คำ ผกา : มนุษย์เมนส์

คำ ผกา

เป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้งว่า การห้ามผู้หญิงเข้าไปบางอาคารของวัดนั้น เป็นการกีดกัน ดูถูกผู้หญิงหรือไม่? หลังจากมีคลิปมัคนายกวัดไล่สุภาพสตรีคนหนึ่งที่เข้าไปในส่วนซึ่งมีป้ายเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามสุภาพสตรีเข้า”

น่าสนใจและยอกย้อนไปกว่านั้นคือ ผู้โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้เป็นสตรีข้ามเพศ ซึ่งตามเพศสถานะเดิมของเธอ เธอมีสิทธิที่จะเข้า แต่เธอบอกว่า “แม้แต่เธอยังเคารพและไม่เข้า”

อีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกดึงมาเพิ่มน้ำหนักให้กับเรื่องนี้คือ

“ขนาดคนต่างชาติยังไม่ละเมิดกฎนี้” (ขอตอบตรงนี้ว่า ที่ต่างชาติปฏิบัติตามเพราะอาจจะไม่อยากเผชิญความยุ่งยาก เพราะมาเที่ยว คงไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาล หรือมีเรื่องกวนใจโดยใช่เหตุ”

ประเด็นนี้ทำให้ฉันนึกถึงข่าวข่าวหนึ่งในปี 2547 (นานอะไรอย่างนี้!)

ข่าวนั้นคือ คุณระเบียบรัตน์ (ผู้ซึ่งเฟมินิสต์ทั้งหลายบอกว่าท่านช่างเป็นเฟมินิสต์อนุรักษนิยม) ตั้งข้อสังเกตเรื่องการห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุได้อย่างมีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุผลน่าฟัง ไม่ดราม่า ไม่เวิ่นเว้อเลย คุณระเบียบรัตน์บอกว่า

“ภายหลังจากที่ นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ส.ว.ขอนแก่น รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา เดินทางไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ และพระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย ทว่า ไม่สามารถเข้าไปสักการะถึงองค์พระธาตุภายในได้ เนื่องจากมีประเพณีห้ามสตรีขึ้นไปสักการบูชาพระธาตุถึงองค์พระธาตุได้ ซึ่งต่อมานางระเบียบรัตน์นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมมาธิการฯ และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 21 มิ.ย.2547 ถึง พล.ต.ท.อุดม เจริญ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า การห้ามสตรีดังกล่าว น่าจะเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของสตรี และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อสตรี ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 จึงขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม นางระเบียบรัตน์ให้เหตุผลว่า เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย และพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน พบว่า มีป้ายห้ามผู้หญิงเข้าไปไหว้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า เพราะเหตุใด จึงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ และที่ประชุมเชื่อว่าน่าจะขัดต่อสิทธิสตรี เพราะสตรีเป็นเพศที่ทำบุญมากที่สุด หากห้ามเข้า เหตุใดไม่ห้ามเข้าทุกที่ ทั้งพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จึงอยากทราบสาเหตุของข้อห้าม ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ และไม่ใช่ความคิดส่วนตัว แต่คณะกรรมาธิการฯ ทุกคนอยากทราบเหตุผล”

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9470000017443

โอ้โห ตอนนั้นคนทำงานด้านวัฒนธรรมล้านนา และคนท้องถิ่น พากันโกรธ เกลียดคุณระเบียบรัตน์หนักมาก ว่า เอ๊ะ มาตั้งคำถามแบบนี้ได้อย่างไร ความเชื่อนี้มีมาหกร้อยปีแล้ว ต้องเคารพสิ – ทว่านอกจาก “ความยาวนานหกร้อยปี” ก็ไม่มีใครสามารถให้เหตุผลได้ว่า เพราะอะไรจึงห้าม และไม่มีใครพูดถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญในแง่ที่ว่า ป้ายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดหรือไม่

