การทำงานหลังเกษียณของคนญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” (高齢化社会) “สังคมเด็กเกิดน้อย” (少子化社会) “ยุคสมัยที่คนอายุยืนเกินร้อยปี” (人生百年時代) ครบทุกรูปแบบ ล่วงหน้าก่อนไทยไปนานแล้ว

แต่ผู้สูงวัยญี่ปุ่นไม่ย่อท้อต่อสังขารที่ร่วงโรยลงแต่พร้อมด้วยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ที่ฝึกฝนมาตลอดทั้งชีวิต อีกทั้งยังมีใจเต็มร้อยที่จะทำงานต่อไป ไม่อยู่นิ่งเฉย ตามแบบคนญี่ปุ่นขยันทำงานที่ทุกคนยกนิ้วให้

ปัจจุบัน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เข้าสู่วัยเกษียณ คือ 60 ปี แต่เมื่อ 20-30 กว่าปีก่อน อายุ 55 ปีก็เกษียณกันแล้ว ขณะนี้ก็มีหลายบริษัทที่ต่ออายุการทำงานเป็น 65 ปี หรือหากยังมีสุขภาพแข็งแรงและอยากทำงานต่อไปก็อาจจ้างงานถึงอายุ 70 ปี

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีบริษัทอย่างนี้มากมายนัก

คนที่ “จำใจจำจาก” งานที่ทำมาเกือบ 40 ปี ก็พยายามหางานอื่นที่พอทำได้อีก แต่จะหาได้ง่ายๆ หรือ?

คุณลุงวัย 60 ปีเพิ่งเกษียณจากงานด้านไอที บอกว่า กำลังเริ่มต้นเรียนรู้การเขียนประวัติการทำงาน เพื่อสมัครงานใหม่หลังเกษียณ แต่ไม่อยากทำงานเต็มเวลาที่ยุ่งทุกวัน ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง

ส่วนคุณลุงอีกคน วัย 64 ปี จากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ บอกว่าเตรียมสมัครงานใหม่ให้ได้ภายในอีกหนึ่งปีก่อนเกษียณ เพราะไม่อยากตัดขาดจากสังคม ไปอยู่เงียบๆ ที่บ้าน

แต่ก็ไม่อยากทำงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างหนักอึ้งเหมือนที่ทำอยู่ ขอแค่งานพาร์ตไทม์ ไม่ให้ต้องเหงาก็พอ

นี่เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินๆ ทองๆ

 

แต่ยังมีผู้สูงวัยอีกมาก ที่ต้องพยายามหางานทำหลังเกษียณเพราะไม่มีเงินเก็บพอที่จะยังชีพไปอีกหลายสิบปี หากต้องมีอายุยืนถึง 100 ปี

จากสถิติปี 2022 มีคนสูงวัยของญี่ปุ่นที่ยังทำงานอยู่ 9.12 ล้านคน เป็นจำนวนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้มีอายุ 65-69 ปี 50.8% ผู้มีอายุ 70-74 ปี 33.5% กล่าวคือ 1 ใน 2 คน และ 1 ใน 3 คน ตามลำดับ

ตามสถิติในแต่ละปี มีผู้สูงวัยหางานทำเพิ่มมากขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลว่าอยากทำงานเพื่อเก็บออมเงินไว้ใช้ยามแก่ตัวลงกว่านี้

หรือต้องทำงานในขณะที่ยังมีร่างกายแข็งแรงเพราะรู้ดีว่าคนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวขึ้น และยังมีกฎหมายแรงงานที่แก้ไขใหม่ให้ขยายการจ้างงานผู้สูงวัย เป็นต้น

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนแรงงานคนวัยทำงาน เด็กเกิดน้อย ต้องรอจนโตขึ้นมารองรับความขาดแคลนนี้ไม่ทัน การที่มีแรงงานผู้สูงวัยที่พร้อมด้วยประสบการณ์น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงผู้สูงวัยกลับหางานที่ตรงตามความต้องการของตนไม่ได้

บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่ง ทำการสำรวจคนที่มีอายุเกิน 60 ปี ที่เคยสมัครงานใหม่ 1600 คน พบว่า มีถึง 27% ที่พยายามสมัครงานแล้วแต่ก็ไม่ได้งานทำ พบว่าสาเหตุใหญ่มาจาก ประเภทของงานไม่ตรงตามความต้องการของผู้สมัคร

งานประเภทใดเป็นที่ต้องการของผู้สูงวัย?

