ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
ดิฉันได้ไปเห็น “หอพระนาก” (นาค) ที่กรุงรัตนโกสินทร์ อย่างน้อยสองแห่ง ก็ให้นึกเอะใจถึง “หอพระนาก” (หรืออาจจะเป็น หอพระนาค ยังไม่ทราบแน่ชัดนักว่าควรสะกดอย่างไร) ของทางล้านนา ซึ่งปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว ครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระบรมธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน
หอพระนาก (นาค) ที่สยามสองแห่งที่ว่านี้ แห่งแรกใช้คำว่า “หอพระนาก” ก.ไก่ หมายถึงวัสดุประเภท “นาก” ตั้งอยู่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือวัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง
กับอีกแห่งคือ วัดราชผาติการาม หรือที่เรียกกันว่า วัดส้มเกลี้ยง บ้างเรียกวัดญวน เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นี่ใช้คำว่า “หอพระนาค”
หน้าที่ “หอพระนาก-นาค” ของวัดทั้งสองแห่งนี้ แม้จะต่างฐานานุศักดิ์ และต่างขนาดกัน ทว่า บทบาทของ “หอพระนาก-นาค” ระหว่างวัดทั้งสองแห่งนี้ ก็ทำหน้าที่ดุจเดียวกัน
นั่นคือ การใช้เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของบรรพชนผู้ล่วงลับจำนวนมาก โดยไม่ได้จำกัดจำเพาะว่าต้องเป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่งเท่านั้น
สิ่งที่ดิฉันสนใจยิ่งก็คือคำว่า “นาก” กับ “นาค” เคยฟังรายการทอดน่องท่องเที่ยวของ พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ตอนสาธยายถึงความเป็นมาของ “นางนากพระโขนง” (บ้างเขียน แม่นาค) พี่แกอธิบายว่า ไม่ว่าจะสะกดด้วยตัว ก หรือ ค ก็แล้วแต่ ความหมายโดยรวมนั้น คือเรื่องเดียวกัน ใช้แทนบรรพสตรี แทนดวงวิญญาณของเพศแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว
ครั้นมาอ่านประวัติของ “หอพระนาก” ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็พบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น หอพระนากแห่งนี้ ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่ออุทิศให้กับบรรพสตรีผู้เป็น “เจ้านายฝ่ายใน” ก่อนที่จักเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นสถานที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายหลากหลายราชสกุล ทั้งวังหลวง วังหน้า วังหลัง ทั้งเจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ฯลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 7
ในขณะที่ “หอพระนาค” วัดราชผาติการามเป็นวัดของชาวญวนพุทธที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในหอนี้มีการบรรจุอัฐิบรรพชนของแต่ละตระกูล มีป้ายหินอ่อนระบุชื่อแซ่สกุล บ้างมีภาพถ่ายให้ลูกหลานได้เห็นแต่ไกล โดยไม่ต้องเพ่งไล่หาตัวอักษร
ดิฉันมิอาจทราบได้ว่า ทำไมที่นี่จึงใช้ตัวสะกด “ค” ให้เป็น นาค แล้วมีการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่ที่ด้านนอกของหอ
อีกทั้งไม่แน่ใจว่า วัดแห่งนี้รับธรรมเนียมการบรรจุอัฐิของผู้วายชนม์ มาไว้รวมกันในวัด แล้วเรียกว่า “หอพระนาค” (โดยอาจจะได้ยินเสียงคำว่า นาก-นาค) มาจากต้นกำเนิด “หอพระนากในวังหลวง” มาก่อนแล้วหรือไม่ จึงนำรูปแบบการทำหอเก็บกระดูกบรรพบุรุษหลายตระกูลรวมกันไว้ในวัด
หอพระนาก-นาค ในวัดหลวงลำพูน
ในวัดพระธาตุหริภุญชัยก็เคยมี หอชื่อทำนองเดียวกันนี้อยู่หนึ่งหลัง ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่าควรสะกดอย่างไรดี เพราะเอกสารของทางวัดบางฉบับใช้ ค บางฉบับใช้ ก
โดยทางวัดระบุว่า ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระบรมธาตุนั้น ใกล้กับจุดที่ปัจจุบันเป็น “หอระฆังกังสดาล” (สีแดงโดดเด่น) เคยเป็นที่ตั้งของ “หอพระนาก-นาค” มาก่อน
เท่านั้นยังไม่พอ ข้อมูลจากเอกสารของวัดยังกล่าวต่อไปว่า ก่อนกาลที่จะมีการสร้างหอพระนาก-นาค นั้น บริเวณนี้เคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วขาวพระเสตังคมณี” ของพระนางจามเทวี ที่อัญเชิญมาจากละโว้อีกด้วย
เมื่อพินิจถึง “ความทับซ้อนของพื้นที่” ทำให้ดิฉันต้องโฟกัสให้ลึกลงไปในจุดที่เป็นหอกังสดาลอย่างละเอียด นับแต่คำถามที่ว่าหอหลังนี้เริ่มสร้างในสมัยใด และก่อนหน้านั้น จุดนี้สำคัญขนาดไหน แล้วหาก ว่า เคยมีหอพระนาก-นาค จริง ทำไมต่อมาจึงต้องรื้อ?
