อำนาจ/ความรู้ : ความเป็นเลิศทางวิชาการ (5)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

อำนาจ/ความรู้

: ความเป็นเลิศทางวิชาการ (5)

 

ภูมิทัศน์ของการสร้างความรู้ผ่านการเรียนและการสอนโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่ภายหลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งกินเวลาจากปี พ.ศ.2501-2510 ที่ผ่านมาเราให้น้ำหนักไปที่การสร้าง “ระบอบปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ ที่ด้านหนึ่งผลักดันนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมตามพิมพ์เขียวของธนาคารโลกและรัฐบาลอเมริกันที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ (การเงิน) และการทหาร รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์มาร่วมคิดและวางแผนด้วย

ทั้งหมดนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างเน้นหนักที่การสร้างคนชั้นกลางและวิถีชีวิตของพวกนั้น ในขณะที่ลดความสำคัญในการผลิตเกษตรกรรมและชีวิตของชุมชนหมู่บ้านชนบทให้ดำเนินไปตามธรรมดา

ในอีกด้านหนึ่งทางการเมืองสร้างระบบอำนาจนิยมเผด็จการภายใต้อุดมการณ์พ่อขุนอุปถัมภ์ (despotic paternalism) เกิดสังคมสองมาตรฐานสองความเจริญและความเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมจากนั้นมาถึงปัจจุบัน

การพัฒนาหรือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองนี่คือการพัฒนาของระบบทุนนิยมแบบไทยๆ ในสังคมไทย

ซึ่งอดเปรียบเทียบกับสมัยการปฏิรูปรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แบบตะวันตกเราอาศัยว่าจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติมาโดยตลอด แต่ครั้งหลังรัฐบาลไทยไม่มี “อิสรภาพ” มากเหมือนกับยุคแรก อีกทั้งรัฐสยามไทยในยุคสงครามเย็น ก็ไม่มีพลังที่จะไปต่อรองกับมหาอำนาจน้อยใหญ่ได้ นอกจากต้องสมาทานแนวคิดและอุดมการณ์การพัฒนาประเทศตามสหรัฐอย่างเต็มที่

ประกอบกับความกลัวว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะเข้ามาทำลายหมดสิ้นทั้งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผู้นำการเมืองและกองทัพจึงกลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐด้วยความยินดี

 

ที่ผ่านมาเราให้ความสนใจไปที่ผลพวงของการพัฒนาที่สำคัญคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เช่น การคมนาคมและการลงทุนจากภายนอกอย่างอิสระเสรีและได้การอุปถัมภ์ลดภาษีและครอบครองที่ดินในการผลิตอย่างเสรี

อีกด้านที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงอย่างจริงจังก็คือการก่อเกิดและเติบใหญ่ของกลุ่มคนที่เรียกรวมๆ ว่านักวิชาการรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นกำลังในการสร้างและวิจัยความรู้ด้านสังคมศาสตร์ไทย ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกระทรวงและอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ

ส่วนหนึ่งถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสถาบันสร้างและค้นคว้าความรู้ ได้แก่ สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ เริ่มก่อตั้งในปี 2499 โดยแต่งตั้งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์เป็นเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติโดยตำแหน่ง และตั้งสำนักงานเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นที่กรมวิทยาศาสตร์เป็นการชั่วคราว

พร้อมทั้งได้กำหนดสาขาวิชาการที่จะวิจัยไว้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์โดยแบ่งออกเป็น 6 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เคมีและเภสัชวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม

ต่อมาสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ปรับเป็นหน่วยงานกลางของการวิจัยทั้งหมดในปี 2502

