ตาสว่างแล้วจริงเหรอ?

คำ ผกา

น่าสนใจว่ากระบวนการกลับมารับโทษ และได้รับการพักโทษของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูก “อ่าน” อย่างไรในสังคมไทย และสร้างวิวาทะที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง อีกทั้งจะส่งผลต่อการเมืองไทยในอนาคตอย่างไร

แต่ก่อนที่จะถึงส่วนที่ถูก “อ่าน” เรามาดูในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งฉันขอสรุปส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงแบบสั้นและกระชับเป็นข้อๆ ดังนี้

 

หนึ่ง ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2549 และการยึดอำนาจรัฐประหารครั้งนั้นได้รับความชอบธรรมหรือได้รับใบอนุญาตจาก “ปัญญาชนไทย” อย่างวิปริต อันเกิดจากขบวนการ mobilized คนของสนธิ ลิ้มทองกุล ในนามของขบวนการพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

วาทกรรมที่ใช้ในการขับเคลื่อนคนให้ออกมา “ต้านระบอบทักษิณ” คือ “ขายชาติ”, “โกงบ้านโกงเมือง” และ “ล้มเจ้า”

 

สอง การรัฐประหารครั้งนั้นในเวลาต่อมาทำให้สังคมไทยเกิด polarization หรือสังคมแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างชัดเจนเป็น “เหลือง” กับ “แดง”

เหลืองคือคนต้านทักษิณ สนับสนุนรัฐประหาร

ส่วน “แดง” คือคนที่เชียร์ทักษิณ ต้านรัฐประหาร

ต่อมา ความหมายนี้ขยับไปสู่อีกระดับหนึ่งคือ มีปัญญาชน “กลับใจ” ตระหนักรู้แล้วว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก ไม่น่าไปกับสนธิในตอนนั้น และหันมาต่อต้านเผด็จการ หันมาต่อต้านรัฐประหาร เข้าร่วมการต่อสู้กับคนเสื้อแดง

บางคนเข้าไปเป็นแนวร่วมกับ “นิติราษฎร์” แต่ยังคงคอนเส็ปต์ “ไม่เอาทักษิณ” และมองว่า “ทักษิณเชื่อถือไม่ได้ ยังไงนักการเมืองก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง”

เพราะฉะนั้น นอกจากจะมี “เหลือง” และ “แดง” แล้วยังมี “แดงทักษิณ”, “แดงพรรคเพื่อไทย” และ “แดงวิชาการ”

ส่วนเหลือง ก็มี “เหลืองรอยัลลิสต์” กับ “เหลืองก้าวหน้า” คือ ไม่เอาทักษิณ และไม่เอารอยัลลิสต์ พร้อมกับที่ทักษิณต้องลี้ภัยจากการถูกตั้งข้อหา คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นไล่หลังมาหลังจากถูกยึดอำนาจ

 

สาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้แดงก้าวหน้า แดงวิชาการ กับเหลืองรอยัลลิสต์ เหลืองก้าวหน้า มีจุดยืนร่วมกันคือ ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนนำไปสู่การชุมนุมของ กปปส. นำไปสู่ม็อบนกหวีด นำไปสู่การรัฐประหารปี 2557

และน่าสนใจมากขึ้น เมื่อการรัฐประหารปี 2557 ทำให้เหลือง “ก้าวหน้า” แดงวิชาการ แดงทักษิณ แดงพรรคเพื่อไทยกลับมามีจุดยืนร่วมกันอีกครั้งคือ ต้านรัฐประหาร ไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่มีจุด “ตัด” ที่ต่างกันคือ กลุ่มเกลียดประยุทธ์ ที่เกลียดทักษิณด้วย กับกลุ่มเกลียดประยุทธ์ที่ยังเป็นแดงพรรคเพื่อไทยกับแดงทักษิณอยู่

และจุดตัดที่น่าสนใจนี้คือกำเนิดของพรรคอนาคตใหม่ที่ภายหลังกลายเป็นพรรคก้าวไกล ที่เป็นจุดพักพิงของ

1. แดงก้าวหน้า แดงวิชาการ แดงแรดิคัล แดงไม่เอาสู้ไปกราบไป แดงไม่เอาทักษิณ

2. เหลืองตาสว่าง เลิกเป็นรอยัลลิสต์ แต่เกลียดทักษิณและพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม

3. กปปส.เก่าที่อยากลบอดีตของตัวเองสมัยนกหวีดด้วยการมาเป็นส้มแบบส้มจี๊ด ส้มกว่าใคร