พบคำตอบว่า เดิมกังสดาลหลวง (คำว่า “หลวง” ภาษาล้านนาหมายถึงใหญ่) สมัยรัชกาลที่ 5-7 ยังตั้งอยู่กลางแจ้ง เขยิบออกมาด้านหน้าจากจุดที่ตั้งปัจจุบันเล็กน้อย โดยเราจะเห็น “หอหลังหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่เบื้องหลังกังสดาลหลวง ไปทางทิศตะวันออก
หอนี้เองที่ทางวัดให้ข้อมูลว่าคือ “หอพระนาก-นาค” แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่าทำไมจึงชื่อนี้ สร้างโดยใคร เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่อประดิษฐานอะไร
จากภาพถ่ายเก่าหลายมุมที่มีการบันทึกไว้ในยุคที่ขุนนางจากสยามถูกส่งมาตรวจสภาพโบราณสถานในวัดพระธาตุหริภุญชัย หลังจากเกิดเหตุการณ์วาตภัย (ชาวลำพูนเรียก ลมหลวงลำปาง คือพายุใหญ่ที่พัดข้ามขุนตานมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลำพูน เพราะต้นเค้าของพายุอยู่ที่ลำปาง) ราวปี 2454
เราจะเห็น “กังสดาลหลวง” ตั้งอยู่ด้านหน้า “อาคารหลังหนึ่ง” คล้ายว่าก่ออิฐถือปูนทรงสูง แคบคล้ายมณฑปขนาดเล็ก หลังคาทรงมณฑปซ้อน 4 ชั้น ผนังด้านข้างน่าจะเป็นซุ้มหลอก มีบันไดนาคขึ้นสู่อาคารด้านเดียว หอหลังนี้หันหน้าสู่ทิศตะวันตก เพื่อมาสักการะองค์พระบรมธาตุ
ภายในเคยประดิษฐาน “พระนาก-พระนาค” องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากไม่มีใครทราบถึงคำสะกดที่แท้จริง ว่าหอนี้ชื่อที่ถูกต้องดั้งเดิมชื่อหออะไรกันแน่
ดิฉันเคยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องนี้กับอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร 2 ท่าน คือ อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และพี่แอ๊ว ณัฏฐภัทร จันทวิช
ท่านอาจารย์พิเศษสันนิษฐานว่า หอพระนาคน่าจะเคยประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก คนล้านนาไม่เรียก “พระนาคปรก” แต่เรียกย่อๆ ว่า “พระนาค” อาจารย์พิเศษเสนอหลักฐานมารองรับ นั่นคือในวัดพระธาตุหริภุญชัย มีการพบชิ้นส่วนของนาคปรกแผ่พังพานหล่อด้วยสำริดอยู่ชิ้นหนึ่ง ฝีมือช่างหลวงสมัยล้านนายุคทอง ซึ่งการทำพระนาคปรกพบไม่บ่อยนักในล้านนา (ปัจจุบันชิ้นส่วนนาคปรกสำริดนี้จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย)
ส่วนคำถามที่ว่า พระนาคปรกสร้างโดยใคร (ไม่ว่าพระเจ้าติโลกราช หรือพระเมืองแก้ว) ทำไม อย่างไร เพื่ออะไรนั้น ท่านอาจารย์พิเศษบอกว่ายังไม่อาจอธิบายคำตอบได้ คงต้องศึกษากันต่อไป
