วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

บางตอนที่ว่านี้เล่าว่า เมื่อครั้งที่กษัตริย์เซี่ยวเหวินยังเป็นเจ้าชายอี้เหญิน หรือที่มีอีกพระนามหนึ่งว่า จื๋อฉู่ และทรงเป็นองค์ประกันอยู่ที่รัฐจ้าวนั้น (1) มีพ่อค้านาม หลี่ว์ปู้เหวย เข้ามาตีสนิทและให้การอุปถัมภ์ทางการเงินเพื่อหวังผลตามวิสัยของพ่อค้า ว่าการอุปถัมภ์ก็คือการลงทุนอย่างหนึ่ง

หากวันหนึ่งข้างหน้าจื๋อฉู่เกิดมีความก้าวหน้าทางการเมืองแล้ว ตัวเขาเองก็ย่อมได้ดิบได้ดีเป็นขุนนางไปด้วย ถึงตอนนั้นก็สามารถใช้ตำแหน่งขุนนางถอนทุนที่ได้ลงทุนไปกลับคืนเป็นกำไร

และการลงทุนในเรื่องหนึ่งของเขาก็คือ เขาได้ถวายนางบำเรอคนหนึ่งของตนให้แก่จื๋อฉู่ เพราะเห็นว่าจื๋อฉู่ทรงพอใจนางบำเรอผู้นี้

กล่าวกันว่า ตอนที่นางบำเรอผู้นี้ตกไปเป็นของจื๋อฉู่นั้น นางได้ตั้งครรภ์กับหลี่ปู้เหวยแล้ว และหลังจากการตั้งครรภ์เป็นเวลาที่ยาวนานนางก็ให้กำเนิดคือ อิ๋งเจิ้ง หรือ เจิ้ง จนทำให้เข้าใจกันว่าเจิ้งก็คือพระบุตรของจื๋อฉู่

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักวิชาการเห็นว่า ข้อความที่ว่าใน สื่อจี้ นี้ซือหม่าเชียนใช้คำว่าการตั้งครรภ์เป็น “เวลาที่ยาวนาน” จนทำให้เชื่อว่า เจิ้งน่าจะเป็นพระบุตรของจื๋อฉู่จริงๆ แต่ที่วิเคราะห์ว่าเป็นบุตรของหลี่ว์ปู้เหวยนั้นน่าจะเป็นการให้ร้ายจักรพรรดิฉินสื่อมากกว่าอื่นใด

คือพยายามทำให้พระองค์ขาดความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นบุตรนอกสมรส หรือเป็นบุตรพ่อค้าที่มิได้มีหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์แม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับวัฒนธรรมขงจื่อที่จะเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของจีนหลังราชวงศ์ฉินนั้น ได้จัดให้พ่อค้าเป็นชนชั้นที่อยู่ระดับล่างสุดของสังคม

และสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการให้ร้ายจักรพรรดิฉินสื่อก็เพราะว่า ระหว่างที่ครองตนเป็นจักรพรรดินั้น พระองค์ทรงมีบางนโยบายที่มิได้ยังความสงบสุขแก่ราษฎร ทั้งนี้ ยังมินับนโยบายภายในราชสำนักหรือต่อเหล่าบัณฑิตจากสำนักคิดต่างๆ โดยเฉพาะสำนักหญูของขงจื่อ ที่ล้วนส่งผลกระทบในทางร้ายทั้งสิ้น

สาเหตุเหล่านี้ได้สร้างความขมขื่นให้แก่ราษฎร และความไม่พอใจให้แก่ขุนนางและบัณฑิตจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นประเด็นที่งานศึกษานี้จะกล่าวได้ถึงต่อไปข้างหน้า

พ้นไปจากเรื่องที่มาของฉินและกำเนิดของอิ๋งเจิ้งแล้ว ที่เหลือจะเป็นประเด็นปลีกย่อยที่มิได้มีนัยสำคัญต่อการศึกษาในที่นี้มากนัก ซ้ำยังเป็นประเด็นที่ยังคงถกเถียงกันไม่รู้จบแม้จนทุกวันนี้ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ต้องมนตร์เสน่ห์ของราชวงศ์ฉิน

แต่หากกล่าวในแง่ภาพรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังที่มาของฉินหรือของอิ๋งเจิ้งก็ตาม นับว่ามีความชัดเจนในระดับที่ไม่ทำให้การศึกษาราชวงศ์ฉินเบี่ยงเบนไปจากที่ควรเป็น

 

