เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ตรุษจีน เจ้าเตาไฟ และการส่ง-รับเจ้า

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ขอเรียนท่านผู้อ่านในเบื้องต้นว่า บทความตอนที่แล้วเรื่องไหว้เหง๋นั้น เนื่องจากผมพยายามจะใส่ตัวหนังสือจีนลงไปในบทความ โดยมิได้แจ้งทางทีมบรรณาธิการก่อน จึงอาจเกิดการผิดเพี้ยนหรือปรากฏตัวอักษรแปลกๆ ในขั้นตอนการพิมพ์ได้ ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

กลับมาที่เรื่องตรุษจีน หลังจากไหว้โบ่ยเหง๋หรือไหว้เจ้าที่ปลายปีในวัน 16 ค่ำ เดือน 12 จีนแล้ว ก็มาถึงวันที่อาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นเข้าเทศกาลตรุษจีนจริงๆ คือวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์

ต้องบอกก่อนว่าเรื่องนี้เป็นดราม่ากันทุกปีในวงการไหว้เจ้าเผากระดาษ เพราะข้อมูลแต่ละฝ่ายจะหลั่งไหลมาปะทะกัน บ้างก็ว่าส่งเจ้าทุกองค์ บ้างก็ว่าส่งเจ้าบางองค์ บ้างก็แค่เจ้าเตา คนนิยมศรัทธาตี่จู้เอี๊ยะก็บอกว่าส่งตี่จู้เอี๊ยะไปสวรรค์ต่างหาก แต่บางคนก็ว่าไม่ได้

ดังนั้น ข้อมูลที่นำเสนอนี้คือสิ่งที่ผมเรียนมาจากครูบาอาจารย์ แถมยังมาจากความทรงจำของตนเองอีก ถ้าต่างกับสิ่งที่ท่านเชื่อก็อย่าตกใจ มิได้แปลว่าท่านผิดหรือผมผิด อย่างที่เคยบอกว่าร้อยบ้านมีร้อยธรรมเนียม

อาจารย์ของผมมักจะมีคำติดปากว่า “เขาจะเชื่ออย่างไรก็แล้วแต่เขา”

 

หลักการไหว้เจ้าที่ผมมักจะแนะนำวัยรุ่นหัดไหว้เจ้าด้วยกันคือ อย่างแรก ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมของ “ภาษา” ตน คือบ้านใครเป็นฮกเกี้ยน แต่จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ แคะ ฯลฯ ก็ให้ทำตามรูปแบบวัฒนธรรมของตนเองเป็นหลัก ซึ่งก็คงมีที่หยิบยืมกันบ้างอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องทำตามๆ กันไปทุกเรื่อง ขอให้ยืนยันวัฒนธรรมของตนไว้เพื่อมิให้ถูกกลืนกินสูญหาย เว้นแต่จะไม่เอาแล้วด้วยเหตุผลใดก็ตาม

อย่างที่สอง ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมของครอบครัวและชุมชนตนเองเป็นหลัก ที่บ้านอากงอาม่าไหว้มาอย่างไรก็ควรรักษาเอาไว้ ยิ่งหากไถ่ถามที่มาที่ไปได้ก็จะยิ่งดี เพิ่มพูนความเข้าใจยิ่งขึ้น

แต่หากมือใหม่หัดไหว้เจ้าไม่ใช่คนเชื้อสายจีนและไม่เคยไหว้มาก่อน อันนี้จะยากหน่อย หากจะเริ่มปฏิบัติก็ต้องทราบเงื่อนไขว่า คนจีนถือว่าการไหว้เจ้าหรือบรรพชนนั้นเมื่อเริ่มไหว้แล้วจะต้องไหว้ไปตลอด จะไหว้ๆ หยุดๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ปีนี้ไหว้ ปีหน้าไม่ไหว้ เชื่อว่าบรรพชนท่านกำหนดทิพยญาณว่าลูกหลานจะมาเซ่นไหว้ในทุกเทศกาล จึงจะมารอคอยรับการบวงสรวง หากลูกหลานไม่เซ่นไหว้ท่านย่อมเสียใจ ไม่เกิดมงคลขึ้น ไหว้เจ้าจึงเป็น “ภาระ” ประเภทหนึ่งในทางวัฒนธรรมมากๆ

