ก่อนจะมาเป็นถนนสายไม้

ปริญญา ตรีน้อยใส

ฉบับที่แล้วพาไปมองสาวญวนที่เคยอยู่ที่ย่านบางโพ ฉบับนี้ยังอยู่ที่บางโพ แต่จะพาไปมอง ถนนสายไม้ หรือ ซอยประชานฤมิตร บางโพ แหล่งผลิตและจำหน่ายไม้ เฟอร์นิเจอร์ และงานหัตถกรรมไม้

บนถนนสายไม้นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าไม้ และโรงไม้ ที่จำหน่ายประตูหน้าต่าง ราวระเบียง ที่เป็นไม้ฉลุลาย หรือไม้กลึง เครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงงานฝีมือไม้

เคยพาไปมองมาแล้วว่า ย่านบางโพจะมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ส่วนพื้นที่ด้านในจะเป็นสวนผลไม้

สำหรับกิจการเกี่ยวกับไม้นั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาพร้อมกับชาวญวนอพยพ ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานที่บางโพ ด้วยชาวญวนกลุ่มนี้มาจากภาคใต้ของเวียดนาม โดยเฉพาะเมืองไซ่ง่อนในอดีต หรือนครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน มีความชำนาญในการจับสัตว์น้ำ และงานไม้

สำหรับงานไม้นั้น มีหลักฐานว่าช่างไม้ญวนนั้นเป็นแรงงานหลักในการประกอบเรือกำปั่นของบรรดาเจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในขณะเดียวกัน งานแกะสลักไม้นั้น งานช่างสลักญวนเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ของไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานราชทินนาม หลวงชำนาญไพจิตร ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสลักญวน และ ขุนจำนงค์รจนา ปลัดกรมสลักญวน

 

นาย ต. ผู้เขียนคอลัมน์ก่อสร้างและที่ดิน เล่าให้ฟังว่า คุ้งน้ำตรงย่านบางโพนั้น กระแสน้ำไหลไม่แรง ต่างไปจากคุ้งน้ำอื่น ถ้าน้ำไม่เอื่อยก็จะไหลเชี่ยว สภาพเช่นนี้จึงเป็นแหล่งสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้ง รวมทั้งเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายซุง ที่ล่องมาจากทางภาคเหนือ เข้ามายังโรงไม้ที่อยู่ริมคลองบางโพ

ยังมีอีกเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือภูเขาทอง มีบันทึกว่า ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภูเขาทองเกิดการทรุดตัว จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เริ่มจากเสริมฐานให้มั่นคง โดยใช้วิธีวางไม้ซุงเป็นแพซ้อนกัน รวมทั้งการสร้างพระปรางค์ ฐานย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งงานก่อสร้างทั้งหมดมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การใช้ไม้ซุงจำนวนมาก อีกทั้งไม้แปรรูป และงานไม้แกะสลักนั้น มีบันทึกว่า อาศัยช่างจีนโดยเฉพาะจีนไหหลำเป็นแรงงานก่อสร้าง

เมื่อช่วงเวลาบูรณะนานหลายปี ทำให้เกิดชุมชนของช่างไม้ และมีโรงเลื่อยและโรงไม้ในบริเวณรอบๆ วัด และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งริมคลองรอบกรุงและคลองมหานาค

จนเกิดเป็นย่านค้าไม้ต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

เพียงแต่ว่าหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2500 ทำให้อาคารบ้านเรือน ร้านค้า และโรงไม้เสียหายอย่างมาก ประกอบกับเทศบาลนครกรุงเทพในเวลานั้น ได้ออกมาตรการห้ามตั้งโรงงานในเขตชุมชน ส่งผลให้กิจการเกี่ยวกับไม้ โดยเฉพาะการแปรรูป ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บางโพ เรื่องนี้จึงตรงกับคำบอกเล่าของชาวบางโพในปัจจุบันว่า เป็นชุมชนที่ย้ายมาจากวัดสระเกศ

จึงเป็นไปได้ว่า ที่มาของถนนสายไม้ หรือกิจการที่เกี่ยวกับไม้ ในย่านบางโพในปัจจุบันนั้น สืบทอดมาจากช่างไม้ญวนอพยพ ที่มาตั้งถิ่นฐาน ผนวกรวมกับช่างไม้จีนไหหลำ ที่โยกย้ายมาอยู่หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่วัดสระเกศ

หลังจากนั้นจึงมีช่างไม้จากต่างจังหวัดในภาคกลาง เข้ามาร่วมประกอบอาชีพ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส