เรื่องเล่านอกสาแหรก ‘พระยาแบน-อภัยวงศ์’ ตอน ‘เสด็จกรัน’ มีวันเศร้า! (จบ)

อภิญญา ตะวันออก
This photo taken on August 5, 2023 shows Thailand’s former prime ministers Yingluck Shinawatra (L) and Thaksin Shinawatra (2nd L), Cambodia’s Prime Minister Hun Sen (2nd R) and his wife Bun Rany (R) posing for a picture during Hun Sen’s birthday in Phnom Penh. (Photo by AFP)

การเล่าเรื่องตระกูลพระยาแบนหรือต้นตระกูลอภัยวงศ์ ตามแนวเขียนของอัญเจียฯ คือมุมมองในแบบเขมรที่อาจไม่เข้าพวกใดๆ โดยเฉพาะกับมุมมองไทยที่ผ่านมา

กอปรกับเมื่อท้องเรื่องเหล่านี้ ถูกนำมาเล่าใหม่ในปี 2024 ที่กัมพูชามีคณะผู้ถือครองประเทศในแบบเจ้านายเขมรยุคใหม่ที่ชื่อ สมเด็จเจ้าเตโชเสน ผู้มาแทนขุนนางเขมร “พระยาแบน” สมัยอดีต

แล้วพระยาแบนนั่น เป็นใครกันเล่า?

เฉลย : เจ้าพระยาแบนฉบับเขมรนี้ คือสมัยที่เสียมช่วยเขมรทำสงครามกับอันนัม (เวียดนาม) ต่อชั่วลูกหลานมาแถบกัมพูชาใต้ และมาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบกัมพูชากลาง/กันดาล แบบเดียวกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโชฮุน เซน จากกำปงจามซึ่งปัจจุบันครอบครองเขตกันดาล

ทว่า สมัยนั้น ขุนศึกเขมรที่ทำศึกกับอันนัมปกป้องบันเตีย/ฐานของตนบางรุ่นบางตระกูล ขณะที่อาณาจักรเขมรกลางยังไม่มีกษัตริย์มาปกครองที่เมืองจตุมุข/พนมเปญใกล้สุดที่เคยมาก็กำโปด หรือไกลโน่นที่พระตะบอง/บัมตัมบอง จนถูกเสียมขอแบ่งไปปกครอง

ก็แล้วทำไม “เสด็จกรัน” (กษัตริย์กร่าง) ที่คนเขมรเรียกขุนศึกเหล่านี้กัน จะเป็น “พระยาแบน” บ้างไม่ได้?

ก็เช่นกัน ตั้งแต่ 1979 เมื่อกองทัพเวียดนามหรืออดีตอันนัม พาฮุน เซน และคณะกลับสร๊กด้วยชัยชนะ ขณะที่ไร้สถาบันกษัตริย์เขมรตอนนั้น ครั้น 1993 เมื่อกัมพูชามีกษัตริย์อีกครั้งอย่างแน่แท้ แต่ธรรมนูญกษัตริย์ฉบับใหม่โดยฝ่ายพลเรือน (และกองทัพ) ที่นำโดยฮุน เซน ก็คุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

แล้วเรื่องราวอดีตแห่งสมัย “เสด็จกรัน” หรือคือยุคของขุนศึกศักดินาพระยาแบนก็กลับมาอีกครั้งในสมัยสมเด็จฮุน เซน แห่งปี 2024 ทว่าคราวนี้ กินเรียบทั้งสร๊ก หาใช่เฉพาะเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณเช่นอดีต

แต่อย่างนั้น ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องกัมปูเจียทั้งหมด

พระยาแบน ในโหมดความจำเขมรเก่า คือเจ้าตระกูลตัวแทนสยามมีศูนย์กลางปกครองอยู่ที่เมืองพระตะบอง เรื่องเล่าพระยาแบนภาคเขมรจึงไม่สู้ให้ความสำคัญกับ “ตระกูลอภัยวงศ์” ที่เป็นเชื้อแถวแบบสยาม

นอกจากเรื่องความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระยาแบนที่ถือตนว่าเป็นเสด็จกรัน ตีตนเสมอกษัตริย์ พระบาทนโรดม (1860-1904) จนเรียกว่าคู่ปรับกันมาก็น่าจะได้

ทำนองเดียวกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยสำหรับนักปกครองพลเรือนที่ถือตนเหนือกว่ากษัตริย์ คือสมเด็จฮุน เซน ซึ่งก็ตรงกับรัชสมัยพระบาทนโรดม สีหนุ พระเจ้าเหลนในพระบาทนโรดมที่ 1

เคยถึงกับทำให้พระบาทนโรดมต้องนั่งรอพระยาแบน ที่เขตโพธิสัตว์ เพื่อฟังข่าวในรัชกาลที่ 4 แห่งสยามว่ามีพระประสงค์ในสิ่งใด?

