DNA ของผีบรรพชน จากโลงผีแมน ที่ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

วัฒนธรรม “โลงผีแมน” คือลักษณะเฉพาะของการปลงศพ ซึ่งมีการค้นพบอยู่มากในเขต อ.ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน (หมายความว่ายังมีการพบในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะพูดถึงกลุ่มวัฒนธรรมนี้ในเขตปางมะผ้าเป็นพิเศษ) มีลักษณะที่โดดเด่นจากการใช้ “โลงไม้” ซึ่งมักจะทำจากไม้สักผ่าครึ่ง แล้วขุดเนื้อไม้ตรงกลางออกให้เป็นเหมือนโลง ส่วนปลายทั้งสองด้านจะมีการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ โดยไม้ที่ถูกผ่าครึ่งแล้ว จะถูกนำมามาประกบกันเป็นคู่ จากนั้นจึงนำมาตั้งไว้อยู่บนเสาไม้จำนวน 4-6 เสา หรือวางไว้บนคานภายในถ้ำอีกทีหนึ่ง

และก็เป็นที่น่าสนใจอีกด้วยว่า “ถ้ำ” อันเป็นสถานที่เก็บโลงผีแมนเหล่านี้ มักจะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เกือบจะเป็นยอดของเทือกเขาหินปูน โดยบริเวณที่เป็นยอดเขาเหล่านี้ มักจะถูกนับว่าเป็นสถานที่สำคัญ หรือศักดิ์สิทธิ์ จึงมักมีสิ่งก่อสร้างในศาสนาต่างๆ รวมถึงศาสนาผีพื้นเมืองของอุษาคเนย์ด้วย

แน่นอนว่า “โลงผีแมน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพิธีปลงศพย่อมเกี่ยวข้องกับศาสนา และความเชื่อ

และเป็นไปได้ด้วยว่า ตัวของโลงผีแมนเองก็คือ ส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะของ “ผีบรรพชน” นั่นเอง

 

มีผู้อธิบายว่า “ผีแมน” นั้น เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า “ผีที่โผล่ขึ้นมา”

อย่างไรก็ตาม คำว่า “แมน” นั้น หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะปรากฏในเอกสารโบราณของล้านช้างคู่กับคนอีกกลุ่ม ที่เรียกตัวเองว่า พวกแถน ด้วยเช่นกัน

โดยปราชญ์ทางด้านประวัติศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ล่วงลับ ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับ “พวกแมน” เอาไว้ในหนังสือ “โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ว่า

“พวกแมน พวกเจ้าบ้านผ่านเมืองล้วนต้องใช้คำว่าแมน นำหน้าทั้งสิ้น, พวกแมนนี้ บางทีก็เรียกว่าพวกผี หรือผีฟ้า ซึ่งต่ำลงมากว่าแถน. ร่องรอยอันนี้ เราได้พบในวรรณคดีไทยอย่างเลือนรางมาก คือใน ลิลิตพระลอ ซึ่งออกชื่อพ่อของพระลอว่า ท้าวแมนสรวง ผู้ครองเมืองสรวง นี่เป็นทำนองเดียวกันกับพวกแมนในวรรณคดีเรื่องขุนเจือง ของล้านช้าง เช่น แมนฟอง ครองเมืองคาเขียว ดังนี้ เป็นต้น”

ถ้าจะเชื่อตามที่จิตรอธิบายแล้ว คำว่า “แมน” ก็หมายถึง “ผี” คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี และย่อมเป็น “ผีบรรพชน” โดยเฉพาะบรรพชนของพวกแมน เพราะจิตรอธิบายว่า พวกแมน บางทีก็เรียกว่า “ผีฟ้า” ซึ่งเป็นเทวดาที่มีนิวาสสถานบนพื้นโลก

คำว่า “โลงผีแมน” ที่นักโบราณคดีนำมาใช้นั้น เป็นคำที่ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้เรียกกลุ่มโลงไม้พวกนี้มาก่อน ชื่อโลงผีแมนนี้จึงแสดงให้เห็นถึงร่องรอยที่สืบเนื่องของความเชื่อในศาสนาผี ของพวกแมนด้วย

 

