เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ตรุษจีน เทศกาลอันยิ่งใหญ่ และธรรมเนียมการไหว้ ‘เหง๋’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
บรรยากาศการเซ่นไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนที่วัดเล่งเน่ยยี่ (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

คราที่แล้วผมได้เล่าเรื่องตรุษจีนกับเรื่อง “ชง” ไปอย่างงูๆ ปลาๆ แล้วก็มานั่งคิดว่าถ้าต้องกล่าวถึงประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนนั้น ก็ยังมีอะไรอีกมากที่สนุกและน่าสนใจ น่าจะได้ทยอยเขียนไปเรื่อยๆ ตามที่ได้พอเรียนมาบ้าง

ทว่า ด้วยสำนึกว่าตนยังมิใช่ผู้รู้ทางจีนวิทยา เป็นเพียงวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้าคนหนึ่ง จึงขอเอาวลี “วัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า” มาใช้เป็นชื่อซีรีส์บทความตามประสาวัยว้าวุ่น เพื่อจะได้ไม่เครียด เป็นกันเอง ส่วนรายละเอียดของแต่ละตอนก็จะได้เอาห้อยท้ายไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ

ทั้งนี้ คำจีนต่างๆ ในบทความจะขออนุญาตใช้สำเนียงฮกเกี้ยนที่ผมคุ้นเคย ซึ่งใกล้เคียงสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะเป็นภาษาตระกูลเดียวกันคือบิ่นหลำหรือฮกเกี้ยนใต้ ท่านผู้อ่านคงพอเดาได้ เว้นแต่คำไหนรู้จักแพร่หลายในภาษาแต้จิ๋วก็อาจวงเล็บไว้ด้วย

อ่อ ต้องเรียนในเบื้องต้นอีกว่า สิ่งที่ผมเขียนนี้คือสิ่งที่ได้เรียนมาจากครูบาอาจารย์และเน้นประเพณีในฝ่ายภาษาฮกเกี้ยน รวมทั้งที่ได้จากฟังผู้ใหญ่ท่านเล่าสืบๆ กันมาด้วย อาจไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านรู้หรือปฏิบัติกันในครอบครัวก็ไม่ต้องกังวลใจครับ ถือว่าได้ลองฟังจากมุมอื่นๆ บ้าง

อันไหนดีมีประโยชน์ก็นำไปปรับใช้ อันไหนไม่เห็นด้วยก็ละไว้ ขอให้ยึดประเพณีครอบครัวและธรรมเนียมจีนในภาษาตนเองเป็นสำคัญ

เว้นแต่ไม่รู้มาก่อนเลยจะลองตามดูก็ไม่ผิด

 

เทศกาลตรุษจีนนับเป็นเทศกาลใหญ่และยืดยาวที่สุดของคนจีนก็ว่าได้ ใครดูรายงานข่าวต่างประเทศก็จะงงๆ หน่อยว่า ทำไมคนจีนนับล้านๆ ต่างพากันเดินทางกลับบ้านเกิดจนการจราจรแออัดยัดทะนาน และกิจการทั้งหลายต่างหยุดยาวเป็นครึ่งเดือนหรือเป็นเดือน ทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้มากนักหนา

จีนมีฤดูกาลต่างจากไทยพอสมควร ถึงหน้าหนาวก็หนาวจนลำบากเจียนตาย อาหารการกินก็ขาดแคลน ยิ่งในสังคมชนบทหรือสังคมเกษตร ฤดูกาลถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คนจีนจึงเฝ้ารอคอยการกลับมาของฤดู “ชุ้น” หรือฤดูใบไม้ผลิ (วสันต์) กันอย่างเต็มที่

ครั้นฤดูวสันต์เวียนกลับมาอีกครั้งก็เหมือนได้ชีวิตกลับมาใหม่ ความหนาวจะเริ่มจางคลายและพืชพันธุ์เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ปีใหม่จีนจึงถูกกำหนดให้สอดคล้องกับการมาถึงของฤดูวสันต์นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เทศกาลตรุษจีนจึงมีชื่อว่า “ชุ้นโจ่ย” (ชุนเจี๋ย) หรือเทศกาลฤดูวสันต์ ซึ่งจะได้ฉลองกันอย่างยืดยาว หากนับตั้งแต่วันจ่าย (วัน 29 ค่ำเดือนสิบสองของปีเดิม) ไปจนถึงเทศกาลโคมไฟหรือหง่วนเซียวโจ่ย (15 ค่ำเดือนหนึ่งจีน) ซึ่งนับเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีนอย่างเป็นทางการ จะกินเวลาถึงสิบเจ็ดวันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างสิบเจ็ดวันก็จะมีวันสำคัญ ประเพณีและพิธีกรรมย่อยๆ ไปโดยตลอด ก๊วนมือใหม่และมือเก่านักไหว้เจ้าเผากระดาษหลายคนมักจะให้กำลังใจกันในช่วงนี้พอขำๆ ว่าหนทางยังอีกยาวไกล พากันเตรียมตัวเตรียมใจให้แข็งแกร่งรอรับการไหว้เจ้าและพิธีกรรมอันมากมายที่จะมาถึง

ผู้ใหญ่ท่านจึงบอกว่า “ถือมากก็ยุ่งมาก” เพราะต้องปฏิบัติตามที่ตนเองถือ ใครไม่ถือก็สบายกว่า ยิ่งรู้มากและถือมากก็ยิ่งยุ่งขึ้นไปอีก “รู้มากยากนาน” อันนี้ถือเป็นคำเตือนไปในตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนจะเข้าเทศกาลตรุษจีนก็ยังมีประเพณีพิธีกรรมอารัมภบทหรือเทศกาลล่วงหน้าที่บอกถึงการเตรียมตัวเข้าปีใหม่อีกหลายอย่าง เช่น การไหว้ขอบคุณเทพเจ้า การไหว้เจ้าที่ปลายปี การทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ การส่งเจ้า ฯลฯ

จะขอเล่าถึงเทศกาลไหว้เจ้าที่ปลายปี ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่คนไม่ค่อยปฏิบัติกันแล้ว และถือว่าเป็นสัญญาณแรกๆ ก่อนเริ่มเข้าเทศกาลตรุษจีนไว้หน่อยนะครับ

 

ชาวบ้านจีนนับถือเจ้าที่มาก ในสมัยโบราณได้นับถือเทพเจ้าแห่งผืนดินจริงๆ คล้ายคลึงกับพระแม่ธรณีอย่างไทย แล้วค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาเป็นเจ้าที่หลายระดับตามระบบคิดเชิงสังคมและราชการ เช่น เจ้าที่ระดับผีเรือน (เต่กี้จู้ – ตี่จู้เอี๊ยะ) เจ้าที่ชุมชน (ปุนถ่าวก๊อง) ไปจนถึงระดับเมือง (เสี่ยหองเอี๋ย) มีศักดิ์เล็กใหญ่ปลีกย่อยออกไปอีกมาก เป็นเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง

ยิ่งจีนในโพ้นทะเลแล้วเรื่องนี้ก็สนุกขึ้นไปอีก เพราะไปผนวกกับคติพื้นเมืองคือไปรวมเอามเหศักดิ์ วิญญาณารักษ์ตลอดจนผีเจ้าที่เจ้าทางต่างๆ ของพื้นบ้านไทย ลาว มอญ เขมร แขกทั้งฮินดูทั้งมุสลิม เข้ามากราบไหว้เป็นเจ้าที่ของตัวด้วย

ผมเคยงงกับคำว่า “เจียวตี่เอี๋ย” ในบางศาลเจ้า ว่าคือเทพอะไร เป็นเจ้าที่องค์ไหนในระบบเทพจีน จนมีผู้มาบอกว่า “เจียวตี่” มันมาจากคำไทยว่า “เจ้าที่” นั่นแหละ จึงได้ถึงบางอ้อว่า อ่อ อีพูดว่าเจ้าที่ด้วยสำเนียงจีนน่อ

ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรนิยมนับถือเจ้าที่เพราะเขาทำงานกับผืนดินโดยตรง แต่อีกกลุ่มที่นิยมไหว้เจ้าที่คือคนค้าขาย และดูเหมือนจะไหว้มากกว่าเกษตรกรเสียอีก เพราะเชื่อกันว่าเทพที่เกี่ยวกับผืนดินหรือเจ้าที่มักอำนวยผลในทางความร่ำรวยและโชคลาภเป็นพิเศษ

หากคิดตามเหตุผลก็เข้าใจได้ว่า ก็แผ่นดินเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลาย ทั้งอาหารและสินแร่ อุดมสมบูรณ์กับร่ำรวยมันก็เรื่องเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นเทพเจ้าที่ใกล้ชิดมนุษย์มากๆ ด้วย คุยง่ายต่อรองกันง่าย ขอหวยก็ง่ายกว่าองค์อื่นๆ (ฮา)

 

คนที่นับถือเจ้าที่ไม่ว่าจะในระดับไหน คือจะเต่กี้จู้นอกจากจะไหว้เป็นประจำในวันพระจีน (หนึ่งค่ำและสิบห้าค่ำตามปฏิทินจีน) อย่างการไหว้เจ้าทั่วๆ ไปแล้ว เขามีธรรมเนียมแต่โบราณอย่างหนึ่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับการไหว้เจ้าที่โดยเฉพาะ เรียกว่า การไหว้ “เหง๋” ? คำนี้ในภาษาจีนแปลว่า “ฟัน”

อาจารย์เต็กซือหู (อาจารย์นนท์) อธิบายว่า แต่เดิมในยุคโบราณ คนเราคงจับสัตว์มาแล้วใช้กะโหลกหรือกระดูกเพดานปากบนที่มีฟันติดอยู่ของสัตว์ เป็นภาชนะใส่เนื้อในการเซ่นสรวงเจ้าที่หรือผืนดิน จึงเป็นที่มาของคำว่าเหง๋ที่หมายถึงการเซ่นเจ้าที่โดยเฉพาะ ดังนั้น การไหว้เหง๋จึงต้องมีเนื้อสัตว์ที่เรียกเส้งเล้ (สัตว์บวงสรวง) ด้วยเสมอ แต่หากเป็นการไหว้เหง๋เล็กหรือเหง๋ของเดือนก็อาจเป็นเพียงเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ ได้

