สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด : ความดีงามเล็กๆ ใน Bangkok Design Week (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด

: ความดีงามเล็กๆ

ใน Bangkok Design Week (จบ)

 

สําหรับผม นิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด ได้เข้ามาชี้ปัญหาใหญ่ของการออกแบบเมืองกรุงเทพฯ ผ่านสิ่งที่ดูเล็กๆ น้อยๆ และทำให้เราเห็นอีกด้านที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้เปลือกของเมืองสร้างสรรค์สวยงามที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

เราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างลงไปในระบบขนส่งมวลชนคนกรุงเทพฯ อย่างไรดีถึงจะเหมาะสม

เพราะในด้านหนึ่งนี่คือระบบขนส่งที่จำเป็นมากที่สุดอย่างหนึ่งของคนเมืองกรุงเทพฯ และคงไม่มีวันหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน

แต่ในด้านหนึ่งเราก็จะพบเห็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนและเพจออนไลน์หลายแห่งที่รณรงค์เรื่องทางเท้าที่ต้องดีและมีคุณภาพสำหรับคนเดินเท้า ออกมาโพสต์ภาพวินมอเตอร์ไซค์ในลักษณะประจานโจมตีว่าวินเหล่านี้เห็นแก่ตัวและรุกล้ำที่สาธารณะ

หรือกรณีรถเข็นขายอาหารบนฟุตปาธที่จำเป็นมากสำหรับคนที่มีรายได้ไม่สูงนักที่จำต้องอาศัยอยู่ในเมืองราคาแพงเช่นกรุงเทพฯ แต่ในเวลาเดียวกัน แหล่งอาหารราคาถูกเหล่านี้ก็ถูกโจมตีจากคนชั้นกลางระดับบนว่ารุกล้ำทางเท้าและสร้างความสกปรกให้แก่ถนน

ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเลือกที่จะเอาใจรสนิยมแบบคนชั้นกลางระดับบนมากกว่า ด้วยการเข้าไปจัดระเบียบ (ห้าม) รถเข็นเหล่านี้ โดยที่มิได้คำนึงถึงมากนักว่าจะทำให้แหล่งอาหารราคาถูกสำหรับคนรายได้น้อยลดน้อยและหายไปในหลายพื้นที่

ภาพสเก๊ตช์รถเข็นขายของบนทางเท้าและภาพถ่ายจริงของรถเข็น ใน นิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด
ที่มาภาพ : เพจ Everyday Architect Design Studio

สองกรณีดังกล่าวคือตัวอย่างของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดงานออกแบบที่ต้องพยายามซ่อนพรางการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะของตนเอง (งานสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด) ที่หากมองเฉพาะในเชิงการออกแบบก็อาจดูน่าทึ่งและตื่นตาตื่นใจดี

แต่ในความเป็นจริงมันคือการสะท้อนให้เราเห็นถึงโครงสร้างการออกแบบพื้นที่เมืองที่เหลื่อมล้ำและโน้มเอียงที่จะเอาใจคนชั้นกลางระดับบนมากกว่าคนที่มีรายได้น้อย

จนพวกเขาต้องพยายามแอบซ่อนความจำเป็นในการดำรงชีวิต และทำตัวลีบเล็กให้พ้นไปจากสายตาสาธารณะ

ผมเองก็คิดไม่ออกนะครับว่าอะไรคือทางออกที่เหมาะสม

ส่วนตัวก็เคยประสบปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ฟุตปาธของรถเข็นขายอาหารจนต้องถูกผลักไสให้ไปเดินบนถนนที่เสี่ยงจะถูกรถเฉี่ยวชน และก็เคยต้องจอดรถติดเป็นเวลานานมากบริเวณปากซอยแห่งหนึ่ง (ทั้งๆ ที่ถนนด้านหน้าโล่ง) เพราะกำลังมีกิจกรรมรับส่งคนของวินมอเตอร์ไซค์ที่รุกล้ำลงลงมาบนผิวถนน ซึ่งสร้างความหงุดหงิดเป็นอย่างมาก

แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจและเห็นใจว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนเมืองกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน

ถึงแม้จะไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจว่าจะเป็นบันไดก้าวแรกที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้แน่นอน นั่นก็คือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า (ในกรณีนี้คือคนชั้นกลางระดับบนที่มีเสียงดังกว่าในสังคม) ที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจความจำเป็นของการดิ้นรนใช้ชีวิตและเอาตัวรอดในเมืองราคาแพงของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า

ต้องอย่ามองว่าการรุกล้ำที่สาธารณะเป็นเพียงเรื่องของคนเห็นแก่ตัวที่อยากหาประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย แต่ต้องพยายามเข้าใจว่าการุกล้ำเหล่านี้มีเหตุและผลของมันอย่างไร

ซึ่งหากเริ่มต้นด้วยความเข้าใจเช่นนี้ได้ การแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมก็จะสามารถเกิดขึ้นตามมาได้ในอนาคต

และด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผมชื่นชมนิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดอย่างมาก เพราะนิทรรศการนี้กำลังทำตัวเองเป็น “สะพาน” (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ให้คนชั้นกลางระดับบนมองเห็นและเข้าใจความจำเป็นของการออกแบบเมืองที่ไร้ระเบียบ รกรุงรัง รุกล้ำที่สาธารณะ ไม่สวยงาม ของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ ผ่านรูปแบบที่คนชั้นกลางระดับบนคุ้นเคยและชอบ นั่นก็คือภาพสเก็ตซ์ที่ดูสวยงามน่ารักและชวนให้ใช้เวลาพินิจพิจารณา

 