ข.เอกภาพเพื่อจักรวรรดิ

การตั้งจีนเป็นจักรวรรดิของจักรพรรดิฉินสื่อนั้น ในเบื้องต้นถือได้ว่าตั้งขึ้นได้จากการที่พระองค์สามารถปราบรัฐทรงอิทธิพลทั้งหกได้สำเร็จ ความสำเร็จนี้คือบาทก้าวแรกในการรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกัน โดยที่รัฐทั้งหกในฐานะผู้แพ้ถึงแม้จะสยบต่อฉินก็จริง ก็มิได้หมายความว่าที่สยบนั้นจะสยบด้วยความเต็มใจ

ในแง่นี้หากรัฐทั้งหกคิดจะกระด้างกระเดื่องขึ้นมาในกาลข้างหน้าย่อมมิใช่เรื่องแปลก

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐฉินเป็นฝ่ายมีชัยเหนือรัฐทั้งหกดังกล่าว ก็ถือได้ว่าจีนได้เข้าสู่ความเป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องตกอยู่ในวังวนความแตกแยกมากว่า 500 ปีก่อนหน้านั้น เมื่อเอกภาพเกิดขึ้น ก้าวต่อไปของฉินจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เอกภาพนี้อยู่ยั้งยืนยงได้ต่อไป

และหากทำได้ก็หมายความว่า เจตนารมณ์ของฉินสื่อในอันที่จะให้จักรวรรดิของพระองค์มีเสถียรภาพเป็นหมื่นปีก็จะสำเร็จ

โดยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญก็คือมหาอำมาตย์ของพระองค์ที่ชื่อว่า หลี่ซือ (ประมาณ ก.ค.ศ.280-208)

 

บุคคลนี้ไม่เพียงจะอยู่เบื้องหลังชัยชนะที่มีต่อหกรัฐของกษัตริย์เจิ้งเท่านั้น หากเมื่อฉินตั้งจักรวรรดิขึ้นแล้ว ตัวเขายังมีส่วนสำคัญต่อแผนหรือนโยบายด้านต่างๆ ของราชวงศ์ ที่การศึกษานี้จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า แต่ในเบื้องต้นนี้จะกล่าวถึงประเด็นการสร้างเอกภาพให้แก่จักรวรรดิ

แม้จะตั้งราชวงศ์ฉินขึ้นเป็นจักรวรรดิแล้วก็ตาม แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังมิได้หมดไปก็คือ การที่ฉินยังคงมีความขัดแย้งกับชนชาติที่มิใช่ฮั่น และชนชาติที่เป็นปัญหามากก็คือ ซย์งหนีว์ ที่เป็นชนชาติที่ยากจะเอาชนะได้ง่าย

โดยหลังจากที่ตั้งราชวงศ์ได้ไม่นาน จักรพรรดิฉินสื่อทรงส่งขุนศึกนามว่า เหมิงเถียน (?- ก.ค.ศ.210) เป็นผู้นำทัพไปทำศึกกับซย์งหนีว์ที่ชายแดนด้านเหนือของจักรวรรดิ การศึกครั้งนี้ฉินได้ทุ่มทรัพยากรทางการทหารอย่างเต็มที่ จนสามารถขับไล่ซย์งหนีว์ออกไปจากกำแพงของจักรวรรดิได้สำเร็จ

จากนั้นพระองค์จึงทรงมีบัญชาให้ขุนศึกผู้นี้สร้างกำแพงของรัฐฉินขึ้นมาใหม่ โดยให้สร้างเชื่อมต่อกับกำแพงของรัฐเอียนและรัฐจ้าวยาวเป็นแนวเดียวกัน กำแพงที่สร้างใหม่นี้ต่อมาจึงถูกเรียกขานว่า กำแพงหมื่นลี้ (ว่านหลี่ฉางเฉิง) และเรียกสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ (2)

ในแง่นี้กำแพงหมื่นลี้จึงไม่ต่างกับสัญลักษณ์แรกๆ ที่สะท้อนความเป็นเอกภาพของจีนไปในตัว

 

เอกภาพอีกเรื่องหนึ่งที่จักรพรรดิฉินสื่อทรงสร้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็คือ การกำหนดให้มีการใช้เงินตราและมาตราชั่ง ตวง วัด เป็นระบบเดียวกัน

โดยระบบเงินตราแต่เดิมเมื่อครั้งยุครัฐศึกนั้น แต่ละรัฐจะใช้เงินตราที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันไป เช่น รัฐหาน จ้าว และเว่ยจะมีลักษณะคล้ายกับมีดดาบขนาดเล็กและรูปกุญแจ รัฐฉู่มีรูปคล้ายหอยเบี้ย รัฐฉินมีรูปเป็นวงกลม เป็นต้น