หลายบ้านที่ลูกหลานไม่ต้องการจะเซ่นไหว้แล้วแต่ก็ยังเกรงใจบรรพชน จะทิ้งขว้างก็ไม่กล้า จึงมักนำป้ายบรรพชนหรืออัฐิไปฝากไว้ที่สมาคมหรือวัดวาอารามจีน พอถึงวันเทศกาลทางนั้นก็จัดเครื่องเซ่นไหว้และประกอบพิธีให้ เราก็แค่จ่ายค่าบำรุงไปตามที่เขากำหนด

สรุปว่าคิดให้ดีก่อนที่จะไหว้ครับ และเมื่อไม่มีต้นแบบ การเลือกว่าจะเซ่นไหว้อย่างไรก็อาจต้องดูจากแบบแผนของชุมชนที่ตนอาศัย หรือแสวงหาครูอาจารย์ที่มีหลักการสามารถอธิบายได้และไม่คิดตังค์เราจนกระเป๋าฉีก การศึกษาหาความรู้ไว้มากๆ ย่อมดีที่สุด

 

คนจีนโบราณเชื่อว่าในบ้านของมนุษย์มีเทพเจ้าสถิตอยู่ในส่วนต่างๆ เช่น ประตู เตาไฟในครัว โถงกลาง ฯลฯ เจ้าเตาไฟเป็นเจ้าที่สำคัญมากเพราะหมายถึง “ชีวิต” ของบ้าน คือเมื่อมีการอยู่อาศัย คนเราก็ก่อไฟหุงต้มอาหารบ้านนั้นก็พลันมีชีวิตชีวาขึ้นมา เมื่อขึ้นบ้านใหม่ตามประเพณีจีนจึงต้องมีการก่อไฟ นำเตาไฟเข้าครัวและบางอาจารย์ก็จะให้ปรุงอาหารขึ้นพอเป็นพิธี

ศาสนาและความเชื่อจีนมักทำให้สิ่งนามธรรมนั้นรับเอารูป-นามอย่างมนุษย์ หรือนำเอาบุคคลในประวัติศาสตร์มาสวมทับ เจ้าเตาไฟในครัวจึงมีตำนานเกี่ยวกับบุคคลชื่อเตียวตั๊น ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมคนหนึ่งแต่ต้องตายด้วยไฟจึงได้รับสถาปนาเป็นเทพ มีพระนามว่า “ซูเบ่งเจ้ากุน” ซึ่งชาวบ้านเรียกกันอย่างสนิทสนมว่าเจ้ากุนก๊อง ทั้งที่เดิมก็มาจากการเคารพไฟจริงๆ ในครัวเรือน

แต่เดิมชาวบ้านไม่มีรูปเคารพแต่ไหว้ที่เตาไฟในบ้านหรือไหว้ป้ายชื่อที่หิ้งเหนือเตาไฟ ซึ่งสมัยก่อนนั้นมักเป็นเตาขนาดใหญ่ บางท่านจึงเชื่อว่าเตาเล็กๆ อย่างที่เรียกว่าอังโล่นั้นไม่มีเจ้าเตาไฟ แต่ผมคิดว่าหากที่ใดมีมนุษย์หุงหาอาหารก็ย่อมมีเจ้าเตาไฟเสมอ เพราะเป็นเทพบุพกาลที่สะท้อนสภาวะความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ถ้ามีรูปเคารพมักทำเป็นชายหนุ่มในชุดขุนนางบุ๋นพร้อมถือไม้เข้าเฝ้าในหัตถ์ข้างหนึ่ง บ้างทำเป็นชายมีหนวดพร้อมเตาโภคทรัพย์

เจ้าเตาไฟเป็นเจ้าประจำบ้าน มักถูกกราบไหว้ด้วยกันกับ “ฮกเต็กเจ่งสีน” หรือพระภูมิเทวดาที่เรียกกันง่ายๆ ว่าตั่วแปะก๊อง ทำหน้าที่ปกปักรักษาดูแลคนในบ้านให้สงบสุขร่มเย็น ปกป้องอัคคีภัยและอันตรายต่างๆ แต่ถือว่าเจ้าเตาไฟนั้นศักดิ์ใหญ่กว่าพระภูมิเทวดา หากประดิษฐานร่วมกันจะต้องอยู่ด้านซ้ายของพระภูมิ ตามหลักของจีนที่ซ้ายใหญ่กว่าขวา