น่าสนใจว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดให้มีการแถลงข่าว “โลงผีแมน ข้อมูลใหม่สู่การถอดรหัสสืบรากมนุษย์ยุคโบราณ 1,700 ปี กับการบูรณาการศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์” ขึ้นที่ท้องพระโรง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

ส่วนผู้ที่เป็นคนให้ข้อมูล และร่วมพูดคุยในการแถลงข่าวเกี่ยวกับหัวข้อข้างต้นนั้น ก็มีอยู่ 2 คนสำคัญ

หนึ่งก็คือนักโบราณคดี ผู้ทำงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมโลงผีแมน มาอย่างยาวนานตั้งแต่เรือน พ.ศ.2544 ซึ่งก็นับเป็นเวลา 20 กว่าปีมาแล้วเลยทีเดียวอย่าง ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ส่วนอีกหนึ่งก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ ที่สนใจในการนำงานทางด้านนี้มาเชื่อมโยงกับงานทางด้านมานุษยวิทยา และพันธุศาสตร์โบราณ อย่าง รศ.ดร.วิภู กุตะนันนท์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดังนั้น ถ้าจะมีใครที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของ “พันธุศาสตร์” ของผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม “โลงผีแมน” (และได้ใช้โลงผีแมนเป็นที่บรรจุชิ้นส่วนสังขารของตนเองด้วย) แล้วน่าเชื่อถือที่สุด ก็คงจะไม่พ้นทั้ง 2 คนนี้ไปได้หรอกนะครับ การแถลงข่าวในครั้งนี้จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูงและริเริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมากกว่า 20 ปี (ภาพจาก ข่าวสด)

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของการแถลงข่าวในครั้งนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น การที่ค่าอายุ 1,700 ปี (อันเป็นค่าอายุที่เก่าที่สุดที่พบในที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างที่นำไปตรวจสอบ DNA จากโลงผีแมน ซึ่งมีการใช้งานต่อเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมาอีกนับพันปี) นั้น มีการผสมผสานของ DNA จากกลุ่มคน 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มหัวบินเนียน (Hoabinhian, คนพื้นเมืองอุษาคเนย์ในยุคก่อนจะมีโลหะใช้) ซึ่งมีชุด DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ในปัจจุบัน

กลุ่มคนยุคเหล็กจากลุ่มน้ำฉางเจียน (หรือที่มักเรียกกันในโลกภาษาไทยว่า แม่น้ำแยงซีเกียง) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมี DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท

และกลุ่มคนยุคเหล็กจากแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำพวงเหอ หรือในโลกภาษาไทยมักเรียกว่า แม่น้ำฮวงโห) ทางตอนเหนือของจีน

ลักษณะดังกล่าวแตกต่างไปจากชุด DNA ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างในวัฒนธรรมบ้านเชียง และกลุ่มตัวอย่าง DNA ของผู้คนยุคเหล็กในบริเวณนี้ ที่มีอายุเก่าแก่ขึ้นไปถึงช่วง 1,800 ปี

ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างหลังนั้น มีชุดของ DNA ของกลุ่มหัวบินเนียน และลุ่มน้ำฉางเจียน แต่ไม่พบร่องรอยของ DNA ของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเหลือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเหลืองเข้ามาในพื้นที่แถบทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งคงจะเริ่มเมื่อช่วง 1,700 ปีที่แล้ว

ถึงแม้ว่า DNA ของกลุ่มตัวอย่างจากวัฒนธรรมโลงผีแมน แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับพวกลัวะ, กะเหรี่ยงปาดอง และมอญ ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่พวกเดียวกันเสียทีเดียว

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่หลากหลายที่เข้ามาผสมผสานกับผู้คนในวัฒนธรรมโลงผีแมนอย่างเข้มข้น ตลอดในช่วง 1,700 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นชุดของ DNA ของทั้ง 3 กลุ่มชนดังกล่าวในปัจจุบัน

(และก็น่าสังเกตด้วยนะครับว่าช่วง 1,700 ปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับช่วงที่เริ่มมีการรับเอาเทคโนโลยีการทำนาทดน้ำจากจีนเข้ามาในอุษาคเนย์ โดยกลุ่มคนในปัจจุบันที่มี DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนในวัฒนธรรมโลงผีแมน และพูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต คือพวกปาดอง หรือกะเหรี่ยงคอยาว)

เป็นอันสรุปได้ว่า ชิ้นส่วนกระดูกของ “ผีแมน” ที่เก็บอยู่ในโลงไม้เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ผีของกลุ่มชนที่คนในพื้นที่เรียกว่า “แมน” (ไม่ว่าชนกลุ่มนั้น จะถือว่าพวกตนเองเป็นพวกแมนหรือเปล่าก็ตาม) เป็นบรรพชนของคนถึง 3 กลุ่มเป็นอย่างน้อย

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การวิจัย DNA โบราณในครั้งนี้ เน้นการศึกษา “ออโตโซม” (autosome คือ โครโมโซมร่างกายส่วนที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมและลักษณะทางกายภาพต่างๆ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลำดับเครือญาติ ของเจ้าของกระดูกในโลกผีแมนต่างๆ ที่ถูกนำใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาว่ามีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด

ลักษณะอย่างนี้ชวนให้นึกถึงความเชื่อเรื่องผีบรรพชน และพิธีศพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ปัจจุบันนี้ ที่มีการฝังศพครั้งที่สอง (Secondary burial) ด้วยการนำเอากระดูกไปบรรจุรวมกันในกลุ่มเครือญาติ โดยถือเป็นผีประจำตระกูลตนหนึ่งตนเดียวกัน

โดยในที่นี้ผมอยากจะเชิญชวนให้ลองเปรียบเทียบกับพิธีศพของพวกจาม

 

ชาวจามเชื่อว่า มนุษย์เราเมื่อ “เกิด” ขึ้นมานั้น ก็คือได้ “ตาย” ไปจากท้องของแม่ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่มนุษย์ได้ตายลง เขาก็แค่กลับเข้าไปเกิดอยู่ในท้องแม่อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น ในการฝังศพครั้งแรกพวกจามจะตั้งปะรำพิธี ในงานศพ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง (ดังนั้น จะเรียก “ปะรำ” ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะปะรำที่พวกจามสร้างในงานศพมีหลังคาโค้งเหมือนกระดองเต่า หรือท้องของแม่ ไม่ได้เป็นหลังคาเรียบเหมือนปะรำพิธีบ้านเรา) “ศพ” ของผู้ตายก็คือ “เด็ก” ที่อยู่ในท้องของแม่

ส่วนเสาเอกปะรำพิธีจะมี “ลึงค์” (จามเรียกว่า “ลิงคัม”) ที่ทำจากไม้ ตั้งเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของอวัยวะเพศชาย และเชื่อว่าเป็นการสร้างร่างกายในโลกใหม่ให้กับผู้ตาย

แต่งานศพของพวกจามยังไม่ได้จบง่ายๆ เท่านี้ เพราะหลังจากที่ฝังไปครบปีแล้ว ก็จะมีการนำศพขึ้นมาเผา แต่ก่อนหน้าที่จะมีการเผา 2 วัน จะต้องมีการนำเอา “หิน” ที่มีลักษณะกลมเกลี้ยงจากแม่น้ำลำธาร หรืออาจจะจากครัว จำนวน 9 ก้อน มาวางเรียงตั้งสูงขึ้นไปบนฟ้าในที่แจ้งในลักษณะของ “ก้อนหิน 3 เส้า” ที่รองรับเตา หรือภาชนะในครัว

โดยมีการอ้างว่า หินแต่ละก้อนเป็นสัญลักษณะของเดือนแต่ละเดือน หิน 9 ก้อนหมายถึง 9 เดือนที่ผู้ตายอยู่ในท้องของแม่ จากนั้นวันที่ 3 จึงค่อยทำลายหินสามเส้าที่ก่อมามาจากหิน 9 ก้อนนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการคลอด แล้วจึงขุดเอาศพผู้ตายขึ้นมาเผาได้

