จากเมียนมา สู่ยูเครน รำลึกวาระครบรอบปีสงคราม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
(Photo by AFP)

“สิ่งที่ไม่สามารถคาดคำนวณได้ในสงครามคือ ความมุ่งมั่นของมนุษย์”
B. H. Liddell Hart (นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ)

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีวาระครบรอบสงครามของยุคปัจจุบันถึง 2 สงคราม คือ

1) สงครามกลางเมืองเมียนมาที่มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

และ 2) สงครามยูเครนที่ตั้งต้นจากการบุกของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022…

ในปี 2024 สงครามกลางเมืองเมียนมาก้าวสู่ปีที่ 4 เช่นที่สงครามยูเครนเดินหน้าสู่ปีที่ 3 สงครามทั้ง 2 ชุดดังกล่าว สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนใน 2 สังคมนั้น อย่างไม่อาจประเมินค่าได้ และจวบจนปัจจุบัน เราก็ยังไม่เห็น “แสงสว่างของสันติภาพ” ที่ปลายอุโมงค์สงครามแต่อย่างใด สงครามยังเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

ในขณะที่สงครามดังกล่าวทั้ง 2 ชุด ยังคงดำรงความต่อเนื่อง สถานการณ์โลกจากปี 2023 ต่อเนื่องเข้าสู่ปี 2024 ก็เกิดความร้อนขึ้นในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และขยายไปสู่ความเป็น “สงครามกาซา”… ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำลายฮามาสให้สิ้นซาก และเพื่อเอาตัวประกันชาวยิวกลับคืนมานั้น วันนี้เห็นแต่เพียงภาพของการโจมตีเป้าหมายในกาซาอย่างไม่จำแนก ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก และเมืองในกาซาถูกทำลายในขอบเขตขนาดใหญ่

ปัญหาในกาซายังขยายต่อเนื่องจนเกิดเป็น “ปัญหาความมั่นคงในทะเลแดง” ที่อาจจะขยายตัวได้มากขึ้นจากการโจมตีกันไปมา ระหว่างกลุ่มฮูติที่ตัดสินใจเปิดการโจมตีเรือสินค้าพลเรือนในทะเลแดง กับฝ่ายตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งตัดสินใจตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในเยเมน รวมถึงการโจมตีที่เกิดขึ้นในเลบานอน อิรัก และซีเรีย

สงครามและการโจมตีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้สถานการณ์โลกในปีปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

สงครามของผู้รักประชาธิปไตยในเมียนมา

สภาวะของโลกที่ร้อนขึ้นในทางการเมืองนั้น ยังเห็นได้ถึงสถานการณ์สงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 3 ปีเต็มของสงครามกลางเมืองเมียนมา

สงครามชุดนี้เริ่มด้วยความสำเร็จของการรัฐประหาร 2021… ผู้นำทหารเมียนมามีความมั่นใจว่า พวกเขาจะกลับสู่การควบคุมการเมืองเมียนมาอีกครั้ง และการต่อต้านจะไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะกองทัพเมียนมาปราบปรามฝ่ายต่อต้านมาโดยตลอด และยังไม่เห็นฝ่ายต่อต้านชนะ

ในอีกมุมหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้การเมืองของประเทศ ก้าวสู่ “บริบทใหม่” ที่ไม่ใช่สงครามระหว่าง “กองทัพของรัฐบาลกลางกับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย” ในแบบเดิม หากเป็นสงครามระหว่าง “กองทัพของคณะรัฐประหารกับกองกำลังของฝ่ายประชาธิปไตย” อันเป็นภาพของความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

กล่าวในทางทหารก็คือ รัฐประหารกลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ “สงครามก่อความไม่สงบ” ในขอบเขตขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในบริบทใหม่ของสงครามหลังการยึดอำนาจคือ การรวมตัวกันของชนทุกกลุ่มในสังคมที่ไม่ตอบรับกับการปกครองของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลกลาง แต่เป็นคนหนุ่มสาวในสังคมเมียนมาทั้งหมดที่เติบโตมากับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และตัดสินใจจับอาวุธเข้าร่วมในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพราะหลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจแล้ว กองทัพได้ใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากเสียชีวิต

ชีวิตในทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเหล่านี้ เริ่มด้วยความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลทหารในการเลือกตั้งเมษายน 2012 หรือโดยนัยคือการเริ่มต้นของ “การเมืองใหม่” หลังจากการชนะของพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคเอ็นแอลดี (The NLD) หรือ “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย” ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี

และในกรณีนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้แทนระหว่างประเทศได้เข้าไปสังเกตการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนสำหรับการเลือกตั้งที่เกิดภายใต้ระบอบทหาร

 

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาในปี 2012 ที่อาจจะดูไม่สมบูรณ์นัก เพราะรัฐธรรมนูญยังสงวนอำนาจให้แก่ฝ่ายทหารในบางส่วน แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศเปลี่ยนไปในทางบวกอย่างมาก แม้การเลือกตั้งที่เกิดในครั้งนี้ นำไปสู่การเมืองที่มีความเป็น “พันทาง” หรือเป็น “ไฮบริด” ในตัวเอง (hybrid politics) แต่กระนั้น การเมืองหลังการเลือกตั้งเปิดโอกาสให้คนในสังคมรู้จัก และคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพและประชาธิปไตย” และเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นหนทางของการพัฒนาสังคมไปสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernization) เช่นในอารยประเทศ

หรืออีกนัยหนึ่งสำหรับคนในสังคม เสรีภาพและประชาธิปไตยจะเป็นเงื่อนไขที่พาประเทศออกจาก “ความด้อยพัฒนา” และ “ความยากจน”

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2012 จึงเป็นดังจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูปการเมืองเมียนมา” หรือบางคนอาจจะถือว่า เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเปิดประเทศ หลังจากการที่ประเทศตกอยู่ในความเป็น “สังคมปิด” มาอย่างยาวนานภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่ล้าหลัง และการปกครองเช่นนี้ ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้นำทหารและครอบครัวอย่างมหาศาล (ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการยึดอำนาจในประเทศข้างบ้านของเมียนมา ที่รัฐประหารคือเงื่อนไขในการสร้างความมั่งคั่งของผู้นำทหาร ไม่ใช่เรื่องของการสร้างการเมืองใหม่)

แต่ในทางกลับกัน ระบอบการปกครองของทหารเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้าง “ความด้อยพัฒนา” (underdevelopment) และนำพาสังคมเมียนมาเข้าสู่ความยากจนอย่างเช่นที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า สำหรับชาวเมียนมาแล้ว “เสรีภาพและประชาธิปไตย” ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชุดความคิดทางการเมือง ที่จะใช้เป็นหนทางของการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งว่าที่จริง ก็อาจไม่แตกต่างกับเสียงเรียกร้องที่จัตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir Square) ในปี 2011 กลางกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “ฤดูใบไม้ผลิของโลกอาหรับ” หรือ “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ที่ถือเป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตยอาหรับ” ครั้งสำคัญของสังคมตะวันออกกลาง

พวกเขาเรียกร้องที่จะพาสังคมอียิปต์ออกจากการปกครองของระบอบทหาร เพราะระบอบอำนาจนิยมไม่ใช่อนาคตของประเทศ

 

สงครามของชาวเสรีนิยมในยูเครน

เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา เสียงประกาศก้องของผู้ชุมนุมที่จัตุรัสไมดาน ในปี 2014 กลางกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “ยูโรไมดาน” (Euromaidan) อันมีนัยถึง “การปฏิวัติประชาธิปไตยยูเครน” ดังเช่นคำอธิบายปรากฏในนิตยสารนิวส์วีก (Newsweek) ว่า การต่อสู้ที่เกิดที่จัตุรัสไมดานไม่เพียงต้องการขับไล่รัฐบาลนิยมรัสเซียที่คอร์รับชั่นออกจากอำนาจการเมืองในยูเครนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพาสังคมออกจากอำนาจการควบคุมอย่างเข้มงวดของรัสเซีย ดังเช่นที่ชาวยูเครนเคยประสบมาแล้วในยุคคอมมิวนิสต์ และทั้งยังต้องการสร้างสังคมที่เคารพในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นสังคมที่คิดและพูดได้อย่างเสรี ตลอดจนสามารถแสดงออกได้อย่างสันติโดยปราศจากการคุกคามที่จะถูกลงโทษจากฝ่ายรัฐ (คำอธิบายของผู้สื่อข่าว Lecia Bushak ที่เขียนถึงการชุมนุมครั้งนี้ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2014)

แต่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในยูเครน กลับสร้างผลกระทบใหญ่อย่างคาดไม่ถึง เพราะยิ่งเสียงเรียกร้องหาประชาธิปไตยดังมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิด “ระยะห่างทางการเมือง” กับระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมของประธานาธิบดีปูตินมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น “ประชาธิปไตยยูเครน” จึงกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่สำคัญต่อ “ระบอบปูติน” ที่สร้างบนฐานคิดในเรื่องของ “จักรวรรดินิยมรัสเซีย” ที่มีนัยถึงการสร้างวาทกรรมชาตินิยม ซึ่งเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้ว “ยูเครนต้องเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย” แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า ยูเครนเป็นเอกราชตั้งแต่ปี 1991 แล้ว

