วิถีแห่งอนาคต ‘สมรสเท่าเทียม’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

สดๆ ร้อนๆ เลยครับ

เย็นวันนี้ผมเพิ่งกลับมาจากงานสัมมนาซึ่งใช้เวลาเต็มตลอดวันที่สามย่านมิตรทาวน์ เป็นงานสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดโดยบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ชื่อบีเจซีบิ๊กซี และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ของผม) ร่วมมือสนับสนุนทางวิชาการ หัวข้อการสัมมนาเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อว่า Business Gender Diversity and the Path Ahead ซึ่งเจ้าของงานแปลเป็นภาษาไทยว่า ธุรกิจ ความหลากหลายทางเพศสภาพและวิถีแห่งอนาคต

เนื้อหาที่สัมมนาหรือแลกเปลี่ยนความคิดถึงกันมีข้อใหญ่ใจความว่า โลกทุกวันนี้เราไม่อาจปิดตารับรู้ว่ามนุษย์มีเพียงแค่สองเพศ คือเพศกำเนิดที่เรียกว่าชายและหญิงอีกต่อไป หากแต่มีเพศสภาพที่มีความหลากหลายมากกว่านั้น

และนับวันประเด็นการรับรู้และการปรับตัวของสังคม ก็จะทวีความสำคัญและความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 

หลายคนรวมทั้งผมด้วย เคยนึกว่าเรื่องอย่างนี้รัฐต้องเป็นผู้นำ เมื่อรัฐนำไปแล้วคนอื่นก็จะเดินตามมา

แต่จากข้อมูลที่ได้รับจากเวทีสัมมนาวันนี้ ผมตื่นตาตื่นใจมากครับที่ได้รับรู้ว่าบริษัทเอกชนในบ้านเราหลายแห่งเขาเดินหน้าไปไกลแล้ว

เช่น บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อนุญาตให้พนักงานของบริษัทสามารถมาแจ้งชื่อคู่ชีวิตเพศเดียวกันให้บริษัททราบ เพื่อขอสิทธิใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลให้คู่ชีวิตของตนเช่นเดียวกับคู่สมรสของพนักงานรายอื่นที่เป็นคู่สมรสชายหญิง

เจ้าภาพผู้จัดงานเองคือบีเจซีบิ๊กซีก็อนุญาตให้พนักงานไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถลาไปจัดงานแต่งงานของตัวเองได้ เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้วันเหมือนกับการแต่งงานของคู่สมรสชายหญิง ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

บริษัททั้งหลายมีแนวคิดว่า การทำให้มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเองได้ จะทำให้เขาหรือเธอทำงานอย่างมีความสุข มีความปลอดภัย และคุณภาพของงานก็จะดีขึ้นด้วย

 

วันนี้อีกเช่นเดียวกัน ที่ผมได้รื้อฟื้นทบทวนความทรงจำ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายทั้งของนิสิตและของบัณฑิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่านิสิตสามารถเลือกแต่งกายตามเพศสภาพได้ และถึงวันเรียนจบเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรก็แต่งกายตามเพศสภาพได้ ไม่ถูกจำกัดหรือบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิดเท่านั้น

เวลาขานชื่อบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร กรณีบัณฑิตเลือกแต่งกายตามเพศสภาพ คณบดีผู้อ่านรายชื่อบัณฑิตจะขานนามบัณฑิตโดยไม่มีคำนำหน้านามว่า นาย หรือ นางสาว ทำแบบนี้แล้ว ผมสังเกตเห็นว่าเป็นที่พอใจกันทุกฝ่ายครับ

นอกจากความก้าวหน้าทางภาคเอกชนแล้ว ในภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการนิติบัญญัติกำลังมีการปรับตัวครั้งใหญ่

ใช่แล้วครับ ผมหมายถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เรียกชื่อกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพห้า ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งยกเครื่องครั้งใหญ่ล่าสุดไปเมื่อพุทธศักราช 2519 ตั้งแต่ผมยังเป็นนิสิตปีสี่

