จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2567

 

• จีเอ็มโอ-เอ็นจีโอ

ตามที่รัฐสภายุโรป

ได้ลงมติผ่อนปรนเกี่ยวกับการควบคุมพืชแก้ไขยีน (new genomic techniques-NGTs)

หรือ พืชที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์โดยเทคโนโลยี gene editing

ด้วยคะแนนเสียง 307 ต่อ 263 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมานั้น

ไม่ใช่เป็นการเซ็นเช็คเปล่าแก่การปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการดังกล่าวแต่ประการใด

กล่าวคือ เป็นการผ่อนปรนพร้อมเงื่อนไข 5 เรื่องใหญ่สำคัญดังนี้

1) พืชแก้ไขยีนมีบางประเภท ที่เรียกว่า ‘NGT1’ เท่านั้นที่จะได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดของกฎหมาย GMO ของสหภาพยุโรป

ในขณะที่พืช ‘NGT2’ ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดต่อไป

2) รัฐสภายุโรปเห็นพ้องว่า ผลิตภัณฑ์จากพืชแก้ไขยีนต้องมีการบังคับติดฉลากทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น NGT1 หรือ NGT2

3) พืชแก้ไขยีนและผลิตภัณฑ์จากพืชดังกล่าวต้องมีข้อกำหนดกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและมีมาตรการป้องกัน

เพื่อให้แน่ใจว่าหากพบปัญหาเกิดขึ้นจะมีการเพิกถอนการอนุญาต ไปจนถึงการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

4) รัฐสภายุโรปเห็นพ้องต้องกันว่าพืชแก้ไขยีนทั้งหมดยังคงถูกห้ามในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์

5) ห้ามการจดสิทธิบัตรพืช NGT

หน่วยงานของรัฐบาลในสหภาพยุโรป อย่างน้อย 2 องค์กรคือ BfN ของเยอรมนี และ ANSES ซึ่งดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารของฝรั่งเศส เห็นว่าการผ่อนปรนให้ NGT1 นั้น ขาดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างเพียงพอ (กล่าวคือ ต้องการให้มีการควบคุมพืชแก้ไขยีนต้องมีแนวปฏิบัติของพืช GMO ต่อไป)

แม้จะมีเงื่อนไขหลายประการสำหรับการผ่อนปรนพืชแก้ไขยีนดังกล่าว แต่เครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและยุโรป (European Coordination Via Campesina) ประณามว่าการลงมติดังกล่าวเป็นเป็นการละเลย “สิทธิของเกษตรกรและสิทธิพลเมือง” ในเรื่องเกษตรและอาหาร เป็นการ “ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติมากกว่าสิทธิของประชากรยุโรป”

ไบโอไทยเห็นว่าเรื่องพืชดัดแปลงยีนและ GMO นั้นมีเส้นแบ่งใกล้กันมาก

ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจว่าจะมีการผ่อนปรนสำหรับ NGTs อีกทั้งต้องรู้ทันการสอดไส้ GMO แบบเนียนๆ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย

กระทรวงเกษตรและรัฐบาลไทยจำเป็นต้องรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างสูง

เพราะการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร

และความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด

ไบโอไทย

 

การควบคุมพืชแก้ไขยีนและจีเอ็มโอ

คืบหน้าไปอีกก้าว

กรณีรัฐสภายุโรป “เปิดช่อง” การยอมรับ

แต่กระนั้น ท่าทีของ “ไบโอไทย” และเอ็นจีโอในหลายประเทศ

ก็ส่งคำเตือน ให้รอบคอบ และคิดให้ถี่ถ้วน

การถ่วงดุล ซึ่งกันและกันเช่นนี้

ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคได้ชั่งน้ำหนัก

ว่าควรจะมีท่าทีต่อกรณีนี้อย่างไร

อย่าเบื่อที่จะเปิดหู-เปิดตา เพื่อติดตามเรื่องนี้

 

• ในคำสัญญา

จําได้ว่าช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เกิดอาการไม่ปลื้มในการปรับลดราคาน้ำมัน แบบต้องลุ้นกันรายวันแล้วตำหนิข้าราชการกระทรวงพลังงานว่าราคาน้ำมันต้องลดลงกว่านี้เพื่อช่วยชาวบ้าน

ผลปรากฏว่าราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ลดลงทันที 2 บาท ชาวบ้านปลื้มกันทั้งประเทศ

