Naim Nait 50 Limited-Edition Amplifier

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาแวดวงเครื่องเสียงมีผลิตภัณฑ์รุ่นพิเศษ ประเภท Limited-Edition ออกมาให้เห็นกันมากหน้าหลายตา ทั้งในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์และลำโพง โดยจะทำออกมาเนื่องในโอกาสพิเศษของแบรนด์ทำนองครบรอบปี ส่วนใหญ่จะเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ด้วยนับแต่ทศวรรษที่ 70s เป็นต้นมา มีบริษัทผลิตเครื่องเสียงและลำโพงเกิดใหม่ค่อนข้างมาก ทำให้ช่วงทศวรรษที่ 80s-90s ถือว่าเป็นยุคทองของ Hi-Fi ที่มีความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก

และที่นำมาให้รู้จักกันเที่ยวนี้ ซึ่งก็คือที่จ่าหัวเอาไว้นั้น เป็นเครื่องที่เพิ่งออกตลาดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบกึ่งศตวรรษของแบรนด์เช่นเดียวกัน

กับเครื่องต้นแบบ คือ Naim Nait ซึ่งเป็นอินติเกรตเต็ด แอมป์ รุ่นแรกของแบรนด์นั้น เมื่อแรกย่างเข้าสู่ยุทธจักรในปี ค.ศ.1983 หลังจากที่ Mr.Julian Vereker MBE (1945-2000) ได้ก่อตั้ง Naim Audio มาครบทศวรรษ ก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนในวงการอย่างมาก ทั้งในแง่ของโครงสร้างภาพลักษณ์ ที่มีขนาดแผงหน้าปัดเครื่องกว้างเพียงครึ่งเดียวของเครื่องเสียงส่วนใหญ่ ในลักษณะที่เรียกกันว่าเป็นแบบ ‘กล่องรองเท้า’ และในแง่ของสุ้มเสียงที่มีความแตกต่างกับแอมป์ทั่วๆ ไปในยุคนั้นอย่างมาก

จนก่อให้เกิดกระแสที่เรียกว่า Super Integrated ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ส่วนในบ้านเราเมื่อคราวลงตลาดใหม่ๆ เป็นที่รู้จักกันในแง่ที่ว่า ‘อย่าถามหาสเป๊ก’ เพราะไม่มีรายละเอียดใดๆ ในเชิง Specifications กำกับมาด้วยนั่นเอง

และสเป๊กสำคัญอันมิได้ระบุซึ่งเป็นเรื่องใคร่รู้ลำดับแรกเลยของคนเล่นเครื่องเสียงก็คือ กำลังขับ

 

แต่แม้จะไม่บอก ไม่รู้ ว่าแอมป์เครื่องนี้มีกำลังขับกี่วัตต์ต่อข้าง Naim Nait ก็ยังได้รับความนิยมสูงมากในบ้านเรา ส่วนใหญ่มักจะนำไปจับคู่กับลำโพงอย่าง Linn Kan (2 ทาง, วางหิ้ง ขนาดกะทัดรัด สูงประมาณคืบ) เพราะทำงานเข้าขาเข้าคู่ลงตัวกันดีเหลือเกิน มีนักเล่นบางรายในชมรม Linn Club-Thailand (กลุ่มคนเล่นเครื่องเสียงที่ใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn Sondek LP-12 เป็นแหล่งโปรแกรมหลัก) ก็ใช้ซิสเต็มนี้

ส่วนชุดที่ทำให้แอมป์กับลำโพงคู่นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ เมื่อนำไปรวมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง Rega Planar 3 ด้วยทั้งซิสเต็มมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าการใช้ Linn LP-12 เพราะแต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็นเทิร์น, แอมป์ รวมทั้งลำโพง มีราคาชิ้นละ (รวมทั้งคู่ละ) หมื่นต้นๆ เท่านั้นเอง ขณะที่เทิร์นของลินน์เวลานั้นรวมโทนอาร์มด้วย ก็ปาเข้าไปร่วมครึ่งแสนแล้ว

ขณะที่ Rega Planar 3 นั้นได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมมาก Mr.Roy Gandy ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเจ้าของ Rega Research เอง ได้เคยพูดถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ของเขาว่า เรายินดีที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเทิร์นเทเบิลที่ดีเป็นอันดับสองของ UK ซึ่งในยุคนั้นไม่ว่าใครต่างก็ยกย่องให้ LP-12 ของลินน์แห่งสหราชอาณาจักร เป็นเต้ยสุดแล้วของเครื่องเล่นประเภทนี้

แอมปลิไฟเออร์รุ่นแรกตระกูล Nait ของเนมทำตลาดอยู่ห้าปีก็ได้พัฒนามาเป็น Nait 2 ในปี ค.ศ.1988 โดยมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกล่องรองเท้าเช่นเดิม กระทั่งถึงปี ค.ศ.1993 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอีกครั้งเป็น Nait 3 หนนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาพลักษณ์เหมือนกับเครื่องเสียงทั่วๆ ไป คือมีแผงหน้าปัดเครื่องกว้างพอๆ กับเครื่องส่วนใหญ่ในตลาด จนมาถึงยุคปัจจุบันที่พัฒนามาเป็น Nait 5si และ Nait XS3 ก็ยังคงมีแผงหน้าปัดเครื่องกว้างแบบปกติ

กระทั่งมาถึงรุ่นพิเศษในวาระครบรอบครึ่งศตวรรษของแบรนด์ Nait 50 Limited-Edition จึงกลับไปมีรูปร่างหน้าตาแบบกล่องรองเท้าเหมือนรุ่นต้นแบบอีกครั้ง – ดังที่เห็นในภาพนั่นแหละครับ

และมิเพียงมีโครงสร้างภาพลักษณ์เหมือนเครื่องรุ่นแรกเท่านั้น หากยังมีจำนวนปุ่มปรับต่างๆ ตลอดจนการวางตำแหน่งในลักษณะเดิมๆ แบบไม่ผิดเพี้ยนเลย

กล่าวคือ เครื่องรุ่นแรกนั้นที่แผงหน้าปัดจากด้านซ้ายมาขวา เป็นปุ่มลูกบิดขนาดใหญ่ของ Volume Control ถัดมาเป็นปุ่ม Balance สำหรับปรับสมดุลเสียงซ้าย/ขวา ถัดไปเป็นสี่ปุ่มเรียงติดกันสำหรับกดเลือก Source หรือแหล่งโพรแกรม ประกอบไปด้วย Phono, Tuner, Tape และ Mains สุดท้ายคือปุ่มเล็กๆ ขวาสุด เป็นปุ่มไฟ Power แสดงสถานะการเปิด/ปิดเครื่อง

ส่วนรุ่นล่าสุด Nait 50 ที่เปลี่ยนไปก็คือตำแหน่งปรับสมดุลเสียงก็ให้เป็นช่องเสียบสำหรับชุดหูฟัง ขนาดมาตรฐาน 6.35 มิลลิเมตร กับเปลี่ยนปุ่มกดเลือกซอร์ซสองประเภท คือที่ตำแหน่งจูนเนอร์เปลี่ยนเป็น Stream และที่แต่เดิมเป็นเทปเครื่องรุ่นใหม่ให้ไว้สำหรับ Aux ครับ

แม้จะแลดูว่าเหมือนรุ่นแรกไม่ผิดเพี้ยน แต่โครงสร้างตัวถังเครื่องได้เปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียมชุบอะโนไดซ์คุณภาพสูง ขณะที่ปุ่มควบคุมระดับความดังเสียงขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมเนื้อแข็ง ซึ่งทั้งหมดช่วยให้การลดแรงสั่นสะเทือนขณะเครื่องทำงานดีขึ้น เครื่องมีความเสถียรมากขึ้น

