ผลการพูดคุย สันติภาพปาตานี/สันติสุขชายแดนใต้ ล่าสุด ปัญหาและทางออก

รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้

 

ผลการพูดคุย

สันติภาพปาตานี/สันติสุขชายแดนใต้ ล่าสุด

ปัญหาและทางออก

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

หลังจากมีการแจ้งผลการพูดคุยสันติภาพปาตานี/สันติสุขชายแดนใต้เต็มคณะ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ปรากฏว่ามีการออกมาคัดค้านเสียงดังผ่านสื่อส่วนกลางในเอกสารร่างสุดท้ายตามแผนที่สื่อมวลชนเรียกสั้นๆ ว่า JCPP หรือชื่อทางวิชาการคือ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติภาพ/สันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan Towards Peace – JCPP)

ซึ่งอาจส่งผลต่อการพูดคุย “อาจจะไปต่อยาก หรือเปราะบาง”

หน่วยความมั่นคงไทยได้เผยแพร่การประชุมครั้งนี้ว่า

เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุข และ BRN (ฝ่ายเห็นต่าง) โดยมีนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุย และอุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าผู้แทน BRN ได้มีการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการครั้งที่ 7 โดยการดำเนินการของศาสตราจารย์ พล.อ.ตันชรี ดาโต๊ะ สรี ชุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย และมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมสังเกตการณ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยในภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่น โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อให้เอกสาร JCPP เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติสุขเพื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการต่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan Towards Peace – JCPP) ซึ่งจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการในโอกาสแรกต่อไป

ทั้งนี้ฝ่ายคณะพูดคุยฯ ยังได้แจ้งว่ามีความพร้อมในการดำเนินมาตรการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการสร้างสันติสุข โดยจะมีการหารือมาตรการดังกล่าวร่วมกันในรายละเอียด โดยคณะทำงานเทคนิคของทั้งสองฝ่ายในห้วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2567

ทั้งนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำว่ากระบวนการพูดคุยควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการฯ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคได้ของไทยต่อไป

 

ในขณะที่สื่อท้องถิ่นอย่าง Wartani ซึ่งได้เดินทางไปทำข่าวได้อธิบายรายละเอียดของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพ/สันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ว่า

แผนนี้มี 3 หลักการใหญ่ คือ

1. การลดความรุนแรง

2. การปรึกษาหารือกับสาธารณะ

3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง

จากเอกสารร่างสุดท้ายตามแผน JCPP มีรายละเอียดสิ่งที่คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันใน 3 หลักการ

 

โดยสรุปคือ

1.การลดความรุนแรง และการยุติความเป็นปรปักษ์เพื่อเป็นหลักประกันความมุ่งมั่น และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างสันติ และความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ และยังทำให้การดำเนินการปรึกษาหารือสาธารณะเป็นไปอย่างปลอดภัย และส่งเสริมความน่าเชื่อถือของกระบวนการสร้างสันติภาพ และยังทำให้ได้ความไว้วางใจจากสาธารณชน

โดยมีกิจกรรมที่ฝ่ายไทยนำเสนอ เช่น การลดการปิดล้อมจับกุมในหมู่บ้านและพื้นที่อยู่อาศัย ยกเว้นการตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยหรือมีเหตุการณ์ความปลอดภัยร้ายแรงเฉพาะหน้า

ละเว้นจากการเก็บตัวอย่าง DNA แบบสุ่มหรือไม่เลือกปฏิบัติ

ลดกิจกรรมลาดตระเวนของกำลังทหารในเขตหมู่บ้านและสถานที่สาธารณะ

ลดจุดตรวจทหารทุกจุดบนถนนสายหลัก รื้อป้ายประกาศจับในที่สาธารณะ เพิกถอนพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมในบางเขต หากสถานการณ์ลดลง

ส่วนรูปแบบการลดความรุนแรงโดยบีอาร์เอ็นที่คาดว่าจะถูกนำเสนอระหว่างการประชุมร่วมของเจ้าหน้าที่ระดับเทคนิค เช่น การระงับปฏิบัติการเชิงรุกทั้งหมด

การระงับการขนส่งวัตถุระเบิดและอาวุธทุกชนิด

การงดเว้นจากการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

ระงับการดำเนินกิจกรรมที่ยั่วยุ สร้างความเกลียดชังและความรุนแรง ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษาและพื้นที่สาธารณะ

ระงับการโอนวัตถุระเบิด อาวุธ อุปกรณ์ และกระสุนทั้งหมด เป็นต้น

โดยทั้งสองส่วนจะมีกลไกติดตามว่าได้ทำตามที่ตกลงร่วมกันหรือไม่ โดยจะมีการตั้งทีมติดตามผลภาคสนาม ที่มีสมาชิก 14 คน ซึ่งจะไม่จำกัดว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่จะต้องรักษาความลับ ในกรณีการระงับข้อพิพาท และมีกรอบเวลาดำเนินการร่วมกันอย่างน้อย 3 เดือน

โดยจะทำหน้าที่เพื่อทบทวนและประเมินการลดความรุนแรง และการรายงานผลการตรวจสอบและการสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับกลไกการติดตาม จะต้องได้รับการตรวจสอบร่วมกัน

 

2.การแสวงหาทางออกทางการเมือง

ตั้งเป้าจะดำเนินการในไตรมาสแรก ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม โดยทางการไทยจะต้องให้การคุ้มครองและหลักประกันที่ปลอดภัยแก่ตัวแทนของบีอาร์เอ็น เพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อให้การปรึกษาหารือสาธารณะเกิดขึ้นในประเทศไทยในลักษณะที่ปลอดภัยและครอบคลุม ให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นสามารถหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตามหลักการของศักดิ์ศรี ความปลอดภัย เสรีภาพในการพูด และเจตจำนงของชุมชนปาตานี ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

ไตรมาสที่สอง ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสามชุด คือ คณะกรรมการด้านการฟื้นฟู คณะกรรมการเพื่อการปกครองแบบกระจายอำนาจและประชาธิปไตย และคณะกรรมการเพื่อเอกลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม และการศึกษาของชุมชนปาตานี

และจะมีการเริ่มต้นเจรจาเรื่องรายชื่อผู้ถูกคุมขัง นักโทษ และบุคคลที่อยู่ภายใต้หมายจับ ที่มีการจัดเตรียมรายชื่อโดยบีอาร์เอ็น และได้รับการยอมรับให้ดำเนินการ ก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการปล่อยตัวผู้ต้องขังต่อไป หรือบุคคลที่อยู่ภายใต้หมายจับ และไตรมาสสาม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป จะมีการขยายเวลาเพิ่มเติม ที่จะมีการตกลงโดยพิจารณาจากความคืบหน้าที่น่าพอใจในการเจรจา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแก้ปัญหาทางการเมือง เช่น รูปแบบการปกครอง การยอมรับอัตลักษณ์ชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและกฎหมาย เศรษฐกิจและการพัฒนา การศึกษา วัฒนธรรม ความปลอดภัยและความมั่นคง การอภิปรายประเด็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่กว้างขวาง ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตของชุมชนปาตานี (ชายแดนใต้)

 

3.การปรึกษาหารือกับประชาชน หรือสาธารณะ

จะต้องเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยและครอบคลุมในการจัดตั้งเวทีและกิจกรรม การให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง ในชุมชนปาตานี (ชายแดนใต้) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยยึดหลักศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และเสรีภาพในการแสดงออก

โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดตั้งเวทีและกิจกรรม ให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องในชุมชนปาตานีได้อย่างปลอดภัยและเปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้าร่วม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคง

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของฟอรั่ม การสัมมนา การอภิปราย เวิร์กช็อป การเสวนา การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มสนทนา แบบสำรวจ หรือแพลตฟอร์มเสมือนจริง จะดำเนินการไปพร้อมกับการลดความรุนแรง

และให้คำมั่นว่า พื้นที่ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จะไม่กลายเป็นพื้นที่สำหรับสร้างการโฆษณาชวนเชื่อ ยุยงให้เกิดความรุนแรง หรือดูหมิ่นกันและกัน

 

ปรากฏว่าร่างข้อตกลงดังกล่าวมีความเห็นต่าง เห็นแย้ง เห็นค้าน จากทั้งอดีตนายทหารใหญ่ดูแลความมั่นคง อดีตรองเลขาธิการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และนักวิชาการ

ซึ่งนายรอมฎอน ปันจอร์ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และอยู่ระหว่างการแปลงข้อตกลงมาสู่แผน JCPP ไม่แปลกที่จะมีเสียงที่เห็นต่าง หรือมีการตั้งแง่สงสัย เพราะกำลังก้าวไปสู่การปฏิบัติ และเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยเจอ ไม่แปลกที่จะเห็นความกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งคิดว่าทุกความเห็นมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเจรจา แต่เรื่องใหญ่คือความเห็นต่างในสังคมไทย เราจะจัดการความแตกต่างแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่นั่งคุยกัน

และว่า นี่เป็นจังหวะที่ดีที่นายกรัฐมนตรีลงไปภาคใต้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

เป็นโอกาสที่จะพูดคุยส่งสัญญาณสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยไม่ใช้กำลัง

และเปิดใจเปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ โดยเฉพาะคู่สนทนากับรัฐบาลไทย