4. กลุ่มสองไม่เอา จาก ignorance ยกระดับตัวเองมาเป็นหัวก้าวหน้า รักษา status quo ปัญญาชน

และนี่คือเหตุผลที่ฉันเรียกคนกลุ่มที่สอง สาม สี่ ว่าเป็น “สลิ่มเฟสสอง”

จุดแตกหักของการต่อสู้ทางความคิดในสังคมไทยจึงไม่ใช่แค่ polarization แต่ซับซ้อนขึ้น นั่นคือแบ่งเป็น

หนึ่ง สลิ่มเฟสหนึ่งและเฟสสอง เกลียดทักษิณ ไม่เอาเพื่อไทย

สอง สลิ่มเฟสหนึ่งเกลียดเฟสสอง (ส้ม) เพราะมองว่าพวกนี้ “ล้มเจ้า”

สาม แดงทักษิณทะเลาะทั้งเฟสหนึ่ง ทั้งส้ม

 

การกลับมารับโทษ และพักโทษของทักษิณ จึงถูก “อ่าน” โดยมีศูนย์กลางของเรื่องที่ถักทอมาโดยกลุ่มคนที่ถูกหล่อหลอมทางความคิดมาจากวาทกรรมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สอดคล้องเป็นทำนองเดียวกันกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่มองทักษิณเป็น “ผู้ร้าย” ทางการเมืองไทยแบบ default mode อยู่แล้ว และจากพรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุนที่เป็นสลิ่มเฟสสองและเป็นนักคิด ปัญญาชนสาธารณะที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความถูกต้องทางศีลธรรมแบบมนุษย์หอคอยงาช้าง

และจุดศูนย์รวมของวาทกรรมนี้คือ

ทักษิณได้รับอภิสทธิ์

คุกมีไว้ขังคนจน

ทำไมนักโทษคนอื่นไม่ได้รับสิทธินี้แบบทักษิณ

ทักษิณดีลกับผู้มีอำนาจ ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือให้ตัวเองได้กลับบ้าน ทำลายฉันทามติของสังคม ทรยศต่อพรรคก้าวไกลไปจับมือกับกลุ่มอำนาจเดิม เกี้ยเซี้ยเอาทักษิณกลับบ้าน

ในขณะที่กลุ่มแดงทักษิณ และแดงพรรคเพื่อไทยมองว่า ทักษิณไม่ควรจะติดคุกแม้แต่วันเดียว ความอยุติธรรมที่ล่าช้าไปถึง 17 ปี อาจเรียกได้ว่าเป็นความอยุติธรรมด้วยเช่นกัน

คนที่ควรถูกประณาม ไม่ใช่ทักษิณ แต่คือคนที่ทำรัฐประหาร และคนที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นสนธิ ลิ้มฯ, นักวิชาการ ปัญญาชนที่สร้างผีทักษิณมาหลอกหลอนคนไทย สนธิ บุญยรัตกลิน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, ประยุทธ์, เนติบริกรทั้งหลาย องค์กรอิสระ ฯลฯ

คนเหล่านี้กลับลอยนวล ไม่โดนอะไรในขณะที่เหยื่ออย่างทักษิณกลายเป็นตำบลกระสุนตกอยู่คนเดียว ตลอดมาและตลอดไป

 

ส่วนฉันมองว่าทักษิณไม่ควรมีคดีอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้วเพราะเขาคือเหยื่อของการถูกรัฐประหารในฐานะปัจเจกบุคคล

ส่วนเหยื่อของการรัฐประหารในเชิงโครงสร้างคือเราในฐานะคนไทย และสังคมไทย นั่นก็คือ ผลพวงของการสร้างวาทกรรมล้มเจ้าเพื่อทำลายทักษิณทำให้กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูก activated ขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ยิ่งนับตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายอาญามาตรา 112 การดำเนินคดกับประชาชนคนธรรมด้วยกฎหมายความมั่นคงแทบไม่เกิดขึ้น แต่เพราะการรัฐประหารและระบอบการเมืองที่ไล่ล่าทักษิณนี่แหละ ที่ทำให้มีการใช้กฎหมาย 112 ในฐานะเครื่องมือในการกลั่นแหล้งและกำจัดศัตรูทางการเมือง

การรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ต่างหากที่ทำให้เกิดการปะทะ ต่อต้าน ต่อสู้จนทำให้มีนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทางออกของปัญหานี้คือการซ่อมแซมหลักการประชาธิปไตยทั้งเชิงกฎหมายและวัฒนธรรม ไม่ใช่การเอาทักษิณไปขังคุกเพื่อสร้างความรู้สึกว่า “นี่ไง กฎหมายยุติธรรมแล้วนะ เธอก็ติดคุก ทักษิณก็ติดคุก”

หรือถ้าจะบอกว่า หากทักษิณได้พักโทษแล้วก็ต้องให้นักโทษทางการเมืองทุกคนได้ออกจากคุกเหมือนทักษิณด้วย คำถามของฉันคือ ให้ทำยังไง?

ทักษิณกลับเขาสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการรอให้ตัวเองอายุ 75 ปี จากกฎหมายที่ครอบคลุมคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไปพร้อมองค์ประกอบอื่นๆ จนทำให้ทักษิณได้สิทธิอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจจนถึงวันพักโทษ พร้อมกับการยื่นของทุกสิทธิทุกทางที่พึงมีตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้กระบวนการทางลัด

ไม่ใช่ว่าได้ออกจากคุกเพราะเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือจะทำอะไรก็ได้

 

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ และมีเศรษฐาเป็นนายกฯ นี้เป็นรัฐบาลผสมที่มีภารกิจตอบสนองคนเจ็ดสิบล้านคน เศรษฐา และรัฐบาลเพื่อไทย ไม่อาจใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือไปแทรกแซงการทำงานของกระบวนการยุติธรรม สั่งปล่อยตัวนักโทษการเมือง ด้วยการบอกว่า “คนเหล่านี้เป็นนักต่อสู้ปล่อยเขาเถอะ” เพราะถ้าเศรษฐาทำเช่นนั้นและเรานับสนุนก็เท่ากับว่าเรากำลังสนับสนุนให้นายกฯ และรัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจ แม้อำเภอใจนั้นจะเป็นอำเภอใจที่เราคิดว่ามันโคตรถูกต้อง

แต่มากที่สุดที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้คือ ทำให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงานโดยไม่ถูกแทรกแซง ไม่มีใบสั่ง ทำงานอย่างเป็นอิสระ

ที่สำคัญองคาพยพของราชการและทุกองค์กรรู้ว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แบบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

แต่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่โคตรจะ powerlessness ทำงานอยู่ท่ามกลางการจับจ้อง จับผิด วิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากสื่อมวลชน ngos ที่โคตรจะขี้ขลาดตาขาวกับเผด็จการ แต่หาญกล้ามากกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไหนจะฝ่ายค้านที่แสนจะป๊อปปูลาร์

ด้วยภาวะเช่นนี้ โอกาสในการต่อสู้คดีและสวัสดิภาพของนักโทษการเมืองและนักโทษทางความคิดภายใต้รัฐบาลพลเรือนจึงเป็นวางใจมากกว่าในยุคของเผด็จการ

หลังจากนั้นเมื่อประชาธิปไตยเราเริ่มมีเสถียรภาพ การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยไม่ถูกขัดจังหวะ สังคมเริ่มเซ็ตตัวอยู่ในโหมดของประชาธิปไตย การ activate กฎหมายความมั่นคงเพื่อกลั่นแกล้งหรือทำลายศัตรูทางการเมืองก็จะน้อยลง โอกาสการสู้คดีแล้วชนะของคนที่ถูกดำเนินคดีก็จะสูงขึ้น

 

สําหรับคนที่ไม่เลือกหนทางปฏิรูปโค่นล้มอย่างฉันก็มองว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยกลไกการเลือกตั้ง เสถียรภาพของระบอบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเงินของประเทศ การค่อยๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม จะส่งผลทางอ้อมคือ การเรียนรู้ประชาธิปไตยมีค่ามีความหมายมีผลต่อปากท้อง

และนำมาสู่ฉันทามติที่ไม่ยอมรับการขัดจังหวะของประชาธิปไตยการเลือกตั้ง

ไม่ผันตัวเองไปเป็น active citizen แบบพันธมิตรฯ หรือ กปปส.

สามารถอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองไปพร้อมๆ กับรอการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปีให้เป็น

ทีละเล็กทีละน้อย ฉันหวังว่าคนไทยจะค่อยๆ เลือก obsessed กับทักษิณ และเรียนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ได้เกิดจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นพลวัตของสังคมที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองต่างๆ และอำนาจของประชาชนที่รู้จัก “ใช้” พรรคการเมือง

ไม่ใช่การเป็น “ด้อม” ปกป้องอย่างไม่ลืมหูลืมตา