ยิ่งในช่วงปีใหม่ คุณพีระพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ด้วยอักษรที่เร้าใจบางตอนว่า “ไม่ว่าจะภายใต้โครงสร้างพลังงานที่ถูกหรือผิด แต่ถ้าจะทำจริงทำได้ทั้งนั้น ผมจะรื้อทิ้งให้หมด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพื่อปลดพันธนการชีวิตจากค่าพลังงานที่ควบคุมไม่ได้ จะสร้างระบบพลังงานของประเทศขึ้นมาใหม่ ให้มีความเป็นธรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ และแนวทางการทำงานแบบสู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง

สิ่งที่เตรียมจะทำต่อให้ดีขึ้นในปี 2567 จะไม่ใช่แค่การปรับโครงสร้าง แต่จะรื้อระบบที่มีผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลมายาวนาน ต่อไปผู้ที่จะได้ประโยชน์คือคนไทยและประเทศไทยเท่านั้น เชื่อว่าการรื้อครั้งนี้ จะมีคนคัดค้านมากมาย เพราะผู้ที่เคยได้ประโยชน์แบบรากงอกต้องเสียประโยชน์มหาศาล คนเหล่านี้ที่ผ่านมาใช้ระบบสปอนเซอร์ เป็นเกราะคุ้มตัวตลอดมา แต่ผมไม่กลัวและจะทำ…” คุณพีระพันธุ์ระบุ

อ่านแล้วรู้สึกปลื้มเพราะเจอคนจริงและจะได้ใช้น้ำมันราคาถูกลงแน่นอน

พอขึ้นปีใหม่แค่มกราคมเดือนเดียวน้ำมันกลุ่มโซฮอล์ปรับขึ้นแล้ว 6 ครั้ง รวมตกลิตรละ 2.30 บาท ขึ้นเกินมาแล้ว .30 บาท ยังไม่เห็นคุณพีระพันธุ์จะขับเคลื่อน “รื้อ ลด ปลด สร้าง” โครงสร้างราคาน้ำมันให้เห็นเลย

จึงไม่แน่ใจว่าที่ประกาศไม่กลัวใคร เก็บใส่ลิ้นชักไปแล้วหรือยัง?

ขอทวงสัญญาให้กับตัวเองและชาวบ้าน ผ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วย

ฟังเพลง “ก็เคยสัญญา” ของ “อัสนี-วสันต์” คราใด หน้าคุณพีระพันธุ์ ก็ลอยมาให้เห็น!!!

ชาญชัย

 

สัปดาห์ที่แล้ว

ชาญชัยก็ชี้ชวนให้ทบทวนความจำ กรณี “ยึดสนามบิน”

มาสัปดาห์นี้

ก็มาชวนทบทวนความจำ เรื่อง “พลังงาน” อีก

ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวชาวบ้าน

มีเหตุผลที่ควรทบทวนความจำ

เลยให้สิทธิคุณชาญชัย “ทวง” กันแบบต่อเนื่อง

• ยูโอบี ชี้แจง

เรียน บรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์

เนื่องจากรายงานข่าวหัวข้อ “ธนาคารแห่งอาเซียน” ที่ตีพิพม์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2567 ได้นำเสนอข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารยูโอบีในต่างประเทศที่ไม่ถูกต้อง

ธนาคารจึงขอเรียนชี้แจงข้อมูลล่าสุด ตามที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2565 ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ดังต่อไปนี้

USA 3 สาขา

Canada 3 สาขา

UK 1 สาขา

France1 สาขา

Australia 2 สาขา

Brunei 2 สาขา

Hong Kong 3 สาขา

India 2 สาขา

Indonesia 134 สาขา

Japan 2 สาขา

Mainland China 21 สาขา

Malaysia 59 สาขา

Myanmar 2 สาขา

Philippines 1 สาขา

Singapore 70 สาขา

South Korea 1สาขา

Taiwan 2 สาขา

Thailand 151 สาขา

Vietnam 8 สาขา

ธนาคารจึงเรียนมาเพื่อทราบ และเพื่อพิจารณาเผยแพร่ตามเห็นสมควร ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

ด้วยความนับถืออย่างสูง

ธรรัตน โอฬารหาญกิจ

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

 

รับทราบตามคำชี้แจงครับ •