เทศมองไทย : “ไอเอส” ที่ตะเข็บชายแดน ไทย-มาเลเซีย

ข่าวการจับกุมชายหนุ่มชาวมาเลเซียวัย 20 ปี พร้อมอาวุธและเครื่องกระสุน ขณะพยายามลักลอบนำอาวุธปืน 4 กระบอกกับกระสุนจำนวนมากขึ้นเครื่องการบินไทย ที่ท่าอากาศยานจินนาห์ ในนครการาจีของปากีสถานเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ยังคงถูกพูดถึงข้ามปี

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะผู้ถูกจับกุมตัว ที่ได้รับการยืนยันจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียว่าเป็นชาวเมืองคูชิงในรัฐซาราวักนั้นถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสมาชิก หรืออย่างน้อยที่สุดก็เชื่อมโยงอยู่กับองค์กรก่อการร้ายระดับโลก อย่าง “กองกำลังรัฐอิสลาม” หรือไอเอส หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า “ไอซิส”

เรื่องนี้ได้รับความสนใจในมาเลเซียมากกว่าในไทย เหตุผลนั้นไม่เพียงเป็นเพราะผู้ต้องหาเป็นชาวมาเลเซียเท่านั้น ยังเป็นเพราะมีรายงาน “การให้ปากคำเบื้องต้น” ในปากีสถาน ระบุว่าจุดหมายปลายทางของหนุ่มรายนี้ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย หากแต่เป็นมาเลเซีย เพียงแต่จำเป็นต้องเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็ยืนยันในทำนองที่ว่า ผู้ต้องหาไม่ได้เตรียมการมาลงมือ “ก่อการร้าย” ในไทยแต่อย่างใด

ซัม ยูซา ขยายผลเอาไว้ในบทวิเคราะห์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ “ฟรีมาเลเซียทูเดย์” เมื่อ 2 มกราคมนี่เอง ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือเรื่องของ “อาวุธ” ที่เริ่มทะลักไหลผ่านชายแดนไทยเข้าสู่มาเลเซียมากขึ้นในระยะหลัง อีกประเด็นหนึ่งแน่นอนต้องเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ฐานราก” ของ “ไอเอส” ในภูมิภาคอุษาคเนย์

ซัม ยูซา เล่าว่า เจ้าหน้าที่วิเคราะห์จากหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซีย บอกกับตนเองว่า การจับกุมครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซีย “แน่ใจมากขึ้นไปอีก” ว่า มีขบวนการลักลอบขนอาวุธข้ามแดนจากไทย ไปยังมาเลเซีย

“ผมแน่ใจว่าตอนนี้ทางการมาเลเซียกำลังจับตามองเส้นทางต้องสงสัยต่างๆ ระหว่างประเทศทั้งสองอย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ

ส่วนเรื่องที่ว่า การจับกุมที่การาจี จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับไอเอสหรือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของขบวนการค้าอาวุธเถื่อนที่ทำรายได้สูง ตอนนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับความเชื่อของเจ้าหน้าที่มาเลเซีย ที่ว่าการลักลอบทำนองนี้ “จะเกิดขึ้นซ้ำอีก” ในอนาคต

เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยพบเห็นความพยายามทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว

ต้นเดือนพฤษภาคม ตำรวจหน่วยต่อต้านก่อการร้ายของมาเลเซียเคยจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับไอเอสใน 5 รัฐ ซึ่งรวมถึงในรัฐกลันตัน ที่มีชายแดนติดต่อกับตอนใต้สุดของไทย ผู้ต้องสงสัยรายที่ 7 คือ มูฮัมหมัด อารีฟฟ์ จูไนดี้ ชาวกลันตันนั้น เอาตัวรอดจากการกวาดล้างครั้งนี้ไปได้ “เพราะหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย”

ตามการข่าวของตำรวจมาเลเซีย จูไนดี้ เป็นส่วนหนึ่งของแก๊งที่เชี่ยวชาญในการลักลอบนำอาวุธปืนขนาดเล็ก ข้ามแดนจากพื้นที่ชายแดนด้านใต้ของไทยเข้าไปยังมาเลเซีย ดำเนินการมาแล้วร่วมปี “เพื่อเตรียมการโจมตีด้วยการก่อการร้ายในมาเลเซีย”

คาหลิด อาบู บาการ์ อดีตจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย บอกในตอนที่มีการจับกุมว่า ตำรวจเชื่อว่า 2 ผู้ต้องสงสัยในกลันตันทำหน้าที่ “ขนอาวุธมาให้กลุ่มไอเอส” โดยเฉพาะ

อเล็กซานเดอร์ แม็กเลียด นักวิเคราะห์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ “โกลบอล ริสก์ อินไซต์” บริษัทผู้ให้บริการข่าวกรองของอังกฤษ เชื่อว่าทางการไทยคงปฏิเสธความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอสอย่างที่มาเลเซียเชื่อ เหตุผลเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันถึงภาพลักษณ์การเป็นดินแดนที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวที่ไทยต้องปกป้องสูงมาก

แต่แม็กเลียดเองบอกกับยูซาว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ไอเอสจะมาปักหลักในเมืองไทย และเอาเข้าจริงก็มีหลักฐานน้อยมากที่แสดงให้เห็นว่าไอเอสประสบความสำเร็จ หรือมีอิทธิพลมากถึงขนาดเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทั้งทางการเมืองและความมั่นคงในอุษาคเนย์

และหากเทียบกัน ไทยมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็น “แดนสวรรค์” ของไอเอส น้อยกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งฟิลิปปินส์

ถ้ามีไอเอสปรากฏอยู่ในไทย ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ใช่การเข้ามา “ตั้งรกราก” อยู่กับสังคมท้องถิ่น ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความพยายาม “ลักลอบขนอาวุธ” เป็นครั้งคราวเสียมากกว่า

แม็กเลียดเชื่อว่า ในสภาวะของจังหวัดชายแดนใต้ ลักษณะการก่อการร้ายแบบ “ไอเอสสไตล์” ไม่ใช่สิ่งที่คนในท้องถิ่นต้องการ

หากจะมีเซลล์ก่อการร้าย “โปร-ไอเอส” ในไทยก็คงเป็นกลุ่มก่อการร้ายแบบโดดๆ ไม่ทันสมัย และน่าจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเซลล์ก่อการร้ายไอเอสทั่วไป

ไม่มีอะไรต้องตื่นตกใจ มากไปกว่าปัญหาการลักลอบค้าอาวุธเท่านั้น!