 

การสำรวจปีที่ผ่านมา พบว่า “งานธุรการ” เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ 23% ของผู้สมัครงาน 7,020 คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว งาน “ขนส่งสินค้า” และ “ทำความสะอาด” เป็นงานที่ผู้สูงวัยทำมากที่สุดคือ 33%

“งานที่ได้ทำ” จึงห่างไกลจากความฝัน “งานที่อยากทำ” มากทีเดียว

ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องการได้งานโดยเร็ว ก็ไม่อาจเลือกงานได้ จำต้องทำงานที่ไม่ตรงกับประสบการณ์ที่มีมายาวนาน

มีตัวอย่างผู้สูงวัยที่ทำงานด้านการขายกับต่างประเทศ เมื่อเกษียณแล้วอยากได้งานที่ใช้ภาษาต่างประเทศ แต่งานที่เขาได้ทำ คือผู้ดูแลสถานที่จอดรถของมหาวิทยาลัย แม้ประเภทของงานต่างจากที่เคยทำมา แต่ที่มหาวิทยาลัยมีแขก อาจารย์ชาวต่างชาติ ก็มีโอกาสใช้ภาษาต่างประเทศบ้าง ถ้าอยากได้งาน ก็ต้องรู้จักปรับตัวบ้าง จะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการคงเป็นไปไม่ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานให้คำแนะนำว่า ผู้สูงวัยที่ต้องการหางานต้องรู้จักจับกระแสความเปลี่ยนแปลงในงานประเภทนั้นๆ และ “วิเคราะห์” ความสามารถและประสบการณ์ของตัวเองให้ได้ ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองบ้าง หากใกล้เคียงกับความชำนาญที่มี ก็ทำให้มีโอกาสกว้างขึ้น

 

ที่จังหวัดฟุคุอิ เป็นจังหวัดที่มีอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุมากที่สุด ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีพนักงานอายุเกิน 64 ปี ถึง 26 คน จากจำนวนพนักงานในแผนก 192 คน ที่ทำงานด้านการพยาบาล การดูแลผู้สูงวัย และงานธุรการ

และที่น่าสนใจคือ เคียวโกะ ทาคาทานิ วัย 84 ปี วัยนี้ต้องเรียกว่า “คุณยาย” ก็เป็นหนึ่งในพนักงานแผนกนี้

คุณยายทำงานนี้มาได้ 1 ปีแล้ว ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 4 ชั่วโมง

งานของคุณยายมี 4 อย่าง คือ ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์ก่อนส่งไปฆ่าเชื้อ เดินเอกสารภายใน ทำความสะอาดห้องน้ำ และนำส่งยาและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งไม่ใช่งานหนักสำหรับคนวัยนี้เลย

คุณยายบอกว่า การได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทำให้มีความสุข และรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีคุณค่า

ยังมีบริษัทผลิตข้าวกล่องเบนโต (弁当) ที่เมืองมัตสึเอะ (松江市) จังหวัดชิมาเนะทางตะวันตกของญี่ปุ่น มีพนักงานที่มีอายุเกิน 65 ปี ถึง 1 ใน 5 ของพนักงานทั้งหมด

และที่น่าชื่นชมคือ บริษัทพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เอื้อต่อผู้สูงวัยแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง

พนักงานในแผนกบรรจุภัณฑ์ แผนกควบคุมอุณหภูมิอาหาร ย่อมมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต่างกัน ผู้บริหารตระหนักว่าแรงงานผู้สูงวัยนี้มีส่วนทำให้ยอดขายค่อยๆ เพิ่มขึ้น

พนักงานผู้สูงวัยก็ซาบซึ้งใจที่ได้รับการปฏิบัติอย่างใส่ใจ และแน่นอนว่าทุกคนตั้งใจทำงานอย่างเต็มกำลัง

ญี่ปุ่นมีประชากรเด็กน้อยลง ประชากรวัยทำงานลดลง มีภาระหนักขึ้น ประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นแต่ยังอยากทำงาน จึงนับเป็นเรื่องดีในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ต้องสร้างโอกาส เงื่อนไข และสภาพแวดล้อมอย่างไร ให้เอื้อต่อการดึงศักยภาพในตัวผู้สูงวัยแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน

แล้วคุณลุง คุณป้าไทยจะได้รับโอกาสบ้างไหม…