นักวิชาการรัฐศาสตร์ ฟันธง ‘แม้ว’ กลับสู่ผู้นำไม่ได้แล้ว-จับตา ‘อุ๊งอิ๊ง’ ชี้ ถ้าไม่ยุบก้าวไกล คือปาฏิหาริย์

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยกรณีการหาเสียงแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งให้หยุดการกระทำ เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้เกิดกระแสในสังคม รวมถึงการตั้งคำถาม

ทีมมติชนสุดสัปดาห์ มีโอกาสสนทนากับ ดร.ศิวพล ชมภูพันธุ์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญตามหลักวิชาการก็มีไว้เพื่อวินิจฉัย และตรวจสอบสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งที่รับรองระบอบการเมืองใดการเมืองหนึ่ง โดยใช้เรื่องกฎหมายเป็นตัวการเคลื่อนปฏิบัติการทางการเมืองที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง

แต่จากคำวินิจฉัยของศาล ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล คุณชัยธวัช ตุลาธน ที่มองว่าคำวินิจฉัยของศาลจะทำให้เกิดการกำหนดมาตรฐานขึ้นใหม่ (set standard) ซึ่งใครก็ตามที่พูดเรื่องมาตรา 112 เป็นการสะท้อนว่าเท่ากับล้มล้างการปกครองเลยหรือไม่?

หลายๆ อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอไป เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าไปดูแนวนโยบายหาเสียงของพรรคบางพรรคในการพูดถึงมาตรา 112 ใช้คำว่า “แก้ไข” พรรคที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันก่อนที่จะเกิดการตั้งรัฐบาล ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าถ้าพรรคอื่นที่มีแนวนโยบายใกล้เคียงกันจะมีชะตากรรมเดียวกันหรือเปล่า

และอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาล คือว่าถ้าใช้คำว่า เซาะกร่อนบ่อนทำลาย โดยการที่มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งไม่ได้โยงไปถึงเรื่องของสถาบันโดยตรง = ล้มล้างการปกครอง

มองในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามีการใช้ถ้อยคำ เพื่ออ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาเสียงที่ไม่ได้เป็นการพูดให้ร้ายดูหมิ่น เช่น การที่คุณบอกว่า พรรคนี้จะยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ พรรคนี้จะแสดงความจงรักภักดี แสดงว่าคุณก็ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาด้วยหรือไม่ เราสามารถตีความแบบไหนได้

นี่จึงทำให้เกิดการมองการเมืองไทยในอนาคตถูกเปลี่ยนมาตราฐาน เพื่อให้เรารู้สึกว่าข้อกฎหมายนี้เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถพูดถึงได้อีกต่อไป?

 

การที่ศาลไปหยิบโยงประเด็นจากเหตุการณ์ในอดีต เช่น การประกันตัว การลงชื่อแก้ไขกฎหมายในปี 2564 หรือว่าพฤติการณ์หลายๆ เหตุการณ์มันสะท้อนถึงความหวาดกลัว ถ้าหากมีการแตะ มีการพูดถึงมาตรา 112 เหมือนกำลังปลุกผีอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความหวาดกลัว ถ้ามีการแตะมาตรา 112 จะทำให้ชนชั้นนำที่อาจจะมีความยึดโยงหรืออาจจะมีผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะว่าเครือข่ายชนชั้นนำที่อิงกับสถาบันมีมานาน ดังนั้น ใครก็ตามที่เข้าไปแตะหรืออาจจะแตะโดยอ้อม เช่น การประกันตัว จะถูกเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวกัน และจากความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น ทำให้ชนชั้นนำต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อจัดการฝ่ายที่เข้าไปแตะต้องโดยปริยาย ซึ่งผมไม่แปลกใจ

ถามว่า ก้าวไกลตกที่นั่งลำบากไหม?

ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลตกที่นั่งลำบากมาโดยตลอด ตั้งแต่เข้ามาสู่สนามการเมือง เพราะมองจากพรรคอนาคตใหม่ก็ดี มาสู่พรรคก้าวไกล คือสิ่งแปลกปลอมที่โผล่เข้ามาโดยไม่มีใครตั้งตัว

ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันพรรคเพื่อไทย แต่พอเกิดพรรคอนาคตใหม่ที่เกิดและเติบโต เติบโตแล้วตาย ตายแล้วเกิดใหม่ แล้วที่สำคัญแข็งแรงกว่าเดิม

วันนี้พรรคก้าวไกลกลายเป็นผีตัวใหม่ในทางการเมืองหรือบนกระดานอำนาจของกลุ่มอำนนาจเก่ายังไงก็ตามต้องถูกสกัดกั้น ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ ทุกท่านก็เห็นได้จากการตั้งรัฐบาล

จากคนที่คุณเคยคิดว่าเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาปกติ แต่คุณไม่มีโอกาสนั้นด้วยซ้ำ ในการส่งไม้ต่อ

เราเห็นได้ว่าความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นคือการรวมกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ แล้วมีความพยายามทำให้พรรคก้าวไกลตกที่นั่งลำบากในสภา ผมมองว่ายังไงความตกที่นั่งลำบากจะมายาวๆ แน่นอน

การรับลูกต่อจากศาลก็คงมีขึ้นแน่นอน โดยเป้าหมายปลายทางคือการยุบพรรค เพราะวางแผนกันมาขนาดนี้

ถ้าไม่ยุบผมว่าปาฏิหาริย์

ถ้าไม่ยุบก็เป็นเรื่องดี จะทำให้ระบบพรรคการเมืองเป็นไปได้และมีความแข็งแรงขึ้น แต่ในเมื่อวันนี้ชนชั้นนำไม่ถูกใจมาตั้งแต่แรก ถ้าสังเกตจะเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ตอนเลือกนายกฯ ผมมองว่าชนชั้นนำยังไงก็มองพรรคก้าวไกลเป็นสิ่งที่เขาไม่พึงประสงค์ ยิ่งต้องเอาออกจากพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งในมุมมองของกลุ่มชนชั้นนำเดิมมองว่าเป็นอัตราย

ตอนนี้เหมือนการเล่นกับใจมวลชน ตกลงแล้วมวลชนบ้านเราจะไปทางไหนต่อ ถ้าประชาชนรู้สึกว่าพรรคนี้เป็นความหวังให้ได้ในอนาคต และคนที่ยังมีความหวังอยู่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะลุกขึ้นมาสู้ต่อหรือไม่? เพราะอย่างน้อยคำตัดสินไม่ถูกใจคนจำนวนมาก

ถ้าการยุบพรรครอบนี้เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกเพราะเป็นพรรคฝ่ายค้านและมีฐานเสียงของมวลชนจำนวนมาก ถ้าหากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นเราอาจจะไม่ได้เห็นกระแสม็อบอย่างในปี 2562-2563 อีกแล้ว เพราะตอนนั้นม็อบมีความเป็นเอกภาพ ที่มีเป้าหมายคือคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ตอนนี้ส่วนหนึ่ง คนที่เลือกเพื่อไทยกับก้าวไกลก็แตกกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองกลุ่มนี้โดยพื้นฐานคือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในตอนนั้น ถึงแม้การออกมาในอนาคตจะออกมาเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่จะมีมวลชนจำนวนหนึ่งหายไปแน่ๆ

เพราะฉะนั้น หากต้องการเอาชนะก้าวไกล กลุ่มอำนาจเก่าหรือพรรคอื่นๆ ต้องผนึกกำลังกันแน่นอย่างที่เห็น คือเห็นภาพพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมอีกหลายพรรค ซึ่งเคยร่วมหัวจมท้ายกับพรรคก้าวไกลมาโดยตลอดในวันที่คุณต้องการจะสกัดอำนาจเก่า แต่วันนี้การส่งไม้ต่อไปยังเพื่อไทย เราจะเห็นได้ว่าการสลายขั้วอำนาจเดิมและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคือการสานต่อระบบเก่าที่เป็นรูปธรรมใช้การเลือกตั้งเป็นตัวชุบ

ผมไม่ปฏิเสธที่มาของคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นที่มาโดยชอบธรรม แต่ถ้ามองจากเนื้อในแล้วหน้าตาไม่มีความแตกต่างกับชุดก่อน