นี่เวลาก็ผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว

เมื่อ 50 ปีก่อน ประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมอาจมีใครนึกอยู่ในใจบ้าง แต่ยังไม่มีใครพูดออกมาเป็นเสียงดังๆ

แต่มาถึงวันนี้ ความรับรู้ความเข้าใจและเสียงเรียกร้องมีความชัดเจน ในการเลือกตั้งเมื่อกลางปีพุทธศักราช 2566 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอนโยบายที่จะจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องสมรสเท่าเทียม

และเวลานี้ร่างกฎหมายเหล่านั้นก็อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

 

ในวงสัมมนาบ่ายวันนี้ ผมโชคดีที่ได้นั่งติดกันกับคุณดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้ผมมีโอกาสได้พูดคุยสอบถามความคืบหน้าว่าร่างกฎหมายไปถึงไหนแล้ว

รวมทั้งถามคำถามตามประสาอยากรู้อยากเห็นของผมซึ่งสอนวิชาการร่างกฎหมายและกระบวนการทางนิติบัญญัติอยู่ด้วย ว่าในสภาผู้แทนราษฎรเวลานี้เขาคิดถึงคำว่าอะไร ที่จะนำมาใช้แทนคำว่าสามีและภริยา

อย่าลืมนะครับว่าสมัยโบราณดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยาและยาวนานมาจนถึงรัชกาลที่เจ็ด กฎหมายที่ใช้เป็นหลักในเรื่องนี้คือกฎหมายที่ชื่อว่า กฎหมายลักษณะผัวเมีย

เว้ากันซื่อๆ แบบนั้นเลย ไม่ต้องเปิดพจนานุกรมก็เข้าใจแล้วว่าหมายความว่าอะไร

ผ่านมาหลายร้อยปีจนถึงยุคสมัยที่เราจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพห้า ว่าด้วยครอบครัว และมีการประกาศใช้เมื่อพุทธศักราช 2478 ในช่วงต้นรัชกาลที่แปด จะเกิดความสวิงสวายอะไรขึ้นผมไม่แน่ใจนัก แต่ว่าตัวบทของกฎหมายใหม่ที่ร่างกันขึ้นในวันนั้น เลิกใช้คำว่าผัวเมีย เปลี่ยนมาใช้คำว่าสามีและภริยา ซึ่งก็ปรากฏในสารบบของคำไทยมาช้านานแล้วเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเพิ่งปรากฏตัวขึ้นมาในปี 2478

แต่เคยสังเกตไหมครับว่า คำว่า สามี ที่เรานึกว่าแปลได้ความหมายเดียวว่า ผัว แท้ที่จริงแล้ว คำว่า สามี ยังแปลว่า นาย หรือ เจ้าของ ได้อีก

พูดถึงคำว่าสามีแล้ว ชวนให้นักกฎหมายอย่างผมคิดต่อไปถึงคำว่า สามยทรัพย์ (อ่านว่า สา-มะ-ยะ-ซับ) ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาระจำยอม คู่กับ ภารยทรัพย์

คำสองคู่ คือคำว่าสามีกับคำว่าภริยาคู่หนึ่ง กับคำว่าสามยทรัพย์และภารยทรัพย์อีกคู่หนึ่ง ในความรู้สึกของผมเห็นว่าน่าจะเป็นญาติหรือมีความสัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง

คำว่าสามีก็ดี คำว่าสามยทรัพย์ก็ดี ดูจะอยู่ในฐานะเป็นเบี้ยบน เหนือกว่าคนเป็นภริยาหรือเป็นภารยทรัพย์อยู่ร่ำไป

ไม่เป็นไรครับ เรื่องนี้เป็นการเดาโดยแท้ ผิดถูกอย่างไรขอเชิญนักภาษาศาสตร์หรือนักนิรุกติศาสตร์กรุณาออกความเห็นกันต่อไป

 

แต่นอกจากความหมายว่าสามีคือผัวและภริยาคือเมียแล้ว คำสองคำนี้ในความรับรู้ของคนทั้งหลาย สามีก็ต้องเป็นผู้ชาย และภริยาต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น

