แก้ปัญหาชายแดนใต้ เมื่อทักษิณกลับมาแล้ว

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 06.09 น. ขบวนรถของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวชินวัตร เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ขับออกไปทางฝั่งถนนอังรีดูนังต์ เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านพักจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ท่ามกลางแฟนคลับที่ดีใจและให้กำลังใจทั้งออนไลน์และออฟไลน์

อย่างไรก็แล้วแต่ ก็มีมวลชนคนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมากเช่นกันที่ตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย

ไม่ว่าอย่างไรนักวิเคราะห์การเมืองจำนวนมากเห็นสอดคล้องกันว่า หลังจากนี้นายทักษิณคือผู้มีอำนาจตัวจริง เสียงจริง และจะมีผลต่ออนาคตในการกำหนดวิถีการเมือง การแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไทย

รวมทั้งชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน ที่ปัญหาเกิดจากท่าน โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมตากใบแม้จะผ่านมา 20 ปี

ทั้งนี้ ‘นายทักษิณ’ ได้ขอโทษชาวมุสลิมในวาระครบรอบ 18 ปีตากใบ และก็เคยแสดงเจตนารมณ์ และมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาซึ่งสามารถย้อนดูว่า “ทักษิณสัญญาอะไรกับชายแดนภาคใต้ก่อนเลือกตั้งไว้บ้าง”

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือ ‘Tony Woodsome’ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) จัดโดยสื่อใหม่ The Motive

ถือเป็นครั้งแรกที่นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศยุบ ศอ.บต. และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เมื่อปี 2545 จนความขัดแย้งรุนแรงปะทุขึ้นรอบใหม่ จากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ ผู้สร้างวาทกรรม ‘โจรใต้’ จนเป็นที่มาของการออกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน และผู้อยู่เบื้องหลังกดดันฝ่ายขบวนการเห็นต่างจากรัฐให้ขึ้นโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 2556

มาแสดงความเห็นเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

1.การพัฒนาชายแดนใต้ “เสนอเปลี่ยนงบประมาณความมั่นคงมาพัฒนาพื้นที่”

นายทักษิณ ชินวัตร เคยเสนอ “เปลี่ยนงบประมาณความมั่นคงมาพัฒนาพื้นที่” โดยกล่าวว่า

“ผมมั่นใจว่าถ้ายอมรับความจริงกับสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบัน แล้วพยายามหาศักยภาพของการพัฒนาของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะใช้ซอฟต์เพาเวอร์เข้าไป ใช้เทคโนโลยีเข้าไป ใช้การพัฒนาความเจริญโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผมเชื่อว่ามันคุ้มค่ากว่าที่จะใช้เงินสำหรับการทหารเท่านั้น ผมมองว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปี แทบจะไม่ได้ผลอะไรเลยกับงบประมาณที่เสียไป”

“ผมจำได้ว่าเคยไปตรวจในยามนั้น เขตที่อันตรายที่สุด ผู้บังคับกองพันตอนนั้นคือ พ.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ต่อมาคือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก) ผมไปแบบไม่มีใครรู้เรื่อง ไปตรวจแล้วไปขอนอนที่นั่นเลย ยังยืมผ้าปูที่นอนนายอำเภอมา และไปกินไข่ต้มของทหารที่ค่าย”

“ผมมั่นใจว่าถ้ามีการพุดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร เหตุการณ์จะสงบ แล้วจะหาแนวทางการพัฒนาร่วมกันได้ ดูตัวอย่างจาก UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 50 ปี จากทรายทั้งนั้น วันนี้ความเจริญมากมาย เพราะการที่ทุกแคว้นทั้ง 7 แคว้นมีการพูดคุยและสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงทำให้ UAE เจริญมากในวันนี้ กลายเป็นว่าเศรษฐีทั้งหลายมาอยู่ที่ UAE กันเยอะ เพราะ 1.กฎหมายเป็นกฎหมาย 2.ความสงบสุขเขาดีมาก และกติกาทุกอย่างชัดเจน”

หลังจากนี้ก็คงจะติดตามว่า ทักษิณจะสามารถนำคำพูดที่ท่านได้สัญญาไว้ มาทำให้ได้หรือไม่ โดยผ่านบทบาท ศอ.บต.ที่อยู่ในมือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เป็นงานครอบคลุม 5 จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนการพัฒนาชายแดนใต้ ที่เสนอเปลี่ยนงบประมาณความมั่นคงมาพัฒนาพื้นที่นั้น หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยอย่างแน่นอน หลังดีลลับที่ลงตัวระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับกองทัพ อีกทั้งตลอด 20 ปีไฟใต้ที่นี่คือ อุตสาหกรรมความมั่นคง

 

2.”เขตปกครองพิเศษ-ปกครองตนเอง”

นายทักษิณ เคยเสนอ “เขตปกครองพิเศษ-ปกครองตนเอง” โดยกล่าวว่า

“ผมยังเห็นศักยภาพของคนและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมมาเลเซียพัฒนาได้ แต่เราพัฒนาไม่ได้ แสดงว่าต้องมีบางสิ่งผิดปกติ ดังนั้น ยอมรับและกล้าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น เรื่องการปรับเป็นเขตปกครองพิเศษ และให้คนในพื้นที่ได้รับการเลือกตั้งมานั่งทำงานสร้างการมีส่วนร่วม โดยรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยจนกว่าจะลงตัว จากนั้นก็พัฒนาเป็นเขตปกครองตนเองได้ เชื่อว่าตรงนั้น เขาพูดภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกันจะทำให้การพัฒนาไปได้ด้วยดี”

