มรดกจากเครื่องบินรบ (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 30)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

มรดกจากเครื่องบินรบ

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 30)

 

ข้ามมาที่ฝั่งนักวิจัยดราม่าโครงการจีโนมเพิ่งเริ่มต้นขึ้น

การประชุมที่ Santa Cruz เดือนพฤษภาคมปี 1985 บรรดากูรูรับเชิญเสียงแตกครึ่งต่อครึ่งว่าควรเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์จีโนมไหม

การประชุมที่ Santa Fe เดือนมีนาคมปี 1986 ทำให้ทีม DOE ผู้ช่ำชองเมกะโปรเจ็กต์ตัดสินใจลุยต่อเอง ข้ามหน้าข้ามตาหน่วยงานและเหล่านักวิจัยที่ทำงานสายตรงด้านพันธุศาสตร์และชีวโมเลกุล

มิถุนายนปี 1986 มีการประชุมใหญ่ที่ Cold Spring Harbor ว่าด้วยชีวโมเลกุลของมนุษย์ (งานเดียวกับที่ Kary Mullis นำเสนอผลงาน PCR ครั้งแรกต่อสาธารณชนจนคนลุกขึ้นปรบมือลั่นหอประชุม)

การเสวนาเรื่องโครงการจีโนมมนุษย์ถูกยัดใส่มาในตารางกิจกรรมภายหลัง แต่ก็กลายเป็นช่วงที่ดุเดือดที่สุดในการประชุมนี้

นักวิจัยฝั่งสนับสนุนโครงการจีโนมอย่าง Walter Gilbert ประเมินว่าอัตราการอ่านลำดับเบสจีโนมในเวลานั้นอยู่ที่ราวๆ 2 ล้านเบสต่อปีเท่านั้น ด้วยจีโนมมนุษย์ขนาด 3,000 ล้านเบส กว่าจะอ่านเสร็จต้องใช้เวลาอีกเป็น 1,000 ปี

แต่ถ้าทำให้เป็นเมกะโปรเจ็กต์วาระแห่งชาติ ระดมทีมวิจัยหลายหมื่นคนมาช่วยกันทำก็อาจจะร่นเวลาเหลือ “แค่” 100 ปี งบประมาณรวมของเมกะโปรเจ็กต์นี้คือ 3,000 ล้านดอลลาร์ (~ $1/เบส)

กูรูด้านจีโนมถกเถียงกันว่า Human Genome Project ควรจะเป็นเมกะโปรเจ็กต์วาระแห่งชาติไหม
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

นักวิจัยฝั่งคัดค้านอย่าง David Botstein (ผู้อยู่ในทีมกูรูจีโนมเช่นเดียวกับ Gilbert ที่การประชุม Santa Cruz) แม้จะเห็นด้วยกับความสำคัญของข้อมูลจีโนม แต่ไม่เชื่อว่าการดันเป็นเมกะโปรเจ็กต์จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะต้องไปปวดหัวกับการเมืองระดับประเทศแล้ว ยังไม่น่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

Botstein เปรียบเทียบว่าการศึกษาจีโนมเหมือนการสำรวจทำแผนที่ภูมิศาสตร์ วิธีที่ดีที่สุดคือให้ปล่อยให้นักสำรวจผู้ชำนาญลงพื้นที่เก็บข้อมูลกันไปอิสระตามที่เห็นสำคัญ ข้อมูลภูเขา แม่น้ำ ที่ราบ เมือง ฯลฯ พอเอามารวมๆ กันก็เป็นแผนที่ใหญ่ใช้ประโยชน์ได้

เมกะโปรเจ็กต์แบบที่ Gilbert ว่าคือการเกณฑ์คนเยอะๆ มาเก็บข้อมูลพื้นที่ไปเรื่อยๆ ทีละตารางนิ้ว น่าเบื่อ เสียเวลา ข้อมูลได้มาส่วนใหญ่ก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้