เทพเตาไฟ (Kitchen God) (ภาพจาก www.metmuseum.org, Public Domain)

ตามคัมภีร์ของเต๋าซึ่งเป็นปกรณ์ชาวบ้าน เจ้าเตาไฟจะต้องกลับขึ้นไปทูลรายงานต่อฟ้าหรือองค์จักรพรรดิหยก (หยกหองสย่งเต่/เง็กเซียนฮ่องเต้) จอมเทวราชแห่งสวรรค์ถึงการกระทำดีชั่วของคนในบ้านนั้น ในวัน 24 ค่ำ เดือน12 เรียกว่าวันส่งเจ้าหรือส่างสีน แล้วกลับลงมายังโลกมนุษย์ในวันที่ 4 เดือนหนึ่งของจีนหรือหลังวันเที่ยวในเทศกาลตรุษจีนไปอีกสามวัน เรียกว่าจิ๊สีนหรือรับเจ้า

อันที่จริงเจ้าเตาไฟของวังหลวงจะทำพิธีส่งก่อนบ้านคนทั่วไปหนึ่งวัน คือในวัน 23 ค่ำ เพราะถือว่าศักดิ์สูงกว่าเจ้าเตาไฟชาวบ้าน ส่วนเจ้าเตาไฟโรงทานจะส่งหลังชาวบ้านหนึ่งวันคือวัน 25 ค่ำ โดยให้บรรดาขอทานยาจกทุคตะเข็ญใจมาเป็นผู้นำของเซ่นไหว้ ท่านว่าให้ได้สำนึกรู้บุญคุณเจ้าเตาโรงทานที่เลี้ยงดูมาตลอด

เจ้าเตาไฟนอกจากที่เป็นเทพบุรุษยังมีที่เป็นสตรีด้วย ในช่วงที่เจ้าเตาไฟประจำบ้านหรือเจ้ากุนก๊องไปสวรรค์ราวสิบวัน ระหว่างนั้น “เจ้าแม่เตาไฟ” ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าเจ้าเตาไฟทั้งปวงจะเสด็จลงมาตรวจตราพฤติกรรมของคนในบ้าน ผู้ใหญ่ที่รู้เรื่องนี้จะกำชับลูกหลานไม่ให้ส่งเสียงดังหรือไปพูดไม่ดีอยู่ในครัวในช่วงเวลาที่เจ้าแม่เตาไฟสถิตอยู่ เพราะคนมักคิดว่าไม่มีเจ้าเตาอยู่ในบ้านแล้ว ทั้งๆ ที่มีอีกองค์ประทับอยู่

อันที่จริง เจ้าเตาไฟเป็นเทพประเภท “ไม่เชิญก็อยู่ ไม่ส่งก็ไป ไม่รับก็มา” หมายความว่า เมื่อเกิดการหุงต้มในบ้านก็มีเจ้าเตาไฟสถิตอยู่แล้ว การทำพิธีอัญเชิญตามขนบนั้น ก็เพื่อเป็นนิมิตหมายให้รู้แก่คนในบ้านว่าจะกราบไหว้ที่ตรงไหนแค่นั้น

ส่วนที่บอกว่า “ไม่ส่งก็ไป ไม่รับก็มา” คือเมื่อถึงวันที่กำหนด เจ้าบ้านจะเซ่นไหว้ส่งหรือไม่ก็ตาม เจ้าเตาก็จะต้องไปสวรรค์ตามหน้าที่ของท่าน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเจ้าบ้านจะไหว้รับหรือไม่ก็ต้องกลับลงมาสถิตตามเดิมอยู่ดี

การเซ่นไหว้จึงเป็นการให้เกียรติและแสดงถึงความเคารพมากกว่า

 

ของที่ใช้ไหว้ส่งเจ้าไม่ได้มีอะไรมาก มีเพียงผลไม้สามอย่างหรือแค่ส้มก็ได้ เต๋เหลี่ยวหรือจันอับ น้ำชา แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ขนมเข่ง บางท่านก็ว่าขนมเหนียวๆ หวานๆ จะได้ทูลแต่สิ่งดีๆ หรือเหนียวมากจะได้ทูลไม่ทันเพราะมัวแต่เคี้ยว (ฮา) บางบ้านก็ไหว้กะลอจี้ หรือขนมหวานอื่นๆ

