แค่ love wins

หากเราไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการ “ตั้งค่า” ความเป็นพลเมืองที่แยกไม่ออกจากการก่อรูปของรัฐสมัยใหม่ที่เรา “ใช้บริการ” หลายอย่างจากมันทั้งในแง่ของสิทธิ การคุ้มครอง หน้าที่ ภาษี สำนึกแบบ collective ในฐานะเพื่อนร่วมชาติเวลามีสงครามหรือแข่งกีฬา

เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย “อารมณ์” หรือด้วย “ความขมขื่น” ของ “ตัวฉัน” ที่โลกทั้งใบไม่เข้าใจ ในเวลาที่คนอื่นบอกว่า ยังติดขัดเรื่องที่กฎหมายอีกหลายตัวที่พ่วงอยู่ด้วยกัน การเปลี่ยนคำนำหน้า ไม่ใช่แค่ลบออก เขียนใหม่ ไม่เห็นยาก ไม่ใช่แค่นั้น เพราะ “รัฐ” ไม่ได้จดจำและ “บันทึก” เราไว้ในฐานะนั้น

และการที่ยังทำไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเขาดูถูกหรือไม่ยอมรับ

แต่มันอาจใช้เวลาในการไปปรับกระบวนกฎหมายทั้งล็อตที่เกี่ยวกับตัวบุคคลอันถูกลงทะเบียนไว้กับรัฐรัฐหนึ่ง ตั้งแต่เรื่องภาษีไปจนถึงสวัสดิการ การคุ้มครองต่างๆ

แต่การอธิบายเรื่องเหล่านี้ย่อมไม่เย้ายวนเท่ากับการชูแคมเปญ love wins จึงไม่มีมูลค่าทางการตลาดนัก