คนกลุ่มนี้ที่ต่อมามีอำนาจวาสนามากขึ้นในระบบราชการทำให้มีคนตั้งสมญาว่า “ขุนนางนักวิชาการ” มีบทบาทไม่น้อยในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปในหนทางของความเจริญทางวัตถุ ที่แตกต่างจากยุคปฏิรูปจักรีคือพวก “ขุนนางนักวิชาการ” เหล่านี้ไม่ใช่ขุนนางแท้ หากมาจากครอบครัวกระฎุมพีคนชั้นกลางที่ก่อตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แทบทั้งหมดสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจากเมืองนอกโดยเฉพาะอเมริกาที่เริ่มให้ทุนนักเรียนไทยไปเรียนต่อเป็นจำนวนมาก คุณูปการสำคัญคือการเสริมสร้างระบบทำงานของรัฐไทยให้มีประสิทธิภาพ

 

ในระยะยาว นั่นหมายถึงการสร้างรัฐไทยในมิติและโลกทัศน์ชนชั้นกลางนักวิชาการ ที่มีผลต่อการสร้างความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เป็นพาณิชยกรรมและอาศัยอำนาจรัฐในการผลิตและแลกเปลี่ยน ไม่ใช่บนความสามารถด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมซึ่งขาดการสะสมประสบการณ์ของช่างฝีมือในประเทศเองที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากระบบการศึกษาไทยเองที่ให้น้ำหนักไปที่วิชาชีพชั้นสูงมากกว่าช่างธรรมดาพื้นฐาน และจากการสะสมกำไรง่ายกว่าจากการค้าที่ไม่เท่าเทียมกันของภาคเกษตรกรรมและกำไรจากการผูกขาดตลาดและผู้บริโภค

ทว่า ในอีกด้านหนึ่งการเติบใหญ่ของชนชั้นกระฎุมพีก็นำมาซึ่งการก่อรูปของรูปการความคิดและอุดมการณ์เชิงปัจเจกบุคคลที่ปรารถนาความเป็นอิสระเสรีของเสรีชน

และนี่คือความย้อนแย้งที่คาดไม่ถึงของพัฒนาการที่จะนำไปสู่การเริ่มวิพากษ์วิจารณ์แนวทางนโยบายการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่สร้างความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำในทุกๆ ทางแก่พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

การเติบใหญ่ของการสร้างความรู้สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงดำเนินไปท่ามกลางความต้านตึงของวิถีการผลิตระบบทุนอุปถัมภ์และอำนาจการเมืองที่ผูกขาดไว้กับชนชั้นนำจารีตและกองทัพ ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามเย็นและการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

มีผลต่อการปราบปรามจับกุมคุมขังปัญญาชนนักคิดนักเขียนแนวคิดก้าวหน้าและเอียงซ้ายสมัยนั้นจำนวนมาก เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุภา ศิริมานนท์ และจิตร ภูมิศักดิ์

หลังจากนั้นแนวคิดแบบสังคมศาสตร์อเมริกันก็แพร่หลายและเป็นกระแสความคิดหลักที่รับรู้กันในหมู่นักศึกษารุ่นก่อน 14 ตุลา

 

การวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศโดยนักวิชาการไทยแพร่หลายมากขึ้น นักวิชาการกลายเป็น “เซเลบ” ดังคำกล่าวเรียกชื่อกลุ่มอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯว่า “โฉมฉายสายหูชูโต” (ประชุม โฉมฉาย พัทยา สายหู สมศักดิ์ ชูโต)

ที่สถาบันพับัณฑิตฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้แก่ อมร รักษาสัตย์ เขียนหนังสือเรื่องการพัฒนาการเมืองไทย และเดชชาติ วงษ์โกมลเชษฐ์ เรื่องหลักรัฐศาสตร์

ในธรรมศาสตร์ได้แก่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเสน่ห์ จามริก เกษม ศิริสัมพันธ์ นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (สามทหารเสือ)

ข้ามฟากไปทางศิริราชคือหมอประเวศ วะสี

ที่โดดเด่นและจะมีผลสะเทือนกว้างไกลคือการก่อรูปของกลุ่ม “ปัญญาชนสยาม” ที่รวมนักวิชาการและข้าราชการอาวุโสในกระทรวงหลักเช่นการคลัง การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ไปถึงอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ทั้งที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์