ในทางประเพณี ขนมเข่งถูกเรียกอีกชื่อว่า “หนีโก้ย” หมายถึงขนมปีหรือขนมปากปี (หนี แปลว่า ปี) นี่เป็นพิธีแรกที่ใช้ขนมเข่งไหว้เจ้า เป็นสัญลักษณ์ว่าเริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่อันยาวนานแล้ว บางครั้งจึงเรียกเทศกาลส่งเจ้าว่า เส่หนี หมายถึงปีใหม่เล็ก

ของไหว้ยังมีกระดาษส่งเจ้าทำเป็นรูปม้าและมีทหารเลวจูง ท่านว่าเผาส่งเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่าเจ้าท่านไปแล้ว ส่วนวันรับเจ้านั้น จะใช้กระดาษม้าอย่างเดิมหรือบางท่านก็ว่าใช้กระดาษรูปเกี้ยวก็ได้ คือกลับมาสบายๆ ไม่ต้องเร่งรีบ ให้นั่งเกี้ยวกลับมา แต่ในเมืองไทยยังมีกระดาษรูปนกไว้รับเจ้า แต่ในจีนไม่ได้ใช้

นอกจากนี้ ยังมีการถวายกระดาษอาภรณ์เจ้า (เผา/เพ้า) เพราะเป็นห่วงว่าตลอดทั้งปีเราทำกับข้าว ชุดท่านก็เลอะน้ำมันหมูเลอะซีอิ๊วอะไรต่างๆ ให้ท่านได้ผลัดชุดเปลี่ยนก่อนไปเข้าเฝ้า

 

การไหว้ส่งเจ้านิยมทำในเวลาเช้าๆ ซึ่งเป็นเวลาไหว้เจ้าปกติอยู่แล้ว บ้านผมซึ่งมีเทวรูปเจ้าเตาบนแท่นบูชาก็เซ่นไหว้ตรงนั้นเป็นหลักเพราะเป็นโถงบ้าน แต่ก็ตั้งไหว้ที่เตาไฟด้วยพอเป็นสัญลักษณ์ ส่วนการรับเจ้าบ้างก็เชื่อว่าให้ไหว้ช่วงเย็นๆ เพราะท่านจะได้ไม่ต้องรีบร้อนกลับมา แต่ที่จริงจะไหว้ตอนเช้าแล้วไหว้นิดหน่อยตอนเย็นพอเป็นพิธีก็ได้

บ้านไหนที่ไหว้ชุ้นโต๊ะหรือไหว้รับฤดูวสันต์ (ไว้จะเล่าต่อไป) ก็อาจไม่จำเป็นต้องจัดของไหว้รับเจ้าเตาเพิ่ม เพราะเครื่องบูชาต่างๆ ยังคงตั้งอยู่ในบ้าน แต่จะแทรกขนมเล็กๆ อีกสักจาน เช่น ทอฟฟี่หรือลูกกวาดต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้รับ

มีคำอธิษฐานสำหรับไหว้เจ้าเตาโดยเฉพาะ คือกล่าวว่า “ขึ้นไปสวรรค์ก็ขอให้ทูลแต่สิ่งดีๆ กลับมาก็นำเอาความร่มเย็นเป็นสุขมาด้วย”

ป้ายเจ้าเตาไฟในบ้านมีเขียนอยู่สองแบบ ถ้าเขียนพระนามซูเบ่งเจ้ากุน แสดงว่าเป็นของคนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว หากเขียนอีกแบบเป็นของคนกวางตุ้ง อันที่จริงเจ้าเตานับว่าเป็นเทพที่มีศักดิ์สูงพอประมาณจึงสามารถขึ้นเฝ้าบนฟ้าได้

ส่วนเจ้าที่ ตี่จู้เอี๊ย หรือเทพเจ้าองค์อื่นๆ จะกลับไปสวรรค์หรือไม่อย่างไรนั้น

คงต้องรอติดตามในตอนหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง