อะไรคือความหมาย ของสวัสดิการที่ดีต่อประชาชน?

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “ระบบทุนนิยม” ไม่สามารถคงอยู่ได้หากไม่มีระบบสวัสดิการ

หน้าที่ของระบบสวัสดิการจึงคงอยู่ในระบบทุนนิยมสองด้านคือ การทำให้ระบบทุนนิยมไม่ล่มสลาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นบันไดให้คนสามารถตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมถึงชีวิตที่ดีขึ้นมากขึ้น

คำถามที่มีมาแสนนานว่า แล้วเราจะนิยามสวัสดิการที่ “ดีต่อประชาชนได้อย่างไร”

เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ถึงสวัสดิการการรักษาด้านทันตกรรมของประกันสังคมที่ผู้ประกันตนสมทบทุกเดือน ปีหนึ่งสูงสุดที่ปีละ 9,000 บาท แต่ได้รับสิทธิทันตกรรม เพียงปีละ 900 บาท

ขณะที่สิทธิทันตกรรมของผู้ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลับครอบคลุมมากกว่าสามารถรักษาได้ทุกอาการ

ข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้สำนักงานประกันสังคมออกมาโต้แย้งว่า “สิทธิทันตกรรมของประกันสังคมดีกว่า” เพราะแม้เพียงจะมีรายการ 900 บาทต่อปี แต่สามารถรักษาได้ที่คลินิกเอกชนเกือบทั่วไป

นอกจากนี้ ยังขยายความว่า กรณีประสบอุบัติเหตุในที่ทำงาน เช่น ชนเครื่องจักรฟันร่วงหมดปาก ประกันสังคมก็ครอบคลุมทั้งหมด โดยที่สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ต้องใช้ที่โรงพยาบาลรัฐและมีระยะรอคอยคิวหลายเดือน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ

จึงเป็นคำถามว่า แล้วเราจะบอกว่าสวัสดิการแบบใดดีกว่าแบบใดในเมื่อมันดูเหลื่อมซ้อนทับกันแบบนี้

 

ประเด็นนี้เป็นประเด็นข้อถกเถียงทางวิชาการเช่นกันในการที่เราจะบอกว่า ประเทศใดมีสวัสดิการที่เป็นมิตรกับผู้คนมากกว่า

งานวิจัย The Comparative Welfare Entitlements Dataset (CWED)ซึ่งรวบรวมฐานข้อมูลว่าด้วยความเป็นมิตรของสวัสดิการได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหานี้โดยชี้ให้เห็นว่า บ่อยครั้ง การพิจารณาเพียงแค่ว่างบประมาณด้านสวัสดิการของแต่ละประเทศถูกใช้ไปมากน้อยเท่าไร อาจไม่เพียงพอ

เพราะมีหลายประเทศที่ดูเหมือนว่ามีงบประมาณสวัสดิการสูง แต่ปรากฏว่างบประมาณเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งตรงสู่ประชาชน

ยกตัวอย่างกรณีงบประมาณด้านการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูง แต่ปรากฏว่างบประมาณนี้ไม่ได้ถูกส่งตรงสู่เด็กนักเรียน หรือครูผู้ปฏิบัติอยู่หน้างานจริง ค่าใช้จ่ายไปใหญ่โตอยู่ที่การบริหารการจัดการ

หรือหากเรามองที่ปริมาณผลประโยชน์ ข้าราชการอาจได้บำนาญเดือนละ 6-70,000 บาท หากมองเท่านี้คือเยอะ แต่มีคนที่ได้บำนาญระดับนี้ แค่ 1% ของประชากรวัยทำงาน

ดังนั้น ปริมาณบำนาญที่สูงก็ไม่ได้เป็นตัวบอกคุณภาพบำนาญของประเทศโดยรวม

เพราะมีคนจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้รับ

หรือหากไปพิจารณาตัวชี้วัดการช่วยเหลือด้านสวัสดิการว่าถูกส่งตรงสู่คนจนคนยากไร้แค่ไหน เราก็ไม่เห็นว่ากระบวนการพิสูจน์ความจนนี้คัดกรองคนออกไปเท่าไร มีกระบวนการยุ่งยากที่ต้องขอรับการอนุมัติเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนเพียงใด

 

งานวิจัยจึงทำการเสนอฐานมุมมอง “ความเป็นมิตรของสวัสดิการ” ที่ครอบคลุมมากขึ้นโดยพิจารณาจากเงื่อนไขต่อไปนี้

1. ผลประโยชน์ที่ได้รับเมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยปกติ โดยพิจารณาจาก การลาป่วย บำนาญ และช่วงการว่างงาน เพราะเป็นช่วงที่ไม่สามารถสร้างผลิตภาพให้แก่รัฐหรือบรรษัทโดยตรง กรณีของไทย จะพบว่าเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน เทียบกับค่าจ้างเฉลี่ย 12,000 บาท ก็เป็นเพียงร้อยละ 5 ของค่าจ้างเฉลี่ยเท่านั้น หรือประกันการว่างงานของประกันสังคมกรณีลาออกจากงาน ก็เป็นเพียงประมาณร้อยละ 30 โดยเฉลี่ยเท่านั้น

2. เงื่อนไขการได้รับสวัสดิการ ทั้งเงื่อนไขด้านเวลา หรือเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อให้ได้รับสวัสดิการ ก็เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเช่นกัน บางครั้งเราพบว่ามีสวัสดิการที่ดีมีสิทธิประโยชน์มากมาย แต่จะได้รับเมื่อมีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น ได้เมื่อเสียชีวิต ได้เมื่อทุพพลภาพร้ายแรง หรือระยะเวลาการเกิดสิทธิกินเวลาหลายปีถึงจะสามารถใช้ได้

เช่นนั้นแม้จะมีสิทธิประโยชน์ เหมือนดังเช่นประกันสังคมบอกว่าหากเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานฟันร่วงหมดปาก ก็สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่ ตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่า แม้จะมีสิทธิประโยชน์สูง แต่จำเพาะเงื่อนไขการเข้าถึงสวัสดิการ ก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นสวัสดิการที่เป็นมิตรกับประชาชนได้

เช่นเดียวกันกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะครอบคลุมทุกอาการ แต่หากระยะเวลาการรอคอยยาวนานก็ทำให้ระดับความเป็นมิตรของสวัสดิการตกลงเช่นกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดเริ่มมีกระบวนการนำร่องการนำคลินิกทำฟันเอกชน มาร่วมกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว น่าจะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

3. เงื่อนไขสุดท้าย คือความถ้วนหน้าครอบคลุมคนทุกกลุ่มหรือไม่-สวัสดิการดีแต่ได้ใช้เฉพาะกลุ่มอย่างเช่นข้าราชการ หรือบางกลุ่มอาชีพ หรือกระบวนการพิสูจน์สิทธิที่มีความเข้มงวด ก็ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ

ดังนั้น ระดับความถ้วนหน้า หรือครอบคลุมผู้คนจำนวนมาก และมีการจำกัดเงื่อนไขน้อยที่สุด ก็นับว่าเป็นตัวแบบสวัสดิการที่เป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น

 

เมื่อพิจารณาความเป็นมิตรของสวัสดิการทั้งสามมิติต้องทำไปพร้อมกัน เพื่อฉายให้เห็นภาพสวัสดิการที่แท้จริงที่ประชาชนได้รับ เมื่อพิจารณาในทางวิชาการอาจฟังดูซับซ้อน แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติแล้ว มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก

เพียงแต่นโยบายส่วนใหญ่ของเรา คนออกแบบไม่มีโอกาสใช้ และคนใช้ไม่มีโอกาสออกแบบ จึงทำให้เรื่องง่ายๆ ถูกมองข้ามไป

เช่น คนกำหนดนโยบายสาธารณสุข ส่วนมากใช้สิทธิราชการ หรือสิทธิการจ่ายเงินส่วนตัว พวกเขาจึงไม่รู้ว่าการรอคอยการอนุมัติสิทธิหรือการสำรองจ่าย มีปัญหาเพียงใด

คนกำหนดนโยบายการศึกษาระดับสูงส่วนมากส่งลูกเรียนต่างประเทศ จึงไม่รู้ว่าการต้องยื่นแบบเงินกู้ กยศ. มันทำลายความเป็นมนุษย์เพียงใด

หากเราสามารถทำให้ผู้คนอยู่ในระบบเดียวกัน รู้สึกถึงปัญหาของระบบจากการใช้บริการร่วมกันได้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเป็นมิตรของสวัสดิการได้ในท้ายที่สุด

 

ได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษา และอาจารย์จากทางจุฬาฯ ได้แง่มุมหลากหลาย นักศึกษาชอบบอร์ดเกมรัฐสวัสดิการมาก เป็นครั้งแรกที่ลองกับนักศึกษาต่างชาติ

ผมปรับเงื่อนไขเกมเข้ากับบริบทสากล น่าคิดว่า ถ้าเราอยู่ในเงื่อนไขที่จำกัด เราจะเลือกเก็บความเป็นมนุษย์ในสังคมที่เหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน

ไว้จะขยายความเพิ่มเติมนะครับ