จากนั้นชาวจามจะเก็บกระดูกหน้าผากของผู้ตายที่เหลือจากการเผา นำมากะเทาะออกเป็น 9 ชิ้น แล้วเก็บรวมกันไว้ในกล่องที่ใช้เฉพาะในพิธีที่ชื่อว่า “กุต” (Kut) ซึ่งเรียกด้วยภาษาจามว่า “klaong” โดยเชื่อกันว่าการเก็บกระดูกเอาไว้ในกล่องที่ว่านี้ จะช่วยให้ผู้ตายได้เข้าไปอยู่ร่วมกับบรรพชนของพวกเขาในโลกนิรันดร์

ครอบครัวของฝ่ายภรรยาจะเป็นฝ่ายนำกล่องที่ว่านี้ ไปเก็บไว้กับครอบครัวของฝ่ายสามี จนครอบครัวนั้นสามารถรวบรวมกล่องได้มากพอสมควรแล้ว จึงนำไปประกอบพิธีกุต ซึ่งโดยปกติมักอยู่ที่ราว 15-30 กล่อง โดยมักกินระยะเวลานานราว 5-10 ปี

แต่ตัวอย่างหลายกรณีในปัจจุบันนั้นก็แสดงให้เห็นว่า หลายตระกูลไม่ได้มีการทำพิธีกุตกันมาหลายสิบปีเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม พวกจามยังมีความเชื่อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกตระกูลต้องมีสุสานที่ใช้ประกอบพิธีกุต และใช้สำหรับเป็น ที่จะนำร่างทิพย์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากพิธีศพไปรวมเข้ากับบรรพชน ในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ที่พวกจามเรียกว่า “muk akei” ไม่อย่างนั้นแล้วจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างรุนแรงว่า ไม่มีบรรพชนคุ้มหัว

ในพิธีที่สุสานกุต ครอบครัวจะนำเอากล่องเหล่านี้วางเรียงตามลำดับอาวุโสในตระกูล เมื่อเสร็จพิธีกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระอิศวร พระนารายณ์ และผีบรรพชนทั้งหลายแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีศักดิ์สูงที่สุดในชุมชน จะเป็นผู้ประกอบพิธีในตอนเที่ยงคืน ซึ่งที่ว่าเป็นเวลาที่ชาวจามกลุ่มใหญ่ที่เมืองนิงถ่วง เชื่อว่าเป็นเวลาที่พระอิศวรลงมาจุติ

พิธีจะใช้เวลา 3 วัน 3 คืน ในช่วงเวลานี้ผู้คนในครอบครัวห้ามเข้าร่วมในพิธี ส่วนในพิธีจะมี “หิน” 6 ก้อน ก้อนแรกเป็นตัวแทนของ “Po Dhi” ซึ่งชาวจามถือว่าเป็นผู้คอยควบคุมดูแลกุต

อีกสองก้อนสำหรับชายหญิงที่ตายดีวางเรียงไว้ในแถวเดียวกัน และอีกสองก้อนสำหรับชายหญิงที่ตายไม่ดี วางเรียงกันเป็นแถวอยู่ที่อีกด้าน

ส่วนก้อนสุดท้ายมีไว้สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษากุต

ท่ามกลางพิธีการต่างๆ ที่ดำเนินไปตลอด 3 วัน 3 คืน จนในท้ายที่สุด ผู้ตายทั้งหลายจะไปรวมเข้ากับบรรพชนของพวกเขาในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ โดยผ่าน “ก้อนหิน” ที่เรียกว่า “กุต” พวกนี้นั่นเอง

ภายในอะไรที่เรียกว่า “โลงผีแมน” นั้น ก็บรรจุไว้ด้วยกระดูกของสายตระกูลเดียวกัน ไว้ภายในโลงไม้เดียวกัน ดังปรากฏหลักฐานจากการศึกษาออโตโซม ในงานวิจัย DNA ที่เพิ่งแถลงข่าวไปนั้น ก็ชวนให้นึกถึงการที่พวกจามนำเอาปู่ย่าตายายของเขาไปรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับบรรพชนในหิน ผ่านพิธีกุตอย่างจับจิตจับใจ

เอาเข้าจริงแล้ว “โลงผีแมน” จึงอาจจะทำหน้าที่อย่างเดียวกับ “หินกุต” ของพวกจาม คือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหลอมรวมผู้ตายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ ของผีบรรพชนก็เป็นได้ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