การเลือกจัดนิทรรศการนี้ในงาน Bangkok Design Week ก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะงานนี้คือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่เรียกว่า “ชนชั้นสร้างสรรค์” (ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งแล้วว่าคนกลุ่มนี้มีนิยามอย่างไร ดังนั้น จะไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้) ซึ่งมีเสียงดังมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ณ ตอนนี้ (เป็นรองเพียงแค่กลุ่มข้าราชการและนักการเมือง) ต่อการกำหนดทิศทางของการพัฒนาเมือง

แต่น่าเสียดายที่งานนี้ไม่ได้รับการโปรโมตมากนัก ประกอบกับพื้นที่จัดงานที่อยู่นอกพื้นที่หลักออกไปพอสมควร รวมถึงขนาดพื้นที่ในการจัดแสดงที่เล็กไปสักนิดซึ่งเกิดจากข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ทั้งหมดทำให้นิทรรศการนี้ไม่ได้รับการเยี่ยมชมมากเท่าไรนัก

ในส่วนนี้ผมคิดว่าต้องย้อนกลับไปวิจารณ์การจัดงาน Bangkok Design Week ที่ดูจะให้ความสำคัญน้อยมากกับงานออกแบบที่ทำหน้าที่ชี้ประเด็นทางสังคมและปัญหาการใช้พื้นที่เมืองกรุงเทพฯ

 

ภาพรวมของงาน Bangkok Design Week ที่ได้รับการวิจารณ์อย่างมากในปีนี้ ในทำนองว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักนอกจากเอาไว้มาเดินเที่ยวและถ่ายภาพสวยงาม

ส่วนตัวคิดว่าสมเหตุสมผล และผู้จัดต้องทบทวนทิศทางของงานอย่างจริงจังในปีหน้า เพราะหากย้อนกลับไปอ่านแนวคิดของผู้จัด จะเห็นชัดนะครับว่า งานถูกตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงมาก และไม่ได้ต้องการจัดอีเว้นท์เพียงเพื่อความบันเทิงตื่นตาตื่นใจชั่วครั้งคราว ดังคำอธิบายบางส่วนที่ว่า

“…Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี…ผ่านหัวใจสำคัญ 3 มิติ ได้แก่ (1) Hard Matters เมืองดีต่อกาย กายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย มีสุขภาพดี (2) Heart Matters เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง และ (3) Design Matters เมืองออกแบบดี ชีวิตดี หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์…ลงมือเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมือง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ที่ ‘น่ารัก’ กับทั้งผู้คนในเมือง นักลงทุน และผู้มาเยี่ยมเยือน ไม่ว่าใครก็เริ่มต้นทำได้ ‘เพราะคนยิ่งทำ เมืองยิ่งน่าอยู่ ชีวิตยิ่งดี’…”

ถ้าแนวคิดหลักของงานบอกว่า จะจัดเทศกาลฉลองรื่นเริงบันเทิงและถ่ายรูป เหมือนเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง ฮาโลวีน ผมว่าก็คงไม่มีเสียงวิจารณ์มากนัก แต่ในเมื่อ Bangkok Design Week ต้องการแตะประเด็นทางสังคมใหญ่โตเช่นในแบบที่เสนอมา ย่อมไม่แปลกที่คนจะคาดหวังสูงตามไปด้วย (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) และหลายคนก็คงมองหาว่า อะไรคือเมืองที่ดีต่อใจ? อะไรคือเมืองใส่ใจผู้คน? แบบไหนคือเมืองที่ “น่ารัก”? ซึ่งคงต้องยอมรับนะครับว่าหลายงานไม่สามารถตอบโจทย์ที่ผู้จัดตั้งขึ้นได้เลย ที่สำคัญ กลับมีบางงานที่ดูจะตอกย้ำให้ปัญหารุนแรงขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่งก็คือ การฉาย projection mapping ลงบนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ความรุนแรงในการไล่รื้อชุมชนที่สะท้อนถึงการพัฒนาเมืองที่ผิดพลาด แต่งานของศิลปินที่ทำออกมากลับดูจะไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่ละเอียดอ่อนนี้เท่าที่ควร จนดูเสมือนว่างานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นนอกจากจะไม่ช่วยสะท้อนปัญหาการไล่รื้อชุมชน (ที่เป็นปัญหาใหญ่มากอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ)

กลับมีลักษณะที่ดูจะซ้ำเติมทางอ้อมให้ปัญหาดังกล่าวถูกละเลยมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดแย้งกับแนวคิดว่าด้วย “เมืองที่ดีต่อใจ” “เมืองที่ใส่ใจผู้คน” และดูเป็นการออกแบบเมืองที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย

แม้ผมจะเข้าใจและเชื่อในเจตนาดีของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในงานชิ้นนี้ แต่ในฐานะที่เคยทำวิจัยในชุมชนป้อมมหากาฬและต่อสู้กับการไล่รื้อมาพอสมควร ก็อดรู้สึกผิดหวังไม่ได้ และหวังว่าในปีต่อไปจะไม่เกิดงานในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีก

ต้องย้ำนะครับว่า ผมไม่ได้คาดหวังสูงขนาดให้งาน Bangkok Design Week ที่จัดเพียง 9 วันต่อปี เข้ามาแก้ไขปัญหาเมืองได้สำเร็จหรอกนะครับ ผมเข้าใจข้อจำกัดเป็นอย่างดี

แต่อย่างน้อย หากนักออกแบบเมืองทั้งหลายใช้ความสามารถในการออกแบบสร้างสรรค์ที่ตนเองมี เข้ามาช่วยชี้ปัญหาของเมือง ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำ, การไล่รื้อชุมชน, คนจนเมือง, gentrification ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในแบบที่นิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดชี้ให้เห็น

ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความเหลื่อมล้ำเสียเอง แค่นั้นก็ถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแล้ว