สิบเจ็ดปีแห่งความหลัง ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน และขมขื่น

คฤหาสน์จันทร์ส่องหล้า กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ทันที หลังการกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยนำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศ ก่อนถูกรัฐประหารจนต้องลี้ภัยออกจากประเทศเป็นเวลากว่า 17 ปี

กองทัพสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศ ต่างรุมเฝ้าอยู่หน้าบ้าน ติดตามความเคลื่อนไหว แข่งกันรายงานสดอยู่แทบจะตลอดเวลา

สำนักข่าวต่างประเทศก็นำเสนอเป็นข่าวนำของแทบทุกสำนัก เพราะต่างรู้ว่านี่คืออีกหนึ่งคีย์แมนคนสำคัญของการเมืองไทย

แต่การกลับมาบ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งนี้ ไม่เหมือนเดิม ด้วยวันนี้พรรคเพื่อไทย ที่นายทักษิณเป็นภูมิปัญญาอยู่เบื้องหลัง กลายเป็นพรรครัฐบาลด้วยวิธีการพลิกขั้วสลับข้างทางการเมืองหลังเลือกตั้ง แม้ไม่ได้ผิดหลักการ ผิดกฎเกณฑ์ใดๆ

แต่ก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าเพราะการสลับขั้วนี่แหละคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นายทักษิณกลับประเทศไทยได้โดยไม่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว

จากทักษิณที่เคยเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไทย ความสำคัญนั้นจึงลดน้อยลง

การกลับมาบ้านจันทร์ส่องหล้าของทักษิณวันนี้ จึงปรากฏอารมณ์ต่อเนื่องที่หลากหลาย

หากจะเปรียบกับเพลงอมตะ “16 ปีแห่งความหลัง” ของ สุรพล สมบัติเจริญ คงต้องเปรียบว่า “มีทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน และขมขื่น”

ส่วนทักษิณนี่เป็น 17 ปีที่แปลกประหลาด เป็นภาวะที่สร้างความอึดอัดอยู่ในใจผู้คน จะรู้สึกยินดี ก็ยินดีได้ไม่เต็มที่ จะรู้สึกชัง ก็ยังนึกถึงสิ่งดีๆ ที่เคยเกิดขึ้นยุคไทยรักไทย

คนจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกว่า ถ้าแบบนี้ก็ไม่ยินดียินร้ายเสียเลยดีกว่า

สําหรับฝ่าย “รัก” แน่นอนว่าไม่มีใครยินดีปรีดาเท่าคนในครอบครัว “ชินวัตร” ดูจาก เอม-พินทองทา” บุตรสาวของนายทักษิณ โพสต์บรรยายความรู้สึกบอกรอวันนี้มานาน 17 ปี ที่หลานๆ จะได้อยู่กับ “ตาทักษิณ” ด้วยกันครั้งแรกในชีวิตที่เมืองไทย

ยิ่งอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้รับมรดกการเมืองโดยตรงจากทักษิณ ยิ่งดีใจ

นอกจากครอบครัว ก็คือพรรคเพื่อไทย นักการเมืองรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง กระทั่งรุ่นเล็กในท้องถิ่น ที่รู้สึกถึงการได้เสาหลักกลับมา เข้าหาปรึกษาหารือได้ง่ายขึ้น ด้วยความหวังว่าทักษิณจะเป็นหลักชัยสำคัญ ที่จะกลับมาฟื้นกระแสเพื่อสู้กับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับบรรดานายแบก นางแบก ยืนยันความถูกต้องการที่ทักษิณกลับไทย เพราะนายทักษิณเป็นผู้ถูกกระทำด้วยอำนาจรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรมมาเป็นเวลานาน ต้องสูญเสียทรัพย์สินระดับมหาศาล เสียเวลา ต้นทุนทางการเมืองต่างๆ มากมายตลอด 17 ปีที่ผ่านมา

การกลับมาของนายทักษิณ แม้จะถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานต่างๆ แต่นายทักษิณก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และนายทักษิณก็ถูกกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมเล่นงานอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้จึงไม่ใช่ “ปัญหา” ระดับสำคัญในทางการเมือง จริงๆ ก็ชอบธรรมแล้วกับที่นายทักษิณโดนกระทำ

รวมถึงคนเสื้อแดงบางส่วน ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ ยังชื่นชมผลงานของนายทักษิณในยุคไทยรักไทย