ในขณะที่พี่แอ๊ว ณัฏฐภัทร (ผู้ล่วงลับ) ได้เสนอว่า หอแห่งนี้ ไม่น่าจะใช่ “หอพระนาค” ที่ประดิษฐานพระปางนาคปรกแต่อย่างใด เพราะในวัฒนธรรมล้านนา มักไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อพระพุทธรูปปางนาคปรกเท่าใดนัก
ในทางกลับกัน ควรเป็น “หอพระนาก” มากกว่า เนื่องจากภายในวัดหลวงแห่งนี้ ก็พบชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูป ที่เหลือเฉพาะพระพักตร์อยู่หนึ่งชิ้น หล่อด้วยวัสดุประเภท “นาก” ซึ่งหายากยิ่งต่างจากสำริดทั่วไป เศียรพระนากองค์นี้ พี่ณัฏฐภัทรกำหนดอายุไว้ว่าน่าจะเก่าถึงล้านนาตอนต้นๆ เลยทีเดียว
โชคดีของดิฉัน ที่ช่วง 20 ปีก่อน ได้มีโอกาสเสวนาปสาทะกับกูรูทั้งสองท่านนี้อยู่เนืองๆ แม้ช่วงนั้นบางประเด็นจักยังไม่ได้รับคำตอบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม
ไม่ว่า “นาค” หรือ “นาก”
ทำไมต้องทับที่ “หอพระแก้วขาว”
ดิฉันลองประมวลทุกความเห็นแล้วเอามาจัดวาง เพื่อหาคำตอบให้เห็นองค์รวม นับแต่ในวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวังก็มี “หอพระนาก” เดิมตั้งใจสร้างเพื่อรำลึกถึงอัฐิเจ้านายฝ่ายใน ที่ไม่ได้แยกครัวเรือนออกไปอยู่นอกวังหลวง
นึกถึงคำกล่าวของพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มองว่า “นาก-นาค” เป็นสัญลักษณ์แห่งการรำลึกถึงเพศแม่ของชาวอุษาคเนย์
คำว่า “นาก-นาค” เป็นคำต่างรูป-พ้องเสียง ในความจริงความหมายคนละอย่างกัน “นาก” คือวัสดุประเภทหนึ่งคล้ายทองแดง และยังเป็นสัตว์หายากอีกชนิดหนึ่ง ที่ชอบสู้กับพังพอน
ส่วน “นาค” หมายถึงพญางู ที่ชาวขอมโบราณนับถือว่าเป็นบรรพสตรีของพวกเขา เป็นทั้งสัตว์ในจินตนาการ ที่พบบ่อยครั้งในพุทธประวัติ
การปรากฏขึ้นของ “เศียรพระนาก” องค์หนึ่ง ภายในวัดหลวงลำพูนก็ดี หรือการพบชิ้นส่วน “แผงนาคปรก” (ไม่พบองค์พระพุทธรูปประกอบกัน) ภายในวัดแห่งเดียวกันก็ดี ซึ่งยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า ควรจะเป็นองค์ไหนกันแน่ที่เคยประดิษฐานอยู่ใน “หอพระนาก-นาค”
สิ่งนี้ยังคงเป็นปริศนา รอการคลี่คลายต่อไป
ทว่า สิ่งหนึ่งที่ควรขบคิดก็คือ พื้นที่แห่งนี้ จุดที่ปัจจุบันเป็นหอกังสดาลหลวงสีแดงชาดโดดเด่น ก่อนที่จะเป็นหอพระนาก-นาค นั้น กล่าวกันว่า เป็นจุดเดียวกันกับเคยเป็น “หอพระแก้วขาว” ซึ่งประดิษฐานพระคู่บ้านคู่เมืองของนครหริภุญไชย เลยทีเดียว
ถามว่าทำไมต้องรื้อหอพระแก้วขาว คำตอบก็คือ หากยังคงไว้ก็ไร้ประโยชน์ เพราะองค์พระเสตังคณีนั้น พระญามังรายได้ย้ายเอาไปไว้ ณ เมืองหลวงใหม่แล้ว นั่นคือ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ในสมัยที่มีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์จากหริภุญไชยสู่ล้านนา
พงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์กล่าวว่าพระญามังรายได้เผาหอพระแก้วขาวหลังนี้ด้วย หลังจากย้ายพระแก้วขาวไปไว้ที่เชียงใหม่แล้ว
หอแห่งนี้ ไม่ว่าพระญามังรายจะเผาหรือไม่เผา ก็เท่ากับหอนี้ได้ถูกเผาทั้งเป็น ไม่ต่างอะไรไปจากตนไม้ที่ยืนตายซาก ด้วยถูกพรากหัวใจไปแล้วจากเมืองลำพูน
เป็นไปได้ว่า ณ จุดสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระแก้วขาวมาช้านานก่อนแล้วนี่เอง ครั้นถึงสมัยของพระญาแสนพู (เดิมนิยมเขียน แสนภู) ผู้เป็นหลานของพระญามังราย ถูกพระญาไชยสงคราม พระราชบิดาส่งให้มานั่งเมืองลำพูนอยู่ 2-3 ปี
ตำนานมูลศาสนากล่าวว่า พระญาแสนพูรำลึกถึงพระนางจามเทวีผู้เป็นปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชย จึงได้สร้างพระพุทธรูปสององค์ เพื่อเป็นตัวแทนของพระนาง แล้วถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมกับอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระนางจามเทวี
สิ่งที่ดิฉันตั้งข้อสมมุติฐานมานานกว่า 2 ทศวรรษก็คือ ทุกครั้งที่มองดูเศียรพระนากในพิพิธภัณฑ์องค์นี้ องค์ที่พี่แอ๊ว ณัฏฐภัทร บอกว่า ดูเป็นศิลปะสมัยล้านนาต้นอย่างมากนั้น อาจเป็นผลงานชิ้นเดียวกันกับที่ตำนานมูลศาสนากล่าวถึงได้หรือไม่ ฤๅพระนากองค์นี้จะเป็นพระพุทธรูปที่พระญาแสนพูสร้างเพื่ออุทิศถวายแด่พระนางจามเทวี
พินิจดูพระพักตร์ พระเนตรหวาน การแย้มพระโอษฐ์ มีจริตสตรีแฝงอยู่ไม่น้อย
มาถึงคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องใช้วัสดุ “นาก” ด้วยเล่า?
อา! คำอธิบายชักจะเริ่มเข้าเค้าขึ้นเรื่อยๆ เหตุเพราะ “นาก” เป็นคำพ้องกับ “นาค” ในเมื่อนาคเป็นสัญลักษณ์ของบรรพสตรี ซึ่งในสมัยพระญาแสนพู ความนิยมในการทำพระปางนาคปรกอาจจะยังไม่แพร่หลายนัก พระองค์จึงหยิบยืมเนื้อวัสดุ “นาก” มาใช้แทนนาค เพื่อต้องการสื่อถึงวิญญาณของเพศแม่ ได้หรือไม่
หากข้อสันนิษฐานเรื่องนี้มีส่วนจริงอยู่บ้าง ดิฉันคิดว่าประเด็นนี้น่าตื่นเต้นทีเดียว และต้องชวนศึกษาเจาะลึกกันต่อไปอีกด้วยว่า ต้นกำเนิดของการทำ “หอพระนาก-นาค” เพื่อใช้เป็นเครื่องรำลึกถึงดวงวิญญาณบรรพชนฝ่ายหญิงนั้น ตอนแรกก็นึกว่ามีเฉพาะในวัฒนธรรมสยามที่กรุงรัตนโกสินทร์เสียอีก
ไปๆ มาๆ หอพระนาก-นาค ของล้านนานั้น น่าจะถือกำเนิดขึ้นก่อนกว่าภาคกลางไหม หมายเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้นนะคะ ขอให้ช่วยขบคิดกันต่อ •
ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022