ตัวแทนจาก DOE ได้โอกาสนำเสนอตอนกลางๆ แต่ก็โดนการโต้เถียงที่ดุเดือดระหว่างนักชีวโมเลกุลกลบไป

นักวิจัยหลายคนมองว่า DOE ไม่ควรจะมานำโครงการนี้ และกังวลว่าข้อเสนอของ DOE ต่อรัฐบาลจะไปแย่งเงินวิจัยจากพวกเขา

 

HHMI รับบทเป็นตัวกลางสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งนี้

การประชุมใหญ่สปอนเซอร์โดย HHMI จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1986 เพียงเดือนเดียวหลังจากการดีเบตวุ่นวายที่ Cold Spring Harbor ด้วยความที่ HHMI สนับสนุนงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์และชีวโมเลกุลมายาวนาน มีนักวิจัยชั้นนำในเครือข่ายมากมายทั้งในและนอกสหรัฐ

งานประชุมนี้สามารถรวบรวมนักวิจัยหลากหลายกลุ่มที่อาจจะทำวิจัยต่างแง่มุมกัน

งานวิจัยที่ HHMI สนับสนุนถึงช่วงนี้ยังเน้นที่การทำแผนที่ยีนและชิ้นส่วนดีเอ็นเอซึ่งเป็นที่คุ้นเคยและได้รับการยอมรับจากนักพันธุศาสตร์ดั้งเดิมมากกว่าแนวคิดการอ่านลำดับเบสไปเรื่อยๆ ทั้งจีโนม

งานประชุมนี้จัดขึ้นที่ National Institute of Health (NIH) หน่วยงานวิจัยภาครัฐที่ใหญ่สุดด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตัวแทนที่ DOE ส่งมาเข้าประชุมโดนซัดอีกรอบเรื่องความไม่เหมาะสมของโครงการจีโนม การถกเถียงของบรรดานักวิจัยชั้นนำยังมีอยู่แต่ก็เริ่มปรากฏภาพที่เห็นตรงกันชัดขึ้นเรื่องลำดับความสำคัญของงานวิจัย ทั้งที่ประชุมเห็นตรงกันเรื่องการเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีฐานด้านการทำแผนที่ยีน ชิ้นส่วนดีเอ็นเอ และการอ่านลำดับเบสก่อน

หลังจากนั้นก็ค่อยมาประเมินกันอีกรอบว่าจะลงขันอ่านลำดับเบสทั้งจีโนมดีไหมหรืออาจจะโฟกัสแค่บางส่วนกันก่อน

 

หลังการประชุม DOE เดินเรื่องฝั่งการเมืองและนโยบายรัฐต่อตามความตอนที่แล้ว

ฟากนักวิจัยหลายคนอยากให้ NIH เข้ามีมาบทบาทสำคัญแต่ทางสถาบันก็ยังรีรออยู่ด้วยกลัวเสียงคัดค้านของกลุ่มนักวิจัยในสังกัด

ส่วน HHMI องค์กรภาคเอกชนที่ทั้งเงินหนาและทำงานอิสระกว่าเร่งขยายขอบเขตการสนับสนุนทุนวิจัย สปอนเซอร์การประชุมอีกหลายต่อหลายครั้ง สร้างฐานข้อมูลพันธุกรรม

และมีส่วนสำคัญในการผลักดัน Human Genome Organization (HUGO) หนึ่งในองค์กรระดับนานาชาติแห่งแรกด้านจีโนมมนุษย์

เมื่อครั้งมีชีวิต Howard Hughes Jr. เคยกล่าวถึงพันธกิจของ HHMI ไว้ว่าคือการทำความเข้าใจปฐมบทแห่งชีวิต (“the genesis of life itself”)

เกือบสิบปีหลังจากเขาจากโลกนี้ไป HHMI ได้กลายมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของโครงการจีโนมมนุษย์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

เมื่อองคาพยพทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มเข้าที่ภารกิจเมกะโปรเจ็กต์แรกแห่งวงการชีววิทยากำลังจะเริ่มในไม่ช้า

ติดตามต่อตอนหน้าครับ