ความขัดแย้งเช่นนี้ไม่ได้มีแต่เมืองไทย เพราะศาสนาทุกศาสนาในโลก มี “ข้อห้าม” หรือ Taboo เกี่ยวกับผู้หญิงหลายประการ

ถามว่า ทำไมห้าม “ผู้หญิง”

ไม่ใช่เพราะความเป็นหญิงน่ารังเกียจหรือสกปรก ตกต่ำ เพียงเพราะเป็นผู้หญิง เพราะโดยทั่วไปแล้ว เราก็รู้ว่า ผู้หญิงในสังคมล้านนานั้นได้รับการยกย่องให้เป็นผู้อุปถัมภ์ทางศาสนาที่สำคัญ สถานะของผู้หญิงล้านนาไม่ได้ย่ำแย่ แต่งงานก็แต่งเข้าบ้านผู้หญิง นับญาติ นับสายผี ก็นับมาทางผู้หญิง มรดกพ่อแม่ก็ต้องตกเป็นของลูกผู้หญิงคนสุดท้อง

ผู้หญิงล้านนานั้นเข้มแข็ง เป็นผู้นำเสียจนผู้ชายล้านนาถูกมองว่า เฟมินีน อ่อนแอเกินไปด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น การห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้าโบสถ์ หรือสักการะพระธาตุ ไม่ใช่เพราะการดูถูกผู้หญิง แต่เป็นความ “กังวล” เกี่ยวกับผู้หญิงในบางกาละ เทศะต่างหาก

อย่างที่เรารู้กันว่า สิ่งไหนจะถูกจัดประเภทว่าเป็นสิ่งแปดเปื้อนหรือสกปรกนั้นขึ้นอยู่กับกาละและเทศะของมัน เช่น รองเท้า ไม่ถือว่าเป็นของสกปรก ตราบเท่าที่มันอยู่กับเท้าเรา แต่รองเท้าจะกลายเป็นสิ่งสกปรกน่ารังเกียจทันที ถ้าเราเอารองเท้ามาวางไว้บนโต๊ะอาหาร สายเสื้อชั้นในของเราก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจเวลาที่มันอยู่ของมันตามลำพัง

แต่เมื่อมันแลบออกมาจากแขนเสื้อของเราออกมาข้างนอกให้คนเห็น มันถูกวางไว้ในสถานะความอุจาดลูกกะตา ไม่เหมาะ ไม่ควรทันที

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของเรา จึงเต็มไปด้วยการจัดประเภท แยกแยะสิ่งของ อะไรควรเอามาไว้หน้าบ้าน อะไรควรเอาไปเก็บหลังร้าน

ไม้ถูบ้าน ผ้าขี้ริ้ว ต้องไปอยู่ในห้องเก็บของหลังบ้านมิดชิด

ผ้าลูกไม้สวยๆ ก็เอาปูโต๊ะรับแขกได้

การแยกแยะนี้ตั้งอยู่บนความ “สะอาด” แต่ไม่ได้แปลว่า เราจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากสิ่ง “สกปรก”

และเอาเข้าจริง เราอยู่ได้ถ้าไม่มีผ้าลูกไม้ปูโต๊ะ แต่อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีผ้าถูพื้น – ซึ่งเรามักเอาไปซ่อนไว้ ไม่ให้ใครเห็น

เช่นเดียวกัน ผู้หญิง ในบางกาละของเธอถูกมองว่า “ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์” ดังนั้น จึงมีข้อห้ามบางอย่างที่ไม่ให้ผู้หญิงทำ (แต่ไม่ได้แปลว่าดูถูกผู้หญิง)

กาละนั้น คือในยามที่เธอมีประจำเดือน

ในเกือบทุกศาสนาในโลกนี้ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าวัด สวดมนต์ ทำกิจกรรมทางศาสนา บางทีห้ามทำอาหารด้วย

ในหนังสือ British Medical Journal ตีพิมพ์ปี 1878 เขียนว่า ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนทำอาหาร เพราะจะทำให้เบคอนเน่า ห้ามทำเนย ห้ามทำขนมปัง ห้ามเข้าไปสวดมนต์ในโบสถ์

ส่วนฮินดูนั้น ห้ามเข้าครัว ห้ามเข้าวัด ให้อยู่แต่ในห้องที่แยกออกไปต่างหาก ไม่เอาเสื้อผ้ามารวมกับคนอื่น ใช้จานชามแยกไม่ปะปน

เพราะฉะนั้น การห้ามเข้าอุโบสถและห้ามไหว้พระธาตุของล้านนา น่าจะมาจากความกังวลเรื่องประจำเดือนของผู้หญิง โดยเชื่อว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผู้หญิงอยู่ในสภาวะ “ไม่ปกติ” ดังนั้น จึงอาจไปทำให้ “สมดุล” ของศาสนสถานปั่นป่วนได้

น่าสนใจตรงที่ แม้แต่ในอินเดียจะเขียนชัดเจนว่า “ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้า” แต่ในไทยหรือในล้านนา กลับห้ามผู้หญิงทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็เข้าใจได้อีกว่า ไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไร เกิดผู้หญิงคนนั้นมีประจำเดือนแต่โกหกว่าไม่มีขึ้นมาล่ะ!

ข้อห้ามเรื่องประจำเดือนในล้านนา ยังมีเรื่องห้ามเก็บสะระแหน่ อันนี้ที่บ้านฉันถือสาจริงจังมาเป็นโคตรๆ ของตาบู ถ้าเป็นเมนส์ ห้ามไปเฉียดกรายที่ดงสะระหน่ และผักที่เอาไว้กินกับลาบเด็ดขาด คนแก่เขาว่าจะทำให้ต้นไม้พวกนั้นตาย พินาศ ย่อยยับกันเลยทีเดียว

ในขณะเดียวกันก็น่าสนใจอีกว่า สำหรับศาสนาฮินดูในอินเดียนั้น ข้อห้ามนี้ถูกท้าทายจนขึ้นศาลสูงมาแล้ว

เหตุเกิดเมื่อปี 2015 นักศึกษาหญิงชาวอินเดียอายุ 20 ปี ชื่อ Nikita Azad ทำแคมเปญรณรงค์ในเฟซบุ๊ก เรื่อง วัดฮินดูมีป้ายห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าวัด ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นการกีดกันเพศหญิง

วัดนั้นคือ Sabarimala Ayyappa ที่ Kerara (วัดนี้มีป้ายห้ามผู้หญิงอายุ 10-50 ปีเข้า – ซึ่งคือวัยที่มีประมาณการว่ามีประจำเดือนนั่นเอง)

ต่อมากลุ่มทนายความที่เป็น ngo ด้านสิทธิฯ นำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องศาล จนไปถึงศาลสูงในปี 2016

ผู้พิพากษาศาลสูงมีความเห็นออกมาว่า – วัดไม่มีสิทธิขัดขวางการเข้าวัดด้วยข้ออ้างทางเพศสภาพ การกระทำเช่นนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการกีดกันทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้

(“What right does the temple have to forbid women from entering any part of the temple? Can you deny a woman her right to climb Mount Everest? The reasons for banning anything must be common for all,” Justice Dipak Misra, head of a three-judge bench, said on Monday.