จากเหตุนี้ เมื่อรัฐฉินรวมจีนเป็นเอกภาพแล้ว เงินตราที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสน เพราะแต่ละรัฐต่างใช้ตามมาตรฐานของตนด้วยขนาดและน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน

จักรพรรดิฉินสื่อจึงกำหนดขึ้นใหม่โดยให้ใช้เงินตราของรัฐฉินเป็นมาตรฐาน โดยรัฐฉินได้กำหนดรูปลักษณ์เงินตราของตนขึ้นใหม่เป็นวงกลมและตรงกลางเป็นรูสี่เหลี่ยม พร้อมกันนั้นก็ให้ยกเลิกเงินตราที่รัฐอื่นใช้อยู่แต่เดิมทั้งหมด

ส่วนมาตราชั่ง ตวง วัดก็เช่นเดียวกันที่แต่ละรัฐต่างมีมาตราเป็นของตนเองมาตั้งแต่ยุครัฐศึก พอถึงยุคนี้รัฐฉินจึงกำหนดให้ทั่วทั้งจักรวรรดิใช้มาตราของตน แต่ละมาตราต่างมีคำเรียกขานเฉพาะที่เป็นภาษาจีน โดยมาตราชั่งจะมีน้ำหนักห้าระดับด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ เหลี่ยง (ตำลึง) กับจิน (ชั่ง) มาตราตวงมีสี่ระดับ ที่สำคัญคือ โต่ว (ลิตร) และมาตราวัดมีสี่ระดับ ที่สำคัญคือ ฉื่อ (ฟุต) เป็นต้น

มาตราชั่ง ตวง วัดที่กำหนดโดยฉินนี้มีอิทธิพลและมีการปรับใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากเอกภาพในเรื่องดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การปฏิรูปอักษรจีน ที่แต่เดิมก็ไม่ต่างกับระบบเงินตราและมาตราชั่ง ตวง วัด ที่แต่ละรัฐในยุครัฐศึกต่างก็มีมาตรฐานที่เป็นของตนเอง

ครั้นถึงสมัยฉินก็กำหนดให้ทั่วทั้งจักรวรรดิใช้ตามที่ตนปฏิรูปขึ้นใหม่ การปฏิรูปนี้มีหลี่ซือและขุนนางชั้นสูงกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ บุคคลกลุ่มนี้ได้ทำการปรับเปลี่ยนตัวเขียนขึ้นใหม่โดยอิงกับตัวอักษรที่ใช้กันในรัฐฉินเป็นเกณฑ์

เมื่อแล้วเสร็จก็ปรากฏว่า แต่เดิมที่อักษรมีรูปลักษณ์เป็นอักษรภาพก็แปรเปลี่ยนมาเป็นอักษรเชิงสัญลักษณ์ และได้กลายเป็นมาตรฐานให้ราชวงศ์ในชั้นหลังได้พัฒนาตามความเหมาะสมเรื่อยมา

ก่อนที่จะเป็นอักษรจีนตามที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้

———————————————————————————————————
(1) มีอยู่ช่วงหนึ่งของยุครัฐศึกที่ฉินตกเป็นเบี้ยล่างของจ้าว จนต้องส่งองค์ประกันไปไว้ในความควบคุมของจ้าว เพื่อเป็นหลักประกันในความจงรักภักดี หลังจากนั้นต่อมาเมื่อฉินเข้มแข็งขึ้นก็ยุติการขึ้นต่อจ้าว และทำศึกกับจ้าวจนจ้าวพ่ายแพ้ไป เหตุการณ์ทำนองนี้เป็นเรื่องปกติในยุครัฐศึก และเรื่องขององค์ประกันนั้นบางทีก็เกิดควบคู่ไปกับการบรรณาการ ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วในประเด็นระบบบรรณาการในบท “โหมโรง” แล้ว

(2) แม้ไทยจะเรียกว่า กำแพงเมืองจีน ก็ตาม แต่การเรียกของเช่นนี้ก็เพื่อสื่อเป็นนัยว่า นอกจากกำแพงเมืองจีนแล้วก็ไม่มีกำแพงที่ใดที่จะใหญ่เท่าอีกแล้ว ในขณะที่ตะวันตกจะเรียกด้วยความหมายที่ใกล้เคียงกับจีนคือ The Great Wall