ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
ราฟาห์ เป็นเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ทางใต้สุดของฉนวนกาซา อันเป็นเขตปกครองตนเองของปาเลสไตน์ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของขบวนการฮามาส
แต่เดิมมีประชากรอาศัยอยู่ราว 170,000 คน แต่ในเวลานี้ ชาวปาเลสไตน์จำนวนมหาศาลถึงกว่า 1.4 ล้านคนกระจุกตัวกันอยู่ที่เมืองนี้
ทั้งหมดเป็นพลเรือนที่หลบหนีภัยสงครามมาจากกาซาซิตี้ และข่านยูนิส หลังกองทัพอิสราเอลบุกเข้ากวาดล้างฮามาสที่ปักหลักอยู่ในเมืองใหญ่ทั้งสองเมืองดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้
ราฟาห์กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันทั้งทางด้านการทูตและการทหาร ในทางหนึ่ง ตัวแทนของสหรัฐอเมริกา, อียิปต์, อิสราเอล และกาตาร์ พบปะเจรจากันมาตั้งแต่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ เป้าหมายเพื่อหาแนวทางในการหยุดยิงนาน 6 สัปดาห์ขึ้นในฉนวนกาซาแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวประกัน
โดยวัตถุประสงค์หลักก็คือ หาทางป้องกันไม่ให้เกิดการสู้รบครั้งใหญ่ขึ้นในราฟาห์ในขณะที่มีปาเลสไตน์อพยพคลาคล่ำอยู่กว่าล้านคน
หากเกิดศึกราฟาห์ขึ้นจริง อาจก่อให้เกิดสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่สงครามจะขยายตัวลุกลามออกไปในหลายๆ ด้าน
การรบดังกล่าวไม่เพียงจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ลง ยังอาจส่งผลสะเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรกันมาช้านานด้วยอีกต่างหาก
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การรบที่ราฟาห์มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ต่อพลเรือนที่กระจุกกันอยู่ในเมืองนี้ชนิดไม่มีหนทางให้ล่าถอยหลบหนีอีกต่อไปแล้ว
ในมุมมองของอิสราเอล ราฟาห์ถือเป็นศึกสำคัญศึกสุดท้ายที่ต้องเอาชนะให้ได้ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงไว้เมื่อราวหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การกวาดล้างที่ราฟาห์ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้กองทัพอิสราเอลบรรลุถึง “ชัยชนะเบ็ดเสร็จ” ในสงครามครั้งนี้ ตามที่ผู้นำอิสราเอลประกาศไว้ไม่นานหลังจากกองกำลังฮามาสบุกข้ามแดนเข้าไปสังหารและจับตัวประกันชาวอิสราเอลเมื่อ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว
ในความเห็นของเนทันยาฮู หากต้องการอิสรภาพของตัวประกันที่ฮามาสจับกุมตัวไปทั้งหมด อิสราเอลจำเป็นต้องใช้กำลังทหารกดดันอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
ในมุมมองทางทหาร การทำศึกเพื่อกวาดล้างอิทธิพลของฮามาสในราฟาห์ อำนวยประโยชน์อย่างน้อย 2 ทาง
ทางหนึ่ง คือเป็นการกวาดล้าง ทำลายฐานที่มั่นสำคัญที่เป็นที่มั่นสุดท้ายของฮามาส
ในอีกทางหนึ่ง หากสามารถกวาดล้างอิทธิพลของฮามาสลงได้ อิสราเอลย่อมควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดนติดต่อกับอียิปต์ได้มากขึ้นและดีขึ้น ซึ่งมีนัยสำคัญไม่น้อย เนื่องจากพื้นที่ชายแดนดังกล่าวนี้เป็นช่องทางสำคัญที่สุดในการลักลอบขนอาวุธเข้าสู่ฉนวนกาซา