การไหว้เหง๋จะกระทำในทุกวันสองค่ำและสิบหกค่ำของทุกเดือนตามปฏิทินจีน คือคล้อยหลังวันพระจีนหนึ่งวัน ใช้เพียงอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นชิ้นและข้าวเซ่นไหว้ บางบ้านท่านก็ใช้ข้าวมันไก่ไหว้เลยเพราะครบถ้วนและสะดวกดี หรือจะเอาข้าวสวยมาถ้วยหนึ่งแล้วเอาน่องไก่โปะไว้สักอันก็ได้ หากบางคนที่ถือว่าไหว้ในวันพระจีนไปแล้ว อย่างน้อยในหนึ่งปีก็จะไหว้เหง๋ใหญ่สองครั้ง คือเหง๋ต้นปีและปลายปี

เหตุที่ต้องไหว้ด้วยข้าวสวยก็น่าสนใจครับ โดยปกติแล้วคนฮกเกี้ยนจะไม่ค่อยใช้ข้าวสวยไหว้เทพเจ้าสักเท่าไหร่ จะมีก็แต่บางเทศกาลอย่างไหว้วันต้นปีและไหว้ทีก๊องแซ แต่หากเป็นการไหว้เจ้าที่ไม่ว่าระดับใดจะต้องมีข้าวสวยถ้วยหนึ่งเสมอ ซือหูท่านอธิบายว่าเพราะข้าวสวยนั้นสะท้อนว่าเป็นผลผลิตจากผืนดิน จึงเป็นสัญลักษณ์ในเวลาที่ไหว้เจ้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับผืนดินนั่นเอง

 

ก่อนตรุษจีน เรียกว่าไหว้เหง๋ปลายปีหรือ โบ้ยเหง๋ ?? ตรงกับวัน 16 ค่ำ เดือน12 จีน เป็นเหง๋สุดท้ายของปีนั้น ไหว้เพื่อขอบคุณเจ้าที่ ที่ได้ดูแลคุ้มครองและอำนวยโชคผลมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โบ้ยเหง๋จะไหว้ก่อนเทศกาลตรุษจีนราวๆ สิบเอ็ดวัน แม้จะยังไม่ถึงเทศกาลแต่การไหว้เหง๋ปลายปีก็คล้ายกับเป็นการเตือนว่าตรุษจีนใกล้เข้ามาแล้ว

ส่วนการไหว้เหง๋ต้นปีเรียกว่า ถ่าวเหง๋ ?? จะไหว้ในวัน 2 ค่ำ เดือน 2 จีน หลังตรุษจีนสิบเจ็ดวัน ถือเป็นเหง๋แรกของปีนั้น ไหว้เพื่อขอให้เจ้าที่อำนวยผลทางการเกษตรและการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง

ของที่ใช้เซ่นไหว้เหง๋ใหญ่ทั้งสองจะมีผลไม้สามหรือห้าอย่าง เหล้า ชา เนื้อสัตว์บวงสรวง (เส้งเล่) ซึ่งอาจจัดเป็นชุดซำเส้งหรือสัตว์สามอย่าง (ไก่ หมู ปลาหมึกแห้งหรือปลา) และตามประเพณีฮกเกี้ยนจะวางเส้นหมี่สด (หมายถึงอายุยืน) ไว้กับเนื้อสัตว์วางขนมเต่าแดง (อั่งกู๊โก้ย) เพื่อความมีอายุยืนและเพิ่มเติมความหวานลงไป กับขนมฮวดโก้ย (ขนมถ้วยฟูหรือขนมขึ้นฟูอื่นๆ) เพื่อความ “ฮวด” หรือความเฟื่องฟูไว้บนเส้งเล่ด้วย

ส่วนกระดาษไหว้ นอกจากกระดาษเงินกระดาษทองปกติ อาจมีกระดาษพิเศษในโอกาสนี้ เช่นกระดาษไหว้ฮกเต็กเจ้งสีน (พระภูมิเทวดาองค์สำคัญ) โดยเฉพาะ หรือกระดาษไหว้มังกรธรณีทั้งห้า เพื่อขอให้มังกรธรณีอวยพรให้พื้นที่ของเรา “อ่อง” คือรุ่งเรืองขึ้นด้วยก็ได้

ปัจจุบันมีผู้รู้เรื่องเหง๋และไหว้เหง๋กันน้อย ผมได้รับความรู้จากครูบาอาจารย์จึงอยากรักษาไว้และนำมาเล่าสู่กันฟังและจะทยอยเล่าถึงประเพณีพิธีอื่นๆ ต่อ

อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง