ศึกชิงบ้านกะลาทอง ต้องใช้อำนาจ ประชาชน ศาล และทหาร (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

ตอนที่1

การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ
ยังมีผลต่อเนื่อง

1.ผู้สั่งการปราบผู้ชุมนุมปี 2553 จนเสียชีวิตและบาดเจ็บ… ไม่ถูกฟ้อง

29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหาต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวกสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ตกไป ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ที่ทำผิด ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัว

17 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพออกคำสั่ง ศอฉ.สลายการชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูล

สรุปว่าไม่มีผู้สั่งการคนใดถูกฟ้อง แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมทวงบ้านกะลาทอง ตาย บาดเจ็บ และติดคุก

 

2.ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และการเกิดพรรคอนาคตใหม่

7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

การตัดสินครั้งนี้ถือว่าตัดแขนข้างหนึ่งของพรรคเพื่อไทยทิ้ง ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน

แต่นับเป็นการประเมินผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะเมื่อพรรคเพื่อไทยไม่มีผู้สมัครในเขตนั้นๆ ชาวบ้านจึงเทคะแนนไปให้พรรคอนาคตใหม่

มีผลให้พรรคอนาคตใหม่ไม่ต้องตัดคะแนนกับไทยรักษาชาติและเพื่อไทย พลิกกลับมาชนะ ได้ ส.ส.ถึง 81 คน

 

3.ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดกำลังฝ่ายค้าน

ดูด ส.ส. เสริมกำลังรัฐบาล

เพราะกลุ่มอำนาจเก่ามองว่าอนาคตใหม่มีนโยบายทางการเมืองการปกครองที่ก้าวหน้ามากเกินไป และยังได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวมากมายจึงถือว่าเป็นอันตรายที่ต้องกำจัดออกจากวงการเมือง

20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. จากกรณีถือครองหุ้นสื่อ การไม่ให้นายธนาธรทำหน้าที่ ส.ส.จึงเป็นแค่ไม้แรก

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี สืบเนื่องจากกรณีนายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191.2 ล้าน

การยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นไม้สองที่ส่งผลต่อการเมืองไทยมากพอสมควร

เพราะตอนตั้งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้มี ส.ว. 250 คนมาช่วยจนได้คะแนนเสียง 500 (รวม 2 สภา) แต่ในความเป็นจริงเสียง ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลในสภาผู้แทนฯ ก็มีเกินครึ่งอยู่เพียง 6 คน ฝ่ายค้านมี 244 คน โอกาสที่จะถูกล้มในสภาจึงมีมาก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจะต้องดึงเสียง ส.ส.มาเพิ่ม

การยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทำให้เสียงของฝ่ายค้านจากอนาคตใหม่ซึ่งเดิมมี 81 เหลือเพียง 65 และยังถูกดูดให้ย้ายพรรคไปอยู่รัฐบาลอีก 9 คน

ดังนั้น ตอนที่พรรคก้าวไกลมาเป็นฝ่ายค้านแทน จึงมี ส.ส.เพียงแค่ 55 คน ช่องว่างระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในสภาจึงขยายใหญ่ขึ้น มีเสียงต่างกันประมาณ 35 เสียง ถือว่าเป็นความปลอดภัยระดับหนึ่งที่จะประคองรัฐบาลไปได้จนครบสมัย

 

ความคิดที่ก้าวหน้า
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อพรรค หรือบุคคล
สกัดพรรคทักษิณ…ได้พรรคธนาธร
สกัดพรรคธนาธร…ได้ม็อบเยาวชน

สรุปได้ว่าผลทางการเมืองที่ติดตามมา หลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 คือความคิดที่ก้าวหน้าของประชาชน ในท่ามกลางการต่อสู้ และที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือเกิดการชุมนุมของเยาวชนนักศึกษานักเรียนที่ออกมาคัดค้านรัฐบาลและก็ขยายตัวติดตามมา มีข้อเสนอที่แรงขึ้น แม้การชุมนุมจะมีผู้ร่วมหลักพัน หมื่น แต่ความรู้สึกต่อต้านความอยุติธรรม และปฏิกิริยาโต้ตอบของประชาชน คือวิธีลงเสียงเลือกตั้งให้ฝ่ายที่ถูกรังแกทั้งพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

หลังการรัฐประหาร 2557 คสช.จึงไม่กล้าเลือกตั้ง แต่ยึดอำนาจอยู่นาน 5 ปี และดีไซน์รัฐธรรมนูญฉบับครึ่งบกครึ่งน้ำ เพื่อใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 แม้จะทำทุกวิถีทาง เพื่อไทยก็ยังได้ที่ 1 ทั้งที่ไม่ส่งลงแข่งอีก 100 เขต

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ การเกิดใหม่ในช่วงสั้นๆ แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ถ้าเทียบกับยุคไทยรักไทยและเพื่อไทย ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้ว่าการเมืองทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ พรรคอนาคตใหม่ก็ทำให้คนตาสว่างและรู้ลึกถึงปัญหาต่างๆ เป็นยุคที่สร้างความตื่นตัวให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายล้านคน

ทำให้มองเห็นระบบยุติธรรมไทยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ว่าเป็นเครื่องถ่วงรั้งความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

ถ้ายุบพรรคก้าวไกล
กลุ่มอำนาจเก่าจะไม่ชนะทางการเมือง

ยุบพรรคครั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องการเสียง ส.ส.เพิ่ม ส่วนก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน จะมี ส.ส. 150 หรือ 120 ก็ไม่แตกต่างในบทบาททางสภา

คะแนนของอนาคตใหม่ 8 ล้านกว่า พอมาเป็นก้าวไกลเลือกตั้งใหม่ได้ 14 ล้านกว่า คนที่เลือกพรรคก้าวไกลรู้อยู่แล้วว่าก้าวไกลเสนอนโยบายอะไรบ้าง การถูกยุบพรรคเพราะเสนอแก้ไขมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจของผู้ที่เลือก 14 ล้านกว่าคน และครั้งต่อไป ถ้าก้าวไกลไม่ชูนโยบายนี้ แต่มีคนเลือกมากกว่า หรือน้อยกว่า จะให้แปลความหมายทางการเมืองว่าอย่างไร เพราะมันอธิบายได้หลายด้าน จะให้ดีหรือร้ายก็ได้ทุกรูปแบบ

การเคลื่อนไหวบนท้องถนนอาจมีไม่มาก เพราะประชาชนสามารถใช้การเลือกตั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ คือ

เลือกตั้ง ส.ว. ประมาณพฤษภาคม 2567

เลือกตั้ง อบจ. ทุกจังหวัด ปลายปี 2567

เลือกตั้งเทศบาลและ อบต. ปี 2568

เลือกตั้ง ส.ส. …

ซึ่งทั้งหมดจะสัมพันธ์กับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับดีไซน์เพื่อกลุ่มอำนาจเก่า ตั้งแต่การลงประชามติ การเลือก ส.ส.ร.

ประเมินว่ารัฐบาลผสมข้ามขั้ว ที่ผ่านการประนีประนอมขั้นต้น คงสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขัดแย้งรุนแรง และถ้าฉลาดพอคงจะใช้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญมาช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด แต่แรงปะทะยังจะกระทบกับกระบวนการยุติธรรมทุกองค์กร

 

ต้องปรับปรุง สังคมกะลาทอง
ให้ยอมรับอำนาจประชาชน

ตั้งแต่โบราณมาเกือบทุกสังคมถือว่าคนไม่เท่าเทียมกันจึงมีนาย มีไพร่ มีทาส การแบ่งชนชั้นเป็นเรื่องปกติ ช่วงเวลานับพันปีที่มนุษย์ปกครองกันมา คนมีฐานะทางสังคมต่ำกว่าต้องรับใช้คนมีฐานะทางสังคมสูงกว่า ต้องยอมอดทนใช้แรงงาน ยอมไปตายในสงคราม แล้วก็ทนใช้ชีวิตในฐานะไพร่ ทาส เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ

การต่อสู้ทางชนชั้นที่พัฒนาในช่วงพันปี ทำให้สิทธิของมนุษย์และรูปแบบการปกครองพัฒนาเข้าสู่รูปแบบที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งขณะนี้คือระบอบประชาธิปไตย แบบสากลคือมีสิทธิเสรีภาพมีความเท่าเทียม มีความยุติธรรม

ปัจจุบันประชาชนมีความรู้ ผ่านระบบสื่อสารยุคใหม่ กล้าแสดงความคิดเห็น ต้องการความเจริญก้าวหน้า จึงไปห้ามไม่ให้เขาคิดฝัน และมีความหวังไม่ได้

ในจังหวะที่อำนาจเก่ายอมประนีประนอมกับเพื่อไทย ฝ่ายก้าวหน้าจะต้องหาโอกาสแทรกการปฏิรูป ในท่ามกลางการต่อสู้และการร่วมมือ ทำเท่าที่มีช่องทาง

การเมืองข้างหน้า จึงไม่ใช่เรื่องการแย่งชิงกันเข้าไปในบ้านกะลาทอง แต่จะต้องปรับปรุงซ่อมแซมก่อน เริ่มจากรัฐธรรมนูญ และต้องกระจายอำนาจ มองเห็นความสำคัญของบ้านหลังเล็กหลังใหญ่อีกทุกจังหวัด ยังต้องเปิดกะลา ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจของทุกครอบครัว

ถ้าต้องการปฏิรูป ก็ต้องยุติแนวทางการชิงอำนาจ ด้วยกำลังทหาร ด้วยตุลาการภิวัฒน์ ยอมรับอำนาจประชาชนเสียที บ้านเมืองจะได้มีโอกาสพัฒนา