หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๑๖) | บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์ (ฉบับประจำวันที่ 1-7 มีนาคม 2567 ฉบับที่ 2272)

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ | ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๑๖)

 

มีคนใจดีเอาอาหารจากร้านอาหารชื่อดัง มาให้แฟนของฉัน บ่อยครั้งๆ ละหลายๆ กล่อง เธอดีใจ บอกว่า อาหารพวกนี้ราคาแพง

ฉันบอกว่า เราต้องมองอาหารพวกนี้ตามความเป็นจริง คือมองมันเป็น dynamic ไม่ใช่ static

ฉันหมายความว่า อาหารพวกนี้ ถ้าเอามากินวันแรก สมมุติว่ามูลค่าของมันคือ กล่องละ ๒๐๐ บาท ก็โอเค ด้วยว่ามันเป็นอาหารที่ดี อร่อย

แต่ทว่า หากเรากินมันไม่หมดในวันแรก ซึ่งเป็นวันที่ดีที่สุด เก็บไว้วันถัดไป มูลค่าของมันจะลดลง เช่น เหลือ ๑๐๐ บาท

ก็ยังกินได้อยู่ แต่ความสด ความอร่อยของมันจะลดลง

ฉันจะช่วยกินในวันที่สอง ด้วยความเสียดาย

แต่ฉันรู้สึกว่า มีอาการฝืนใจหน่อยๆ ด้วยรู้สึกว่า คุณค่าของมันลดลงแล้ว

ที่จริงเขาไม่ควรเอาอาหารมาให้เราตั้งมากมาย เกินความจำเป็น เพราะครอบครัวของฉันมีแค่สองคนเท่านั้นเอง ของตั้ง ๖-๗ กล่อง กินไม่หมด

 

แต่หากเก็บไว้ วันที่สาม มูลค่าของมันจะลดลงอีก เหลือกล่องละ ๒๐ บาทเท่านั้นเอง

เพราะครอบครัวของเราไม่ได้ยากจน ฉันจึงเสนอว่า ให้ทิ้งเสีย

ที่จริงมันคงพอกินได้ ไม่เสีย แต่ความอร่อยของมันจะยิ่งลดลงอีก

และนึกไม่ออกว่า ทำไมเราจึงต้องมากินกากอาหารแบบนี้

หากเราเป็นครอบครัวที่ยากจน เราอาจกำหนดเวลาไว้ที่สามวัน เท่ากับยังพอกินได้อยู่

แต่พอมาถึงวันที่สี่ มูลค่าของมันจะติดลบ กลายเป็นติดลบ ๑๐๐ บาท

เพราะโอกาสเสียของมันสูงขึ้นมาก และนึกไม่ออกว่าทำไมเราจึงควรจะเสี่ยงกับการท้องเสีย หรืออาจมีพิษมากกว่านั้น อาจมีแบคทีเรีย

แต่หากรอจนวันที่ห้า มูลค่าของมันจะติดลบ ๕๐๐ บาท

เพราะมันมีโอกาสสูงมาก ที่จะเสีย

และหากกินเข้าไป มีโอกาสสูงที่จะป่วยไข้ ซึ่งต้องเจ็บป่วย ต้องหายามาทาน อาจต้องเข้าโรงพยาบาล ฉันจึงบอกว่า มูลค่าของมัน ติดลบ ๕๐๐ บาท

 

วิธีคิดของฉัน ก็เรียบง่าย สมเหตุสมผล ในห้างเราจะเห็นอาหารที่ใกล้หมดอายุ วางขายแบบลดราคา แฟนของฉันชอบไปซื้อ เธออาจคิดว่าได้กำไร แต่ที่จริง มูลค่าของมันได้ลดลงแล้ว การซื้อของกินพวกนี้ ในเวลาใกล้หมดอายุ ก็ไม่ได้กำไรอะไรเลย

และหากเผลอ ไม่รีบกิน ปล่อยค้างสักหนึ่งคืน

เธออาจขาดทุนก็ได้ เพราะมูลค่าของมันจะลดลงเหลือ ๒๐ บาทเท่านั้น

บ่อยครั้งที่มันเสียเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องรีบทิ้ง

