ศึกชิงบ้านกะลาทอง ต้องใช้อำนาจ ประชาชน ศาล และทหาร (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

กลิ่นยุบพรรคโชยมาแต่ไกล…ชาวบ้านทั้งหลายรู้ล่วงหน้า

31 มกราคม 2567 มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากนั้นพรรคก้าวไกลถูกร้องว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง จึงขอให้ กกต.พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

นี่เป็นฉากเก่าของนิยายน้ำเน่า เรื่อง ” บ้านกะลาทอง” ที่สร้างซ้ำหลายครั้ง โครงเรื่องเก่า แต่ตัวแสดงเปลี่ยน

 

ครั้งที่ 1 ใช้ทั้งศาลและรัฐประหาร
ชิงบ้านกะลาทอง

บทเรียนแรก…แม้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะมีคะแนนเสียงกี่ล้านก็ตาม ถ้าเจอกับอำนาจนอกระบบที่ผ่านศาลและทหาร รัฐบาลก็ถูกล้มได้

การเลือกตั้ง 2548 นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งมากเกินไป ได้ ส.ส. 377 จาก 500 คน เท่ากับ 3 ใน 4 จึงมีการสร้างกระแสเผด็จการรัฐสภา โจมตีพรรคไทยรักไทยและทักษิณอย่างต่อเนื่อง

มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อเหลืองที่ร่วมกับบุคคลชั้นนำบางส่วนพุ่งเป้ากดดันให้ตัวนายกฯ ทักษิณลาออก สุดท้ายถึงขั้นยื่นถวายฎีกา ยื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และถึง ผบ.ทบ. พร้อมกันทั้งสามจุดในคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549

ในที่สุดทักษิณก็ต้องประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคชาติไทยไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ เพราะการหันคูหามิชอบ กกต.สั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

แต่ 15 กันยายน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. เพราะไม่เร่งสอบข้อเท็จจริงจ้างพรรคเล็ก

19 กันยายน 2549 ฝ่ายตรงข้ามไม่ปล่อยให้มีเลือกตั้งใหม่ ที่ตัวเองจะพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงใช้กำลังรัฐประหาร นายกฯ ทักษิณต้องลี้ภัยการเมือง

30 พฤษภาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี 111คน

 

ครั้งที่ 2…ใช้ตุลาการภิวัฒน์
ก็ชิงบ้านกะลาทองได้

บทเรียนที่สอง เมื่อประชาชนดื้อไม่ยอมเลือกคนดี ก็ต้องล้มรัฐบาลอีก

คณะรัฐประหาร คมช.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีเลือกตั้ง 23 ธันวาคม2550 แต่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

25 พฤษภาคม 2551 พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง เริ่มต้นชุมนุม ยึดทำเนียบรัฐบาล

9 กันยายน2551 ตุลาการภิวัฒน์ ปรากฏตัวอย่างชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกฯ สมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’ พรรคร่วมรัฐบาล ตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ประท้วงต่อ ยึดสนามบิน จึงใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

2 ธันวาคม ตุลาการภิวัฒน์ ปรากฏตัวอีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

9 ธันวาคม 2551 ปชป.จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ จากตุลาการภิวัฒน์

ในที่สุดแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จโดยมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเทพประทานในค่ายทหาร สภาโหวตให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลสั่งยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป

10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ทหารสลายการชุมนุม ที่เรียกร้องให้ยุบสภาของคนเสื้อแดงที่ ถ.ราชดำเนิน และที่ราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิตเป็นร้อย บาดเจ็บหลายพัน สังคมไทยยิ่งแตกแบบลงลึก และรอยร้าวขยายกว้างไปในขอบเขตทั่วประเทศ

ตุลาการภิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนอำนาจที่ไม่ใช้กำลัง แต่เมื่อประชาชนคัดค้านก็ถูกปราบจนทำให้ยกนี้จบด้วยการนองเลือด

 

ครั้งที่ 3 ย้อนกลับไปใช้ทั้งศาลและทหาร
ถึงจะชิงบ้านกะลาทองได้

อํานาจเก่าได้บทเรียนว่า ประชาชนดื้อตาใส ทำอย่างไรก็ไม่เลือกคนดี จึงต้องย้อนไปใช้แผนแรก

10 พฤษภาคม 2554 อภิสิทธิ์ยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ 3 กรกฎาคม2554 ผลการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนชนก็ยังคงเลือกเหมือนเดิม

เพื่อไทยชนะ ได้เสียงเกินครึ่ง 265 ส.ส. (15.74 ล้านเสียง) ปชป. 159 ส.ส. (11.43 ล้านเสียง) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

พฤศจิกายน 2556 แกนนำ กปปส. ที่มาจาก ส.ส.พรรค ปชป. นำมวลชนชุมนุมไล่รัฐบาล

9 ธันวาคม ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

2 กุมภาพันธ์ วันเลือกตั้งทั่วไป ผู้ชุมนุม กปปส.ขัดขวางไม่ให้จัดการเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง

21 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ โมฆะ เพราะไม่สามารถจัดได้ภายในวันเดียว

12 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน (รถไฟความเร็วสูง และโครงการน้ำ)

7 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกฯ รักษาการของยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง ในกรณีย้ายเลขาธิการ สมช. ถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ถูกต้อง ที่ประชุม ครม.มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ยังไงรัฐบาลก็ไม่ล้ม

22 พฤษภาคม 2557 คสช.ทำรัฐประหาร ใช้อำนาจการปกครองแบบชั่วคราวเกือบ 5 ปี

23 มกราคม 2558 สนช. ซึ่ง คสช.แต่งตั้ง ลงมติถอดถอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เป็นบุคคลที่มีประชาชนชื่นชม มีคะแนนเสียงดีมาก ถ้าหากทิ้งเอาไว้ก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

13 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์จากความเสียหายการทุจริตซื้อข้าว ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงิน 35,717 ล้านบาท

การใช้ ม.44 ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น ในการดำเนินการยึดทรัพย์

27 กันยายน 2560 มีคำพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี

ถ้าไม่หนีก็ติดคุก นี่คือวิธีการเนรเทศศัตรูทางการเมือง แบบเดียวกับนายกฯ ทักษิณโดนเล่นงาน

 

เห็นบทเรียนที่ผ่านมาก็พอเดาผลการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลได้แล้ว และเมื่อเห็นการตัดสิน 2 คดีล่าสุด ทุกคนยิ่งมั่นใจ

คดียึดสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 10 วัน ปลายปี 2551 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พิพากษาให้ลงโทษแกนนำพันธมิตรฯ ปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนข้อหาอื่น ยกฟ้อง

ส่วนคดีแฟลชม็อบปี 2562 (ชุมนุมบน Sky walk หลายชั่วโมง) แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ 8 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ลงโทษจำคุก 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี พร้อมปรับเป็นเงิน 11,200 บาท

แต่สถานการณ์วันนี้ เปลี่ยนไปบ้าง ศึกชิงบ้านกะลาทอง จึงซับซ้อนขึ้น เรามีบทเรียนและการวิเคราะห์เพิ่มเติมฉบับหน้า