การทิ้งระเบิดพระนคร ในยามค่ำคืนของฝ่ายสัมพันธมิตร

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การทิ้งระเบิดพระนคร

ในยามค่ำคืนของฝ่ายสัมพันธมิตร

 

ช่วงปลายสงครามนับตั้งแต่ปลายปี 2486 เป็นต้นมา ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งฝูงบินทิ้งระเบิดโจมตีพื้นที่ยุทธศาสตร์ในพระนครและต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องได้สร้างความเสียหายให้กับจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น สถานีรถไฟเชียงใหม่ สถานีรถไฟลำปาง สถานีรถไฟหัวลำโพง โรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ แถบไปรษณีย์กลาง และสถานทูตญี่ปุ่น เป็นต้น (โยชิกาวา โทชิฮารุ, 33-34)

ชาวพระนครคนหนึ่งบันทึกการโจมตีทางอากาศครั้งนั้นไว้ว่า “เสียงหวอดังกังวานขึ้นราวกับเสียงปีศาจผีเปรต มันโหยหวนเข้าไปในกระดูกสันหลัง ได้ยินเสียงครางหึ่งอยู่บนท้องฟ้า แหงนขึ้นไปดูก็ตกใจแทบลมจับ ป้อมบิน บี 29 มันเรียงแถวหน้ากระดานกันมาสัก 10 แถว แถวละ 10 ลำ ทันใดนั้น ข้าพเจ้าเห็นทางขาวๆ พุ่งเป็นเส้นลงมาพร้อมกับเสียงระเบิดกัมปนาทสนั่นหวั่นไหว แผ่นดินสะเทือน มีเปลวไฟพลุ่งโขมงอยู่เบื้องหน้า ปรากฏว่า มันเล่นตลาดเทเวศร์หายไปแถบหมดเกลี้ยง พอบินไปถึงย่านสถานีรถไฟบางซื่อ ก็ปูพรมรางสับเปลี่ยนและคลังสินค้าหายไปหมด คนตายนับไม่ถ้วนเพราะหนีไม่ทัน” (ประเก็บ, 253-254)

ใบปลิวจากฝ่ายสัมพันธมิตรต่อชาวไทยในช่วงปลายสงคราม

การทิ้งระเบิดในยามกลางคืนของสัมพันธมิตร

ยิ่งภายหลัง 2487 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.ลาออกด้วยเหตุสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ. ให้รัฐบาลอันเป็นช่วงใกล้เคียงกับโตโจ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นลาออก กองทัพอากาศอเมริกันยิ่งทิ้งระเบิดจุดยุทธศาสตร์สำคัญในประเทศไทยอย่างดุเดือดหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีก เครื่องบิน บี 29 ใช้วิธีเรียงแถวหน้ากระดาน ทิ้งระเบิดปูพรมอย่างน่ากลัวอย่างที่สุดทั้งกลางวันและกลางคืน

สำหรับการโจมตีพระนครในเวลากลางคืนในช่วงปี 2487 นั้น เครื่องบินมักจะทิ้งแฟลร์ (flare) หรือพลุเพลิงลงมาก่อน มันจะค่อยๆ ตกลงสู่พื้นอย่างช้าๆ เพื่อส่องแสงสว่างให้ครอบคลุมพื้นที่ด้านล่าง เอื้อให้นักบินมองลงมาจากเครื่องบินเห็นภูมิประเทศ ตึกรามบ้านช่องให้ชัดเจนเพื่อทำการทิ้งระเบิดแม่นยำตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

ดังความทรงจำของชาวบางไส้ไก่ ธนบุรี ย้อนความทรงจำว่า การโจมตีในเวลากลางคืน เครื่องบินจะทิ้งพลุเพลิงให้ส่องสว่างก่อน พลุจะค่อยๆ ตกลงมาอย่างช้าๆ สว่างเฉพาะพื้นที่ เครื่องบินที่มาโจมตีครั้งแรกๆ เป็นเครื่องบินสองใบพัดหรือสองเครื่องยนต์ แต่ในภายหลังเป็นเครื่องบินขนาด 4 เครื่องยนต์ หรือเรียกกันว่า บี 29 (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