 

นอกจากนี้ ภายใต้ “บันทึกช่วยจำบูดาเปสต์” (The Budapest Memorandum on Security Assurance) ในปี 1994 สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย ลงนามร่วมกันในการค้ำประกันความเป็นเอกราชของยูเครน แต่สำหรับลัทธิชาตินิยมรัสเซียแล้ว เอกราชของยูเครนเป็นสิ่งที่ “ผิดธรรมชาติ” อย่างยิ่ง แม้รัสเซียจะเป็นผู้ลงนามในครั้งนั้นก็ตาม

เอกราชของยูเครนยังมีนัยถึงการดำเนิน “นโยบายมุ่งตะวันตก” ที่คนในสังคมเชื่อว่า เลือกอยู่กับสหภาพยุโรป (EU) เป็นทางเลือกที่ดีกว่า การที่จะเลือกอยู่กับรัสเซีย เพราะมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้วกับการที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตมาแล้ว ในทางกลับกัน การดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากรัสเซียนั้น ถูกมองด้วย “แว่นตาความมั่นคง” ของผู้นำรัสเซียว่า นโยบายเช่นนี้จะเป็นการขยายอิทธิพลของตะวันตกในพื้นที่ที่เคยเป็นของรัสเซียในยุคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้คำตอบเหลือประการเดียวคือ รัสเซียดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม ที่ต้องการการผนวกดินแดน

คำตอบเช่นนี้ นำไปสู่สงครามยูเครนโดยตรงดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน อันทำให้สหรัฐและชาติในยุโรปกลับเข้าสู่สภาวะสงครามอีกครั้งกับรัสเซีย และเป็น “สงครามร้อน” ชุดใหญ่ของสังคมยุโรปในศตวรรษที่ 21

ในอีกด้าน สงครามยูเครนเป็นความชัดเจนในตัวเองของการแบ่งโลกเป็น 2 ค่าย หรือเป็นสภาวะที่ชัดเจนของการกำเนิดของ “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21”

 

อนาคต

เมื่อความฝันของการสร้าง “สังคมใหม่ที่ดีกว่า” ของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเมียนมาถูกทำลายลงด้วยการรัฐประหาร เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้คนหนุ่มสาวตัดสินใจที่จะสู้ มากกว่าการจะยอมจำนนอยู่กับ “อำนาจรัฐทหาร” ดังเช่นในการรัฐประหารครั้งก่อนๆ อันทำให้ “สงครามประชาธิปไตย” ขยับตัวมากขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

และยิ่งหลังจาก “ยุทธการ 1027” ต่อเนื่องเข้าสู่ช่วงเวลาหลังปีใหม่ ก็ยิ่งเห็นถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพรัฐบาล

แม้ความพ่ายแพ้และถอยร่นของกองทัพเมียนมา อาจจะไม่ใช่การล้มลงของระบอบรัฐประหารในทันที แต่ก็เป็นสัญญาณของการถดถอยครั้งใหญ่ เพราะกองทัพรัฐบาลไม่เคยมีความพ่ายแพ้ในระดับเช่นนี้มาก่อน และทั้งยังเห็นถึงการ “หนีทัพ” ของทหารจำนวนมากด้วย

วันนี้ “กองทัพของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร” ที่มีจิตใจรุกรบ และรอโอกาสของ “การรุกใหญ่” ที่จะเกิดขึ้นในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง… แน่นอนว่า “สงครามฤดูแล้ง” ในปี 2024 จะเป็นจุดชี้ขาดที่สำคัญสำหรับอนาคต

ในอีกด้านของโลก สงครามยูเครนในปี 2023 ต่อเข้าปี 2024 ดูจะไม่สดใสเท่าใดนัก ชัยชนะของกองทัพยูเครนในปี 2023 ไม่เด่นชัดเท่ากับปลายปี 2022 และท่าทีในการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์ของสหรัฐ กำลังกลายเป็น “จุดหักมุม” อันทำให้สงครามในปีที่ 3 เริ่มต้นด้วยความกังวล ประกอบกับการรุกกลับทางทหารยังไม่เป็นจริง

ซึ่งทำให้หลายฝ่ายต้องติดตาม “สงครามหลังฤดูหนาว” ว่า กองทัพยูเครนในปีที่ 3 จะรบภายใต้ข้อจำกัดของการสนับสนุนทางทหารจากตะวันตกอย่างไร!