และที่มองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ “แขก” คนแรกที่มาเยือนบ้านจันทร์ส่องหล้า ยืนยันความรักที่มีต่อนายทักษิณอย่างมั่นคง 32 ปี นั่นคือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ที่แม้จะไม่มีประเด็นการเมืองแต่ก็ได้สะท้อนความสัมพันธ์ของ 2 ตระกูลการเมือง 2 ประเทศ

อย่างไม่อาจมองข้ามได้

ทักษิณ

อีกฝ่ายที่รู้สึกดีกับการกลับมาของ “ทักษิณ” คือฝ่ายชนชั้นนำจารีต

เพราะถ้าพูดกันในมิติสงครามทางความคิดและอุดมการณ์ “ทักษิณ” วันนี้คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการที่จะต่อสู้กับการเมืองของพรรคก้าวไกล

รูปธรรมชัดเจน ก็ในการเลือกตั้งปี 2566

ฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษนิยมจารีตของไทย พ่ายแพ้ให้กับฝ่ายพลังใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกลระดับย่อยยับ แต่ด้วยกลเกมการต่อรอง ทำให้พลิกกลับมาชนะ-ครองอำนาจนำในประเทศ

ไล่พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านได้สำเร็จ

 

ทั้งหมดคือฝ่าย “รัก” การกลับมาของนายทักษิณ โดยมีระดับความรู้สึก “มากน้อย” ไล่เรียงกันมาตามลำดับ

กับอีกฝ่ายที่รู้สึก “ชัง” ต่อการกลับมาของนายทักษิณ ฝ่ายนี้ก็มีหลายระดับ หลายกลุ่มก้อน

หลักการก็คือฝ่าย “ชัง” มองว่าทักษิณไม่ได้ป่วยจริง หรือต่อให้ป่วยจริง กระบวนการกลับมาของทักษิณก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานทางกฎหมาย สิทธิบางประการ

ยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคม นักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยถูกฝ่ายรัฐใช้กฎหมายจัดการ

การดำรงอยู่ของทักษิณในสถานะทางกฎหมายวันนี้จึงยิ่งถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานหนักขึ้น

อย่าลืมว่าเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทักษิณไม่ได้นอนในเรือนจำแม้แต่วันเดียว มีการรักษาตัวอยู่ในห้องพักโรงพยาบาลที่ดี ได้รับการต่ออายุนานกว่า 6 เดือน ออกจากโรงพยาบาลก็กลับบ้านทันที

นี่ก็คือความจริงพื้นฐาน ที่ฝ่ายต่างๆ นำไปต่อยอดตั้งคำถาม

 

ฝ่ายชังที่เป็นขบวนการฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งต่อสู้กับทักษิณมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย จะพูดอย่างตรงไปตรงมาไม่เชื่อเรื่องการป่วยของนายทักษิณ ฝ่ายนี้แบ่งได้เป็นสองส่วน

ถ้าเข้าร่วมรัฐบาลก็จะ “อ้ำอึ้ง” ขอไม่แสดงความเห็นอะไร ตัวอย่างคือ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อดีตแกนนำ กปปส. ออกปาก ไม่ขอประเมินอะไรทั้งสิ้น

แต่ถ้าอยู่นอกวงการเข้าร่วมรัฐบาล ก็จะออกมาส่งเสียงวิพากษ์รุนแรง กระทั่งขู่จะเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น บรรดา ส.ว.ตัวตึงที่เคยออกมาขับไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หรือกลุ่มที่โกรธจัด ออกมาตั้งเวทีปราศรัย แต่ก็จุดไม่ขึ้น ไม่มีผู้คนเข้าร่วมมากนักอย่างกลุ่ม คปท. เพราะการเมืองวันนี้ได้ข้ามพ้นวาระของนายทักษิณไปไกลแล้ว

 

ส่วนฝ่าย “ชัง” ใน “เลเวล” น้อยลงมา ไม่ได้เคลื่อนไหวในลักษณะออกมาประท้วงคัดค้านแต่ตั้งคำถามเบาๆ เรื่องหลักการ กลุ่มนี้มีหลายกลุ่ม เช่น พรรคก้าวไกลที่ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนว่าหากรัฐบาลจะพักโทษให้นายทักษิณ ก็ต้องทำอะไรอย่างตรงไปตรงมา ไม่ตอกย้ำปัญหายุติธรรมระบบสองมาตรฐาน ส่งเสริมให้คนใดคนหนึ่งมีอภิสิทธิ์ทางกฎหมายเหนือใคร แต่ต้องอำนวยความยุติธรรมให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะกระบวนการที่นายทักษิณกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ขาดความโปร่งใสเรื่องอาการป่วยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ดี จำเป็นต้องยึดหลักนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมเพื่อทุกคน ปราศจากระบบสองมาตรฐานหรือนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน

นั่นคือท่าทีจากพรรคก้าวไกล ที่ไม่ปฏิเสธ สิ่งที่นายทักษิณได้รับ แต่ต้องทำอย่างโปร่งใส-มาตรฐานเดียวกัน

หรือจะเป็นนักวิชาการที่ตั้งคำถามสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน อย่าง ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่แสดงความเห็นอย่างสั้นๆ กรณีการกลับบ้านของนายทักษิณ ตรงไปตรงมาว่า

“ผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดของรัฐบาลพิเศษสลายขั้วเพิ่งปรากฏให้เห็นเช้าวันนี้เอง สมกับที่ลงทุนบิดเบนเสียงประชาชนและคืนดี คสช.”

นอกจากพรรคก้าวไกล นักวิชาการหลายคน แม้แต่คนเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนก็เห็นไปในแนวทางนี้ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่ปกติ เป็นสถานการณ์ที่เกิดปัญหาการล้อมปราบทางกฎหมาย ใช้เล่นงานฝ่าย “พลังใหม่” อย่างหนัก

 

นั่นคือปัญหาความ “หวาน” และ “ขมขื่น” จากปรากฏการณ์การกลับมาของทักษิณ

ปัญหาที่เกิดขึ้นนับจากวันนี้คือทักษิณจะวางตัวอย่างไร

ท่าทีต่อการเมืองในระบบ การที่ทักษิณขยับในทางการเมือง ยิ่งส่งผลต่อความเข้มแข็งและบารมีทางการเมืองของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร นั่นยิ่งกระทบชิ่งไปยัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

การที่ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง ยิ่งเด่น แน่นอนทำให้เพื่อไทยเข้มแข็ง มีทิศทางเดินมากขึ้น แต่ทางกลับกันมันยิ่งข่ม “เศรษฐา”

นอกจากนี้ ยังมีคำถาม ท่าทีทักษิณจะเอายังไงกับตัวแทน “พลังใหม่” อย่าง “ก้าวไกล” จะแสดงความเข้าอกเข้าใจ แบบที่เคยพูดสมัยเป็นพี่โทนี่หรือไม่? หรือจะร่วมเล่นเกมล้อมปราบก้าวไกล แบบที่ฝ่ายขวาต้องการ

ส่วนการเมืองนอกสภา ทักษิณจะมีท่าทียังไงกับการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายขวา ที่เคยสู้กับทักษิณมา จะมีท่าทียังไงกับชนชั้นนำจารีต ที่เคยเล่นงานทักษิณอย่างหนักช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแต่วันนี้กลับใช้ทักษิณเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เพราะในสถานะนี้ ทักษิณก็จะกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำลายพลังใหม่ซึ่งเคยเป็นฐานทางการเมืองของทักษิณ

เช่นกัน แม้ทักษิณจะเกียร์ว่าง ถอยอยู่เบื้องหลัง ไม่แตะต้องทิศทางทางการเมืองของรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต ก็จะยิ่งรุกฆาต “ฝ่ายพลังใหม่”

 

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ในระยะสั้นแน่ๆ ของทักษิณก็คือต้องเดินหน้านำ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับประเทศ และประคองพรรคเพื่อไทยไว้ในส่วนแบ่งอำนาจ

แต่ก็ต้องพึงระลึกว่า ที่สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้เพราะฝ่ายจารีตยังกลัวก้าวไกลอยู่นั่นเอง

น่าสนใจว่าวันนี้ “ฝ่ายอำนาจเก่า” เดินหน้าเต็มสูบ เป้าหมายคือ ยุบทำลายจัดการฝ่าย “อำนาจใหม่”

ในระยะยาว ทักษิณจะวางสถานะตัวเองและพรรคเพื่อไทยอย่างไรจึงน่าติดตาม…

การกลับมาของทักษิณวันนี้ จึงมีทั้ง “รัก” ทั้ง “ชัง” ทั้ง “หวาน” และ “ขมขื่น”

เป็นการกลับมา ในสงครามล้อมปราบทำลายด้วยกฎหมาย ต่อพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่ตัวเองร่วมและมีส่วนสร้างมา