อาคารข้างคลองผดุงกรุมเกษม ข้างสถานีหัวลำโพง

ความทรงจำของสังข์ พัธโนทัย

ในพื้นที่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ที่เป็นโรงงาน โรงต่อเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการทิ้งระเบิด สังข์ พัธโนทัย ผู้จัดรายการ “นายมั่น-นายคง” ชองกรมโฆษณาการอันเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเล่าว่า “คืนหนึ่งที่บ้านเช่าของฉันที่ตรอกจันทร์จะถูกระเบิด พอได้ยินเสียงเครื่องบินหึ่งมาแต่ไกล นึกสังหรณ์ใจชอบกลว่า คืนนี้น่ากลัวจะมีอะไรเกิดขึ้น จูงลูกเมียและครอบครัวของน้องเมียซึ่งอยู่ด้วยกันลงไปนอนอยู่ข้างล่าง…ฉันรู้สึกแผ่นดินสะเทือน บ้านโยกเล็กน้อย และได้ยินเสียงคล้ายปืนกลสักหมื่นกระบอกยิงมาที่บ้าน หรือคล้ายพายุใหญ่พัดบ้านเรือนหักพังมาตามลำดับ เด็กๆ ที่นอนอยู่ด้วยตกใจร้องไห้กันอื้ออึง…

เราต่างเดินออกมาดูเหตุการณ์ เวลานั้นเดือนหงายแจ่มจรัส พบเศษไม้บนหลังคาลงมากองอยู่หน้าบ้าน นึกสงสัยว่าเป็นไม้ของบ้านอื่นปลิวมา ฉันจึงขึ้นบันไดไปดูว่าห้องนอนเป็นอย่างไรบ้าง พอก้าวขึ้นไปได้สัก 3-4 ขั้น พบโคลนเลน ไม้เล็กไม้น้อยวางขวางทางเต็มไปหมด พอมองขึ้นไปบนหลังคา ฉันก็ร้องบอกพวกที่อยู่ชั้นล่างว่า บ้านเราถูกลูกระเบิดเสียแล้ว ก้าวข้ามกองไม้เข้าไปเห็นมุ้งขาด สะเก็ดระเบิดหลายชิ้นนอนนิ่งอยู่กลางเตียง ตอนนั้นฉันถึงกับยกมือไหว้พระ ถ้าเรานอนอยู่บนเตียงคงกลายเป็นศพไปแล้ว…” (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 27-29)

การทิ้งพลุสิ่งสว่าง

พลุส่องสว่างเหมือน “ลอยกระทงผีบนฟ้า”

จากความทรงจำของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ชาวปากคลองตลาดขณะที่เขาหลบภัยในท่อระบายน้ำ บันทึกว่า การทิ้งระเบิดครั้งหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตร เครื่องบินได้ทิ้งพลุเพลิงส่องสว่างอยู่เหนือคลองหลอด ข้างสถานีตำรวจพระราชวัง ผู้คนจากปากคลองตลาดพากันวิ่งหนีตายไปหลบยังวัดโพธิ์

อาจินต์เล่าถึงสิ่งเขาเห็นว่า ในระหว่างที่เขาหลบภัยทางอากาศ “ผมยืดคอออกจากปากท่อระบายน้ำที่ผมหลบภัยที่หน้าโรงเรียนราชินีไปยังเหนือห้างสามเหลี่ยมตีนสะพานเจริญรัชซึ่งทอดข้ามคลองหลอด…

ผมเกร็งข้อดึงตัวขึ้นมาจากท่อ เงยหน้าดูพลุเพลิง ภาพของมันและความกลัวของผมบันทึกไว้ชัดเจนประหนึ่งถ่ายรูปด้วยนัยน์ตา เก็บฟิล์มไว้ที่ก้อนสมอง ในนาทีที่ชีวิตใกล้อันตรายที่สุด มันเหมือนมีการลอยกระทงผีบนฟ้า ทำให้ท้องฟ้าอันมืดตื้อพราวไปด้วยหย่อมไฟสีแดงฉาน ราวกับมีผีโขมดยักษ์ตาเดียวสีแดงฉานห้อยหัวลงมาจากสวรรค์…ต่ำลงมา ต่ำลง ต่ำลงมา จนลอยอยู่เหนือตึกห้างสามเหลี่ยม แสงสีแดงจ้าของมันสาดจับถนนที่หน้าห้างและลานกว้างหน้าโรงพักพระราชวังเป็นสีแดงไปหมด” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 268-269)