เท่ากับไปซื้อของลดราคา แต่ยิ่งขาดทุน

แต่น่าประหลาด แฟนของฉันก็ยังคุ้นเคยกับความคิด static ไม่ยอมปรับตัว

เหมือนเธอโดนล้างสมองมา จับตัวแน่นหนา เป็นชั้นๆ

การจะล้างสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไป ยากมาก

ไม่รู้เธอไปฝังใจมาจากไหน

อาจเป็นในชั้นเรียน สมัยเด็กๆ หรือจากโฆษณาในทีวี หรือจากอินเตอร์เน็ต ฉันไม่รู้เลย แต่มันฝังตัวแน่นหนา

ฉันบอกว่า ทางออกคือ ให้ไปบอกคนใจดีคนนั้น ที่ชอบเอาของมาให้เราเยอะๆ บอกตามตรงว่า อย่าเอามาเยอะ เพราะเราไม่ต้องการ

หรือไม่ก็ต้องมีระบบ รีบเอาไปให้คนอื่นทันทีในวันแรก

เช่น แบ่งให้คนอื่น หรือเอาไปบ้านแม่ หรือบ้านน้อง ใครก็ได้มาแบ่งกันกิน

ถ้ามีระบบจัดสรรแบบนี้ ก็ยังพอได้อยู่

จะได้ไม่ต้องไปบอกเขา ให้เขาเสียใจ หรือกระดาก

 

ยกตัวอย่าง มีคนเอาซาลาเปามาให้กล่องหนึ่ง ในนั้นมี ๑๒ ลูก

ฉันบอกว่า เราควรเก็บไว้แค่ ๔ ลูกเท่านั้นเอง ที่เหลือเอาไปให้คนอื่น

หากแฟนของฉันชอบกินซาลาเปามาก ก็อาจเก็บไว้ ๖ ลูก เกินกว่านั้น เรากินไม่ได้แน่

แต่บางครั้งเธออาจยุ่ง วุ่นวาย ติดธุระ เธอไม่กินเลย

ปล่อยให้ฉันกินคนเดียว

ฉันกินได้อย่างมาก ๒-๓ ลูกเท่านั้นเอง

และยิ่งกินก็ยิ่งไม่อร่อย

หากฉันทิ้งไป เธอก็จะโกรธฉันอีก บอกเสียดาย

แต่นั่นเพราะเธอมองสิ่งต่างๆ อย่างไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

ไม่เป็น dynamic หากแต่เป็น static

จักรวาลของเรา เป็นอย่างนี้

เรามองมันเป็น static ด้วยความเคยชิน ด้วยความหลง เราลืมความเป็นจริงพื้นฐานที่สุด ว่าสรรพสิ่งทั้งปวง เป็น dynamic ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งเลย

 

แม้แต่ไอน์สไตน์ ในปี 1915 ที่เขาคิดทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เขาก็ยังเชื่อว่าจักรวาลนี้หยุดนิ่ง ด้วยการคิดธาตุชนิดหนึ่งขึ้นมาเฉยๆ ทำหน้าที่เป็น antigravity และธาตุตัวนี้มีค่าคงที่

มันทำให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เป็นไปได้

และจักรวาลนี้หยุดนิ่ง

มองย้อนกลับ

นี้คือความโง่เขลาระดับสุดยอดของ ยอดอัจฉริยะ

ที่โชคดี ที่เขายอมรับความผิดพลาดนี้ด้วยตัวเอง

ในปี 1929

ไอน์สไตน์เป็นยอดอัจฉริยะ ที่ล้ำหน้าคนร่วมสมัย แต่เขาเป็นคนธรรมดามาก

ทั้งนี้ เพราะคอนเซ็ปต์ของมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๐

การเป็นศาสดา ที่เหนือมนุษย์ ล้าสมัยเสียแล้ว

เขาจึงไม่มีอาการดังกล่าว เรียกว่า พญามาร ได้หมดฤทธิ์แล้ว

แต่มองย้อนกลับ พญามาร ในสมัยพุทธกาล ยังมีบทบาทมาก มีฤทธิ์เดช

มันเข้าครอบงำจิตใจของพระสมณโคดม

แม้ในขณะที่เราคิดว่า พญามารพ่ายแพ้แล้ว

แต่ที่จริง มันชนะ

การที่พระสมณโคดมประกาศตัวว่า ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา

นั่นคือชัยชนะของพญามาร