ที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดอีกอย่างก็คือ ไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง จากแต่เดิมที่เป็นสีเหลืองอำพัน ก็เปลี่ยนมาเป็นไฟส่องสว่างสีขาวแทน

ขณะที่ภายในนั้นการเลือกอินพุตใช้การควบคุมแบบ Fly-to-Wire ซึ่งสามารถช่วยลดทอนความยาวของทางเดินสัญญาณได้มากขึ้น ช่องเสียบชุดหูฟังมีภาคขยายเสียงที่แยกต่างหาก ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ใช้อยู่รุ่น NSC-222 Streaming Preamplifier รวมทั้งที่ใช้อยู่ในเครื่องตระกูล New Classic Series ทุกรุ่นด้วย ภาคโฟโน สเตจ รองรับหัวเข็มแบบ MM: Moving Magnet ใช้ชุดทรานซิสเตอร์ที่แยกเฉพาะและได้ออกแบบเป็นพิเศษ ภาคปรีแอมป์ทำงานในแบบ Class-A ขณะที่ภาคเพาเวอร์-แอมป์ทำงานแบบ Class-A/B ในลักษณะเดียวกันกับแอมปลิไฟเออร์แบบ Big Box สำหรับออดิโอไฟล์อย่างแท้จริง แม้จะยังคงโครงสร้างภาพลักษณ์ดั้งเดิมแบบ Shoebox ก็ตาม

และเช่นเดียวกับนานาผลิตภัณฑ์ของเนม Nait 50 ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยการออกแบบที่ร่วมสมัย และอยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง พร้อมนำเสนอความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีด้วยความพิถีพิถันอันประณีตยิ่ง จากการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพโดยไม่ประนีประนอมต่อข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น

สามารถตอบสนองต่อทุกรูปแบบของสัญญาณเสียงดนตรีด้วยพลังของไดนามิกอันไร้ขีดขั้น ทั้งด้วยความแม่นยำและเที่ยงตรงสูงสุด ไม่ว่าจะกับที่มาของต้นทางแบบอะนาล็อก หรือจากการสตรีมก็ตาม

Naim Nait 50 ระบุกำลังขับ 25W/Ch. โดยมีจุดสูงสุดขณะทำงาน (Peak Power) ที่ 225W โดยวัดค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวมพร้อมสัญญาณแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ (THD+N) ได้ต่ำเพียง 0.015% เท่านั้น และผลิตขึ้นมาแบบจำกัดจำนวนเอาไว้เพียง 1,973 เครื่อง คือเป็นตัวเลขเดียวกันกับปี ค.ศ.ที่ก่อตั้งแบรนด์นั่นเอง

ช่วงออกตลาดเมื่อปลายปีที่แล้ว บางนิตยสารในสหราชอาณาจักรบอกว่ามันเป็นแอมป์ที่ให้น้ำเสียงสนุกสนานมาก น่าฟังยิ่งนัก ให้สุ้มเสียงที่มีรสชาติอันชัดเจนยิ่ง ที่สำคัญคือสามารถสืบทอดจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องต้นแบบเอาไว้ได้อย่างมั่นคงมาก

บ้างก็บอกว่าให้โทนเสียงที่อบอุ่น น่าฟัง มีจังหวะจะโคนของเสียงดนตรีที่ดีมาก ไม่มีรายละเอียดของเสียงที่ไร้สาระให้สัมผัสได้แม้เพียงน้อยนิด ที่สำคัญคือมีพลังมากพอที่จะพาเข้าถึงอารมณ์เพลงได้อย่างน่าทึ่ง

บ้านเราเปิดราคาที่ 139,000 บาท ล็อตแรกเข้ามาปุ๊บก็หมดปั๊บ ตอนนี้กำลังรอล็อตสอง ไปเข้าชื่อรอตอนนี้น่าจะยังทันครับ!!! •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]