“Gender discrimination in such a matter is unacceptable,” he said, adding that the temple”s arguments must be based on the nation”s constitution.)

https://www.theguardian.com/world/2016/apr/12/indian-temples-cannot-bar-women-rules-supreme-court

ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน หลายวัดต้องยกเลิกการห้ามผู้หญิงเข้าวัดจากคำสั่งศาลมาแล้วหลายวัด เช่น วัด Mahalaxmi ที่ Mahatashtra หรือวัด Shani Shingnapur ก็ถูกศาลที่มุมไบสั่งให้เอาป้ายออกเพราะป้ายและข้อห้ามนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การห้ามผู้หญิงเข้าวัด หรือประกอบศาสนกิจนั้นเป็นเพราะการกีดกัน รังเกียจ ดูถูกผู้หญิง หรือเป็นเพราะความกลัว หรือเป็นเพราะความห่วงใย

คำอธิบายในกลุ่มความห่วงใย นั้นอ้างเอาศาสตร์อายุรเวดา การทำงานของปราณ และจักรา มาอธิบาย โดยบอกว่า ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยธาตุ น้ำ ดิน ไฟ ประจำเดือนของผู้หญิง ควรเป็นวงจรที่สัมพันธ์กับข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ ที่ส่งให้ธาตุทั้งสามทำงานอย่างราบรื่นมีฮาร์โมนี่ นอกจากนี้ ในยามมีประจำเดือน ผู้หญิงพึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งหมายถึงข้อห้ามต่างๆ ทั้งเรื่องอาหาร การอยู่ การกิน การสวดมนต์

การที่ไม่ให้ผู้หญิงกินข้าวร่วมกับคนอื่นในยามมีประจำเดือน ก็เพราะตอนกินข้าวนั้นจักราส่วนล่างทำงาน คนจะปล่อยพลังลบออกมา ผู้หญิงมีประจำเดือน ร่างกายอ่อนแอ ก็ไม่ควรจะไปรับพลังลบๆ เหล่านี้มาไว้ในตัวเอง ดังนั้น ควรไปกินข้าวตามลำพัง แยกจากคนอื่น

นอกจากนี้ ยังอธิบายอีกว่า ช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงไม่สบายตัว ปวดท้อง และในสมัยโบราณ ผู้หญิงต้องทำงานหนัก แบกหาม ทำไร่ ทำนา ตำข้าว ยกของหนัก ซึ่งถ้าต้องทำกิจกรรมเหล่านี้ในช่วงที่เป็นประจำเดือน จะไม่ดีต่อสุขภาพของผู้หญิง เลยออกมาเป็นข้อห้ามว่า ห้ามออกจากบ้าน ห้ามทำอาหาร ห้ามไปสวดมนต์ (คงกลัวจะไปเป็นลมในวัด) เพราะถ้าไม่ห้าม ก็ไม่รู้จะให้ผู้หญิงรู้จักพักผ่อนในช่วงมีประจำเดือนอย่างไร

ส่วนเรื่องการให้ผู้หญิงต้องออกไปอยู่กระท่อม แยกออกไปต่างหาก เวลามีประจำเดือน ไม่ได้เกิดจากความรังเกียจ แต่บ้านสมัยก่อน ไม่ได้มีห้องส่วนตัว หรือพื้นที่ส่วนตัว

แต่ในเวลามีประจำเดือน ผู้หญิงควรได้มีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองบ้างในการดูแลตนเองในช่วงประจำเดือนมา จะได้ทำอะไรๆ เช่น การล้าง ซัก ทำความสะอาด ก็มีความเป็นส่วนตัวกว่าอยู่ในบ้านกับคนอื่น

ทีนี้ถามว่า แล้วการห้ามเข้าวัด เข้าศาสนสถาน ทางฝ่าย “ศาสนา” อธิบายว่า นี่ไม่ใช่การมองว่าผู้หญิงไม่ pure หรือเป็นสิ่งแปดเปื้อนในช่วงเป็นประจำเดือน แต่เป็นเพราะว่าผู้หญิงได้กลายเป็นองค์เทวีด้วยตนเองต่างหากล่ะ ในช่วงเป็นประจำเดือนนั้น (living goddess) ที่ผู้หญิงในสภาวะที่เป็นเทพนั้น หากผู้หญิงเข้าไปในวัดแล้วละก็ มูรติ (Murthi) ในองค์เทพที่วัดจะหลั่งไหลมาสถิตที่ผู้หญิงคนนั้นแทน และทำให้องค์เทพอื่นๆ อ่อนพลังลง เลยขอร้องว่า ช่วงเป็นประจำเดือนอย่าเพิ่งเข้าวัดเลยนะ

นอกจากนี้ ในความเชื่อโบราณ ยังเห็นว่าประจำเดือนของผู้หญิงนั้นมีฤทธิ์อำนาจน่ากลัว อย่าลืมว่า ตำนานเมืองลำพูน ขุนหลวงวิรังคะ ก็พ่ายแพ้แก่เจ้าแม่จามเทวีก็เพราะไปกินพลูป้ายเลือดประจำเดือนเข้า เลยอ่อนแรงพ่ายแพ้ไป

ในบางสังคม แม่จะเก็บผ้าเปื้อนประจำเดือนแรกของลูกสาวเอาไว้ และมอบให้เธอในวันแต่งงาน ผ้าผืนนั้นจะกลายเป็นเครื่องราง ด้วยปกป้องคุ้มภัยจากสิ่งชั่วร้าย ช่วยให้เธอและครอบครัวสุขภาพแข็งแรง

ในบางสังคม ให้ผู้หญิงกินประเดือนแรกของเธอเล็กน้อย เพราะเชื่อว่าเลือดนั้นมีพลังสูง จะทำให้เธอเป็นผู้หญิงแข็งแกร่ง

แน่นอน เรายังคุ้นเคยกับความเชื่อเรื่องพลังพิเศษจากประจำเดือนในการทำคุณไสยต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน อันยืนยันว่า ในด้านหนึ่ง ประจำเดือนของผู้หญิงเป็นสิ่งที่น่าพรั่งพรึง

การมองเรื่องตาบูเกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิงจึงสามารถมองได้ตั้งแต่ เพราะความห่วงใย กลัวผู้หญิงเหนื่อย เลยไม่ค่อยอยากให้ทำอะไรในช่วงนั้น ไปจนถึงมองว่า ประจำเดือนคือพลังอำนาจอันแข็งแกร่ง แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็ยากจะต้านทาน ไปจนถึงมองว่า คือการกีดกัน เดียดฉันท์ เหยียดเพศ

แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ myth เกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิงในยุคโบราณนั้น เรายังจะใช้เป็นข้ออ้างในการห้ามผู้หญิงไม่ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่หรือไม่?

ในยุคที่เรามียา มีผ้าอนามัยอย่างดีตั้งแต่แบบสอดไปจนถึงผ้าอนามัยชาเขียว มีห้องน้ำ ห้องหับเป็นสัดเป็นส่วน การเป็นประจำเดือนของผู้หญิงไม่น่าจะเป็นข้ออ้างสำหรับตาบูต่างๆ อีกแล้ว

ดังนั้น มิติของการห้ามสุภาพสตรีทำนู่น นี่ นั่น หรือห้ามมิให้เข้าไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นตัวผู้หญิงเองนั่นแหละ ที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง ที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ หรือจะมองว่า สิทธิไม่สำคัญเท่ากับการรักษาจารีต

หมายเหตุไว้อีกเล็กน้อยว่า วาทกรรมหนึ่ง ที่ช่วยหล่อเลี้ยง “ภาวะอันน่ากังวลของผู้หญิงในยามมีประจำเดือน” คือคำว่า “มนุษย์เมนส์” ถ้าผู้หญิงยอมรับว่าตนเอง “ป่วยกายและใจ” ในยามมีเมนส์ และพร้อมจะเป็นมนุษย์ไร้เหตุผล อ่อนแอ โวยวาย เหวี่ยงวีน เรื่องประจำเดือนของผู้หญิงก็ยังจะถูกใช้มาเป็นข้ออ้าง เพื่อกีดกันผู้หญิงไม่ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Unearthing menstrual wisdom – Why we don’t go to the temple, and other practices