ที่จุดประกายให้แก่กลุ่มนี้คือการปรากฏตัวของนิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ภายใต้การนำของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนนักพูดที่เดินตามรอยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในทางประวัติศาสตร์ แต่มีวิธีวิทยาและวาทะที่ต่างออกไปอย่างดุเดือดและวิจารณ์รัฐบาลและนโยบายที่รับใช้ระบบไม่ใช่ประชาชน ก่อเกิดคลื่นลูกใหม่

ที่สำคัญเขาประสบความสำเร็จในการใช้วิธีวิทยาตะวันตกมาประสานเข้ากับเนื้อหาที่เป็นอนุรักษนิยมไทยที่วางอยู่บนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้อย่างมีพลัง โดยเฉพาะการใช้ความรู้ในพุทธศาสนาเป็นฐานการวิพากษ์สถาบันหลักทั้งหมด

กล่าวได้ว่า “พุทธศาสนาตามการตีความใหม่ของสุลักษณ์ เป็นพุทธศาสนาที่พยายามเข้ามาปะทะสังสรรค์ ขัดแย้ง กลมกลืน และอยู่ร่วมกับความคิดสมัยใหม่

พยายามหนุนเสริมคุณค่าบางอย่างของความคิดสมัยใหม่โดยเฉพาะคุณค่าในเรื่องการแสวงหาสัจจะ คุณธรรม ภายใต้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบประเด็นสาธารณะในทุกๆ เรื่อง” (สุรพศ ทวีศักดิ์, “จุดเปลี่ยนทางความคิดจากปรากฏการณ์ ส.ศิวรักษ์ ‘พุทธศาสนาสำคัญกว่าสถาบันกษัตริย์’, | ประชาไท Prachatai.com)

การรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการของนิสิตนักศึกษาในนามศึกษิตและปริทัศน์เสวนา สร้างพื้นที่สาธารณะของการอภิปรายปัญหาและอนาคตของสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เวทีในการพบปะแลกเปลี่ยนคือร้านหนังสือศึกษิตสยามในสามย่านและโบสถ์รังษีวัดบวรนิเวศ

ประกายไฟของความคิดวิพากษ์เริ่มแพร่กระจาย และนี่เองคือแหล่งที่มาอันลุ่มลึกของความคิดในการวิจัยและค้นคว้าทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ไม่ใช่มาจากนโยบายและประกาศของกระทรวงและมหาวิทยาลัยเองรวมถึงจากสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติด้วย

ความคิดในการวิจัยค้นคว้าก่อนอื่นต้องเริ่มจากสภาพภูมิปัญญาความคิดที่อิสระเสรีและเป็นตัวของตัวเองของเสรีชน ไม่ใช่จากความคิดของผู้ตามหรือนักล่ารางวัลจากรัฐและทุน

ห้าปีหลังจากการก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหมุดหมายอีกวาระของการเรียนรู้รอบด้าน

ในปี 2510 เสน่ห์ จามริก ก็ตั้งแผนกวิชารัฐศาสตร์ศึกษาขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เพื่อศึกษารัฐศาสตร์อย่างรอบด้าน

ที่สำคัญไม่ใช่เพื่อรับใช้กรมการปกครองดังที่กระทำจนเป็นประเพณีไปในขณะนั้น

หลังจากที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ามารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยากาศของการตื่นตัวทางวิชาการสังคมศาสตร์แพร่กระจายไปทั่ว

พร้อมกับความเชื่อมั่นในความเป็นตัวของตัวเอง จนถึงขั้นประกาศอย่างไม่เกรงใจในการตั้งจุดหมายของอุดมศึกษาต่อไปว่าคือการสร้าง “ความเป็นเลิศทางวิชาการ” (academic excellence)

ความเปลี่ยนแปลงในการสร้างความรู้ระยะนี้ที่สำคัญคือการตอกย้ำว่าวิชาการและความรู้นั้นไม่อาจแยกออกจากคุณธรรมและจริยธรรมคือกล้าหาญที่จะบอกความจริงหรือคัดค้านสิ่งที่ไม่เป็นความจริงให้ปรากฏแก่สังคมได้