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอิสราเอลเชื่อว่า ในเวลานี้ขบวนการฮามาสตกอยู่ในสภาพถูกบีบให้ล่าถอย ผู้นำคนสำคัญของฮามาสในฉนวนกาซาอย่าง ยาห์ยา ซินวาร์ ก็ถูกไล่ล่าอย่างกระชั้นชิดในข่านยูนิส
และยิ่งนับวันยิ่งไม่สามารถติดต่อสื่อสารหรือสั่งการต่อผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้นเรื่อยๆ
ว่ากันว่า หลังจากกองทัพอิสราเอลเคลื่อนลงใต้มา ฮามาสพยายามกลับเข้าไปสร้างอิทธิพลในกาซาซิตี้อีกครั้ง สังเกตได้จากการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบออกปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนน และมีการจ่ายเงินเดือนให้กับบรรดาข้าราชการพลเรือนต่างๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลเชื่อว่า บรรดาผู้นำฮามาสกระวนกระวายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถควบคุมหรือปกครองประชากรในท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงศึกฉนวนกาซาที่ผ่านมา กองกำลังฮามาสสูญเสียสมาชิกไปมากกว่า 10,000 คน ซึ่งมีทั้งที่ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ก็ถูกจับกุมตัว
ข้อมูลของกองทัพอิสราเอลระบุว่า กองกำลังฮามาสราว 18-24 กองพัน ถูก “ถอนรากถอนโคน” ในการทำศึกกาซาหนนี้
ส่วนนักรบฮามาสที่เหลือตกอยู่ในสภาพทำศึกได้เพียงฉาบฉวยแบบ “สงครามกองโจร” เท่านั้น
โดยรวมก็คือขบวนการฮามาส ไม่มีศักยภาพหลงเหลือพอต่อการปกครองฉนวนกาซาอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกต่อไปแล้ว
หากมีการเปิดฉากโจมตีราฟาห์ต่อเนื่องต่อไป ก็จะยิ่งบีบคั้นฮามาสมากยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม การเปิดศึกราฟาห์นั้น เสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียพลเรือนครั้งใหญ่ เพราะแม้แต่บรรดานายพลอิสราเอลเองก็ยอมรับว่า ไม่มีทางใดที่มีประสิทธิภาพดีพอสำหรับการขนย้ายพลเรือน 1.4 ล้านคนให้พ้นทางปืน หลบกระสุนหรือระเบิดได้อีกแล้ว
ก่อนหน้านี้ ก่อนการโจมตีกาซาซิตี้และข่านยูนิส กองทัพอิสราเอลเปิดช่องให้พลเรือยสามารถเคลื่อนย้ายลงใต้ เพื่อให้พ้นจากเขตสงครามได้
แต่ในเวลานี้ หนทางเดียวที่จะหนีภัยจากการสู้รบที่ราฟาห์ได้ก็คือ เข้าไปหลบอยู่ในเขตตั้งเต็นท์อพยพที่ถือเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ขนาดเล็กมากริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งไม่มีทางเพียงพอ
ในขณะที่อียิปต์ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยินยอมให้ผู้อพยพหลั่งไหลข้ามแดนเข้ามาในประเทศตนได้อีกแล้ว
วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานเอาไว้ว่า หากเกิดผู้อพยพปาเลสไตน์หลั่งไหลข้ามแดนสู่อียิปต์อีกครั้ง จะมีการระงับใช้สนธิสัญญาสันติภาพเก่าแก่ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ ซึ่งลงนามกันไว้ตั้งแต่ปี 1979 ไปในทันที
ศึกสุดท้ายที่ราฟาห์ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ
หนึ่งคือ เนทันยาฮูสามารถปลุกเร้า สร้างกระแสสนับสนุนภายในอิสราเอลให้ทำศึกครั้งนี้ได้มากพอหรือไม่
กับอีกปัจจัยหนึ่งคือ ผลการเจรจาทางการทูตเพื่อหยุดยิงและปล่อยตัวประกันส่งผลออกมาในทิศทางใด
ข่าวร้ายก็คือ จนถึงขณะนี้การเจรจาเท่าที่เกิดขึ้นยังไม่ปรากฏสัญญาณในทางที่ดีให้เห็นเอาเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022