จะข้ามไปถึงเมืองพระตะบองก็ไม่ได้ เพราะเป็นศัตรูกันแล้ว

ส่วนพระยาแบนก็ทำทียิ่งใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณที่ปกครองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ไม่ต่างจากเสด็จกรันแคว้นหนึ่งกัมพูชาเลยทีเดียว

ทว่า เสด็จกรัน/พระยาแบนเตโชยุคใหม่ในภาคปัจจุบัน อย่างที่ทราบ กินเรียบทั้งที่ราบเขมรใต้ถึงกำโปด และตะวันตกทั้งหมด เรียกว่ากินทั้งสร๊ก สำหรับสมเด็จเตโชเสน

พระยาแบนภาคนี้ มีรุ่นทายาทวงศ์วานเหมือนพระยาอภัยภูเบศร (บรรดาศักดิ์ใหม่ของพระยาแบน) ที่มีทายาทของตน อย่างไรอย่างนั้น

ต่างกันก็ตรงที่สมเด็จอัครเสนาบดีเขมรคนใหม่ไม่ขึ้นกับไทย (หรือสยาม) ปกครองบ้านเมืองของตนในรูปแบบรัฐสภาและพันลึกกันมาเช่นเดียวกัน

ชาวเขมรบางฝ่ายต่อต้าน พระยาแบน/เสด็จกรันยุคใหม่ แต่บางฝ่ายก็ยกย่องสูงสุดเสมือนกษัตริย์เสียอีก เป็นพระยาแบนผู้มาเกิดใหม่ยิ่งใหญ่กว่าอดีต เพราะไม่เพียงแต่ปกครองเอกเทศสำเร็จเท่านั้น แต่ยังสร้างพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แก่วงศ์วานไม่ต่างจากชั้นกษัตริย์ด้วยซ้ำ

ก็ใครว่า อภัยภูเบศรพระยาแบนที่พระตะบองไม่มีธรรมเนียมนี้?

น้อยไปสิ เมื่อฝ่ายเสียมที่บางกอกรู้ไม่เท่าทัน? ทั้งการสร้างวัดประจำตระกูล การทำพิธีวันเกิดของพ่อเมือง เปิดการแสดง 5 วัน 7 วัน ให้ราษฎรร่วมเฉลิมฉลอง เล่นละครบ่อนเบี้ย

ซึ่งการละเล่นแบบนี้แม้แต่เสด็จหรือกษัตริย์ที่พนมเปญก็ยังหาทำได้เท่าเทียมไม่!

นี่ล่ะ เสด็จกรันยุคอดีต!

อย่างอิหลักอิเหลื่อ ยุคชีวิตตกต่ำตระกูลพระยาแบนรุ่นลูกหลาน ตั้งแต่ละทิ้งที่ว่าการเมืองพระตะบองแก่เขมร ข้อเท็จจริงฝรั่งเศสอ้างว่า ได้ชดเชยสินทรัพย์จำนวนหนึ่งแก่พระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) หรือเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ผู้ดำริปลูกสร้างตึกอภัยภูเบศร เมืองปราจีนบุรีปัจจุบัน

เกี่ยวกับชุ่ม อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระยาแบน บิดาคือเยีย (เจ้าพระยาคทาธรฯ) แห่งตระกูลนี้ มีทั้งเสวยทุกข์เสวยสุข ทั้งการสร้างอาณาจักรเมืองพระตะบองเสมือนเป็นเขตคามอาณาจักรที่ตีคู่มากับกัมพูชาและผู้ปกครองก็ไม่ต่างเสด็จกรันนั้น

ครั้งหนึ่ง เมื่อถึงคราวตกต่ำ ทั้งครอบครัววงศ์วานก็ถูกกวาดล้างข้ามฟากจากตะวันตกไปยังตะวันออกในเขตอันนัม/กัมพูชาใต้ และถูกควบคุมจองจำเสมือนเป็นตัวประกัน

แต่ให้บังเอิญว่า เสด็จกรันฮุน เซน/2024 ที่ผ่านมา ได้เดินหน้ากัมพูชาน่าสนใจ

“พระยากรัน” สมัยเตโชเสนระหว่างปี 1979-1999 คือท่วงทำนองของสังคมนิยมแบบเวียดนามร่วม 2 ทศวรรษ ฟังดูเหมือนแปลกแยก แต่เป็นความจริงที่ว่า เมื่อความปึกแผ่นคล้อยผ่านตามมา พลัน การปลูกฝังการปกครองกึ่งขุนศึกออกญาพ่อค้านอมินีแบบอดีตยุคศักดินาก็ถูกนำมาสวมลงบนรัฐสภาที่มีสถาบันกษัตริย์ของบ้านนี้เมืองนี้ อย่างน่าประหลาด

ด้านหนึ่ง ก็มีร่องรอยบางอย่างที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยอินโดจีนโน่น อาทิ ระบบเทศาภิบาลที่แต่งตั้งจากส่วนกลางไปปกครองแต่ละเขต เมื่อสมควรแก่เวลาก็กลับมารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล ซึ่งเคยปรากฏก่อนกัมพูชาได้เอกราชจากฝรั่งเศส

แต่กลับพบว่า ครม.ฮุน มาแนต ยุคนี้กลับหันไปใช้ระบอบเดียวกัน?

นั่นหมายความว่า ครม.ระบอบฮุนเซนได้ผันตัวเอง เหนือชั้นกว่ายุคประมุขแห่งรัฐของระบอบสังคมราษฎร์นิยม/สีหนุ (1955-1970) ซึ่งยึดโยงกับระบอบการปกครองลูกผสมแบบอินโดจีน โดยการสยายขนาดของ “ออกญา” ซึ่งมีทั้งข้าราชการการเมืองและพ่อค้านอมินีราว 1,000 นาย ที่เป็นเหมือนเครือข่ายองคาพยพ

ระบอบฮุนเซนยุคเสด็จกรัน จึงเหนือชั้นกว่าระบอบในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเขมร

ศักยภาพอันเกรียงไกรนี้ ยังถูกสยายไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ด้านขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเพื่อเอื้อต่อชนชั้นขุนนางสมัยใหม่ยุคนี้

โดยมีภริยาเจ้าพระยาเตโชเสน คือ สมเด็จบุน รานีฮุนเซน (70) เป็นศูนย์กลางในการปลูกสร้างพิธีกรรมธรรมเนียม ทั้งพิธีความตาย การเกิด การแต่งงาน ฯลฯ อย่างวิจิตรโอฬารและยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ มาร่วมทศวรรษ

จะเห็นเทียวว่า แห่งตระกูลสมเด็จเจ้าพระยาฮุนเซนได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ในรูปต่างๆ การสร้างวัดวาประจำตระกูล

ตลอดจนทำนุบำรุงพระเถรานุเถระชั้นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายมหานิกายซึ่งถือกันว่า เป็นสมเด็จพระสังฆราชประจำตระกูลฮุน คือสมเด็จเทพวงศ์

ทั้งหมดนี้ เคยสืบรอยสมัยเสด็จกรัน/พระยาแบน ปกครองแคว้นเขมรที่บัตตัมบอง เรียกว่า ตามรอยลอกกันทั้งดุ้นมาแต่อดีต โดยมีภรรยา-สมเด็จบุน รานีฮุนเซน ที่ได้ชื่อว่า มีศักดิ์เทียบเท่ากับกษัตริยาสีโสวัตถิ์ กุสุมา นารีรัตน์ (1960-1970) ผู้ซึ่งครั้งได้รับการขนานนามว่าเป็นองค์สถาปนิกด้านขนบวัฒนธรรมและศิลปะชั้นสูงของกัมพูชาในสมัยสีหนุ

บุน รานี ปลุกสร้างขนบธรรมเนียมใหม่ๆ แก่ชนชั้นนำในระบอบของสามี จนพิธีกรรมตำรับรานีนั้นชั้นสูงอารยะ โดยเฉพาะพิธีกรรมแห่งความตายและการแต่งงานซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว

สมเด็จฮุน เซน : เสด็จกรันแห่งแคมโบเดียซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิต เขาพิชิตมาหมดแล้วทุกวันนี้ แทบไม่มีคู่อริคนใดหลงเหลืออยู่แล้วในปี 2024

แต่เพียงราตรีซึ่งตื่นขึ้นในเดือนมกราคมที่พิธีเฉลิมฉลองอันยาวนานและยิ่งใหญ่ ได้ปลุกให้สมเด็จเจ้าพระยาเตโซฮุน เซน ตื่นขึ้นอีกครั้งอย่างว่างเปล่าเมื่อพบว่า ภรรยาสุดที่รักของตนล้มในห้องน้ำ เธอถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลที่เธอมีส่วนร่วมบริจาคอย่างยิ่งใหญ่ในนามตระกูลของตน

แต่บัดนี้ ขณะที่ศรีภรรยายังนอนหลับใหลไม่ฟื้นสติ สมเด็จฮุน เซน ดูจะปล่อยวางอย่างไม่เคยเห็นเลยเทียวว่า

ในที่สุด “พระยากรัน” ก็เลิก “กร่าง”