“ผมขอฝากการบ้านและความหวังไว้แค่นี้ว่า ผมมั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ลดเรื่องของความมั่นคงลง เพื่อเรื่องเศรษฐกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการศึกษาที่ดี แล้วผมเชื่อว่าสามจังหวัดภาคใต้จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีอนาคตและมีความสุขกันทุกคน” (อ้างอิงจาก ทักษิณ โยนหิน ‘เขตปกครองพิเศษ’ ก่อน ‘ปกครองตนเอง’ | The Active)

ถ้าฟังนายทักษิณแล้วทำได้จริงก็ดี แต่คิดว่า มันจบแล้ว จบตั้งแต่วันที่ดีล 8 พรรคการเมืองภายใต้การนำของพรคก้าวไกล+เพื่อไทยล้ม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลัง MoU 8 พรรคการเมืองภายใต้การนำของพรคก้าวไกล กับการแก้ปัญหาปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งสื่อทุกสำนักมองไปที่สามพรรคการเมืองคือก้าวไกล+ประชาชาติ+เป็นธรรม ที่ชูธงยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุบ ศอ.บต. พาทหารกลับบ้าน กระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อาจจะแก้ปัญหาได้

รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้ที่พรรคมอบหมายดูแลชายแดนใต้ให้ทัศนะว่า

“การกระจายอำนาจ การปฏิรูปงานความมั่นคง ลดบทบาทของกองทัพและทหารลงในงานการเมือง เป็นทิศทางใหญ่ของพรรคก้าวไกล เราเชื่อว่าถ้าลดบทบาทของกองทัพลง แล้วเพิ่มบทบาทของพลเรือน รัฐสภา ภาคประชาสังคม หรือประชาชนเข้าในกระบวนการสันติภาพ เราอาจจะได้เห็นโฉมหน้าของการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่”

 

3.แก้ปัญหายาเสพติด

ยาเสพติด เป็นภัยต่อสังคมชายแดนใต้ แม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะมีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างหนัก แต่ยาเสพติดยังคงมีอยู่ และต้องยอมรับว่า ยาเสพติดแพร่ระบาดและหาซื้อได้อย่างไม่ยากมากนัก ในแหล่งชุมชน หมู่บ้าน แม้กระทั่งซอกซอย และหาง่ายกว่าร้านสะดวกซื้อเสียอีก

ภัยแทรกซ้อนที่พรางตัวในพิษภัยยาเสพติด ที่รัฐต้องปราบปราบ และจับกุมผู้ค้ายาเสพติดที่เกี่ยวข้องมาลงโทษอย่างจริงจัง ที่เจ้าหน้าที่ต่างรู้ดีว่า หลายคดีเป็นภัยแทรกซ้อน จากผู้มีอิทธิพล ค้ายาเสพติด เครือข่ายทั้งอยู่ภายในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ผสมโรง และท่อน้ำเลี้ยงป่วนไฟใต้ ต่างจากสมัยนายทักษิณ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนชายแดนภาคใต้ก็หวังจากนายทักษิณเช่นกัน โดยนายทักษิณเคยพูดว่า

“ถ้าผมอยู่ ยาเสพติดผมเอาอยู่หมด ลูกหลานชาวบ้านไม่ต้องถูกเป็นเหยื่อเป็นทาสของยาเสพติดอย่างทุกวันนี้ วันนี้ยาเสพติดขายถูกมาก มันปั๊มขายเป็นว่าเล่นเลย ต้นทุนต่ำๆ เม็ด 20 บาท สมัยผมเม็ดนึง 300 กว่า 400 มันขายยากเพราะว่าโดนจับ อันนี้คือเราไม่เอาจริง เราปล่อยให้ยาเสพติดเต็มไปหมด รับรองว่าถ้าผมยังอยู่ แก้ปัญหาได้”

อย่างไรก็แล้วแต่ ก็มีข้อกังวล “ประเด็นฆ่าตัดตอนในสงครามปราบยาเสพติด” โดยเฉพาะกับคนเห็นต่างกับรัฐ จะยิ่งโหมไฟใต้ และกระทบต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่กำลังดำเนินการอยู่

ที่ดีที่สุดก็หวังว่า หน่วยงานของรัฐ สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบ และคนของรัฐไม่ไปค้าหรือยุ่งพัวพันกับการค้ายาเสียเอง และควรให้พลังประชาชนทุกภาคส่วน มีบทบาท เพื่อสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหายาเสพติด

หากคนของรัฐไปค้ายาเสพติด ก็ต้องลงโทษขั้นเด็ดขาด

และหากสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ ภัยแทรกซ้อน ปัญหาความรุนแรง และความไม่สงบที่เกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงกับยาเสพติดนั้น เชื่อได้ว่า จะสามารถคลี่คลาย

และแก้ปัญหา “ไฟใต้” ให้ดับมอดได้ในที่สุด