ชาวพระนครอีกคนหนึ่ง ผู้รอดชีวิตจากการโจมตีบันทึกถึงภาพพระนครยามวิกฤตอย่างน่าตื่นเต้นว่า “พวกเราในหลุมสวดมนต์อ้อนวอน ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยจงช่วยคุ้มครองให้ทุกๆ คนปลอดภัย เราเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นเองว่า เครื่องบินตีวงเป็นระลอกเพื่อทิ้งระเบิดสถานีมักกะสัน กินมาทางถนนศรีอยุธยาใกล้เข้ามาทางบ้านเราทุกที เสียงหวีดวี้ดของลูกระเบิดที่หล่นลงมาจากท้องฟ้านั้น ฟังหวาดเสียวเพิ่มทวีจำนวนความถี่มากยิ่งขึ้น ไฟฉายจากสนามพุ่งขึ้นสอดส่าย ป.ต.อ. และปืนกลของเราก็ยิงสวนขึ้นไป ปืนกลจากเครื่องบินยิงกราดลงมาอย่างน่าหวาดเสียว เสียงดังสนั่นหูดับตับไหม้ สักครู่ลูกระเบิดทิ้งลงมาโดนไฟฉายดับมืดลงทันที พร้อมกับเสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหวติดต่อกันหลายลูก ตรงหลุมหลบภัยของเราสะเทือนเหมือนถูกไกวเปล…” (ประเก็บ, 206-207)

ความเสียหายของอาคารย่านเยาวราช เมื่อ 19 มกราคม 2487

ในคืนนั้น “พลุเพลิงส่องถนนเป็นสีนวลแดงปนดำของสียางมะตอย ส่องพุ่มขนุนสองฝั่งคลองเหมือนมีผ้าป่านสีแดงคลุม ส่องน้ำในคลองหลอดเป็นลำพระเพลิง ส่องโรงพักพระราชวังเหมือนมีไฟไหม้อยู่ข้างหน้าสาดแสงมา มันส่องใบหน้าผู้คนที่เรารู้จักกลายเป็นหน้ายักษ์มารสีแดง เหมือนทุกคนต้องแสงไฟที่หุงกระทะทองแดงในนรก ใบหน้าคนกรุงเทพฯ เป็นหน้าผีสีแดงหลอกหลอนกันเอง” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 268-269-270)

ท่ามกลางความโกลาหลของการหนีเอาตัวรอดของผู้คน อาจินต์ ผู้ค้นลิ้นชักความทรงจำครั้งยังวัยเยาว์ว่า “ผมเห็นคนหนีตายวิ่งขึ้นสะพานเจริญรัชเพื่อจะไปหลบภัยที่วัดโพธิ์ เขาวิ่งตั๊บๆ ผ่านท่อระบายน้ำที่ผมยืนดูไปยังวัดโพธิ์ที่ปลอดภัย วัดที่เคยแจกพระเครื่องให้ทหารไปรบศึกอินโดจีน ทหารก็รอดตายผ่านศึกมามาก ตำรวจโรงพักเอาปืนยาวพระราม 6 ประทับบ่า ยิงพลุเพลิงเสียงเปรี้ยง เปรี้ยง ปุ ปุ แต่ยิงไม่ถึง ยิงไม่ถูก ผมจำได้และเห็นภาพ คนทั้งหมดคิดอะไรขณะหนีเอาตัวรอด? ภาพที่เคลื่อนไหวนี้หยุดนิ่งราวกับหนังขาด…รอเวลา 52 ปี จึงเคลื่อนไหวเป็นตัวหนังสือที่ท่านอ่านนี้” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 268-270)

เมื่อการโจมตีครั้งหนึ่งสิ้นสุด ประเก็บ คล่องตรวจโรค เขาพบว่า ภริยาและลูกสองคนของครอบครัวข้างบ้านถูกดินระเบิดอัดตายคาที่ในหลุมหลบภัย แต่สามีของเธอรอดชีวิตยืนดูร่างของคนในครอบครัวอย่างเศร้าเสียใจอย่างที่สุด ประเก็บบันทึกความรู้สึกครั้งนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่า หัวใจของผู้เป็นสามีและเป็นพ่อกำลังแตกระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ…นี่คือสงคราม ที่ไม่เห็นแก่ธรรมะใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าพลเรือนหรือทหาร…” (ประเก็บ, 208-209)

สภาพโรงซ่อมรถไฟที่สถานีมักกะสัน เสียหายจากการโจมตี เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2487
ภาพ ปณ.ที่ 8 ที่ย่านสำเพ็ง เยาวราช เสียหายจากการโจมตีเมื่อ 14 เมษายน 2488