เพราะฉะนั้น การที่กลุ่มอำนาจอื่นๆ หากจะเอาชนะก้าวไกลได้จะต้องผนึกกำลังกันแน่นๆ และผมเชื่อสิ่งนี้ตลอดนะ แต่ถ้าวันนี้คุณสามารถผนึกกำลังกันแน่นแบบลงตัวกันได้ ทุกอย่างมันเดินไปได้หมดเลยแล้วพร้อมที่จะสกัดผีตัวใหม่ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ซึ่งหากยุบพรรคก้าวไกลได้ก็จะมีผีตัวใหม่ๆ มาต่อ สมมุติวันนี้ทำให้พรรคก้าวไกลสูญพันธุ์ไปจริงๆ ก็จะมีอะไรใหม่ๆ ที่รัฐธรรมนูญหรือกติกาที่ชนชั้นนำเดิมเขียนไว้ เข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองโดยที่ชนชั้นนำคาดไม่ถึงอยู่เรื่อยๆ

 

ถามว่า ชนชั้นนำไม่เคยถอดบทเรียนใช่ไหม ดร.ศิวดลกล่าวว่า ไม่เคยถอดบทเรียนตั้งแต่พรรคพลังประชาชน ตอนคุณทักษิณ ชินวัตร ไปตอนปี 2549 รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อเป็นบันได ตั้งแต่ตอน คมช. แต่คุณสมัคร สุนทรเวช คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังได้เป็นนายกฯ เอาเข้าจริงเพื่อไทยตอนปี 2562 ชนะ ก็เป็นสัญญาณแล้วว่ายังไงคุณก็สู้พลังของประชาชนไม่ได้ แต่ในเมื่อคุณเป็นคนร่างกติกายังไงคุณก็สามารถใช้สิ่งที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย อำนาจที่มีอยู่ในการสกัดกลุ่มเดิมก็ได้

แต่สุดท้ายการวางกลไกในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการมี ส.ว. ไม่มีทางที่จะต้านพลังของประชาชนจริงๆ 14 ล้านเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับประชาชน แต่กลับเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า 14 ล้านแล้วยังไง ถ้าจะไม่ให้เข้าสู่อำนาจจึงกลายมาเป็นการสู้กลับ ส.ว. 250 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ได้แปลกใหม่ มียาวๆ มาตั้งแต่ 2549

ส่วนการเตรียมกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ดร.ศิวดลบอกว่า ไม่น่าสนใจเท่าคุณอุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เนื่องจากคุณทักษิณอายุมากแล้ว คุณทักษิณเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้คนยึดโยง ทั้งคนที่เป็นเสื้อแดง คนรักประชาธิปไตย

แต่วันนี้ทักษิณกลับมาบนแผ่นดินไทยแล้ว ผมคิดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน

แต่ถ้าคุณอุ๊งอิ๊งขึ้นมามีบทบาทนำ ผมว่าน่าสนใจ เพราะถ้าหวังว่าคุณทักษิณกลับมาเป็นผู้นำคงเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามองการส่งไม้ต่อให้กับลูกสาว ซึ่งก็คือคนในตระกูลเอง สัญลักษณ์นี้จะทำให้ตระกูลชินวัตรกลับมาได้ (หรือไม่)

ทุกวันนี้ทุกคนจับตาไปที่คุณอุ๊งอิ๊ง เพราะผู้หญิงคนนี้น่าสนใจและเป็นคนเก่งคนหนึ่ง ที่เป็นนัการเมืองรุ่นใหม่ที่เติบโตภายใต้เงาของคุณพ่อ

แต่ถ้ามาโฟกัสที่คุณอุ๊งอิ๊ง ผีกลัวทักษิณจะกลับมาไหม เพราะทุกวันนี้หลายๆ อย่างก็เริ่มเกิดขึ้น คนที่เคยด่าคุณทักษิณก็เริ่มเงียบ

แต่ถ้าวันใดชนชนนำกลุ่มนี้ไม่สามารถผนึกกำลังไว้ได้หรือมีปัญหา อาจจะกลับไปสู่โจทย์เดิมก็ได้

สุดท้ายผมเชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก แต่ก็อย่าลืม ส.ว.ชุดนี้กำลังจะหมดอายุ ต้องรอดูว่า ส.ว.ชุดใหม่จะเป็นใคร เป็นกลุ่มอำนาจใด

ชมคลิป