ครั้นมาถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คำว่าสามีและคำว่าภริยาเห็นจะเอามาใช้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะจะไม่ตรงกับรูปเรื่องของการสร้างครอบครัวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสมรสระหว่างชายหญิง หรือการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกันก็ตาม

ผมถามคุณดนุพรว่าในร่างกฎหมายนี้เสนอให้ใช้คำว่าอะไร

คำตอบก็คือใช้คำว่า บุคคลกับคู่สมรส ซึ่งเป็นคำกลางๆ และไม่บ่งบอกเพศอีกต่อไป

รู้เรื่องนี้แล้วยังไม่สาแก่ใจ ผมยังถามคุณดนุพรย้อนขึ้นไปอีกขั้นตอนหนึ่งว่า แล้วหมั้นล่ะครับ คิดใช้คำว่าอะไรกันบ้าง

เราต้องไม่ลืมว่าในความรับรู้จากอดีตของเรา ผู้ชายเท่านั้นที่นำของไปหมั้นผู้หญิง ผู้หญิงจะหมั้นผู้ชายไม่ได้เป็นอันขาด และคนที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกันจะหมั้นกันก็ไม่ได้

แต่จากวันนี้ต่อไปในอนาคต ผมไม่มีสูตรสำเร็จจะอธิบายเสียแล้วว่าใครจะหมั้นใคร

ต้องร้องเพลงว่าสุดแต่หัวใจจะปรารถนาเท่านั้น

คุณดนุพรได้ชี้แจงทางสว่างกับผมว่าคณะกรรมาธิการเวลานี้เลือกใช้คำว่า ผู้หมั้น กับคำว่า ผู้รับหมั้น ผมฟังดูแล้วก็เข้าทีดีอยู่ ใครจะหมั้นใครก็ไปตกลงกันเองได้ทั้งนั้น

 

เห็นไหมครับว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง กฎหมายก็ต้องเดินตามให้ทัน เราไม่สามารถเอากฎหมายที่เขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา หรือต้นรัชกาลที่แปด มาปรับใช้กับการตั้งครอบครัวในยุคปัจจุบันได้แล้ว เราจึงต้องเขียนกฎหมายใหม่อย่างที่กำลังเขียนอยู่เวลานี้

ศัพท์แสงหรือภาษาทางกฎหมายก็ต้องเปลี่ยนไป และไม่ต้องถามด้วยว่าเมื่อมีบุคคลกับคู่สมรสแล้ว ใครเป็นสามีภริยาหรือใครเป็นผัวเป็นเมีย

คำตอบมีง่ายนิดเดียวครับถ้าเกิดมีใครถามขึ้นมา คือตอบว่าอย่าไปรู้เขาเลย

รู้แล้วเราก็ไม่ได้ฉลาดขึ้น ฮา!

 

จากข้อมูลที่ได้รับจากเวทีสัมมนาในวันนี้ ผมเข้าใจว่าถ้าไม่ประสบอุบัติเหตุเสียกลางทาง ภายในปีพุทธศักราช 2567 กฎหมายเรื่องสมรสเท่าเทียมนี้น่าจะมีผลบังคับใช้ และจะมีผลผูกพันให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกันอีกเกือบ 50 ฉบับ

ยกตัวอย่างเพื่อให้ง่ายกับความเข้าใจ เช่น ประมวลรัษฎากรเรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำว่า สามีภริยา อยู่ในที่นั้นเพียบเลยครับ ถ้าไม่แก้กฎหมายให้รองรับกัน จะเกิดคำถามตามมาทันทีว่า จะหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายกันอย่างไรเวลาคำนวณภาษีสิ้นปี

กฎหมายเรื่องการรับบุตรบุญธรรม ก็ต้องมาดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่ามีอะไรต้องปรับต้องเปลี่ยนบ้าง

อีกสักปีสองปีเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว สงสัยผมต้องไปสมัครเป็นนิสิตปีหนึ่งคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ใหม่อีกรอบเสียละกระมัง จะได้ตามกฎหมายใหม่ได้ทันโลกกับเขาบ้าง

มาสมัครเรียนพร้อมกันไหมครับ จะได้เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน

เดินกินข้าวสามย่านทุกวัน สนุกจะตายไป